Skip to main content
sharethis

ในการอภิปรายเพื่อโหวตรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อ 6-7 ก.ย.2565 ที่ผ่านมานอกจากจะมี ส.ส.ที่รับหลักการ 333 คน แล้วก็ยังมี ส.ว.ที่โหวตตัดอำนาจตัวเองอีก 23 คน แม้ว่าสุดท้ายแล้วมาตรานี้จะไม่ถูกแก้แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ส.ว.ที่โหวตยกเลิกอำนาจตัวเอง พวกเขาจะยังใช้มันอีกหรือไม่ 

‘ส.ว.มณเฑียร’ รับหลังเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ใช้สิทธิโหวตนายกฯ แล้ว

อำพล จินดาวัฒนะ

ส.ว. 1 ใน 23 คนนี้มี อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ผู้ติดตามรายงานการปฏิรูปประเทศและเคยอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติตั้งขึ้นมา

อำพล กล่าวถึงเหตุผลที่เขาเลือกออกเสียงตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในมาตรา 272ออกว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาออกเสียงให้ตัดอำนาจของส.ว.ในประเด็นนี้แต่ที่ผ่านมาก็ออกเสียงให้ตัดมาทุกครั้งเพราะหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตรเมื่อมีการเรียกร้องให้แก้ไข

“เพราะคิดว่าจริงๆ แล้วการเลือกนายก ก็ควรเป็นบทบาทหน้าที่ของ ส.ส. แต่รัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่ถูกเขียนขึ้นมาใช้จนถึงปัจจุบันถ้าเจตนารมณ์ของสังคมคิดว่าควรจะแก้กลับเพื่อที่ ส.ว.จะไม่ต้องใช้อำนาจแบบนี้ผมก็เห็นด้วยนะ ก็ควรจะแก้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ถูกแก้ไขทำให้อำนาจของส.ว.ในการเลือกนายกฯ ยังคงอยู่ไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ด้วย แต่อำพลก็ยืนยันว่าเขาจะไม่ใช้อำนาจนี้อีกแล้วเพราะเมื่อมีจุดยืนเลือกที่จะโหวตตัดอำนาจนี้ไปแล้วก็ต้องทำให้สอดคล้องกันด้วยถ้าจะกลับมาใช้อำนาจนี้อีกเขามองว่าก็จะเป็นเรื่องแปลกประหลาด นอกจากนั้นเจตนารมณ์ของสังคมที่ต้องการให้ยกเลิกอำนาจนี้แล้วให้อำนาจในการเลือกนายกฯ เป็นของ ส.ส.ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจของเข้าด้วย

แต่เมื่อถามถึงการปฏิรูปประเทศซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลของการให้อำนาจนี้แก่ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ว่าสำหรับเขาแล้วผลลัพธ์ของการปฏิรูปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้างนั้น

อำพลย้อนกลับไปว่าตอนที่มีประเด็นเพิ่มอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้นั้น ในส่วนของการปฏิรูปไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ โดยตรง แต่การปฏิรูปเป็นเจตนารมณ์ของสังคมที่ไปปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ถึงไม่มีอำนาจนี้อยู่การปฏิรูปประเทศก็ยังเกิดขึ้นได้

กรรมการปฏิรูปกล่าวอีกว่า การปฏิรูปประเทศเป็นเจตนารมณ์ของสังคมที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในเนื้อหาของการปฏิรูปไม่ว่าด้านใดสาขาใดยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปกันต่อไป เพราะนับตั้งแต่เกิดการเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศในช่วงปี 2550 เป็นต้นมาสมัยที่ตัวเขาเองยังเป็นกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ตั้งกลไกการปฏิรูปขึ้นมา 2 ชุดคือ คณะกรรมการปฏิรูปชุดที่มีอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน และมีคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่มีประเวศ วะสีเป็นประธาน ซึ่งกลไกนี่ตั้งขึ้นมาตามเจตนารมณ์ของสังคมที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป และตัวเขาเองก็ได้ร่วมทำงานเป็นเลขาธิการในทั้งสองกลไก

“ดังนั้นการปฏิรูปประเทศมันเป็นเจตนารมณ์ที่มีความต่อเนื่อง แต่กลวิธีในการขับเคลื่อนแต่ละยุคสมัยก็ต่างกันออกไป” อำพลกล่าวถึงการปฏิรูปว่ามีความต่อเนื่องกันมาโดยตลอดและหลังเกิดการเรียกร้องครั้งใหญ่เมื่อปี 2557 และทำให้ คสช.เข้ามามีอำนาจก็ได้กลไกปฏิรูปต่างๆ ขึ้นมาทั้ง สปช. สปท.และคณะกรรมการปฏิรูป และได้ให้เขาเข้าไปร่วมในกลไกเหล่านี้มาโดยตลอดจนรัฐบาลปัจจุบันก็ยังได้รับมอบหมายให้ติดตามผลการปฏิรูปประเทศด้วย เขาจึงมองว่าการปฏิรูปที่มีความต่อเนื่องมาตลอดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องตายตัวที่ว่าใครจะมีอำนาจเลือกใครนายกฯ หรือรัฐบาลใดที่เลือกเข้ามาแล้วจะปฏิรูปสำเร็จหรือไม่

อำพลกล่าวว่าเหตุผลเรื่องการปฏิรูปจึงไม่ใช่เหตุผลหลักอีกแล้วที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญมาเลือกนายกฯ แม้จะไม่ได้หมายว่าการปฏิรูปที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแล้วเพราะยังมีเรื่องที่ไม่ได้ทำและเรื่องที่ทำไม่สำเร็จอยู่ เช่นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาโครงสร้างอำนาจเป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามเป็นคำถามสุดท้ายกับอำพลว่าถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วหากในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรครัฐบาลยังนำเรื่องการปฏิรูปประเทศมาหาเสียงอีกจะเป็นเหตุผลให้ใช้อำนาจนี้อีกหรือไม่

“แต่ละพรรคก็คงชูประเด็นบางอย่างอย่างเรื่องการพัฒนาประเทศหรือปฏิรูปก็คงต้องไปดูว่าเขาหาเสียงอย่างนั้นมันสมเหตุสมผลมั้ยแล้วก็จะไปทำได้จริงหรือไม่ ไม่ได้เป็นเหตุผลเลยว่า ส.ว.จะใช้อำนาจตรงนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net