Skip to main content
sharethis

กลุ่มชาวพุทธในชายแดนใต้ข้ามฝั่งเข้ามาเลย์พบแกนนำขบวนการ เพราะรู้สึกเป็นเหยื่อมาตลอด 18 ปี แต่ไม่เคยสื่อสารกับผู้เห็นต่างโดยตรง เผยไปอย่างมิตรและได้ท่าทีตอบรับเป็นบวก วอนขอให้หยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ทุกศาสนา ชี้พี่น้องในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติสุขด้วย เพราะคุยแค่เฉพาะฝ่ายไทยกับขบวนการยังไม่เพียงพอ แต่พร้อมหนุนเสริมการพูดคุยชุดใหญ่

ตัวแทนกลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย ธิดา วรรณลักษณ์ ครูและประธานชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพงศ์ศักดิ์ พรหมสิง ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าพบ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะเดินทางมาที่ จ.ปัตตานี เพื่อรับฟังข้อเสนอของคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ของจังหวัดยะลาและปัตตานี โดยทั้ง 2 คน ได้หารือกรณีที่ตัวแทนกลุ่มคนไทยพุทธได้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อพบปะพูดคุยกับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายูปาตานี - BRN) ที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย

โดยขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับคณะพูดคุยฝ่ายไทยที่มี พล.อ.วัลลภ เป็นหัวหน้าคณะ และมีตัน สรี อับดุลราฮิม บินโมฮัมหมัด นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยฝ่ายมาเลเซีย

18 ปีไม่เคยสื่อสารกับผู้เห็นต่างโดยตรง

พงศ์ศักดิ์ พรหมสิง ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยถึงเหตุผลที่ไปพบปะกับกลุ่มผู้เห็นต่างดังกล่าวว่า ตลอด 18 ปีที่ผ่านมากลุ่มคนไทยพุทธไม่เคยได้สื่อสารกับผู้เห็นต่างที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียเลย จึงเห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้วที่คนพุทธจะไปพูดคุยกับผู้เห็นต่างในมาเลเซีย

“สิ่งที่เราเรียกร้องข้อแรกและเป็นประเด็นสำคัญคือ ทางชบวนการของผู้เห็นต่างจะต้องหยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ไม่เฉพาะพี่น้องไทยพุทธ แต่ทุกศาสนิกที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องหยุดโดยทันที” พงศ์ศักดิ์ กล่าว

ขบวนการคุยกับรัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอ

พงศ์ศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า หลังจากนั้นเราพูดถึงไทม์ไลน์การทำงานร่วมกันระหว่างศาสนิกอื่นกับผู้เห็นต่าง โดยแกนนำของพี่น้องพุทธจะเป็นหลักในการทำงานร่วมกัน เพราะมองว่าการที่ขบวนการคุยกับรัฐไทยอย่างเดียวไม่เพียงพอ พี่น้องในพื้นที่อื่นๆจำเป็นต้องมีส่วนร่วมด้วยครับ

เมื่อถามว่า จะสื่อสารกับพี่น้องชาวพุทธ คณะพูดคุยฯและทางแม่ทัพภาคที่ 4 อย่างไร พงศ์ศักดิ์ ตอบว่า เรามองว่า 17-18 ปีที่ผ่านมา กระบวนการพูดคุยมีขึ้นระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างเท่านั้น แต่คนกลุ่มน้อยคือคนพุทธในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม

“เรื่องแรกที่เราบอกรัฐว่า เราไปคุยกับขบวนการแล้วนะ เพื่อต้องการมีส่วนร่วม เพราะเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบคนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ หลังจากนี้ เราจะเอาข้อที่เราคุยกับขบวนการมาคุยกับรัฐในลำดับถัดไป” ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว

คนพุทธรู้สึกเป็นเหยื่อมาตลอด

ธิดา วรรณลักษณ์ ครูและประธานชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เหตุที่เราไปคุยกับขบวนการเพราะเรารู้สึกว่า เราถูกทำร้ายมาตลอดตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เหตุผลที่เราต้องไปเพราะเราไม่ได้มีการสื่อสารโดยตรงกับเขา ซึ่งไม่มีอะไรดีที่สุดเท่ากับการพูดคุย บางครั้งบางคราว คนเราทะเลาะกันแต่เราไม่เคยได้คุยกันเลย

