Skip to main content
sharethis

พรรคแรงงานของอังกฤษประกาศหากชนะเลือกตั้งครั้งหน้าจะเดินหน้า ‘ยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง’ พร้อมผลักดันให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. ทั่วประเทศตามแนวนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

สำนักข่าวสกายนิวส์ของอังกฤษรายงานว่าเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา พรรคแรงงานของอังกฤษเผยแพร่ร่างนโยบาย “บริเตนใหม่” (New Britain) เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าที่จะมีขึ้นในปี 2568 โดยหนึ่งในแผนงานสำคัญภายใต้ร่างนโยบายนี้คือการปฏิรูประบบรัฐสภาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกสภาขุนนางหรือ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งพรรคแรงงานมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและทำให้สมาชิกสภาขุนนางมีความห่างไกลจากประชาชน โดยพรรคแรงงานสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. ที่เป็นประชาธิปไตยและกระจายอำนาจสู่ประชาชน และตั้งชื่อใหม่ว่า ‘สมัชชาแห่งชาติและภูมิภาค’

กอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรจากพรรคแรงงาน (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2550-2553) ผู้เสนอร่างนโยบายบริเตนใหม่เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “สภาขุนนางในปัจจุบันนั้นไม่สามารถป้องกันได้” พร้อมระบุเพิ่มเติมว่าทุกประเทศที่มีระบบสภาคู่ สภาสูงหรือ ส.ว. จะมีขนาดเล็กกว่าสภาล่างหรือ ส.ส. แต่สภาสูงของสหราชอาณาจักรนั้นมีขนาดใหญ่กว่าสภาล่าง โดยปัจจุบัน สหราชอาณาจักรมี ส.ว. มากถึง 830 คน ในขณะที่ ส.ส. มีเพียง 650 คนเท่านั้น

“เทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มี ส.ว. เพียง 100 คนต่อจำนวนประชากร 300 ล้านคน เรา (สหราชอาณาจักร) มีประชากรเพียง 60 ล้านคนแต่มี ส.ว. เกิน 800 คนแล้ว ดังนั้น ระบบในปัจจุบันถือว่าใช้การไม่ได้” บราวน์กล่าว

นอกจากนี้ บราวน์ยืนยันว่าหากพรรคแรงงานชนะเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีนโยบายห้าม ส.ส. รับงานนอกหรือทำงานหลายตำแหน่ง แต่อาจจะมีข้อยกเว้นให้กับ ส.ส. บางคนที่จำเป็นต้องรักษาคุณสมบัติด้านอาชีพ เช่น แพทย์ หรือทนายความ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าเคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงานคนปัจจุบันและผู้นำฝ่ายค้านของสหราชอาณาจักร ออกมาขานรับร่างนโยบายนิวบริเตนของบราวน์ พร้อมระบุว่าหากพรรคแรงงานได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการยกเลิก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง และเปลี่ยนมาใช้ระบบ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม สตาร์เมอร์ไม่ได้ระบุกรอบเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่ระบุคร่าวๆ ว่ารัฐบาลพรรคแรงงานน่าจะดำเนินนโยบายต่างๆ ตามที่ได้ประกาศไว้ภายใน 5 ปี

“ผมตั้งใจมากที่จะทำให้คำแนะนำต่างๆ ในรายงาน[นิวบริเตน]สำเร็จลุล่วงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” สตาร์เมอร์กล่าว

ร่างนโยบายนิวบริเตนของพรรคแรงงานได้รับการเผยแพร่หลังจากพรรคแรงงานชนะเลือกตั้งซ่อมในเมืองเชสเตอร์ โดยได้คะแนนสูงถึง 60.8% ขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนน 22.2% ร่างนโยบายนี้มุ่งเน้นการปฏิรูประบบการเมืองและการกระจายอำนาจแก่ประชาชนในสหราชอาณาจักรอย่างทั่วถึง โดยมีแผนงานสำคัญ 8 ประการ ได้แก่:

  • กระจายงาน 50,000 ตำแหน่งจากพระราชวังไวต์ฮอลล์ (ทำเนียบรัฐบาล) ออกไปสู่เมืองอื่น

