Skip to main content
sharethis

ภาพนักเรียนเดินขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกไฟแดงกลายเป็นสิ่งปกติในปัจจุบัน ท่ามกลางความเสี่ยงทั้งจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จากโรคระบาดและมลพิษจากฝุ่นควัน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจทำให้พวกเธอต้องทำงานขายเพื่อแลกกับเงิน ทั้งเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวและเพื่อตัวเอง แต่ละวัน พวกเธอไม่สามารถคาดเดารายได้และจะต้องพบเจอกับประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดีที่นักเรียกขายนมเปรี้ยวได้ประสบมา

ที่สี่แยกหลักของถนนเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี อย่างแยกเจริญศรี (ทางไปเดชอุดม) แยกหนองตาโผ่น (ทางไปสำโรง -กันทรลักษ์) และแยกคำน้ำแซบ (ทางไปศรีสะเกษ) หากรถไปติดไฟแดง เราจะเห็นเด็กในชุดนักเรียน 3 – 5 คน เดินถือถุงนมเปรี้ยว-โยเกิร์ตลัดเลาะไปตามแนวรถติดไฟแดง พร้อมกับการไหว้ที่อ่อนน้อมค้อมหัวให้ต่ำที่สุด

พลอย เนตรและเอ็ม (ทุกคนใช้นามสมมติ) นักเรียนขายนมเปรี้ยวที่แยกเจริญศรีและแยกหนองตาโผ่น อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อรับรู้วิถีชีวิตและความฝันใฝของพวกเขาเยาวชนของชาติขายนมเปรี้ยวช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่

พลอย นักเรียนชั้น ม.4 ขายนมเปรี้ยว-โยเกิร์ตประจำที่แยกเจริญศรีในช่วงเลิกเรียนและวันหยุดเสาร์อาทิตย์เหตุผลหลัก คือ ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อและแม่ ถึงแม้ที่บ้านจะไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจ แต่เลือกที่จะมาทำเพื่อหาเงินใช้จ่ายส่วนตัว พลอยบอกว่า หากไม่ได้มาเดินขายนมเปรี้ยวเธอจะช่วยแม่ขายของที่บ้าน

พลอยเรียกสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ว่า งานพิเศษ เพราะถึงแม้จะได้เงิน แต่ก็เป็นจำนวนไม่มากพอที่จะเรียกว่า งาน และพลอยมองว่าสิ่งที่เธอขายอยู่ไม่ใช่นมเปรี้ยวแต่คือ ความน่าสงสาร เธอมองว่าคนส่วนใหญ่ซื้อก็คงเพราะสงสาร น้อยคนที่จะซื้อเพราะอยากกินนมเปรี้ยวจริง ๆ และด้วยการแต่งชุดนักเรียนมาขายด้วยทำให้สามารถเพิ่มความน่าสงสารในผู้ที่พบเห็นมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่พลอยอยากทำจริงๆ ไม่ใช่การมาเดินขายนมเปรี้ยว เธออยากขายเสื้อผ้าออนไลน์อยู่ที่บ้าน แต่เธอไม่มีต้นทุน จึงเลือกที่จะออกมาขายนมเปรี้ยวให้พอมีเงินไปโรงเรียนไปวันๆ โดยที่ไม่ต้องขอแม่ก็พอ

หากเป็นวันธรรมดา พลอยจะใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน (16.00 – 19.00 น) เดินขาย ซึ่งถือว่าก็ค่อนข้างอันตรายสำหรับเด็กผู้หญิง ทำให้พ่อและแม่ของเธอกังวลและบอกกับเธอว่าสักวันเธอต้องหยุดทำงานพิเศษนี้

พลอยเคยขายนมเปรี้ยวได้มากถึงวันละ 30 ชุด โดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือนหรือต้นเดือน ช่วงกลางเดือนบางวันจะมียอดขายจะเพียงวันละ 5 ชุด และก็มีบางวันที่ขายไม่ได้เลย

แม้ว่าวันนั้นจะมีรายได้เพียงร้อยกว่าบาท พลอยถือเป็นเงินที่มากพอสำหรับคนที่ต้องการหาเงินได้ด้วยตัวเอง แต่ความเหน็ดเหนื่อยจากการขายนมเปรี้ยวยังไม่เหนื่อยเท่ากับการที่เธอต้องเจอกับคนที่คิดไม่ดี

