Skip to main content
sharethis

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี 8 ปีประยุทธ์ตรงกับที่วรเจตน์คาดการณ์ไว้จากหลักกฎหมาย ‘ประชาไท’ สนทนากับเขาหลังคำวินิจฉัยฉบับเต็มเผยแพร่เพื่อเก็บตกรายละเอียดข้อถกเถียงต่างๆ ว่าทำไมการเริ่มนับวาระ 8 ปีตั้งแต่เริ่มประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงถูกต้องตามหลักกฎหมาย และไม่ควรเอาหลักกฎหมายกับผลลัพธ์ทางการเมืองไปปะปนกัน เพราะแม้ผลเบื้องหน้าจะน่าพอใจ แต่ระยะยาวไม่คุ้มค่า

  • การที่ฝ่ายผู้ร้องยกกรณียุบพรรคไทยรักไทยมาใช้ในกรณี 8 ปีประยุทธ์เพื่อให้ศาลวินิจฉัยย้อนหลัง เท่ากับเป็นการให้ความชอบธรรมต่อคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2550 ซึ่งวรเจตน์เห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังที่ผิดหลักการทางกฎหมาย
  • การกำหนดให้บุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี ถือเป็นมรดกของรัฐประหาร หลักการประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไม่มีการกำหนด แต่ควรปล่อยให้เป็นอำนาจของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง
  • เมื่อเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากต้องการให้โอนเอาองค์กรหรือการนับวาระจากกฎหมายเดิมเข้าสู่ระบบกฎหมายใหม่ รัฐธรรมนูญต้องระบุให้ชัดเจน หากไม่ระบุไว้ให้เริ่มนับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
  • ข้ออ้างเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเจตจำนงของประชาชนที่ทำประชามติรับรัฐธรรมนูญว่าต้องการให้บุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกิน 8 ปี ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
  • การยกเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของประยุทธ์ต่อ ป.ป.ช. เป็นเหตุผลสนับสนุนว่าประยุทธ์ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องตั้งแต่ 2557 เป็นข้อกฎหมายคนละประเด็น ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่สามารถนำมาอ้างได้
  • อย่าใช้ศีลธรรมแทนกฎหมาย อย่าแลกหลักกฎหมายกับผลลัพธ์ทางการเมือง

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คลิปสัมภาษณ์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วาระ 8 ปี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กรณี 8 ปี ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับเป็นที่เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและกฎหมายในรอบปี 2565 ดังที่วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ Voice TV ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยประมาณหนึ่งเดือนและขอให้ Voice TV  เผยแพร่บทสัมภาษณ์หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ซึ่งปรากฏว่าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตรงกับความเห็นของวรเจตน์ที่เห็นว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560

แม้กระนั้นยังมีรายละเอียดทั้งในคำวินิจฉัยกลาง ความเห็นส่วนตนของตุลาการแต่ละคน และคำร้องของผู้ร้องที่วรเจตน์มองว่ามีประเด็นให้ต้องทำความเข้าใจและวิพากษ์วิจารณ์ จึงเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์นี้ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2565 หลังจากที่มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ข้อถกเถียงรวมถึงความพึงใจหรือไม่พอใจต่อคำวินิจฉัยในทางการเมืองทดไว้เรื่องหนึ่ง สำหรับวรเจตน์ เขาขอพูดเฉพาะมิติทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาปฏิบัติเสมอมาเมื่อเกิดประเด็นถกเถียงทางรัฐธรรมนูญ การสนทนาครั้งนี้จึงเสมือนการบันทึกเหตุการณ์สำคัญในรอบปี ข้อคิดเห็น และเก็บรายละเอียดทางกฎหมายที่มีประเด็นต้องโต้แย้ง อธิบาย กระทั่งเตือนสติ

เช่นทุกครั้งที่ผ่านมา คำอธิบายทางกฎหมายชนิดจับหลักไม่คลอนแคลนของ      วรเจตน์มักสร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายประชาธิปไตย ตั้งแต่กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีธรรมนัส พรหมเผ่า ถึงประยุทธ์ 8 ปี และอีกเช่นกันที่เขายืนยันเสมอว่าอย่าแลกหลักการทางกฎหมายกับผลลัพธ์ทางการเมือง

คำวินิจฉัยฉบับเต็มล่าช้า

ข้อสังเกตแรกของวรเจตน์ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี 8 ปีของประยุทธ์คือ การเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มในกรณีนี้ช้าผิดปกติเมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ ที่ผ่านมาซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์หลังมีคำวินิจฉัย แต่กรณี 8 ประยุทธ์กลับใช้เวลาเกือบ 1 เดือน และเผยแพร่เกือบวันสุดท้ายที่จะต้องลงในราชกิจจานุเบกษาเลย เขาคิดว่าแนวทางการเผยแพร่คำวินิจฉัยในกรณีนี้ไม่ถูกต้อง และต้องปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติในอนาคตให้เผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มเมื่อมีการอ่านคำวินิจฉัย

เพราะการไม่มีคำวินิจฉัยฉบับเต็มอาจส่งผลให้ไม่มีความแน่นอนทางกฎหมายระหว่างนั้น เช่น หน่วยงานรัฐจะตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่เป็นลายลักษณ์อักษรอีก ทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังอาจปรับแก้หรือเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในคำวินิจฉัยจนไม่ตรงกับการอ่านบนบัลลังก์อีกด้วย ซึ่งต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าแนวทางปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้อาจเป็นเพราะเกรงว่าผลของคำวินิจฉัยจะหลุดรอดออกสู่สาธารณะก่อนวันอ่านคำวินิจฉัย ซึ่งพอเข้าใจได้ แต่วรเจตน์เห็นว่าหากจะมีการรั่วไหลก็ย่อมมาจากตัวตุลาการเอง จึงสมควรปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการปฏิบัติงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้กฎหมายกำกับเสียให้ชัดเจน โดยในเบื้องต้นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำคำวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นก่อน จึงอ่านคำวินิจฉัย และหลังจากมีอ่านคำวินิจฉัยแล้ว คู่ความก็สามารถได้สำเนาคำวินิจฉัยทันที

ภาพถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)

