Skip to main content
sharethis

คนอินเดีย คนเอเชีย รวมถึงคนไทย ตื่นเต้นฮือฮา ริชี ซูนัค หรือ “ฤษี สุนัก” เป็นนายกฯอังกฤษคนแรก ที่มาจากคนเชื้อสายอินเดียนับถือฮินดู

บางคนสะใจ เป็นไงล่ะ ไอ้พวกฝรั่งล่าอาณานิคม ร้อยปีผ่านไป ได้ผู้นำจากลูกหลานเมืองขึ้น

แต่เอาเข้าจริงกรณีนี้สะท้อนอะไร ข้อแรกใช่เลย คนเอเชียเก่งไม่แพ้ฝรั่ง ถ้าได้โอกาสทัดเทียมกัน แต่ข้อสองที่สำคัญ คือประเทศประชาธิปไตยตะวันตกเปิดกว้าง เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม คนผิวสี คนเชื้อสายต่างๆ มีบทบาททางการเมืองวัฒนธรรม หรือกีฬา มาตั้งนานแล้ว

ย้อนเทียบกัน คนมุสลิมหรือวรรณะจัณฑาล มีโอกาสไหมที่จะได้เป็นนายกฯ อินเดีย ลูกหลานพม่า เขมร ลาว เกิดเมืองไทย มีโอกาสไหมที่จะได้เป็นนายกฯ ในร้อยปีข้างหน้า ปัดโธ่ แค่ขอสัญชาติไทยยังยาก

กรณีริชีน่าทึ่งว่า กระทั่งพรรคอนุรักษนิยม “ฝ่ายขวา” ก็ก้าวข้ามเรื่องสีผิวชาติพันธุ์ รัฐบาลลิซ ทรัสส์ ที่เพิ่งล้มไป ก็เป็นรัฐบาลแรกที่ไม่มีนักการเมืองชายผิวขาวเป็นรัฐมนตรีสำคัญ รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นผิวสี รัฐมนตรีมหาดไทย เป็นสตรีเชื้อสายอินเดีย

ริชีแพ้ลิซครั้งก่อน ก็ไม่ใช่เพราะชาติพันธุ์ แต่เพราะแต่งงานกับลูกมหาเศรษฐีอินเดีย แล้วถูกวิจารณ์ว่าใช้สถานะผู้อาศัย ไม่ต้องเสียภาษีจากรายได้นอกสหราชอาณาจักร

สิ่งที่คนไทยควรรู้มากกว่า เกี่ยวกับริชี ซูนัค คือเขาเป็นต้นคิดโครงการ Eat Out to Help Out ให้ส่วนลด 50% กระตุ้นให้คนกินอาหารนอกบ้าน อันเป็นที่มาของ “คนละครึ่ง”

ยิ่งกว่านั้น เชื่อหรือไม่ เขาเพิ่งเป็น ส.ส.ครั้งแรกในปี 2558 หลังประเทศไทยรัฐประหาร 1 ปี ประชาธิปไตยอังกฤษทำให้เขาใช้เวลา 7 ปีเป็นนายกฯ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ใต้ประยุทธ์ 8 ปี

ว่าที่จริง ยุโรปตะวันตกตอนนี้ ก็มีแนวโน้ม “เอียงขวา” ต่อต้านผู้อพยพ โดยเฉพาะคนมุสลิมจากตะวันออกกลางและแอฟริกา

เช่นเลือกตั้งอิตาลี ได้จอร์เจีย เมโลนี วัย 45 เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก แต่เป็นฝ่ายขวา “นีโอฟาสซิสต์” เป็นรัฐบาลขวาจัดชุดแรกนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคมุสโสลินี

“ฉันเป็นผู้หญิง และฉันเป็นแม่” ฝ่ายขวาสมัยนี้ไม่เหยียดเพศหญิง แต่ต่อต้าน LGBT ควบคุมการทำแท้ง และต่อต้านผู้อพยพ

เลือกตั้งสวีเดนก็คล้ายกัน แนวร่วมฝ่ายขวาได้เป็นรัฐบาล พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยแพ้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษ 1930 แม้ยังได้คะแนนนิยมสูงสุด 30.5% แนวร่วมฝ่ายซ้ายแพ้เฉียดฉิว 174 ต่อ 175 เก้าอี้