“ก็เคยมีคนที่ซื้อนมเปรี้ยวกับเราแล้วเค้าก็ถามว่า หนูมีค่าเทอมมั้ย คือเค้าอยากเลี้ยงเราอะค่ะ สิ่งที่ทำได้มีเพียงแค่ไหว้ขอบคุณที่เขาอุดหนุนแล้วรีบเดินจากไปโดยไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะด้วยความเป็นเพียงเด็กผู้หญิงหากยิ่งไปต่อล้อต่อเถียงยิ่งจะทำให้เกิดปัญหา ถึงจะเหนื่อยหน่อยแต่ก็ต้องอดทน” พลอยกล่าวทิ้งท้าย

เนตร เรียน ปวศ.1 เป็นเพื่อนกับพลอย เธอเป็นอีกคนที่ขายนมเปรี้ยวที่แยกเจริญศรี เพราะต้องการช่วยแบ่งเบาภาระทางครอบครัว เพราะนับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เป็นต้นมา งานรับเหมาของพ่อแทบไม่มี ทำให้แม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของบ้านเพียงคนเดียว

“อยากช่วยแม่ สงสารแม่ที่ทำงานคนเดียว เรามาทำตรงนี้แม่จะได้ไม่เหนื่อยคนเดียว ในช่วงแรกแม่ก็ห้าม ก็ให้เหตุผลว่า หากทำตรงนี้แล้วจะไม่ขอเงินแม่ใช้ ในที่สุดแม่ก็ยอมให้ทำ”

เนตรขายนมเปรี้ยวที่แยกเจริญศรีมาแล้วกว่า 3 ปี ตั้งแต่เรียนชั้น ม.2 โดยก่อนหน้านี้เธอได้ทำงานอื่น ๆ มาก่อนแล้ว ทั้งไปทำงานกับแม่ งานพาร์ทไทม์ งานเสิร์ฟและล้างจาน แต่ด้วยอายุที่ยังไม่ถึงกำหนดทำให้เธอโดนกดค่าแรงจนสุดท้ายเธอก็ออกจากงานทั้งหมด แล้วมาขายนมเปรี้ยวที่แยกเจริญศรี

“เกิดจากการชักชวนของเพื่อนที่เป็นลูกเจ้าของที่เขาเป็นตัวแทนจำหน่าย จึงลองมาขายตั้งแต่ตอนนั้น”

เนตรเรียกสิ่งที่ตัวเองทำว่า ‘งานเสริม’ สำหรับเธอแล้วเธอยังไม่ได้เรียกว่าอาชีพ เพราะเธอมาทำเพียงเพราะต้องการเงินมาจุนจือตัวเองเท่านั้น และเธอยังมองว่าสิ่งที่ตนขายนั้นคือ นมเปรี้ยว ไม่ใช่ชุดนักเรียนหรือความน่าสงสารแต่อย่างใด เพราะในบางวันเองเธอไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนมาเธอก็ยังขายได้

“การขายได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชุดที่ใส่มันอยู่ที่คนจะมอง บางคนว่าเราเป็นคนขยัน หรือบางคนก็ซื้อเพราะอยากดื่มนมเปรี้ยวเท่านั้น แต่ก็ยังมีคนอุดหนุนเพราะความสงสารและได้มาสอบถามว่าทำไมเธอถึงมาขาย ค่าใช้จ่ายที่บ้านไม่เพียงพอหรือ เราก็เลือกที่จะตอบคนที่ถามไปตรง ๆ ว่าที่มาขายก็เพราะต้องการหาเงินช่วยที่บ้านและหากค่าใช้จ่ายที่บ้านเพียงพอก็ไม่อยากขอเงินจากพ่อแม่”

เนตรมองว่าส่วนแบ่งร้อยละ 20 นั้นค่อนข้างน้อยและไม่เพียงพอ เพราะไม่มีหลักประกันว่าในวันนั้นจะขายได้ถึง 5 ชุด หรือไม่ เท่าที่เธอเคยขายได้มากสุดคือ 40 ชุด และน้อยสุดคือ 1 ชุด และยังมีวันที่ขายไม่ได้เลยสักชุดก็มี “วันที่ขายไม่ได้ก็รู้สึกท้อใจจนไม่อยากจะมาขาย แต่ท้ายที่สุดก็ยังมาขายเหมือนเดิม”

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการขายคือ เศรษฐกิจ เพราะก่อนหน้านี้เธอขายได้ดีในทุกวัน หลังจากที่มีโควิด-19 ระบาดก็ทำให้เธอขายไม่ได้หรือหากขายได้ก็น้อย