การใช้กฎหมายย้อนหลังกรณีสิระและยุบพรรคไทยรักไทย

วรเจตน์เริ่มต้นจากคำร้องของผู้ร้องคือพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ยกประเด็นการใช้กฎหมายย้อนหลังมาใช้กับประยุทธ์ ด้วยการอ้างอิงคำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 กรณียุบพรรคไทยรักไทยและคำวินิจฉัยคดี 24/2564 กรณีสิระ เจนจาคะ ผู้ร้องมีความเห็นว่าทั้งสองกรณีเป็นกรณีที่มีการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะฉะนั้นก็ย่อมนำหลักการในกรณีดังกล่าวมาใช้นับเวลาการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์ตั้งแต่วันที่  24 สิงหาคม 2557 ได้เช่นกัน ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับคำร้องของฝ่ายค้านในประเด็นนี้

“ความจริงคดีคุณประยุทธ์ ถ้าจะเอาให้ถึงที่สุดแล้วมันไม่ได้เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังในความหมายที่เราเข้าใจตามกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของการนับเวลาดำรงตำแหน่งว่าจะนับยังไงมากกว่า ทีนี้ฝ่ายค้านเขาก็ไปเอาเหตุการณ์ในอดีต 2 เรื่องมาสู้ว่าการนับเวลาของคุณประยุทธ์ต้องนับตั้งแต่ปี 57 คือ ไปเอาเรื่องของการยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2550 กับคดีคุณสิระ 2564 มาสู้”

กรณีสิระกับกรณี 8 ปีประยุทธ์ถือว่าเป็นคนละประเด็น เนื่องจากกรณีสิระเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติโดยใช้คำว่า เคยต้องคำพิพากษาที่ทำให้เขาขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ขณะที่กรณีประยุทธ์เป็นปัญหาการเริ่มนับเวลาดำรงตำแหน่งว่าจะเริ่มนับเมื่อไหร่และประยุทธ์ดำรงตำแหน่งครบตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้วหรือไม่  กรณีประยุทธ์จึงเป็นเรื่องของเวลาการดำรงตำแหน่งที่ผูกกับตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติของตัวบุคคล

ส่วนการอ้างอิงคำวินิจฉัยกรณียุบพรรคไทยรักไทย วรเจตน์คิดว่ามีปัญหามากยิ่งกว่า เขาเท้าความเหตุการณ์ก่อนการยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2549 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ภายหลังมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักไทยเนื่องจากทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ด้วยกฎหมาย ณ ขณะนั้นหากพรรคไทยรักไทยผิดจริง กรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คนจะไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือจะไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้ แต่ไม่มีการตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบและบุคคลเหล่านั้นยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้

แต่ขณะที่คดียังค้างการพิจารณาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ทำการยุบศาลรัฐธรรมนูญ และได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ระบุว่า หากมีการยุบพรรคการเมืองเนื่องจากทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้นจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี ต่อมามีการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นแทนศาลรัฐธรรมนูญและโอนคดีที่ค้างอยู่มาให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจาณาวินิจฉัย

“ผมก็วิเคราะห์ไว้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าเป้าหมายการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 แล้วให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญคือการยุบพรรคไทยรักไทย ความจริงเมื่อยุบศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คดีที่ค้างการพิจารณาก็ควรจะสิ้นสุดไปด้วย ตอนนั้นผมก็เขียนบทความว่าประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 เอามาใช้บังคับการคดียุบพรรคไทยรักไทยไม่ได้ เพราะถ้าเอามาใช้ก็เท่ากับว่าเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายต่อบุคคล เพราะขณะที่ผู้กระทำถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดยังไม่มีกฎหมายกำหนดว่าถ้าผิดแล้วให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค มีแต่บอกว่าห้ามไปตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่เท่านั้น

“พอผมเปิดประเด็นนี้ขึ้นมา เกิดวิวาทะเถียงกันหลายคนเลย ท่านหนึ่งที่โต้แย้งกับผมคือท่านทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้ ตอนนั้นท่านเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แห่งเดียวกับผมอยู่ ท่านมีความเห็นว่าใช้ย้อนหลังได้เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่โทษอาญา ผมเห็นว่าย้อนหลังไม่ได้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่โทษอาญา เพราะมันเป็นผลร้ายต่อบุคคลเสมือนหนึ่งเป็นโทษอาญาเลย การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมันหนักกว่าปรับ 500 บาทที่เป็นโทษอาญาอีก ปรับ 500 บาทมันย้อนหลังไม่ได้ แล้วเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะใช้ย้อนหลังได้อย่างไร”

อย่าให้ความชอบธรรมการใช้กฎหมายย้อนหลัง

ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นโทษอาญาหรือไม่ แต่อยู่ที่มาตรการที่ใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายต่อบุคคลเป็นมาตรการอะไร ถ้าเทียบได้กับโทษอาญาหรือรุนแรงกว่าย่อมใช้ย้อนหลังไม่ได้

“เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 จึงเอามาเป็นสรณะหรือเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ ที่ผมรู้สึกว่าการยื่นคำร้องของฝ่ายค้านในคดีนี้โดยเหตุผลแบบนี้ไม่ถูกต้องก็คือในเมื่อตัวคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ควรถูกมาใช้อ้าง ทำไมฝ่ายค้านที่ยื่นคำร้องจึงเอาสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาอ้างเป็นบรรทัดฐาน อาจจะมีคนเถียงผมว่าอันนี้อ้างแล้วมันมีประโยชน์ในทางการเมือง มันสามารถเอามาใช้ในการต่อสู้ได้ คราวที่แล้วตุลาการรัฐธรรมนูญยังใช้กฎหมายย้อนหลังได้เลย คราวนี้เมื่อเป็นกรณีของคุณประยุทธ์ก็ต้องย้อนหลังได้ด้วย

“แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องยุบไทยรักไทยกับแปดปีประยุทธ์มันเป็นคนละประเด็นกัน แล้วการอ้างแบบนั้นเท่ากับว่าฝ่ายค้านยอมรับโดยปริยายว่าคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในปี 50 นั้นถูกต้อง แต่จริงๆ มันไม่ถูก ก็เห็นๆ กันอยู่จากบริบททางการเมืองในขณะนั้นว่าหลังรัฐประหารแล้วมีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ ทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทน แล้วก่อนหน้านั้นก็เตรียมเส้นทางให้คณะตุลาการรัฐธรมนูญเรียบร้อย โดยการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ว่าถ้ายุบพรรคให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคด้วย ทั้งหลายทั้งปวงก็เห็นอยู่แล้วว่าเขาจะทำอะไร มันไม่ถูกต้องเลย แล้วจะเอาสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาอ้างเพื่ออะไร

“แล้วถ้าได้อ่านคำวินิจฉัยคดีแปดปีประยุทธ์เราจะเห็นเลยว่านอกจากศาลรัฐธรรมนูญในคดีประยุทธ์จะไม่คล้อยตามฝ่ายค้านแล้ว ยังใช้โอกาสในคำวินิจฉัยนี้ หักล้างคำร้องของฝ่ายค้านเสียอีก โดยบอกว่าตอนนั้นใช้ย้อนหลังเพราะกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง พูดง่ายๆ คือได้ใช้โอกาสอันนี้ไปสร้างหรือยืนยันความถูกต้องของคำวินิจฉัยนั้นเสียอีก”

แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะปกป้องคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 ว่าสามารถใช้กฎหมายย้อนหลังได้เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนให้ใช้ย้อนหลัง แต่วรเจตน์โต้แย้งว่าในประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ไม่ได้เขียนชัดเจนให้ใช้ย้อนหลังได้ เขียนเพียงว่าในกรณีที่มีการยุบพรรคการเมืองให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค และต่อให้เขียนชัดเจนให้ย้อนหลังได้มันก็ขัดกับหลักการห้ามตรากฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายต่อบุคคลอยู่ดี แม้ว่าเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งบุคคลจะไม่ใช่โทษทางอาญาก็ตาม ดังนั้น จึงอยู่ที่การใช้และการตีความของตุลาการรัฐธรรมนูญในเวลานั้น ซึ่งตัวเขาเคยเขียนในแถลงการณ์ของ 5 อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เมื่อประกาศของ คปค. ฉบับที่ 27 ไม่ได้กำหนดวันใช้บังคับไว้ ตุลาการรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศต่อไปในข้างหน้า ไม่สามารถใช้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนได้ ฐานทางกฎหมายของคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 ในความเห็นของวรเจตน์จึงอ่อนมาก

การนำคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเรื่องนี้มาอ้างของฝ่ายค้านส่งผลเท่ากับฝ่ายค้านยอมรับโดยปริยายว่าศาลใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายต่อบุคคลได้ แม้ว่าผลร้ายนั้นจะหนักหน่วงกว่าโทษทางอาญา ซึ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ผลจากการอ้างของฝ่ายค้านในกรณีนี้ยังเท่ากับฝ่ายค้านยอมแลกหลักการกับผลลัพธ์ทางการเมือง ซึ่งวรเจตน์เห็นว่าในระยะยาวแล้วจะได้ไม่คุ้มเสีย

วาระ 8 ปีคือมรดกรัฐประหาร ไม่ใช่หลักการประชาธิปไตย

เหนืออื่นใดวรเจตน์ย้ำความเห็นของตนว่าไม่ควรจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ปล่อยให้เป็นสิทธิของประชาชนที่จะเลือกผู้นำประเทศโดยไม่ต้องกลัวการผูกขาดอำนาจเพราะต้องมีการเลือกตั้งทุก 4 ปีอยู่แล้ว

“มันต้องมาเลือกตั้งอยู่แล้วจะกลัวอะไร เว้นแต่ว่าคุณไม่ไว้ใจประชาชน ไม่ไว้ใจตัวระบอบประชาธิปไตย มันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง”

ความเห็นของตุลาการเสียงข้างน้อยคนหนึ่งอ้าง term limit ในระบบราชการ ซึ่งวรเจตน์คิดว่าเป็นการอ้างที่ผิดฝาผิดตัว เนื่องจากตำแหน่งนายกฯ มาจากการเลือกตั้งที่ผูกติดกับวาระของสภาฯ อยู่แล้ว ต่างจากฝ่ายข้าราชการประจำที่หากไม่กำหนดวาระก็จะอยู่ในตำแหน่งยาวนาน อีกทั้ง term limit ในระบบราชการมีเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนตำแหน่งมากกว่าการคำนึงถึงเรื่องการผูกขาดอำนาจ

“ตำแหน่งนายกฯ ผูกติดกับวาระสภา 4 ปี อยู่แล้ว แล้วก็ผ่านการเลือกตั้ง ถ้าคุณแพ้ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ ไม่เห็นจะต้องกลัวเลย แต่ถ้าคุณชนะการเลือกตั้งก็คือ ประชาชนให้คุณเป็นไง ผมอ่านความเห็นข้างน้อยบางท่าน ที่บอกให้เริ่มนับตั้งแต่ปี 57 อ่านไปอ่านมารู้สึกว่าตุลาการท่านนี้เหมือนแสดงความเห็น against การเลือกตั้งช่วงวิกฤตการเมืองสมัยคุณทักษิณเป็นนายกฯ มีความกังวลว่าจะผูกขาดอำนาจนานเกินไป นายกฯ อำนาจเยอะ แต่ลืมนึกไปว่ามันต้องผ่านกลไกการเลือกตั้งหรือเปล่า”

“มันมีความเห็นของอาจารย์ทวีเกียรติอันหนึ่งเกี่ยวกับทหาร อันนี้ผมเห็นด้วย แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยในผลที่เริ่มนับ 57 ก็ตาม มันมีกฎหมายเทียบตำแหน่งทหาร พลตรีกับอธิบดี แล้วตอนนี้ทหารขยายอำนาจมาก พอคุณมียศนายพล คุณมีฐานะเหมือนอธิบดี คุณก็สามารถไปเป็นตำแหน่งอื่นต่อไปได้ กลายเป็นว่าการเป็นนายพลทหารเป็น springboard เพราะคุณไปเทียบคุณสมบัติ อันนี้ไม่โอเคเลย กฎเกณฑ์นี้เป็นกฎเกณฑ์ที่เกิดหลังรัฐประหาร เป็นผลพวงรัฐประหารที่ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ทำกฎหมายแบบนี้ออกมาเอื้อประโยชน์ให้ทหารระดับสูง

“แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่จะสนับสนุนว่าคุณประยุทธ์อยู่ในอำนาจนาน ก็เลยมีกฎหมายแบบนี้ ในความเป็นจริงกฎหมายแบบนี้เป็นผลมาจากการรัฐประหาร มันไม่ได้เป็นกฎหมายที่ออกมาในตอนที่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว คือกฎหมายแบบนี้เป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหารเลย เพราะออกมาโดย สนช.บางทีผมอ่านแล้วก็รู้สึกว่าตุลาการเสียงข้างน้อยบางท่านตัดสินคดีเพราะรู้สึกว่าประยุทธ์อยู่นานแล้วก็เลยตีความว่านับจาก 57 แล้วก็หาเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุน เหตุผลบางเรื่องมันดูดี และบางประเด็นโดยตัวของมันเองก็ถูกด้วย แต่พอเอามาใช้กับการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ในลักษณะทั่วไปแล้วมันผิดฝาผิดตัว ทำให้นายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร เสมอเหมือนกับนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะดูวิจารณ์การอยู่ในตำแหน่งนายกฯ นาน แบบประยุทธ์ แต่ในด้านกลับ มันไม่ได้ชี้ประเด็นความแตกต่างระหว่างนายกฯ จากรัฐประหาร และนายกฯ จากการเลือกตั้ง ทำให้เหมือนกับว่าถ้านายกฯ มาจากการเลือกตั้ง อยู่นานๆ ก็ออกกฎหมายแบบนี้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับเลย”

ยังมีประเด็นเรื่องความต่อเนื่องของการดำรงตำแหน่งโดยอ้างประเพณีการปกครองว่าไม่ต้องการให้นายกฯ ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ซึ่งวรเจตน์ย้ำเช่นเดิมว่าการกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นมรดกของการรัฐประหารไม่อาจนำมากล่าวอ้างได้ว่าเป็นประเพณีการปกครอง

“ถ้าจะเริ่มนับวาระตั้งแต่ปี 2557 ต้องเขียนให้ชัดไว้ในรัฐธรรมนูญ”

กลับมาเรื่องสำคัญว่าต้องนับวาระของประยุทธ์ตั้งแต่เมื่อไหร่ ตรงนี้ทั้งเลขาธิการพรรคก้าวไกลและทวีเกียรติเห็นตรงกันว่า ถ้าจะไม่นับวาระตั้งแต่ปี 2557 ก็ต้องเขียนให้ชัดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งวรเจตน์มีความเห็นในทางตรงกันข้ามกล่าวคือ ถ้าจะเริ่มนับวาระตั้งแต่ปี 2557 ต้องเขียนให้ชัดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อไม่มีการเขียนไว้ การนับวาระย่อมต้องเริ่มจากวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญนี้ถูกเขียนขึ้นใหม่ ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม และไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมที่เห็นได้ชัดว่าต้องมีผลบังคับทันทีด้วย รัฐธรรมนูญ 2560 มันให้กำเนิดตัวระบบกฎหมายขึ้นใหม่ แล้วโอนเอาองค์กรต่างๆ เข้ามาในระบบกฎหมายใหม่ เมื่อมันเริ่มขึ้นใหม่ หลักมันต้องกลับกัน อะไรที่คุณต้องการให้เอาของเก่ามารวมด้วย คุณต้องเขียน เพราะมันเป็นการเริ่มใหม่ เท่ากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 เมษา 60 กำหนดวิธีการได้มาซึ่งนายกฯ ใหม่ แม้กำหนดระยะเวลาเป็น 8 ปี เหมือน 50 ก็จริง แต่เป็นเงื่อนไขใหม่คือไม่สนใจว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่

“ถ้าคุณจะเอาของเก่ามานับรวมด้วย คุณต้องเขียนครับ อะไรที่เกิดขึ้นใหม่แล้วจะเอาของเก่ามารวมด้วย คุณต้องเขียนเอาไว้ให้ชัดเจน ไม่ใช่ผลักเป็นข้อยกเว้น บางคนอ้างไปถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 22 ของอเมริกาที่กำหนดวาระประธานาธิบดีที่เขียนข้อยกเว้นเอาไว้ ก็ใช่สิ เพราะอันนั้นเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แล้วถ้าไปดูรายละเอียดมันไม่ได้ง่ายแบบที่เขาพูดกัน มันมีการกำหนดรายละเอียดและข้อยกเว้นเอาไว้ด้วย ถ้าเราดูจากกำเนิดรัฐธรรมนูญ เราจะสามารถตอบปัญหานี้ได้โดยตรรกะทางกฎหมายที่รัดกุมและถูกต้องยิ่งขึ้น

“เพราะฉะนั้นประเด็นที่เลขาธิการพรรคก้าวไกลโต้แย้งมา ตามความเห็นผมมันจึงไม่มีน้ำหนัก และผมไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ทวีเกียรติในเรื่องนี้ คือการเถียงกันไปมาว่าถ้าจะให้นับตั้งแต่ 60 ต้องเขียนเป็นข้อยกเว้นไว้ ถ้าไม่เขียนต้องนับตั้งแต่ 57 หรือถ้าจะนับตั้งแต่ 57 ต้องเขียนให้เอาระยะเวลาเดิมมานับรวมด้วย ไม่งั้นต้องนับตั้ง 60 อันนี้ก็ไม่มีวันจบ ไม่มีประโยชน์ เพราะต่างคนต่างก็ยืนยันคนละแบบ ประเด็นชี้ขาดจึงเป็นแบบที่ผมบอกคือ อันนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ใหม่ เริ่มระบบกฎหมายใหม่ใช่ไหม คุณยอมรับข้อเท็จจริงอันนี้ใช่ไหม ถ้าใช่ ก็ต้องใช้บังคับไปข้างหน้า ถ้าคุณจะเอาระยะเวลาเดิมมารวมด้วย คุณก็ต้องเขียน  ถ้าไม่เขียนก็ไม่เอาของเก่ามานับ ก็ง่ายๆ แบบนี้ ไม่ต้องดูหน้าใครสักคนเดียวแบบนี้”

