Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อถามถึงความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ไรเดอร์เชียงใหม่คนหนึ่งบอกว่า 

“ผมออกสายประมาณ 11 โมง ไม่เหมือนคนอื่นที่เขาวิ่งทั้งวัน ออกตั้งแต่เช้ากลับดึก เพราะเราต้อง safe ตัวเองไว้ก่อน เป็นคนไม่วิ่งจนเกินกำลัง ไม่อยากเกิดอุบัติเหตุ ควบคุมตัวเองให้ไม่เร่ง ไม่ขับเร็ว บางทีถ้ารู้สึกว่าต้องได้ออร์เดอร์เยอะ ถ้าเร่งรีบ พอรู้สึกตัว ก็ต้องคุมตัวเองไว้ เพราะเราเป็นหลัก มีลูกเล็ก ต้องดูแลครอบครัวไปอีกนาน” 

แม้เขาจะเป็นคนระมัดระวังในเรื่องอุบัติเหตุ 

ในวันฝนตก เขาพักฟื้นอยู่ที่บ้านทาวน์เฮ้าส์ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จากการเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียที่เท้าเริ่มจากแผลเล็กเพียงแผลเดียวแต่กลับขยายแล้วลุกลามไปเป็นแผลวงเล็กขนาดเท่าเล็บนิ้วก้อยอีกจำนวนมากลามไปรอบขาซ้ายใต้หัวเข่าลงมา เขาต้องไปพบแพทย์สามครั้ง เขาพันผ้าก็อซที่เท้า ในวันที่เราไปสัมภาษณ์ ช่วงบ่าย 13 กันยายน 2565 

“เริ่มจากเป็นแผลเล็กๆ เราวิ่งรถทั้งวัน ช่วงนี้ฝนตกทุกวันมาเป็นเดือน ถ้าหยุดงานก็ไม่มีรายได้ พอเป็นแบบนี้ วิ่งรถไปก็เจอหลุม เจอน้ำ เจอโคลน แอ่งน้ำ น้ำสกปรก เราก็วิ่งไปโดน น้ำกระเด็นไปโดนแผล แผลไม่หายสักที แล้วติดเชื้อลามไปอีก” 

เมื่อไรเดอร์ป่วยต้องหยุดงาน 

“ตอนนี้ ผมพักมาสองอาทิตย์ แผลอักเสบ รู้สึกเจ็บมาก ยิ่งขับรถ รถผมเป็นรถใช้เกียร์ เอาเท้าใส่เกียร์ไม่ได้ มันเจ็บ ตอนนี้ขาดรายได้มาครึ่งเดือนแล้ว ผมต้องดูแลครอบครัว มีลูกเล็ก ตอนนี้ผมปิดแอป ไม่ให้งานเด้งเข้ามา ถ้าเด้งเข้ามาแล้วไม่รับงานบ่อยๆ จะไม่ดีกับงาน ถ้าปิดแอปไม่รับงานนานๆ เขาบอกว่า เดือนหนึ่ง จะถูกปิดแอปถาวร ถ้ายังไม่หาย ยังไงก็ต้องเปิดแอปไปวิ่งสักงานสองงาน ต้องอดทน ไม่ให้โดนปิดแอป” 

เขาบอกเราก่อนจบการสัมภาษณ์ว่า  

“หยุดงาน ขาดรายได้ แอปไม่มีลาป่วย ไม่เหมือนตอนอยู่ ... (ซุปเปอร์สโตร์แห่งหนึ่ง) ลาป่วย ยังได้ค่าจ้าง ปีหนึ่งลาป่วยได้ไม่เกิน 30 วัน ไม่ขาดรายได้ น่าจะให้ลาป่วยได้ ไม่ต้องมาก แต่ขอให้มี ไม่งั้นคนวิ่งรถเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงครอบครัว พอป่วยแล้วลาไม่ได้ ก็ขาดรายได้ ลำบาก เป็นเรื่องสำคัญของไรเดอร์ ผมอยู่บ้านมาสองอาทิตย์ ไม่ได้วิ่งรถ เบื่อ และเครียด” 
 

“เราเป็นมนุษย์ ไม่มีใครไม่เจ็บป่วย เราไม่ใช่เครื่องจักร ต้องมีมาตรฐาน คนทำงานต้องลาป่วยได้”

จะเด็จ เชาว์วิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล หนึ่งในกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่ผลักดันสวัสดิการของคนงาน โดยเฉพาะการลาคลอดของคนงานหญิงเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา กล่าวกับผู้วิจัยเมื่อถูกถามถึงการลาป่วยของไรเดอร์ว่าสำคัญมากน้อยเพียงใด และอย่างไร?

