Skip to main content
sharethis

คณะทำงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน UN ร่อน จม.เปิดผนึกถึงรัฐบาล แสดงความกังวลต่อการฟ้องคดีปิดปากนักวิชาการ สื่อ และ NGO ด้านศาลอาญากรุงเทพใต้ เลื่อนพิจารณาคำร้องของ 'อังคณา' ขอรวมทุกคดีที่ถูก บ.ฟาร์มไก่ 'ธรรมเกษตร' ฟ้องหมิ่นประมาทพิจารณาพร้อมกันครั้งเดียว หลังบริษัทค้านอ้างเหตุเกิดคนละคราว เจ้าตัวระบุการฟ้องคดีซ้ำซ้อนแบบนี้ทำให้ศาลเสียทรัพยากร และเวลาในการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ ปชช.

 

20 ธ.ค. 2565 ทีมสื่อ Protection International (PI) รายงานวันนี้ (20 ธ.ค.) คณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน มีจดหมายเปิดผนึกแสดงถึงความกังวลต่อการฟ้องคดีปิดปากอย่างเป็นระบบของหน่วยงานธุรกิจต่อนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนในไทย  

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุรายละเอียดว่า คณะทำงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนกระตุ้นรัฐบาลไทยให้ดำเนินการเพื่อยุติการใช้ระบบกฎหมายของหน่วยงานธุรกิจ เพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และหน่วยงานภาคประชาสังคมอื่นๆ 

ที่ผ่านมา มักมีการฟ้องคดีเพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) เพื่อข่มขู่ผู้สื่อข่าวและนักกิจกรรมด้านสิทธิฯ ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีและมีค่าใช้จ่ายอย่างไม่สิ้นสุด 

“คดีที่บริษัทต่างๆ อย่างเช่น บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของหน่วยงานธุรกิจที่ใช้ระบบกฎหมายอย่างมิชอบ เพื่อเซ็นเซอร์ ข่มขู่และปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์ โดยการฟ้องคดีปิดปาก ซึ่งเป็นการคุกคามด้วยกระบวนการกฎหมาย” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว

“คณะทำงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้ดำเนินงานผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลของกลไกพิเศษ ในหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับบริษัทธรรมเกษตรจำกัด ทางคณะทำงานได้จัดประชุมกับตัวแทนของบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่บริษัทยังคงเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อความเห็นของคณะทำงาน และยังคงฟ้องคดีต่อผู้ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างสันติ” คณะผู้เชี่ยวชาญระบุความคิดเห็นในจดหมายเปิดผนึก

บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ฟ้อง คดีหมิ่นประมาท ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งอังคณา นีละไพจิตร พุทธณี กางกั้น และธนภรณ์ สาลีผล ศาลอาญากรุงเทพใต้มีกำหนดเริ่มพิจารณาคดีต่ออังคณา นีละไพจิตร ในวันที่ 19 ธ.ค. 2565

“พวกเรากังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่อาจได้รับโทษจำคุกและอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก จากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกและความเห็นของตน” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว

มีข้อสังเกตว่าราชอาณาจักรไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน คณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติยังกระตุ้นรัฐบาลให้ดำเนินงานตาม แนวปฏิบัติ ที่มีการนำเสนอโดยคณะทำงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2564 กล่าวคือการประกันให้มีความเคารพต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (A/HRC/47/39/Add.2) แนวปฏิบัติของคณะทำงานระบุว่า หน่วยงานธุรกิจไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการคุกคามด้วยกระบวนการกฎหมาย รวมทั้งการฟ้องคดีปิดปาก คณะทำงานได้ย้ำข้อความนี้ รวมทั้งในระหว่างการประชุมเวทีธุรกิจและสิทธิมนุษยชนประจำปี 2564 และ 2565  

“หลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติ เน้นบทบาทที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในการส่งเสริมการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนให้หน่วยงานธุรกิจมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบ การคุกคามใดๆ ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการข่มขู่โดยผ่านกระบวนการทางกฎหมาย จึงต้องยุติลง” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว 

ล่าสุด วันที่ 19 ธ.ค. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน คดีที่อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจองค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert- WGEID) ในฐานะจำเลยได้ยื่นคำร้องขอรวมการพิจารณาคดีที่ถูกบริษัทธรรมเกษตรฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 326 และ 328 ประมวลกฎหมายอาญารวม 2 คดี เนื่องจากเป็นการฟ้องด้วยมูลเหตุและข้อมูลชุดเดียวกัน ทั้งนี้ บริษัทธรรมเกษตรที่เป็นโจทก์ ได้คัดค้านต่อศาลโดยอ้างว่าเหตุเกิดคนละคราวกัน มูลคดีต่างวาระกัน โดยโจทก์จะยื่นคำแถลงคัดค้านเป็นหนังสือต่อศาลภายใน15 วัน ศาลนัดพิจารณาคำร้องขอรวมคดีในวันที่ 16 ม.ค. 2566 

อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา กล่าวว่า คดีนี้บริษัทได้ดำเนินคดีต่อแรงงานข้ามชาติ นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงนักกิจกรรม 22 คน รวมประมาณ 37 คดี ซึ่งคดีส่วนมากถึงที่สุดโดยที่ศาลยกฟ้อง จึงทำให้เห็นว่าบริษัทธุรกิจบางบริษัทยังคงใช้การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดปากนักปกป้องนักสิทธิมนุษยชน โดยส่วนตัวไม่ได้มีความกังวลในการถูกดำเนินคดี เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน

“อย่างไรก็ดี การที่โจทก์คัดค้านคำขอรวมคดีทั้งที่เป็นการฟ้องในมูลเหตุเดียวกัน จึงอาจเป็นเสมือนการกลั่นแกล้งจำเลย เนื่องจากทำให้จำเลยต้องเดือดร้อนในการต้องไปศาลหลายครั้ง ทำให้เสียเวลาในการทำประโยชน์อย่างอื่น อีกทั้งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่จำเลยทั้งค่าทนายความ ค่าเดินทาง และยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก นอกจากนั้นการฟ้องคดีซ้ำซ้อนยังทำให้ศาลต้องเสียทรัพยากร รวมถึงเสียเวลาในการพิจารณาคดีแทนที่จะเอาเวลาไปให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนในคดีอื่นๆ” อังคณา กล่าว

ขณะที่ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจาก PI กล่าวว่า ล่าสุดได้เขียนจดหมายเปิดผนึกไปหาโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และหน่วยงานต่างของสหประชาชาติที่ทำงานในไทยไปแล้วแต่ไม่มีการตอบกลับใดๆ  

หากแต่เป็นเรื่องที่ดีมากที่คณะทำงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ถึงรัฐบาลไทย ขอย้ำอีกครั้งว่าเราไม่อาจประเมินผลกระทบของการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมจากภาคธุรกิจต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่ำเกินไป เพราะการคุกคามทำให้เสียกำลังใจ เสียทั้งเวลาและทรัพยากร ซึ่งเวลาและทรัพยากรนั้นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถนำมาใช้ เพื่อดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและพัฒนาสังคมอย่างอื่นได้  กรณีคุณอังคณาแทนที่จะได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติกลับต้องมาถูกฟ้องและต้องไปศาล เสียเวลาอันมีค่าและทรัพยากรในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์การแสดงออกที่สุจริตอยู่แล้วของตน ดังนั้นการฟ้องเพื่อปิดปากของบริษัทเอกชนเป็นการปิดกั้นไม่ให้สังคมได้มีโอกาสในการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนของประชาชน

ตลอดระยะเวลา 8 ปีหลังรัฐประหารผู้ นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิฯ หลายคนต้องเสียเวลา และทรัพยากรอันมีค่า เพื่อต่อสู้คดีในศาลซึ่งมักใช้เวลานานหลายปี ขณะที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงน้อยกว่ารวมทั้งผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนกว่า 450 คน มักจะมีทรัพยากรน้อยกว่า และมีเวลาที่จำกัดมาก เพราะต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัวและปกป้องสิทธิฯ จึงเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อพวกเธอและครอบครัว

การถูกดำเนินคดียังส่งผลกระทบด้านลบอย่างรุนแรงต่อสภาพอารมณ์และคุณภาพชีวิต นักเคลื่อนไหวฯ ซึ่งต่อสู้อย่างยาวนานกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปกป้องชุมชนในหลายด้าน การทำงานปกป้องสิทธิมักไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับค่าตอบแทน และมักไม่มีจุดสิ้นสุด ในบริบทที่ถูกฟ้องด้วยคดีหมิ่นประมาทหรือคดีปิดปาก จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตของพวกเธอและครอบครัว 

หากยังคงปล่อยให้การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นต่อไป โดยไม่มีการตรวจสอบจากรัฐบาล การทำงานที่สำคัญเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน จะยิ่งเสี่ยงอันตรายและไม่มั่นคงมากขึ้น การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง ย่อมจะทำให้ธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความรับผิดชอบ ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย รัฐบาลไทยต้องดำเนินการให้สอดคล้อง และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติฯ ที่ระบุว่า “เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบริษัท รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และเหมาะสม”   

ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับแรงงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักข่าว รวมทั้งหมด 22 คน 37 คดี ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทบริษัทเป็นหลักโดยส่วนใหญ่แล้ว ศาลไม่รับฟ้องหรือยกฟ้อง แต่ล่าสุดกรณีของอังคณา และสองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งรับฟ้องและนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 19 ม.ค. 66 

หมายเหตุ สามารถอ่านจดหมายเปิดผนึกของคณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนได้ที่ลิงก์นี้ https://www.ohchr.org/en/press-releases/2022/12/un-experts-concerned-systematic-use-slapp-cases-against-human-rights
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net