ข้ออ้างเรื่องเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ส่วนการอ้างบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจากคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ไม่ต้องการให้อยู่ในวาระเกิน 8 ปีเพราะจะนำไปสู่การผูกขาดอำนาจและวิกฤตทางการเมือง ซึ่งปรากฏในคำวินิจฉัยส่วนตนของทวีเกียรติและนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ วรเจตน์เห็นว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เขายกเอกสารที่มีการอ้างอิงถึงในคำวินิจฉัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตีความเรื่องนี้รวม 4 ชิ้นมาเป็นข้อพิจารณา เอกสารทั้ง 4 ชิ้นประกอบด้วย รายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นในปี 2559 ขณะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ, หนังสือบันทึกความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, รายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว 1 ปี  5 เดือน ที่มีการหยิบยกเอาคำพูดของมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกับสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานฯ ที่กล่าวว่าระยะเวลาดำรงตำแหน่งของประยุทธ์นับตั้งแต่ปี 2557 และความเห็นของมีชัยที่ให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ  

การอ้างเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ว่านั้น นักกฎหมายส่วนใหญ่มักอ้างอิงจากหนังสือบันทึกความมุ่งหมายและคำอธิบายฯ ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำขึ้นหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว วรเจตน์ตั้งคำถามว่าเพียงแค่การนั่งประชุมกันของผู้ร่างจะนับว่าเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งเขาเห็นว่าไม่ได้ อย่างมากที่สุดก็เป็นแค่เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และแทบไม่มีน้ำหนักด้วย เพราะไม่ได้เกิดขึ้นตอนจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นคนร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถมาประชุมกันออกหนังสือเล่มหนึ่งใช้ชื่อหนังสือว่าความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หนังสือนั้นก็จะกลายเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมมนูญไปตามความเข้าใจของนักกฎหมายหลายคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ซึ่งวรเจตน์เห็นว่าทัศนะดังกล่าวนี้ไม่ถูกต้อง

“เจตนารมณ์ต้องค้นจากตัวรัฐธรรมนูญเอง อย่างเป็นภววิสัยมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเอกสารทั้งหมดที่กล่าวมาอย่างมากที่สุด คุณบอกได้เพียงว่ามันเป็นเจตนารมณ์ของคนร่าง ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทีนี้มีคำถามว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคืออะไร นี่ตอบยากมากเลย รัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นจากรัฐประหาร แล้วมีบทบัญญัติที่ขัดกันเองไปมาหลายเรื่อง ผมก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแท้ๆ ในเรื่องนี้คืออะไรกันแน่ เพราะผู้ร่างเองก็มีเจตนารมณ์ซ้อนกันสองชั้น  ชั้นแรกซึ่งเป็นความมุ่งหมายเดิมคือการกันทักษิณ ชั้นที่สองคือชั้นที่ถูกทำให้ดูดีแล้ว ชั้นที่พยายามทำให้เป็นหลักการ คือป้องกันการผูกขาดอำนาจเป็นระยะเวลานาน แต่ถ้าเราดูดี ๆ เฉพาะเรื่องนี้คือเรื่องระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯก็ไม่ตรงกับหลักที่ใช้กันในสากลด้วยซ้ำ ดังนั้นพูดให้ตรงที่สุดคือความมุ่งหมายของคนร่างรัฐธรรมนูญที่รับเอามรดกจากรัฐประหารปี 49 ที่คุณกังวลเรื่องทักษิณจะมีอำนาจมาก จะชนะเลือกตั้งหลายครั้งก็เลยกำหนดเป็น 8 ปีเอาไว้”

ในบรรดาเอกสารทั้ง 4 ชิ้นวรเจตน์เห็นว่ามีเพียงรายงานการประชุมขณะร่างรัฐธรรมนูญที่ถือว่ามีน้ำหนักมากที่สุด จากการอ่านรายงานประชุมครั้งที่ 63 วันที่ 14 มกราคม 2559 วรเจตน์ยอมรับว่ามีการกล่าวถึงวาระ 8 ปี โดยมีกรรมการคนหนึ่งบอกแค่ว่าการกำหนดวาระ 8 ปีไม่ถูกต้องกับหลักรัฐสภา มีการตั้งคำถามว่าต้องนับอย่างไร แต่ไม่มีคำตอบใดๆ ก่อนจะข้ามไปสู่ประเด็นอื่น ดังนั้น ในรายงานที่ว่าจึงไม่มีการระบุให้นับการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 แต่อย่างใด

เอกสารที่มีน้ำหนักรองลงมาคือบันทึกเจตนารมณ์ที่ทำขึ้นภายหลัง แต่ก็เขียนไว้เพียงกว้างๆ ว่ามุ่งหมายให้ไม่มีการผูกขาดอำนาจเท่านั้น ส่วนรายงานการประชุมครั้งที่ 500 ที่เป็นประเด็นปัญหาพบว่ามีชัยกับสุพจน์พูดเรื่องนี้จริง แต่คำพูดมีน้ำหนักไม่มาก รายงานการประชุมบันทึกไว้แค่ว่าควรจะนับจากปี 2557 ได้ บันทึกไว้เท่านี้ และไม่มีการนำมาบันทึกไว้ในหนังสือที่เป็นผลจากการประชุมอีกด้วย

“แต่อันนี้เป็นสิ่งที่มีคนโต้แย้งกับผมว่า เขาพลาดเอง ทั้งสองคนเขาก็พูดเองว่าควรนับ 57หรือพูดว่านับจาก 57 ได้ แล้วภายหลังมาเปลี่ยนเป็นนับ 60 กับนับ 62 ซึ่งมันไม่น่าเชื่อถือ มันต้องเอาตอนที่เขาพูดในรายงานการประชุมมั้ย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ทวีเกียรติเขียนในคำวินิจฉัยส่วนตนว่าต้องเอาตอนที่พูดที่อยู่ในบันทึกการประชุม ไม่ใช่มาเอาความเห็นคุณมีชัยครั้งหลัง พูดง่ายๆ ว่าคุณมีชัยให้ความเห็นขัดกัน”