เขาบอกว่า ประเด็นสุขภาพ เป็นประเด็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ ยกตัวอย่างการลาคลอด การให้คนๆ หนึ่งเกิดขึ้นมา ผู้หญิงต้องดูแลสุขภาพ กินอาหารที่ดีเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ การทำงานมีผลกระทบต่อครรภ์ ในสมัยก่อน คนงานหลายคนตั้งท้อง พอคลอดเสร็จก็ต้องกลับไปทำงาน มดลูกไม่เข้าที่ เป็นแผลเลือดไหล บางคนกลัวนายจ้างไม่ให้ทำงานก็ต้องรัดหน้าท้องไปทำงานโรงงาน เพราะลาคลอดไม่ได้  การที่ลูกเกิดขึ้นมา เป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องสืบเผ่าพันธุ์ ถ้าไม่มีสิทธิลาคลอดก็ขัดแย้งกับความเป็นคน การลาคลอดต้องมีมาตรฐานเพียงพอในการรักษาสุขภาพ 

การลาป่วย: empathy ใจเขาใจเรา 

“มนุษย์ทุกคนต้องเจ็บป่วย ไม่มีใครไม่เจ็บป่วย วันหนึ่งอาจเจอไวรัส โรคระบาด หรือโดนฝนแล้วเป็นไข้ การลาป่วยเป็นสิทธิที่คนทำงานทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง เจ็บป่วยก็ต้องมีเงินเลี้ยงตัวเอง ถ้าเจ็บป่วยแล้วไม่มีรายได้ จะดำรงชีวิตอย่างไร คนงานไม่ว่าจะกลุ่มไหน นายจ้างต้องดูแลค่าจ้าง นายจ้างก็เจ็บป่วยเหมือนกัน นายจ้างก็ต้องได้รับการดูแล คิดถึงใจเขาใจเรา” 

การลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างหรือ piad sick leave เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของคนทำงานในทุกประเทศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยความมั่นคงทางสังคมที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ตั้งแต่ปี 1952 [1] และเป็นสิ่งที่สหภาพแรงงานให้ความสำคัญ 

“การลาป่วยต้องมีมาตรฐาน เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูจากการเจ็บป่วย แล้วคนงานสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำงานทุกคนต้องได้รับ ในประเทศไทยเอง สหภาพแรงงานหลายแห่งเรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มวันลาป่วยให้แก่พนักงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้โดยบรรจุไว้ในข้อตกลงสภาพการจ้าง”   

ไรเดอร์กับการลาป่วย 

“วันหนึ่งถ้าไรเดอร์ป่วยหมด จะเอาใครมาทำงาน นายจ้างจะมาขับรถเองไหม จะได้รู้ถึงความยากลำบาก แล้วถ้านายจ้างป่วย ไม่มีลาหยุด ไม่มีลาป่วย ก็จะได้รู้ว่าเจ็บป่วย ไม่สบายแล้วต้องอดทนทำงานโดยที่ร่างกายไม่พร้อมเป็นอย่างไร” 

งานวิจัยในต่างประเทศจำนวนหนึ่ง ชี้ว่า ในสถานประกอบการ หากไม่มีสิทธิการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง เมื่อป่วยคนงานมักจะไม่หยุดงาน จะไปทำงานทั้งๆที่ป่วย และจะเพิ่มโอกาสที่คนงานจะได้รับบาดเจ็บ

หากมีสิทธิการลาป่วย การบาดเจ็บจากการทำงานมักจะน้อยลง คนงานฟื้นตัวจากการป่วยเร็วขึ้น โรคแทรกซ้อนจากปัญหาสุขภาพมีน้อยลง และยังทำให้คนงานสามารถดูแลคนที่ตนเองรักในยามที่พวกเขาต้องการ (ลาป่วยรวมไปถึงการลาเพื่อดูแลลูก) [1]

 “ดังนั้นไรเดอร์ก็ต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนคนงานทั่วไป คือ เมื่อป่วยแล้วก็ต้องมีรายได้เลี้ยงชีพ ควรนึกถึงจิตใจไรเดอร์ วันหนึ่งเขาหยุด ไม่มีรายได้ เขาจะเอาที่ไหนกิน ครอบครัวเขาจะอยู่อย่างไร ลูกไม่มีเงินไปโรงเรียน ไม่มีอาหารกิน จะให้เขาไปขอบัตรสงเคราะห์หรืออย่างไร เขาทำงานให้คุณ สร้างรายได้ให้คุณ เวลาเขาเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทุกข์ทรมาน คุณเห็นอกเห็นใจเขาหรือไม่” 

ตัวอย่างในต่างประเทศที่แพลตฟอร์มในไทยสามารถนำไปเป็นตัวอย่างได้ กล่าวคือ เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว Just Eat แพลตฟอร์มส่งอาหารในประเทศอังกฤษประกาศว่า จะให้สิทธิลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างแก่คนขับรถส่งอาหารของแพลตฟอร์มในเมืองลิเวอร์พูล รวมถึงประกันค่าจ้างขั้นต่ำ และวันลาพักร้อน โดยสหภาพแรงงานคนงานอิสระแห่งสหราชอาณาจักร (The Independent Workers Union of Great Britain) บอกว่า โมเดลใหม่ของแพลตฟอร์ม Just Eat เป็นก้าวหนึ่งในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่จะทำให้เป็นงานที่ยั่งยืนเพื่อให้คนสร้างชีวิตจากงานเหล่านี้ [3] 

0000

อ้างอิง
 [1] https://www.social-protection.org/gimi/gess/RessourcePDF.action?ressource.ressourceId=19115 
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Sick_leave#cite_note-2  https://www.healthaffairs.org/doi/full/10.1377/hlthaff.2015.0965  
Asfaw, Abay. Pana-Cryan, Regina. Paid Sick Leave and Nonfatal Occupational Injuries, June 2012, American Journal of Public Health 102(9), DOI:10.2105/AJPH.2011.300482
[3] https://www.business-humanrights.org/en/latest-news/uk-just-east-treats-offers-couriers-minimum-wage-and-sick-pay-marking-shift-from-independent-contractor-model-pursued-by-delivery-apps/]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net