“ทีนี้ การคุยผ่านคนอื่น สิ่งอื่นหรือการเล่าผ่านการบอกต่อ มันไม่เหมือนการไปกันเอง ที่ทำให้เราได้พูดคุยกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ครูนำเสนอสิ่งแรกคือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าคนมุสลิมหรือคนพุทธ โดยเฉพาะคนพุทธจะมีพวกครูกับพระซึ่งเป็น Soft target (เป้าหมายอ่อนแอ) ที่ถูกทำร้ายตลอดเวลา” ธิดา กล่าว

ประธานชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องที่นำเสนอคือเรื่องคนไทยพุทธทิ้งถิ่น อยากให้เขากลับมาบ้านเรา เพราะถึงแม้ว่าต่อไปกระบวนการพูดคุยจะจบลงอย่างไร สมมุติว่าจะตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษได้ แต่ถ้าไม่มีคนพุทธอยู่ตรงนี้ มีแต่คนปาตานีหรือคนมุสลิมอย่างเดียว มันก็ไม่เกิดเป็นความสมบูรณ์แบบของพื้นที่ มันต้องอาศัยคนหลาย ๆ ส่วนเข้ามา หลาย ๆ ศาสนา หลาย ๆ ความเชื่อถือเข้ามา เพื่อมาอยู่ร่วมกัน

ไปอย่างมิตรได้ท่าทีตอบรับเป็นบวก

ธิดา ได้เล่าถึงท่าทีของกลุ่มผู้เห็นต่างที่ไปพบด้วยว่า มีความรู้สึกว่าเขาตอบรับในเชิงบวก อาจเป็นเพราะท่าทีของพวกเราเป็นมิตรด้วย เราไปอย่างเป็นมิตร ไม่ได้ได้พาความเป็นรัฐเข้าไป แต่พาความเป็นคนพุทธที่ซื่อ ๆ และได้รับผลกระทบเข้าไป ไปไม่ให้เห็นว่าเป็นคนที่ได้รับผลกระทบหรือเป็นเป้าอ่อนแอ แต่ไปหาพวกเขาเพื่อจะมาถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น และเขาจะให้เราทำอย่างไร และเราควรจะทำอย่างไรในการพูดคุยต่อไป

“สมมุติว่าอะไรก็ตามที่เขาไม่พอใจเกี่ยวกับภาครัฐ ในฐานะที่เราเป็นคนของรัฐเราก็พร้อมจะชี้แจงว่าสิ่งที่เขาเข้าใจนั้นเป็นเรื่องเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกต้อง" ประธานชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว

หนุนเสริมการพูดคุยชุดใหญ่

ธิดา กล่าวว่า การไปพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างครั้งนี้ เป็นเหมือนการพูดคุยโต๊ะเล็ก เพราะถ้าสามารถทำให้กระบวนการพูดคุยชัดเจนขึ้นได้ มีความจริงใจมากขึ้นเมื่อขึ้นไปบนโต๊ะใหญ่ เพราะทำให้เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เขารับไปจากพวกเราแล้ว มาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ และเสริมความรู้สึกที่ดีของเขาหรือเสริมแนวคิดของเขาได้ มันน่าจะเป็นเชิงบวกของการดำเนินการต่อไป

ด้าน พล.อ.วัลลภ เปิดเผยหลังรับฟังข้อเสนอว่า มีหลายอย่างที่สอดคล้องกับสิ่งที่ดำเนินการอยู่ และเรื่องใหม่ที่ต้องนำไปพิจารณาเพิ่มเติม

พูดคุยครั้งต่อไปหลังเลือกตั้งมาเลเซีย

พล.อ.วัลลภ เปิดเผยด้วยว่า การพูดคุยชุดใหญ่ระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นครั้งต่อไป (ครั้งที่ 6) ที่มีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้นจะมีขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศมาเลเซีย แต่ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีการหารือในคณะทำงานเทคนิคมาแล้ว 1 ครั้งจากที่วางแผนไว้ 2 ครั้งแต่ต้องเลื่อนไปก่อนเนื่องจากมีการยุบสภาของมาเลเซีย

พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า การพูดคุยครั้งต่อไปจะต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว คือเรื่องการลดความรุนแรงที่จะต้องหารือเพิ่มเติม รวมทั้งเรื่องการปรึกษาหารือในพื้นที่ และการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ (Join Monitoring Team) สำหรับเรื่องการปรึกษาหารือในพื้นที่ยังไม่ได้หารือในรายละเอียดว่าจะมีรูปแบบใดเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net