Skip to main content
sharethis

ศาลยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้ ‘พิมพ์สิริ’ จำเลยคดีม.112 เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปร่วมประชุม UN ชี้คำสั่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นระหว่างพิจารณา ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ทั้งนี้ พิมพ์สิริเป็นเจ้าหน้าที่ประจำประเทศไทยขององค์กร ARTICLE 19 และต้องเดินทางไปเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 27 ก.พ. ถึง 4 เม.ย. 2566 ในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชน

 

10 มี.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ประจำประเทศไทยขององค์กร ARTICLE 19 หนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #29พฤศจิกาไปหน้าราบ11 “ปลดอำนาจศักดินา” ที่หน้ากองพันทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา กรณีไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในระยะเวลาจำกัด หลังจากยื่นคำร้องขออนุญาตไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 13 และ 24 ก.พ. 2566 ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตทั้งสองครั้ง โดยระบุเหตุผลเพียงว่าไม่มีเหตุจำเป็นให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง จึงเป็นเหตุให้พิมพ์สิริมายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ 1 ในผู้ถูกแจ้งข้อหา ม.112 

สำหรับสาเหตุในการขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศเนื่องมาจากพิมพ์สิริมีกำหนดการเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงระหว่างวันที่ 27 ก.พ. ถึง 4 เม.ย. 2566 ในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสถานะที่ปรึกษาของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council หรือ ECOSOC Consultative Status) โดยบทบาทขององค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสถานะดังกล่าว คือการร่วมติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล 

หากแต่พิมพ์สิริเป็นหนึ่งในจำเลยคดี มาตรา 112 ซึ่งถูกฟ้องและได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อ 25 พ.ย. 2564 โดยเงื่อนไขคือ ห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาต และด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ทำให้พิมพ์สิริไม่สามารถเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ได้

อย่างไรก็ดี ในวันนี้ศาลอาญาได้มีคำสั่งยกคำร้องโดยระบุว่า “คำสั่งเรื่องนี้เป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นระหว่างพิจารณา หาใช่คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ ยกคำร้อง” คำสั่งยกคำร้องลงนามโดย กีรติ กีรติยุติ 

ทั้งนี้ ในคำร้องอุทธรณ์ พิมพ์สิริได้แถลงเหตุผลเพิ่มเติมต่อศาล ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

พิมพ์สิริระบุว่า ตนเองเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้มีภาระผูกพันทางการศึกษา ไม่มีความคิดจะหลบหนี และพร้อมต่อสู้ตามความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ที่ได้ศึกษามา

ขอให้ศาลแต่งตั้ง อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้กำกับดูแลให้มาศาลตามนัด เพื่อเป็นหลักประกันให้ศาลมั่นใจว่าตนเองจะเดินทางกลับประเทศไทยตามกำหนดการ พร้อมทั้งแนบหนังสือแสดงความยินยอมเป็นผู้กำกับดูแลด้วย

นอกจากนี้ พิมพ์สิริยังระบุด้วยว่า ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขให้ตนเองเข้ารายงานตัวต่อผู้แทนถาวรประเทศไทย ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้

อนึ่ง พิมพ์สิริเปิดเผยว่าในวันนี้ (10 มี.ค. 2566) จะเข้ายื่นคำร้องขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักรในระยะเวลาจำกัดต่อศาลอาญาอีกครั้ง เนื่องจากการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่องค์กร ARTICLE19 ประจำประเทศไทย และตนเองไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนีแต่อย่างใด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net