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ขวาหันอธิบายได้ว่า เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำสูงในเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ความล้มเหลวของระบบการเมือง Anti-Establishment ทำให้ทั้งฝ่ายขวาฝ่ายซ้ายหวนกลับมาได้ความนิยม แต่พื้นฐานทั่วไปในด้านสิทธิเสรีภาพของยุโรปยกระดับไปไกลกว่าเอเชีย

คนเอเชียมักตื่นเต้นฮือฮาเวลาคนเชื้อสายเอเชียประสบความสำเร็จในโลกตะวันตก เช่น เลือกตั้งผู้ว่าแวนคูเวอร์ครั้งล่าสุด ได้คนเชื้อสายจีน หรือรองประธานาธิบดีอเมริกา กมลา เทวี แฮร์ริส ก็มีพ่อเป็นแอฟโฟร-จาไมกา แม่เป็นอินเดีย (พบรักกันตอนเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนในยุคซิกซ์ตี้)

แต่มักมองข้ามความเปิดกว้างของโลกตะวันตก ที่ให้โอกาสคนทุกชาติพันธุ์ทุกศาสนาทุกความเชื่อ พอคนเหล่านี้ซึ่งเติบโตใน “โลกเสรี” หวนมาวิจารณ์พาดพิงบ้าง ก็ไม่พอใจ เช่นคนไทยภูมิใจ ส.ว.แทมมี่ ดักเวิร์ธ แต่สลิ่มหมั่นไส้ เพราะพาดพิงความไม่เป็นประชาธิปไตย คนจีนทีแรกก็ภูมิใจ Chlo Zhao ผู้กำกับออสการ์ Nomadland แต่พอพบว่าเคยวิจารณ์จีน ก็โดนเซ็นเซอร์

ทำนองเดียวกับ “เจ้ย อภิชาติพงศ์” ได้รางวัลเมืองคานส์ คนไทยภูมิใจรางวัลคลองโอ่งอ่างมากกว่า Jury Prize คนไทยภูมิใจลิซ่า แต่ “แบนมิลลิ” นี่ถ้าลิซ่าใช้เสรีภาพในการพูดเมื่อไหร่ ก็อาจไม่รอดเหมือนกัน

สังคมไทยให้โอกาสคนต่างศาสนาต่างชาติพันธุ์หรือไม่ ก็ให้อยู่เหมือนกันนะ เช่นเราเคยมีผู้บัญชาการทหารบกจากมุสลิม

“บิ๊กบัง” นั่นไง แต่กลายเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย จะบอกว่า “บิ๊กบัง” เป็นตัวแทนมุสลิมคงไม่ได้ เพราะคนมุสลิม 3 จังหวัดใต้ไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้น “บิ๊กบัง” เป็นตัวแทนอำนาจอนุรักษ์มากกว่า

เรื่องน่าทึ่งของรัฐประหารไทยคือ ให้สิทธิสตรี คนพิการ คนส่วนน้อยบางกลุ่ม แต่ไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนทั่วไป เช่น 5 ปี คสช.มีปลัดกระทรวงหญิง มีรัฐมนตรีหญิง อธิบดีหญิง หลายราย แต่สิทธิผู้หญิงโดยทั่วไปดีขึ้นไหม

เหมือนประเทศไทยมีประธานศาลฎีกาผู้หญิงคนแรก แต่บังเอิญท่านเคยไปม็อบนกหวีด

รัฐประหารทุกยุคสมัยตั้งตัวแทนคนพิการ ตัวแทนคนมุสลิม เป็น สนช. เป็น ส.ว. คนที่เป็นตัวแทนก็หวังจะเป็นปากเสียงเรียกร้องสิทธิ แต่เมื่อสังคมวงกว้างยังถูกกดไว้ พวกเขาก็ได้อะไรไม่มาก

สุดท้าย อดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ก็ไปเป็น กสทช.ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน แล้วลงมติ “รับทราบ” ควบรวมทรูดีแทค

นี่แหละความย้อนแย้งในสังคมไทย

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7336293

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net