“ตอนคุณมีชัยพูดในรายงานการประชุมบอกนับ 57 แต่ตอนที่ทำความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญบอกว่านับ 60 แต่ว่าไม่ว่ายังไงก็ตาม ทั้ง 2 อันนี้ผมให้น้ำหนักน้อยมาก อันที่จริงแทบจะไม่ให้น้ำหนักเลย ความจริงผมมีความเห็นด้วยว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรถามความเห็นของคนร่างรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป เพราะจะทำให้คนร่างรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลเหนือการวินิจฉัยของศาล ถ้าศาลอยากได้ความเห็นคนร่างก็เอารายงานการประชุมตอนร่างมาดู ก็จบ ถ้าไม่มีคือ ไม่มี แล้วก็ตีความตามนิติวิธีในลักษณะของการพิจารณาระบบหรือถ้อยคำ การดูความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของบทบัญญัติ  เอาอย่างอื่นมาดู แล้วก็วินิจฉัยโดยการอภิปรายให้เหตุผลไป เพราะถ้าศาลมีวิธีปฏิบัติแบบนี้มันทำให้ศาลเลือกได้ว่าถ้าอยากออกคำวินิจฉัยแบบนี้ก็เอาความเห็นอันนี้มาอ้าง ถ้าอยากวินิจฉัยอีกแบบหนึ่งก็เอาอีกความเห็นหนึ่งมาอ้าง หรือเรียกให้ทำความเห็น แต่ถ้าให้ความเห็นไม่ตรงกับที่ตนอยากตัดสิน ก็ไม่อ้าง”

“ถ้ามีใครมาถามผมว่าไม่ดูเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ผมบอกว่าผมดู ผมเห็นแล้วว่าตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมันไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่รวมแล้วไม่เกินแปดปี ก็เท่านี้”

ข้ออ้างเรื่องเจตจำนงของประชาชน

ยังมีประเด็นอีกว่าในความเห็นส่วนตนของทวีเกียรติมีการอ้างถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่ส่งผ่านการทำประชามติทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งแสดงว่าประชาชนไม่ยอมรับการผูกขาดอำนาจ วรเจตน์กล่าวว่าประเด็นนี้พูดได้หลายมิติ เขายอมรับว่ารัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับผ่านประชามติจริง แต่ถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติเรื่อง 8 ปีของทั้งสองฉบับไม่เหมือนกัน

“รัฐธรรมนูญปี 50 บอกว่านายกฯ ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีไม่ได้ แปลว่าถ้าคุณเป็น 7 ปี แล้วเว้นไปปีหนึ่งก็มาเป็นใหม่ได้อีก 7 ปี แล้วเว้นไปปีหนึ่งมาเป็นอีก 7 ปี คุณเป็นได้ 21 ปี ถ้าคุณถามเจตนารมณ์ตามตัวบทมันก็เขียนแบบนี้ ถามว่าประชาชนคิดถึงขนาดนี้มั้ย เอาจริงๆ เวลาอ้างแบบเหมารวมว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติมันอันตรายมากๆ มันมีบทบัญญัติหลายเรื่องที่มันใช้ไม่ได้หรือเป็นเรื่องที่แย่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ฝ่ายที่เขาเห็นว่า ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกฯ เขาก็อ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ทุกวันนี้ก็ยังอ้างอยู่ ก็ประชาชนให้อำนาจเขา มีการถามคำถามผ่านประชามติเหมือนกัน แล้วคุณจะมาเปลี่ยนแปลงอะไร เปลี่ยนทำไมนี่เป็นเจตนารมณ์ประชาชน

“การอ้างอะไรบางอย่างเพื่อซัพพอร์ตผลทางกฎหมายที่ตนต้องการยิ่งต้องระมัดระวัง และดูว่าคุ้มไหม การอ้างเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งเพียงเพราะมันช่วยให้ได้ผลอย่างที่ต้องการ มันคุ้มไหม วันหน้าคุณจะโดนย้อนศรไหม ไม่ต้องพูดว่าประชามติที่เกิดขึ้นสองครั้งเป็นประชามติแบบไหน ที่ผมพูดที่หอประชุมศรีบูรพา ผมบอกว่า ผมถนัดขวา ผมกาโน ผมก็ถูกขู่มาจากท่านรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายว่าสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายประชามติ นี่มันประชามติภาษาอะไรถ้าพูดขนาดนี้ไม่ได้ แล้วไปดูตอนที่ทำประชามติมีคนถูกจับ ถูกดำเนินคดีกี่คน ประชามติมันอ้างได้แค่ไหนในบริบทแบบนั้น แล้วในบริบทของกึ่งมัดมือชกแบบนั้น ถ้าอ้างอันนี้ได้ อีกฝ่ายก็จะอ้างอีกอันหนึ่งได้ กลายเป็นว่าอ้างได้ทุกอันเลย ครั้งนี้มันขัดกันเองเลย กลายเป็นว่าประชาชนจำกัดระยะเวลานายก อีกด้านกลายเป็นว่าประชาชนยอมให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาเลือกตั้งนายกฯ ได้ เป็นเจตนารมณ์ของประชาชนทุกอันเลยกระนั้นหรือ มันไม่ใช่หรอก ประชามติไม่น่าจะอ้างมาซัพพอร์ตอันนี้ได้ ไม่ใช่แค่ตัวบทต่างกันนะ อันหนึ่งตอน 50 บอกว่าเป็นแปดปีติดต่อกัน อันหนึ่งตอน 60 บอกเป็นแปดปีติดต่อกันหรือไม่ก็ได้ แค่นี้ก็บอกไม่ได้แล้วเจตจำนงแท้ๆ ของประชาชนคืออะไร”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)

บัญชีทรัพย์สินเป็นคนละข้อกฎหมายกับวาระดำรงตำแหน่ง ไม่เกี่ยวข้องกัน

ต่อเนื่องสู่ข้ออ้างเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของประยุทธ์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นเหตุผลสนับสนุนว่าประยุทธ์ดำรงต่อเนื่องตั้งแต่ 2557 วรเจตน์อธิบายว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อพ้นตำแหน่งแล้วเข้ารับตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยเพราะเป็นการยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบซึ่งมีตัวบทรับรอง

แต่ประเด็นคือ ป.ป.ช. เคยอ้างเหตุผลที่ไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของประยุทธ์ว่าเพราะเป็นการดำรงต่อเนื่องมา ซึ่งวรเจตน์กล่าวว่าการไม่เปิดเผยกับการนับวาระการดำรงตำแหน่งเป็นคนละประเด็น หากต้องการให้ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินก็ต้องไปเรียกร้องให้เปิดเผยหรือตรวจสอบการตีความของ ป.ป.ช.