“ที่อยากทำจริงๆ คือ งานที่เป็นอาชีพและมีรายได้มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นงานโรงงานหรืออะไรก็ได้ อยากทำพลางๆ ไปก่อนและเมื่อเรียนจบก็จะไปทำงานตรงสายวิชาชีพที่เรียนมา การมาเดินขายนมเปรี้ยวเป็นระยะเวลานานพอสมควรแต่ก็ไม่ได้ไปถึงฝันที่วาดไว้เสียที หรือหากเราต้องการอะไรก็ต้องใช้เวลาเก็บนานพอสมควรกว่าจะได้สิ่งนั้นมา”เนตรบอกว่า เมื่อขึ้นปวส.2 เธอจะหยุดขายนมเปรี้ยว

ส่วนการไหว้ที่อ่อนน้อมเนตรมองว่า ไม่ใช่เรียกคะแนนความน่าสงสาร แต่เป็นการเคารพลูกค้าไปในตัว ถ้าหากลูกค้าไม่อุดหนุนก็ก้มหัวเพื่อก้มรับ การใส่ชุดนักเรียนหรือชุดพละก็เหมือนทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าเป็นนักเรียนจริง ๆ ทำให้คนสงสารขึ้นไปอีกและดูเป็นชุดสุภาพอีกด้วย

เนตรยังเล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเธอเช่นกัน “บางคนถามว่าเท่าไร? ทีแรกหนูก็ไม่รู้ หนูเลยบอกว่าชุด 100 ค่ะ แต่เขาก็บอกว่า หมายถึงเราน่ะ เท่าไร? หรือบางทีก็ถามว่า มีไลน์ไหม? ถ้าจะไม่ให้เขาก็จะอยู่อย่างนั้น หนูก็บอกว่าไม่ให้แล้วเดินหนีไป แล้วก็มีครั้งหนึ่งที่ลูกค้าผู้ชายแลบลิ้นออกมาแล้วก็รัวลิ้นใส่ รู้สึกแย่มาก ตอนนั้นคือหนูกลัวไปเลย” เธอเจอลูกค้านิสัยแย่ๆ แบบนี้แทบจะทุกวัน

เก็บเงินซื้อของที่อยากได้

พี นักเรียนชั้น ม.6 เล่าว่า ที่มาเดินขายนมเปรี้ยวที่สี่แยกไฟแดง (แยกคำน้ำแซบและแยกหนองตาโผ่น) เพราะต้องการหาเงินมาใช้ส่วนตัว อยากมีเงินซื้อของที่ตัวเองอยากได้ ซื้อเสื้อผ้า หรือของสะสมต่างๆ เขาอาศัยอยู่กับน้าซึ่งเป็นข้าราชการ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาน้าเป็นคนดูแลให้ แต่พีอยากแบ่งเบาภาระของน้าในส่วนของที่ตัวเองอยากได้ ถ้าเป็นเงินที่ตัวเองหาได้เองจะสบายใจมากกว่า

พีเล่าว่าก่อนที่จะมาทำงานนี้พีเคยไปเก็บของเก่ากับป้า ทำตั้งแต่เช้าจนค่ำ แต่ได้ค่าแรงแค่วันละ 100 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับแรงที่เสียไปพีเลยต้องหาอย่างอื่นทำแทน นั่นคือการมาขายนมเปรี้ยวที่สี่แยกไฟแดง

“แค่เดินไปบอกกับคนที่ขายอยู่ก่อนว่าอยากจะมาทำ วันต่อมาก็สามารถมาขายได้เลย ทางบริษัทจะแพ็คนมใส่ถุงและนำใส่กระเป๋ามาให้ เตรียมแค่กายและใจให้พร้อมก็พอครับ เพราะมันเป็นงานที่ต้องสู้กับแดด ไม่ต้องส่งเอกสารอะไร แค่ไปบอกกับพี่เขาว่าเราจะมาขาย วันพรุ่งนี้พี่เขาก็จะจัดนมใส่กระเป๋ามาให้”

ร้อยละ 20 คือ ส่วนแบ่งที่พีจะได้รับจากการขาย หากขายได้ 1 ชุด ชุดละ 100 บาท พีจะได้ค่าแรง 20 บาท ทั้งนี้ใน 1 วันจะได้เงินค่าแรงเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับยอดการขายว่าในวันนั้นจะขายได้กี่ชุด

พีเรียกสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ว่า งาน เพราะว่าทำแล้วได้เงินค่าตอบแทน วันที่ได้มากหลักจากหักเปอร์เซ็นต์แล้วก็เป็นเงินพันกว่าบาท หรือวันที่ได้น้อยจริง ๆ ก็ขายได้แค่ชุดเดียว เท่ากับว่าวันนั้นพีได้เงินเพียง 20 บาทเท่านั้น

“ผมมาขายนมเปรี้ยวเพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมยังค้นไม่พบว่าตัวเองชอบอะไรและอยากเรียนอะไรต่อ หากจบ ม.6 แล้วยังไม่พบสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมก็จะออกไปทำงานหาเงินจนกว่าจะพบ แล้วค่อยเรียนต่อ”

ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายที่เรามักจะพบเห็นเด็กใส่ชุดนักเรียนหรือชุดพละของโรงเรียนมาขายในวันเสาร์-อาทิตย์ นั้น พีบอกว่า ทางบริษัทไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นชุดเหล่านี้ แต่การใส่ชุดนักเรียนทำให้ขายได้ง่ายกว่า เพราะคนจะมองว่าเป็นเด็กขยัน ตัวพีเองเคยใส่ชุดไปรเวทมาขายและพบว่ายอดขายไม่ดีและขายยาก นอกจากชุดนักเรียนแล้ว จุดขายอีกอย่างคือ การไหว้ ขอบคุณรถทุกคันที่ทั้งอุดหนุนและไม่อุดหนุน

ส่วนการแบ่งพื้นที่บนถนนนั้น แต่ละคนจะต้องอยู่ประจำเลนของตน หากเลนที่อยู่ขายไม่ได้ก็สามารถเปลี่ยนไปขายในเลนที่ไม่มีคนประจำอยู่ และก็มีปัญหาการแย่งลูกค้ากันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับพี

เอ็ม นักเรียนชั้น ม.5 เพิ่งมาขายนมเปรี้ยวที่แยกหนองตาโผ่นได้ไม่นาน เพราะต้องการจะเก็บเงินซื้อของที่ตัวเองอยากได้และไม่อยากขอเงินจากที่บ้าน จึงเลือกที่จะออกมาทำงานเอง เพียงแค่บอกคนที่ทำอยู่แล้วว่าอยากมาทำ จากนั้นก็สามารถมาขายได้เลย

“ส่วนแบ่งร้อยละ 20 ถือว่าเพียงพอ เพราะถ้าวันนั้นขายได้หลายชุดก็ได้เงินหลายบาท ที่ผมเคยขายแล้วได้ส่วนแบ่งมากสุดเป็นเงิน 500 บาทและที่ได้น้อยที่สุด คือ 120 บาท ซึ่งเป็นการมาขายวันแรกที่ผมยังไม่ชำนาญ”

เรื่องการใส่ชุดนักเรียนเอ็มให้เหตุผลว่า ที่ต้องใส่เพราะส่วนมากมาขายหลังจากที่เลิกโรงเรียนแล้วและวันเสาร์ อาทิตย์ก็เช่นกัน บางทีมีกิจกรรมก็จะไปที่โรงเรียนก่อน พอเลิกก็มาขายนมเปรี้ยวต่อ “ชุดนักเรียนก็มีผลต่อการขายก็จริงแต่ก็มีคนที่ใส่ชุดไปรเวทมาขายก็ยังขายได้ อยู่ที่ทักษะของแต่ละคนมากกว่า”

เอ็มกล่าวว่า เขาน่าจะขายนมเปรี้ยวไปอีกสักพัก รอให้อายุถึงเกณฑ์ทำงานพาร์ทไทม์ได้ก็จะหางานอื่นทำ ส่วนงานขายนมเปรี้ยวถือว่าเป็นงานที่มีอิสระ อยากมาขายตอนไหนก็ได้หรือเลิกตอนไหนก็ได้ ไม่มีใครมาต่อว่าหรือบังคับ

อนึ่ง ประเด็นเด็กขายนมเปรี้ยวกลางแยกไฟแดงนั้น Donlawat Sunsuk และ Smanachan Buddhajak สำนักข่าว The Isaander เคยเขียนถึงในงานชื่อ "เด็กขายนมเปรี้ยวกลางแยกไฟแดง' ความน่าสงสารหรือช่องทางธุรกิจ" ซึ่งมีส่วนสัมภาษณ์ภาควิชาการ องค์กรสิทธิแรงงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรเมืองอุดรธานี เพื่อทำความเข้าใจประเด็นมิติเชิงวัฒนธรรม ทางข้อกฎหมายทั้งกฎจรจร และคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net