  • ห้าม ส.ส. ทำงานเสริมหรือทำงานหลายตำแหน่ง และกำจัดเงินทุนต่างชาติออกจากการเมืองของสหราชอาณาจักร

  • ตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตชุดใหม่เพื่อกำจัดพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายในการเมืองอังกฤษ

  • ให้อำนาจด้านเงินแก่รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อหารายได้เพิ่มด้วยตนเอง

  • สร้างข้อกำหนดใหม่ทางกฎหมายที่อนุญาตให้ท้องถิ่นสามารถตัดสินใจได้มากที่สุด

  • รวมรัฐสภาสกอตแลนด์เข้าไว้ในข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของสกอตแลนด์

  • สร้างการกระจายตัวของกลุ่มนวัตกรรมในกว่าร้อยภูมิภาค

  • จัดให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงในสกอตแลนด์

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนประเมินว่านโยบายยกเลิก ส.ว. ของพรรคแรงงานจะสั่นคลอนสถาบันตามรัฐธรรมนูญที่มีอายุหลายศตวรรษและอาจได้รับการต่อต้านจาก ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่บีบีซีรายงานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของปีเตอร์ แมนเดลสัน สมาชิกพรรคแรงงานผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ตลอดชีพของอังกฤษ ซึ่งกังวลว่าร่างนโยบายนิวบริเตนของพรรคแรงงานมีความเสี่ยงที่จะทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หากไม่ได้รับความร่วมมือจากพรรคอื่นๆ

“มันคงจะใช้เวลาและพลังงานอย่างมหาศาล บอกตามตรงว่าพรรคแรงงานควรจะทุ่มเทให้มากกว่านี้ในนโยบายสำคัญอื่นๆ รวมถึงความต้องการอื่นๆ ของประเทศ อย่าคิดว่าคุณจะทำนโยบายนี้ได้ง่ายๆ ด้วยตัวคนเดียว และอย่าคิดจะผลักผลลัพธ์ออกคนอื่นรับผิดชอบ” แมนเดลสันกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ในรายการบีบีซีนิวส์ไนต์

ขณะที่ฟิลิป นอร์ตัน ส.ว. และสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ให้สัมภาษณ์กับไทม์เรดิโอว่าสภาขุนนางไม่ควรมาจากการเลือกตั้ง และเตือนให้ระวังการสั่นคลอนทางเศรษฐกิจที่อาจตามมาจากการแก้ไขกฎหมายแบบเฉียบพลัน ด้านไซมอน คาร์ก ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยมและอดีตรัฐมนตรีแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าการเลือกตั้ง ส.ว. อังกฤษตามรูปแบบการเมืองของสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่อง ‘งี่เง่า’ ที่สุด

ฮันนาห์ ไวต์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อรัฐบาล (Institute for Government) ซึ่งเป็นคณะทำงานระดับมันสมองให้แก่รัฐบาลอังกฤษมองว่านโยบายนี้ของพรรคแรงงานนั้น ‘ทะเยอทะยานชัดเจน’ พร้อมระบุว่าการจะยกเลิกสภาขุนนางนั้นต้องให้สมาชิกสภาขุนนางตกลงด้วยว่าจะยินยอมหรือไม่ หรืออย่างน้อยก็ต้องได้รับความยินยอมให้เกิดการปฏิรูป

“เราเคยมีความพยายามหลายครั้งในอดีตที่จะปฏิรูปสภาขุนนางซึ่งมีปัญหาในทางการเมือง และไม่สามารถบรรลุฉันทามติของมหาชนได้” ไวต์กล่าว

ทั้งนี้ บีบีซีระบุว่าพรรคแรงงานจะปรึกษาหารือกันต่อเรื่องระยะเวลาและแนวทางการดำเนินนโยบายตามร่างนโยบายนิวบริเตน ก่อนจะตัดสินใจอย่างแน่ชัดอีกครั้งว่าจะกำหนดเป็นนโยบายหาเสียงอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

 

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net