Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การสร้างบทสนทนาถกเถียงเรื่องศาสนาในบ้านเรา ที่คนส่วนใหญ่ถือพุทธ อาจพูดได้ว่ามีกระแสนิยมอยู่สองกระแสหลักๆ คือ

กระแสแรก จะมีผู้รู้พุทธศาสนาทั้งพระและฆราวาสออกสื่อ บรรยาย หรือมีงานเขียนชี้ถูกชี้ผิดว่า ความเชื่อ การตีความ การสอน หรือแนวปฏิบัติแบบนั้นๆ ไม่ถูกตามหลักคำสอนในไตรปิฎก หรือความเชื่อนั้นๆ เป็นไสยศาสตร์ งมงาย เป็นความเชื่อแบบพราหมณ์ ผีไม่ใช่แนวทางแบบพุทธที่แท้จริง ที่ถูกคืออย่างนั้น อย่างนี้ 

กระแสนี้เห็นได้จากความคิดแบบพุทธทาสภิกขุ, ปัญญานันทภิกขุ, ป.อ. ปยุตฺโต, พระพยอม เรื่อยมาถึงพระเซเลบอย่าง ว. วชิรเมธี และฆราวาสที่มีชื่อเสียงด้านงานเขียนและออกสื่อวิจารณ์ความเชื่อ การสอนที่ผิดเพี้ยนจากหลักพุทธศาสนาในไตรปิฎก อาจเรียกรวมๆ ว่ากระแสนิยมที่มีมานานนี้ เป็นกระแสที่ยืนยันและปกป้องคำสอนที่เป็นแก่นแท้ดั้งเดิมหรือที่เรียกว่า “มูลฐานนิยม” (fundamentalism) นั่นเอง

เพราะพุทธทาสเองแม้เขาจะเสนอว่า “เราจะฉีกไตรปิฎกทิ้ง 70% เหลือเพียง 30% ที่จำเป็นต่อการดับทุกข์เท่านั้นก็ได้” ซึ่งเป็นมุมมองที่ดูก้าวหน้ากว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางศาสนาโดยทั่วไป แต่พุทธทาสก็ยืนยันว่า 30% นั้นคือคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาที่ใช้เป็น “เกณฑ์” แยกจากความไม่แท้ 

โดยเฉพาะในทางการเมือง พุทธทาสเห็นว่ามี “ธรรมะ” อันเป็นแก่นแท้ที่การเมืองทุกระบบหากถือ “ธรรมะเป็นใหญ่” ไม่ว่าระบบนั้นจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย ก็จะเป็นระบบการปกครองที่ดีหมด ตรงกันข้าม หากระบบการปกครองประชาธิปไตย สังคมนิยม หรือแบบใดๆ ไม่มีธรรมะ ก็จะเป็นระบบการปกครองที่เลวร้ายหมด และยังเห็นว่าการเมืองของโลกสมัยใหม่ที่หันหลังให้ศาสนา หันหลังให้ธรรมะและพระเจ้าเป็นการเมืองที่มีปัญหา ดังนั้น ความคิดพื้นฐานของพุทธทาสในเรื่อง “ธรรมะกับการเมือง” หรือ “ศาสนากับการเมือง” จึงเป็นแบบมูลฐานนิยม ที่ถือว่าหากการเมืองเดินตามหลักธรรมที่แท้จริงของศาสนาย่อมเป็นการเมืองที่ดี

ทุกวันนี้ เรายังได้เห็นเซเลบทางศาสนาทั้งพระและฆราวาสออกสื่อตอบคำถามว่า ความเชื่อ การกระทำแบบนั้นแบบนี้ของพระและคนระดับชาวบ้านทั่วไปถูก-ผิดหลักคำสอนที่เป็นแก่นแท้ในไตรปิฎกอย่างไร แต่พวกเขาละเว้นที่จะวิจารณ์ระบบโครงสร้างของ “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” ว่าถูก-ผิดหลักคำสอนที่แท้ในไตรปิฎกหรือไม่อย่างไร 

