Skip to main content
sharethis

'พิสิฐ' ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึง กสม. เมื่อ 11 มี.ค. 66 วินิจฉัยสภาพการจ้างงานของไรเดอร์ เข้ากรอบ ‘ลูกจ้าง’ หรือไม่ เชื่อจะส่งผลให้ไรเดอร์ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี'41 

 

23 มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 มี.ค.) เมื่อ 21 มี.ค. 2566 เวลาประมาณ 11.00 น. พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้มีการพิจารณาวินิจฉัยลักษณะการจ้างงานของไรเดอร์ หรือพนักงานรับ-ส่งอาหารผ่านระบบแพลตฟอร์ม ว่าเป็นสภาพการจ้างงานแบบ 'ลูกจ้าง' หรือไม่ โดยพิสิฐ มองผลการพิจารณาจะส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยมี สุภัทรา นาคะผิว เป็นตัวแทน กสม.รับเรื่องดังกล่าว 

บรรยากาศการยื่นหนังสือ พิสิฐ ลี้อาธรรม (คนที่ 3 จากซ้าย) ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึง สุภัทรา นาคะผิว (คนที่ 3 จากขวา) กสม.

พิสิฐ ลี้อาธรรม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่อการมายื่นเรื่องถึง กสม. เมื่อ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การจ้างงานของแรงงานแพลตฟอร์ม บริษัทแพลตฟอร์มมักใช้คำว่า ‘พาร์ทเนอร์’ (หุ้นส่วน) ในการจ้างงาน แต่นั่นเป็นการเล่นคำเพื่อเลี่ยงบาลี เพราะตามกฎหมายนั้น คนทำงานผ่านแพลตฟอร์มควรถูกนิยามว่าเป็นลูกจ้าง เนื่องจากนิยามลูกจ้างคือผู้ที่ทำงานและได้รับค่าจ้างทั้งหมด วันนี้จึงมาขอให้ทาง กสม.วินิจฉัยว่า แรงงานแพลตฟอร์ม รวมถึงไรเดอร์ ควรได้รับการนิยามว่าเป็นลูกจ้างของบริษัทแพลตฟอร์มหรือไม่ และควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ หากว่าเข้าเกณฑ์ ทาง กสม.จะได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน ให้ดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นิยามคำว่า ‘ลูกจ้าง’ คือ ผู้ที่ตกลงทำงานให้นายจ้าง โดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร 

ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า กสม.เองมีความรู้สึกยินดีที่มีผู้ที่ดำเนินการและหารือกับ กสม.ในประเด็นนี้ ซึ่งยังไม่มี ส.ส.คนอื่นๆ ทำแบบนี้ นอกจากนี้ ทาง กสม.จะรับเรื่องไปให้หน่วยงานภายในตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำและหาข้อมูล จากนั้น จะจัดทำข้อเสนอ

พิสิฐ ระบุในประเด็นข้อกังวลว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม.นั้น ส่วนตัวเขามองว่าถ้าเกิด กสม. มีข้อยืนยันไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว แล้วหน่วยงานไม่ปฏิบัติตาม หรือเพิกเฉย เสี่ยงเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ตามมาตรา 157 หรือเพิกเฉยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

"ดังนั้น อย่าไปมองข้ามบทบาทของ กสม.ว่า ไม่ได้ทำอะไร หน่วยงานสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และก็ถ้ากระทรวงที่รับผิดชอบเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ มีสิทธิที่จะโดนข้อหาเหล่านี้ (มาตรา 157) ได้ ซึ่งผมเชื่อว่า ข้าราชการเหล่านี้ก็คงจะไม่นิ่งเฉย เพราะต้องรู้หน้านี้" พิสิฐ ระบุ และกล่าวว่า เบื้องต้น กระบวนการตรวจสอบจะใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน 

ทั้งนี้ กฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นด้วยว่า ที่เขาเลือกแก้ไขกฎหมายเดิม มากกว่าเสนอกฎหมายใหม่ต่อประเด็นการตีความนิยามการจ้างงานของแรงงานแพลตฟอร์ม เพราะว่าการเสนอกฎหมายใหม่จะใช้เวลาที่ยาวนานกว่าการแก้กฎหมายเดิม บางกรณีอาจยาวนานถึง 10 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย 

พิสิฐ มองด้วยว่า กฎหมายปัจจุบันมีผลอยู่แล้วที่สามารถใช้บังคับได้ ก็อาจไม่จำเป็นต้องรอกฎหมายใหม่ออกมา แต่เขาไม่ได้ปิดกั้นว่าจะทำกฎหมายใหม่ไม่ได้ ก็เดินสองทางเลยได้ คือ แก้กฎหมายเดิมให้คุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม และอาจจะมองเรื่องการเสนอกฎหมายใหม่ได้ในเวลาเดียวกัน แต่ผมเป็นห่วงแค่นั้นว่า การรอกฎหมายใหม่อาจใช้เวลานานเกินไป

สำหรับความเคลื่อนไหว เพื่อคุ้มครองสิทธิคนทำงานแพลตฟอร์มในอนาคต ทางพิสิฐ ระบุว่า เขาจะรอดูข้อเสนอแนะของทาง กสม. และดูอีกทีว่าจะทำอย่างไรต่อไป 

ขณะที่ในภาวะสุญญากาศของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากการประกาศยุบสภา และอยู่ในช่วยรอยต่อก่อนการเลือกตั้ง พิสิฐ อยากกระตุ้นให้ข้าราชการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำงานคุ้มครองสิทธิแรงงานในช่วงระหว่างที่ยังไม่มีเจ้ากระทรวงนั่งเก้าอี้

"อยากยืนยันกับทางไรเดอร์ว่า ประชาธิปัตย์ จะดูแลเรื่องนี้ จะเขียนเรื่องนี้ จะอยู่ในนโยบายพรรคว่าเราจะต้องดูแลให้ไรเดอร์ อยู่ในกรอบของกฎหมายแรงงานที่ได้รับความคุ้มครอง" พิสิฐ ทิ้งท้ายต่อนโยบายด้านแรงงานแพลตฟอร์ม รวมถึงไรเดอร์ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net