Skip to main content
sharethis

กมธ.กิจการเด็กฯ สผ.รับหนังสือจากเครือข่ายคนพิการจิตสังคม ขอคัดค้าน 'ร่าง กฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค พ.ศ. ....' ชี้เป็นกฎที่เลือกปฏิบัติต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและสังคม


ที่มาภาพประกอบ: christopher catbagan (Unsplash)

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2565 ว่า นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก นางสาวเครือวัลย์ เที่ยงธรรม ตัวแทนเครือข่ายคนพิการจิตสังคม เพื่อขอคัดค้านร่างกฎ ก.พ ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 โดยเพิ่มโรคต้องห้ามในการเข้ารับราชการไว้โดยเฉพาะในข้อ 4.2 ว่า "โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่ปรากฏอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่" เนื่องจากเห็นว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ มีการเจาะจงที่โรคทางจิตสองกลุ่มนี้ ทำให้เกิดการเพ่งเล็งในทางลบ การประเมินความรุนแรงเรื้อรังว่าเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานหรือไม่มีการวัดทางชีวภาพ แต่ขึ้นกับดุลยพินิจของผู้ประเมิน 

อีกทั้งกฎข้อนี้ยังส่งผลร้ายในทางอ้อม คือมีการเหมารวมและการตีตรา เป็นอุปสรรค ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษา เพราะไม่ต้องการมีประวัติ ซึ่งทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น จนอาจทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ ตลอดจนการทำประชาพิจารณ์ ร่างกฎดังกล่าวก็เป็นที่ทราบในขอบเขตจำกัด แม้จะมีเปอร์เซ็นต์การเห็นด้วยสูง แต่ไม่เที่ยงตรง เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างไม่ได้มีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ครอบคลุมเพียงพอ ทั้งนี้ ทางเครือข่าย มีความประสงค์เช่นเดียวกับ กพ. ที่จะให้ประเทศชาติได้ข้าราชการที่มีความสามารถ เป็นคนดี และสร้างคุณประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ คนพิการทางจิตสังคมที่เอาชนะอุปสรรคนานัปการจนเรียนสำเร็จ และสอบผ่านข้อเขียนมาถึงขั้นสัมภาษณ์และจะบรรจุได้ย่อมเป็นคนมีภาพที่สมควรได้รับโอกาสทำงานรับใช้ประเทศชาติ สมควรได้รับกสนับสนุนในการทำงานอย่างสมเหตุสมผล ไม่ควรถูกการตีตราหรือเหมารวม ทำให้หมดโอกาสสร้างคุณค่าและความหมายต่อตน จึงขอให้ภาครัฐรับฟังข้อคิดเห็นและทบทวนการยกเลิกกฎดังกล่าว เพื่อประโยชน์ของสังคมไทยต่อไป
      
ด้าน กมธ.กิจการเด็กฯ ได้รับหนังสือดังกล่าวเพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net