เช่นเดียวกัน พวกเขาก็มักวิจารณ์ว่า นักการเมืองและประชาชนทั่วไปไม่ยึดมั่นปฏิบัติตามคุณธรรม จริยธรรม จึงเกิดปัญหาการซื้อ-ขายเสียง คอร์รัปชันและอื่นๆ ขณะที่พวกเขาไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า “การปกครองโดยธรรม” มีปัญหาหรือไม่ กษัตริย์ที่ประกาศต่อประชาชนว่าจะ “ปกครองโดยธรรม” ตั้งอยู่ในหลักทศพิธราชธรรมจริงหรือไม่ ตรวจสอบได้อย่างไร นอกจากไม่ตั้งคำถามแล้ว พวกเขายังเทศนาอวยการปกครองโดยธรรมของกษัตริย์เป็นด้านหลัก

กระแสที่สอง ที่กำลังเป็นที่นิยมในระยะหลังนี้ คือ กระแสของการสร้างบทสนทนา-ข้อถกเถียงทางศาสนาว่า การตีความศาสนาไม่ควรผูกขาด ควรเปิดกว้างตีความได้หลายมุมมอง เราอาจเข้าใจ “สัจธรรม-ความจริง” ที่พุทธะสอนจากมุมมองและแนวทางปฏิบัติที่หลากหลายได้ กระแสนี้ต่อต้านทัศนะแบบมูลฐานนิยม

แต่คำถามคือ ดูเหมือนกระแสนี้มีสมติฐานล่วงหน้าอยู่แล้วหรือไม่ว่า “ศาสนาหรือหลักคำสอนที่แท้มีแต่ด้านที่ถูก ไม่มีด้านที่ผิด” ดังนั้น เราจึงมองหาด้านที่ถูกได้จากมุมมองที่หลากหลาย โดยไม่ต้องขัดแย้งกัน มุมมองแบบนี้เคยเกิดขึ้นในยุคที่คริสต์ศาสนาปรับตัวเข้ากับความเป็นสมัยใหม่ (modernity) นิกายต่างๆ หลายร้อยนิกายบรรลุข้อตกลงกว้างๆ ว่า “แต่ละนิกายสามารถเข้าใจพระเจ้าจากมุมมองที่แตกต่างกันได้” ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งเข่นฆ่ากันเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม บทสนทนา หรือการถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปว่า เราแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มทางศาสนาสามารถเข้าถึง “สัจธรรม-ความจริง” ตามคำสอนศาสนาจากมุมมองที่แตกต่างและวิถีปฏิบัติที่หลากหลายได้ ดูเหมือนจะมีสมมติฐานล่วงหน้าอยู่แล้วว่าศาสนาหรือคำสอนที่เป็นแก่นแท้ “มีแต่ด้านที่ถูกหรือดี” บทสนทนาด้วยสมมติฐานเช่นนี้ จะต่างอย่างไรกับบทสนทนาเพื่อหาแง่ดีต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยไม่พูดถึงด้านที่ไม่ดี หรือด้านที่ผิดกันเลย

พูดอีกอย่างว่า ศาสนาหรือคำสอนที่เป็นแก่นแท้ จะมีแต่ด้านที่ถูกหรือดีเท่านั้นได้อย่างไร บทสนทนาที่อ้างว่าเปิดกว้างต่อการเข้าถึงคำสอนที่เป็นแก่นแท้ได้จากหลายมุมมอง หลายการตีความ และหลากหลายวิถีปฏิบัติ เอาจริงแล้ว “เปิดกว้าง” จริงหรือไม่ เพราะ “อย่างน้อย” คุณไม่ตั้งคำถามเลยว่า ศาสนาหรือคำสอนที่เป็นแก่นแท้อาจมีด้านที่ผิด หรือเป็นปัญหาสำคัญๆ อยู่ด้วย หรือ “อย่างมาก” กว่านั้นคุณไม่ตั้งคำถามอย่างจริงจังและลงลึกในรายละเอียดของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ปิดกั้นเสรีภาพ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเปิดกว้างได้จริง 