“แต่ปัญหาทางรัฐธรรมนูญในประเด็นคุณประยุทธ์เป็นปัญหาเรื่องการนับเวลาดำรงตำแหน่งที่ผูกกับตัวรัฐธรรมนูญ ส่วนของ ป.ป.ช. เป็นการยื่นบัญชีเพื่อให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ วัตถุประสงค์คนละเรื่องกัน และต่อให้คุณบอกว่าเป็นนายกฯ มาต่อเนื่องต้องนับเหมือนกันก็เป็นแค่ปัญหาการตีความของ ป.ป.ช.”

วรเจตน์ตั้งคำถามกลับว่าการตีความ ป.ป.ช. ถือว่าผูกพันศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือ? ศาลรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรมนูญประเด็นการนับเวลา ไม่ได้ตีความกฎหมายของ ป.ป.ช. จึงไม่สามารถนำการตีความของ ป.ป.ช. มาบังคับศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น การตีความของ ป.ป.ช. จึงไม่มีน้ำหนักต่อการนับระยะเวลาแต่อย่างใด

“มันเป็นคนละอัน อันหนึ่งเป็นเรื่องนับเวลาว่าเริ่มเมื่อไหร่ซึ่งถูกล็อคโดยตัวบทรัฐธรรมนูญปี 60 อยู่แล้ว อีกอันเป็นการยื่นบัญชีเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ ต่อให้เรานับ 60 คุณประยุทธ์ก็ไม่ต้องยื่นใหม่นะ มันก็เข้ากับตัวบทอยู่ดี สมมติคุณประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 57 ตอนเที่ยงคืนแล้วเข้าสู่เขตแดนทางเวลาตามรัฐธรรมนูญปี 60 ต่อกันตามกฎหมาย ป.ป.ช. ก็ไม่ต้องยื่นเปิดเผยใหม่อยู่แล้ว มันไม่ใช่ประเด็นที่จะเอามาใช้ในการบ่งชี้เวลา เหมือนกับเรื่องรับเงินเดือนนั่นแหละ”

ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อ

จากทั้งหมดนี้ย่อมถือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่านับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 เป็นที่ยุติแล้ว เหลือเพียงประเด็นเดียวที่อาจทิ้งปัญหาไว้ในอนาคตคือเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ต่อว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะเท่ากับประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกเพียง 2 ปีเศษๆ เมื่อครบแล้วจะถือว่าพ้นสภาพทันทีหรือสามารถรักษาการต่อได้ โดยความเห็นของทวีเกียรติระบุว่าปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ นครินทร์ระบุว่าปฏิบัติหน้าที่ต่อไม่ได้ ส่วนนภดลมิได้กล่าวถึงประเด็นนี้

ในประเด็นนี้ วรเจตน์เห็นด้วยกับทวีเกียรติว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้

“เพราะในตัวบทเขียนไว้ชัดเจนว่าให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนของอาจารย์นครินทร์ที่เขียนว่าปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ ท่านเขียนฟันธงลงไป แต่ไม่มีข้อกฎหมายอ้างอิงว่าอ้างจากไหน ผมก็พยายามไปดูว่ามีข้อกฎหมายไหนสนับสนุนความเห็นอาจารย์นครินทร์ก็มีใกล้เคียงสุดคือพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 10 วรรคสี่ ที่ระบุว่าถ้าพ้นจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ แต่ว่าพอดูรายละเอียดแล้วมันไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้ใช้กับกรณีวาระ 8 ปี บทบัญญัตินี้เหมือนกับว่าถ้าศาลวินิจฉัยว่าคุณขาดคุณสมบัติคุณต้องพ้นเลย แต่วาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีไม่ได้เป็นเรื่องคุณสมบัติโดยตรง มันเป็นเรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง และรัฐธรรมนูญก็เขียนชัดเจนว่าไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นตำแหน่งเข้ากับระยะเวลา 8 ปี ซึ่งหมายความว่าตอนรักษาการนายกฯ หลังพ้นตำแหน่ง ไม่นับ”

จุดนี้ต่อให้อ้าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ก็ไม่สามารถหักบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งมีลำดับชั้นทางกฎหมายสูงกว่าได้ วรเจตน์เห็นว่าในแง่ความเฉพาะ มันคล้ายๆ กับเป็นเรื่องของ lex specialis derogat legi generali คือกฎหมายเฉพาะตัดกฎหมายทั่วไป แปลว่าการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังครบ 8 ปีถูกเขียนไว้โดยเฉพาะว่าไม่ให้นับเข้าในวาระ 8 ปี นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาครบ 4 ปีแล้ว จนสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ แล้วต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกฯในระหว่างนั้น ระยะเวลาช่วงนั้นก็จะไม่ถูกนับรวมเข้าใน 8 ปี ต่อมาหากได้เป็นนายกฯ อีกครั้งหนึ่งจนครบวาระสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในครั้งหลังนี้ก็เป็นเต็มอีก 4 ปี รวมเป็น 8 ปี แล้ว ถ้าต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีก ในทางกฎหมายก็ทำได้  เพียงในทางปฏิบัติมันจะมีปัญหาเวลาในการนับวันที่ครบ 8 ปี เพราะอาจจะไม่ตรงกันพอดีกับวันครบวาระของสภาผู้แทนราษฎร แต่การปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังครบ 8 ปี แล้วไม่เป็นปัญหา

“ในส่วนที่สัมพันธ์กับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 10 วรรคสี่ต้องตีความให้รับกัน คือถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกฯขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม นายกฯ ก็พ้นจากตำแหน่งและขาดจากตำแหน่งเลย รักษาการต่อไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนในคำวินิจฉัย ก็ต้องพิจารณาจากตัวบทของรัฐธรรมนูญ โดยที่ตัวบทเขียนชัดเจนว่าไม่ให้นับรวมระยะเวลาที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วยหลังพ้นตำแหน่ง ก็เท่ากับว่าการเป็นนายกฯเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังครบ 8 ปีไม่ถูกนับรวมเข้ากับ 8 ปีด้วย เมื่อครบ 8 ปีแล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จะเอาพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 10 วรรคสี่ มาใช้บังคับให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ได้ ตามหลัก lex superior derogat legi inferiori  กฎหมายที่สูงกว่าย่อมตัดกฎหมายที่ต่ำกว่ามิให้ใช้บังคับกรณีที่ขัดแย้งกัน และอันที่จริงแล้วผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ด้วย

