Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ ยื่นข้อเรียกร้องถึง "ประยุทธ์" และ "ดอน" ให้รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค 2022 ร่วมกับชาติอาเซียนหาแนวทางหยุดรัฐบาลทหารพม่าปราบปรามประชาชนและดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่รัฐบาลทหารรับปากจะดำเนินการแต่ผ่านมากว่าปียังคงล้มเหลว

ปิยนุช โคตรสาร จากแอมเนสตี้ฯ (ซ้าย) และนลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน (ขวา) 

16 พ.ย.2565 ฝ่ายสื่อสารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่าวันนี้ทางองค์กรเดินทางไปยื่นหนังสือและข้อเรียกร้อง “ยุติการนองเลือดในพม่า” ที่มีคนร่วมลงชื่อถึง 2,000 กว่ารายชื่อส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมหารือเพื่อยุติการนองเลือดในประเทศพม่าและแสดงพลังในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวพม่า

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า เป็นเวลาเกือบสองปีหลังการทำรัฐประหาร ประชาชนกว่า 1.4 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานในพม่า อีก 12,839 คนถูกควบคุมตัวในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม และอย่างน้อย 73 คนตกเป็นนักโทษประหาร โดย 4 คนถูกประหารชีวิตไปแล้ว รวมถึงมีเด็ก 7.8 ล้านคนที่ต้องออกจากโรงเรียน กองทัพพม่าได้สังหารผู้ชุมนุมประท้วงและประชาชนทั่วไปหลายร้อยคน และอีกหลายพันคนเสียชีวิตจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่เกิดขึ้นทั่วประเทศภายหลังรัฐประหาร

แอมเนสตี้ฯ จึงนำ 2,129 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านแคมเปญออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org เพื่อแสดงเจตจำนง “ยุติการนองเลือดในพม่า” มอบให้กับนายกรัฐมนตรีและสำเนาถึง ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ประจำปี 2022 ควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมหารือเพื่อยุติการนองเลือดในประเทศพม่าและแสดงพลังในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวพม่า

“กองทัพพม่าเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเพิกเฉยต่อ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ของอาเซียน ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2564 ทางกองทัพพม่ารับปากว่าจะดำเนินการตาม แต่ก็ล้มเหลวและไม่สามารถหยุดกองทัพกองทัพพม่าในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มากขึ้นต่อประชาชนชาวพม่าได้

“ทางการไทยในฐานะรัฐภาคีอาเซียนและในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกต้องแสดงท่าทีอย่างเร่งด่วนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพม่า ทั้งการการสนับสนุนให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งการไม่บังคับส่งกลับผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากความรุนแรง และต้องให้การประกันว่าภาคธุรกิจหรือรัฐวิสาหกิจของไทยจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า และหน่วยงานในเครือในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องเรียกร้องให้กองทัพพม่ารับฟังเสียงจากประชาชนชาวพม่าซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักด้วย”

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้

  • รัฐบาลไทยต้องใช้วิธีการทุกอย่างที่เป็นไปได้ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างชายแดน

  • ร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน กลุ่มพหุภาคี และองค์การระหว่างประเทศเช่นหน่วยงานในสหประชาชาติเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและด้านมนุษยธรรมในพม่า

  • รับผู้ขอลี้ภัยและประกันการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศไทย รวมทั้ง ละเว้นจากการเนรเทศหรือการส่งกลับของผู้ขอลี้ภัยชาวพม่า และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขอลี้ภัยและหยุดการดำเนินคดีกับพวกเขาระหว่างพำนักในประเทศไทย

  • หน่วยงานของรัฐต้องออกประกาศ ระเบียบ หรือกฎกระทรวงอย่างเป็นทางการแก่ผู้ประกอบการธุรกิจและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบของบริษัทอย่างเต็มที่ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กองทัพพม่าและหน่วยงานในเครือในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทางด้านรัฐบาลได้ให้ นลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการรับมอบหนังสือและข้อเรียกร้อง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net