ขณะที่บทสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับศาสนาในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาตะวันตก เขา “ทะลุเพดาน” มาหลายร้อยปีแล้ว ทั้งในแง่ปัญหาเชิงตัวคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของศาสนาว่ามันมีด้านที่เป็นปัญหาอยู่จริงอะไรบ้าง และทั้งในแง่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับเสรีภาพทางศาสนา, ความคิดเห็น, สิทธิเท่าเทียมของปัจเจกบุคคล, และสิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาคทางการเมือง แต่บ้านเรายังพยามยามเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาของตัวคำสอน และสำรวมระวังเป็นพิเศษเมื่อจะพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

ดังนั้น บทสนทนา การถกเถียงทางศาสนาในบ้านเราจึงยังไม่เปิดกว้างหรือก้าวหน้าจริง ยังมีความระมัดระวังมากในเรื่องการแสดงออกที่ถูกมองว่า “หมิ่นศาสนา” ขณะที่ละเลยการ “หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในนามการปกป้องและส่งเสริมศาสนา เช่น การบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐที่ละเมิดเสรีภาพทางศาสนา เป็นต้น

การบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ เป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเป็นการละเมิด “เสรีภาพแห่งมโนธรรม” และ “เสรีภาพทางศาสนา” ของปัจเจกบุคคล ทำให้ “คนไม่มีศาสนา” เสมือนเป็น “คนไร้ตัวตน” เพราะพวกเขาต้องถูกบังคับให้เรียนศาสนา แม้แต่ชาวศาสนาเอง ก็ไม่มีเสรีภาพในการเลือกว่าจะเรียนหรือไม่เรียน การไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกได้ในเรื่องความเชื่อว่าจะเรียนรู้หรือไม่ มันคือการไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะการมีศักดิ์ศรีความเป็นคน หมายถึง เราต้องมีเสรีภาพเลือกได้ในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อส่วนบุคคล 

แต่แปลกที่กระแสบทสนทนาถกเถียงทางศาสนาในบ้านเราปัจจุบัน ที่มองกันว่า “เปิดกว้าง” และ “ก้าวหน้า” กลับละเลยที่จะพูดถึงอย่างลงลึกจริงจังเกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่กดทับเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสมือนว่าความเป็นจริงเช่นนี้เป็น “เรื่องปกติ” ที่ยอมรับกันได้ แม้แต่ในฝ่ายที่คิดว่าตนเองมีความคิดเปิดกว้างและก้าวหน้าเกี่ยวกับเรื่องศาสนา

ตัวอย่างของบทสนทนาที่ดูเหมือนเปิดกว้าง แต่ไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้างจริงจัง เช่นบทสนทนาระหว่างชลนภา อนุกูลกับพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ที่ว่า 

ชลนภา: การเป็นพุทธศาสนิกชนเราไม่ได้รับการรับรองจากองค์กรใด ๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งองค์กรนักบวช การเป็นพุทธ พระสงฆ์ไม่ต้องรับรองเรา การเป็นภิกษุณี ต้องได้รับการรับรองจากกฎหมายข้อไหน?

พระมหานภันต์: อย่างที่บอก อย่าเอา 2 คอนเซปต์มาตีกัน อย่าเข้าใจว่า สิทธิสตรี คือ การมีภิกษุณี เรามีชี เรายกระดับคุณภาพชีวิตของชีได้หรือไม่ สิ่งที่อาตมาต่อสู้เรื่องหนึ่ง คือ การต่อสู้ให้ อุบาสิกา หรือ แม่ชีที่ได้เปรียญ 9 มีเงินเดือน เรียกว่านิตยภัต เหมือนกับพระ เพราะวันนี้แม่ชียังไม่ได้ มันมีหลายมุมสำหรับการสนับสนุนส่งเสริม ฉะนั้นต้องแยกแยะ สำคัญคือ เปิดพื้นที่ทำความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นฝั่งที่ต่อสู้ด้านสิทธิสตรี ทำให้เขารู้สึกว่าทำไมไม่ปกปักรักษาศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน พระกลุ่มนี้เยอะ ไม่อยากคุยเรื่องภิกษุณีเลย เพราะในแง่วินัยไม่มี แง่ประกาศพระสังฆราชในอดีตก็ไม่มี “แต่ประเด็นคือคนยังไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมถึงห้ามไม่ให้มี…” 