อย่าใช้ศีลธรรมแทนกฎหมาย อย่าแลกหลักกฎหมายกับผลลัพธ์ทางการเมือง

ในคำวินิจฉัยส่วนตัวของทวีเกียรติยังมีการอ้างอิงสำนึกที่ดี จริยธรรม และสิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติ วรเจตน์ย้ำมาตลอดและย้ำอีกครั้งว่าการวินิจฉัยข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาทางเทคนิคไม่ควรนำศีลธรรมมาใช้ในการพิจารณา

“เรากำลังวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่ามันเป็นปัญหาทางการเมือง แต่เมื่อมันเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายแล้วก็ต้องระวังการอ้างอิงศีลธรรมมาใช้ แบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เหมือนที่ผมพูดถึงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พอเถียงกันไปมาแล้ว logic ทางกฎหมายไม่ได้ คนที่เถียงก็บอกว่าไม่ต้องเถียงกัน อันนี้เป็นการกำจัดคนชั่วออกจากการเมือง คุณไปเอาดีชั่วมาตัดสินโดยที่พิสูจน์อะไรไม่ได้เลย คุณรู้ได้ยังไงว่าคนพูดเป็นคนดี แล้วคุณดีกว่าคนที่ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่เกิดจากผลพวงของรัฐประหารวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผมว่าอันนี้ต้องระวัง มันง่ายต่อการใช้โวหารจูงใจคน แต่ผมว่าดีกว่าถ้าว่าไปตามข้อกฎหมายที่โต้แย้งกัน พิสูจน์กันตาม logic ทางกฎหมาย”

วรเจตน์ตระหนักดีว่าข้อวินิจฉัยที่ตีความไปตามหลักการทางกฎหมายของเขาสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย มิใช่แค่ครั้งนี้ ถ้ากล่าวถึงบทสัมภาษณ์กับ ‘ประชาไท’ ก็นับตั้งแต่กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ไม่ว่าจะเผชิญกระแสต่อต้านอย่างไร เขายังคงยืนยันว่าอย่านำหลักการทางกฎหมายไปแลกกับผลทางการเมืองเพราะถึงที่สุดแล้วจะได้ไม่คุ้มเสีย

“ผมมองจากกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย เหตุผลหลายอย่างที่ซัพพอร์ตว่าต้องนับตั้งแต่ปี 57 หลายอย่างมันไม่ดี เช่น คุณไปอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เสี่ยงมากๆ อย่าเอาแบบนั้นเลย เราไปดูจากกฎเกณฑ์ ตัวบท หลักการตีความเป็นเหตุผลดีกว่า แล้วที่มีคนพูดว่าตุลาการทั้ง 6 คนที่เป็นเสียงข้างมากเคารพหลักกฎหมายหรือไม่ อันนี้ก็ไปถามตุลาการ 6 คน ไม่ต้องมาถามผม ผมไม่เกี่ยวด้วย ถ้าคุณจะแย้งผมด้วยหลักกฎหมายก็แย้งมา แต่อย่าผลักผมว่ามีมูลเหตุจูงใจตีความแบบตุลาการห้าหกคนนั้น

“ผมไม่ทราบหรอกว่าท่านเหล่านั้นมีมูลเหตุจูงใจเหมือนหรือต่างจากผมอย่างไร ผมเพียงแต่พูดไปจากสิ่งที่ผมเห็นและผมควรจะพูด แม้สิ่งที่ผมพูดไปจะทำให้เกิดความไม่สบายใจในหมู่คนที่อยากให้คุณประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งเพราะรู้สึกว่าเสียขบวน อันนี้ก็ช่วยไม่ได้ ผมก็บอกแล้วว่าทางการเมืองก็เคลื่อนไปเลย แต่ถ้าพูดทางกฎหมาย ผมก็พูดจากหลักการใช้และการตีความกฎหมายที่ผมเห็นว่าถูกต้อง ผมก็อุตส่าห์ไม่พูดเรื่องนี้แบบละเอียดและไม่เปิดเผยความเห็นผมพร้อมเหตุผลก่อนที่ศาลจะวินิจฉัยแล้ว มีพูดสั้นๆ ให้กับสื่อฉบับหนึ่งที่มาสัมภาษณ์เรื่องอื่นแล้วก็พาดพิงถึง แต่ก็ไม่ได้ให้เหตุผลละเอียด เพราะไม่ได้คิดว่าจะมีคนสนใจเท่าไหร่นัก ในส่วนของการสัมภาษณ์ค่อนข้างละเอียด แม้ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อน ก็ขอร้องสื่อที่มาสัมภาษณ์ว่าให้เผยแพร่หลังจากศาลวินิจฉัย แค่นี้ผมยังตระหนักถึงฝ่ายที่อยากให้คุณประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งไม่พออีกหรือ จะต้องให้ผมพูดความเห็นทางกฎหมายของผมให้เหมือนกับฝ่ายที่เคลื่อนไหวทางการเมืองทุกเรื่องหรือ มันจะไม่เกินไปหน่อยหรือ”

“ส่วนเรื่องศาลรัฐธรรมนูญควรยุบมั้ย ควรจะยุบตั้งนานแล้ว แล้วว่ากันใหม่ในระบบใหม่ ความคิดใหม่ ผมพูดไปเป็นสิบปีแล้ว ไม่ใช่แค่จะยุบตอนนี้ เพราะคดีนี้ มันมีเหตุการณ์ในอดีตที่หนักหนาสาหัสกว่านี้เยอะ แต่เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีอยู่แบบนี้ และเราต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายเช่นนี้ เราก็ต้องดูข้อกฎหมายที่มันเป็นอยู่ตอนนี้ ผมก็ตอบได้แบบนี้จากเกณฑ์ทางกฎหมายตามข้อจำกัดของกฎหมายแบบนี้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net