Skip to main content
sharethis

ก้าวไกลยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด เบรกเงินอุดหนุน 68,000 ล้าน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก่อน รฟม. ชงเข้าเรื่องเข้า ครม. ซึ่งจะทำให้รัฐต้องเข้าไปอุดหนุนโครงการมากเกินจำเป็นถึง 68,613 ล้านบาท พรรคก้าวไกลจึงอยากให้หยุดกระบวนการเพื่อตรวจสอบตั้งแต่ในชั้นสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะหากผ่านไปเข้าถึง ครม. คงยากที่จะหยุดเรื่อง

 

4 พ.ย. 2565 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เรียกร้องให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการประมูลโครงการและการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก่อนอนุมัติร่างสัญญาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพราะหากสำนักงานอัยการสูงสุดปล่อยผ่านร่างสัญญาฉบับนี้ไป รฟม. อาจเร่งชงเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะทำให้รัฐต้องเข้าไปอุดหนุนโครงการแบบ “มากเกินจำเป็น” ถึง 68,613 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการสอบข้อมูลในชั้นกรรมาธิการทำให้ได้รู้ข้อเท็จจริงว่า

1. การประมูลครั้งแรกผิดปกติ มีการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศ โดยหากไม่มีการเล่นตุกติก BTS ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐประมาณ 10,000 ล้านบาท

2. มีหลายคดีคาราคาซังอยู่ในศาล แต่ รฟม. เลือกที่จะล้มประมูลแล้วเริ่มใหม่

3. การประมูลรอบใหม่ (รอบ 2) BTS ถูกกีดกัน ทำให้ไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง ไม่ต้องอ้างข้อเทคนิคสารพัด เพราะเห็นๆ กันอยู่ว่าผู้ประกอบการรถไฟฟ้ารายใหญ่ในไทยมีเพียง 2 ราย คือ BTS และ BEM ทั้ง 2 รายควรเข้าแข่งขันได้

4. เมื่อไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง รัฐก็ต้องจ่ายแพงกว่าที่ควรจะเป็น โดย BEM (ผู้ชนะรอบใหม่) ขอเงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนมากถึง 78,000 ล้านบาท

ส่วนต่าง 68,000 ล้านบาทจึงมีอยู่จริง แต่เป็น “ความจริงนอกสำนวน” เพราะ รฟม. ตั้งใจล้มการประมูลที่มีการแข่งขัน แล้วเริ่มใหม่แบบกีดกัน BTS แต่ BTS ก็เลือกที่จะเก็บซองราคาเอาไว้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ และเปิดพิสูจน์ผ่านการ Live สดให้ประชาชนเห็นว่าไม่ได้แต่งเติมเข้ามาใหม่

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ

สุรเชษฐ์ กล่าวว่า “ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เคยเรียก รฟม. มาชี้แจงเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้ว ถึง 2 ครั้ง แต่ รฟม. ‘จงใจเบี้ยว’ ไม่มาชี้แจง อย่างไรก็ตาม การประชุมแบบ Live สดก็ยังคงดำเนินการต่อไปโดยมี BTS ในฐานะผู้ได้รับความเสียหายและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ยกเว้น รฟม. เข้าร่วมชี้แจง”

จากผลการประชุมมีหลายประเด็นที่มีคำถามในส่วนของความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการประมูลโครงการ ทั้งการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศแบบไม่เคยมีมาก่อน และการยกเลิกการประมูลครั้งก่อนโดยที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าการยกเลิกการประมูลดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้นในการเจรจากับผู้ชนะการประมูลรอบใหม่ ยังมีประเด็นน่าสงสัยอยู่หลายประเด็น อาทิ การกีดกัน BTS ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่ , คุณสมบัติต้องห้ามของผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และ ความพยายามของคณะกรรมการคัดเลือกในการรักษาผลประโยชน์ให้กับรัฐ

ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงได้ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด เพื่อส่งบันทึกการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการและสรุปสาระสำคัญเพื่อให้อัยการสูงสุดได้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบ ‘ก่อนอนุมัติร่างสัญญา’ ให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนผ่านเรื่องไปยัง ครม.

สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า “โดยส่วนตัวแล้วอยากให้อัยการสูงสุดคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญมากกว่าการตรวจสอบแล้วบอกว่า ‘ถูกต้องตามกระบวนการ’ แต่ข้อเท็จจริงคือ ‘รัฐเสียหายมากเกินจำเป็นถึง 68,613 ล้านบาท’ จึงอยากให้หยุดกระบวนการเพื่อตรวจสอบกันตั้งแต่ในชั้นสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะหากผ่านไปเข้าถึง ครม. ก็คงยากที่จะหยุด”

“นอกจากนี้ ตนและพรรคก้าวไกลกำลังเตรียมคำร้องเพื่อยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง โดยพยายามเบรกค่าโกงทั้งจากฝั่งอำนาจตุลาการและอำนาจบริหาร เพราะอำนาจนิติบัญญัติเราอยู่ฝั่งเสียงข้างน้อย เราเพียงต้องการเห็นการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม แต่เรื่องสายสีส้มนี่ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าไม่ใช่ ข้อเท็จจริงก็คือในประเทศเรามีผู้ประกอบการเดินรถรายใหญ่เพียง 2 เจ้า หากเจ้าหนึ่งโดนกีดกัน ภาษีของประชาชนก็จะถูกผลาญแบบเกินจำเป็น และในกรณีนี้มากถึง 68,613 ล้านบาท เสียดายเงินภาษีครับ” สุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มองว่า การแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

หากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการล้มประมูลโครงการ ภาครัฐจะชดเชยงบประมาณในโครงการเพียง 9,000 กว่าล้านบาทเท่านั้นแต่การประมูลครั้งล่าสุดในปัจจุบันกลับพบว่าภาครัฐต้องชดเชยงบประมาณในโครงการถึง 76,000 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างห่างกันถึง 68,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลควรศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้

"ภาครัฐควรพิจารณาในการประมูลด้วย หากผู้ยื่นข้อเสนอรายใดให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่าควรจะเป็นผู้ชนะ แต่กลายเป็นว่าผู้ชนะการประมูลในครั้งล่าสุดกลับทำให้ภาครัฐต้องชดเชยงบประมาณถึง 76,000 ล้านบาท ส่งผลให้โครงการล่าช้าถึง 2 ปี เราสู้เพื่อความถูกต้องและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน" คีรี กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net