(อ่านทั้งหมดที่นี่ https://theactive.net/read/thailand-talks-religious/)

ที่พระมหานภันต์กล่าวว่า “สิ่งที่อาตมาต่อสู้เรื่องหนึ่ง คือการต่อสู้ให้อุบาสิกา หรือแม่ชีที่ได้เปรียญ 9 มีเงินเดือน เรียกว่านิตยภัตเหมือนกับพระ” ถ้ามองจากหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular democracy) พระมหานภันต์กำลังต่อสู้เพื่อให้แม่ชีมี “อภิสิทธิ์ทางศาสนา” แบบที่พระไทยมี ซึ่งขัดแย้งกับคำพูดตอนแรก ที่ตนเองพยายามอธิบายว่า พระไม่ได้มีอภิสิทธิ์ แต่จริงๆ แล้วพระไม่มีสิทธิทางการเมือง เช่นสิทธิเลือกตั้ง สิทธิลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย และอื่นๆ เท่าเทียมกับพลเมืองทุกคน

ความย้อนแย้งดังกล่าว สะท้อนการไม่วิเคราะห์ (หรือหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับความจริง) ว่า ระบบการปกครองสงฆ์ที่เรียกว่า “มหาเถรสมาคม” หรือ “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” เพราะเป็นศาสนจักรที่ขึ้นต่ออำนาจกษัตริย์โดยตรงเป็นระบบที่ทำให้พระมีอภิสิทธิ์ต่างๆ เช่น มีอภิสิทธิ์ใช้อำนาจสาธารณะหรือกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่ทำให้พระมีสมณศักดิ์ฐานันดร มีอำนาจทางกฎหมาย องค์กรศาสนาได้รับงบฯ ประจำปีจากภาษีประชาชน พระมีเงินเดือนจากภาษีประชาชน และด้วยอำนาจทางกฎหมายนี้เอง ที่ห้ามพระภายใต้การปกครองของมหาเถรฯ ทำการบวชภิกษุณี 

สมมติถ้าบ้านเราเป็นรัฐประชาธิปไตยโลกวิสัย แยกศาสนาจากรัฐ องค์กรสงฆ์และองค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชนหมด ไม่มีองค์กรศาสนาใดๆ มีอำนาจทางกฎหมายและรับงบฯ จากภาษีประชาชนเลย เพราะรัฐไม่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ ชนชั้นปกครองไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนสถานะและอำนาจนำทางการเมืองและทางวัฒนธรรม ปล่อยให้การอุปถัมภ์ศาสนาเป็นไปตามศรัทธาของประชาชนจริงๆ รัฐให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาอย่างแท้จริง ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มพระสงฆ์บางกลุ่ม บางนิกายในไทยยอมรับการบวชภิกษุณี เพราะมีเสรีภาพที่จะตีความธรรมวินัยแตกต่างกันได้ เหมือนต่างประเทศที่ถือพุทธ ซึ่งมีบางนิกายที่บวชภิกษุณีได้ บางนิกายบวชไม่ได้ เพราะตีความธรรมวินัยต่างกัน

นัยยะสำคัญที่พระมหานภันต์บอกว่า “อย่าเข้าใจว่าสิทธิสตรี คือการมีภิกษุณี” เป็นมุมมองที่ได้อิทธิพลจาก ป.อ. ปยุตฺโต ที่ยืนยันว่า “จะอ้างสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชนมาเรียกร้องการบวชภิกษุณีไม่ได้ เพราะการบวชภิกษุณีเป็นเรื่องของธรรมวินัย” แต่ที่พระมหานภันต์และปยุตฺโต “ละเว้น” ที่จะพูดความจริงคือ ธรรมวินัยที่อ้างกันในพุทธไทย คือธรรมวินัยที่ผูกขาดการตีความโดยมหาเถรฯ หรือศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม

ธรรมวินัยภายใต้อำนาจทางกฎหมายของศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม ไม่มีทางอนุญาตการบวชภิกษุณี และอำนาจทางกฎหมายของศาสนจักรเช่นนี้ ยังกำหนดให้พระทั่วราชอาณาจักรสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสนา กษัตริย์ โดยไม่ถือว่า “ยุ่งการเมือง” แต่พระแสดงความเห็น อภิปราย เสวนา ชุมนุมสนับสุนการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของประชาชน ถือว่า “ยุ่งการเมือง” ผิดทั้งมติ คำสั่ง ประกาศของมหาเถรฯ และผิดทั้งธรรมวินัย ซึ่งความเป็นจริงพวกนี้พระมหานภันต์รู้แจ้งแล้วทั้งนั้น

แน่นอน ภายใต้อำนาจผูกขาดการตีความธรรมวินัยเช่นนี้ “พระรับเงินได้” แม้มีพุทธบัญญัติห้ามไว้ เพราะตีความกันว่ามันคือ “ความจำเป็น” ต่อการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ ขณะเดียวกัน พระก็มียศศักดิ์ฐานันดร มีอำนาจทางกฎหมาย มีเงินนิตยภัตรายเดือนจากภาษีประชาชนได้ และมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้ เพราะคือ “ความจำเป็น” แม้ไม่มีหลักธรรมวินัยใดๆ อนุญาตให้มีสิ่งพวกนี้เลย แต่การบวชภิกษุณียังไงๆ ก็บวชไม่ได้ ไม่จำเป็น จะอ้างสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชนซึ่งเป็น “ความคิดตะวันตก” มาครอบเหนือ “ธรรมวินัยที่ถูกต้อง” ไม่ได้ 

นี่แหละครับคือ “ธรรมวินัย” แบบที่พระมหานภันต์, ป.อ. ปยุตฺโตเป็นต้นอ้างเสมอๆ ภายใต้การยอมรับระบบศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม ที่ผูกขาดการตีความธรรมวินัย

ถามว่า พระอยากมีสิทธิ์เลือกตั้งจริงไหม ถ้าอยากมีจริง พระก็ต้องออกแรงเองบ้าง (ไม่ใช่คอยแต่ให้ฆราวาส “ทำถวาย” ให้) ในการรณรงค์ “แยกศาสนาจากรัฐ” ให้ได้ เพื่อพระจะได้มีสิทธิทางการเมือง และสิทธิพลเมืองอื่นๆ เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป แต่พระส่วนมากไม่เอาหรอก เพราะกลัวสูญเสีย “อภิสิทธิ์” มากมาย ที่พวกตนเคยได้ทั้งเงินทองจากศรัทธาประชาชน เงินอุดหนุนจากภาษีประชาชน ยศศักดิ์ฐานันดร อำนาจทางกฎหมาย และผลประโยชน์อื่นๆ ที่เคยมีมายาวนานภายใต้ระบบศาสนาจักรของรัฐ   

บางทีเราก็สร้างวาทกรรม “สมอง” กับ “หัวใจ” มาเบี่ยงเบนจากการถกถียงตรงไปตรงมาถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังและจริงใจ แต่ที่จริงเราถูกครอบด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยมของการเมืองทางโลก และศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมมายาวนาน ภายใต้อำนาจครอบงำเช่นนั้น “หัวใจ” เอื้ออาทรต่อกันจากใจจริง และอย่างเปิดกว้างจริง ไม่มีหรอก พูดกันเท่ห์ๆ ไปงั้นเอง 

เมื่อถูกครอบด้วยวัฒนธรรมเช่นนี้ จึงยากที่เราจะสร้างบทสนทนาถกเถียงเรื่องศาสนา (และสถาบันกษัตริย์) อย่างเปิดกว้าง และก้าวหน้าได้จริง บางทีก็กลัวพวกเดียวกันปฏิเสธ มากกว่ากลัวการล่าแม่มดจากฝ่ายตรงข้ามเสียอีก
 

ที่มาภาพ: https://prachatai.com/journal/2021/01/91154


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net