Skip to main content
sharethis

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดร่วมกันนำพืชท้องถิ่นหลายชนิดมาปลูกหวังใช้ซับสารพิษจากเหมืองทองคำที่ยังมีอยู่เยอะแม้ว่าเหมืองจะปิดมาหลายปีแล้ว และท้วงติงฝ่ายรัฐว่าห่วงแต่ความพร้อมของคณะกรรมการแต่ไม่ได้ลงมือดำเนินการฟื้นฟูทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของชุมชนทำให้ต้องทำกันเอง

ฝ่ายสื่อสารของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ รายงานว่า 10 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำจังหวัดเลย ร่วมกันลงแปลงเพาะพันธุ์พืชพื้นถิ่นอย่าง บอน เฟิร์น ผักกูด และผักหนาม สำหรับนำไปปลูกลงแปลงทดลองฟื้นฟู เพื่อทดลองให้พืชดูดซับสารพิษโลหะหนักที่รั่วไหลออกมาจากเหมืองทองคำลงสู่ร่องน้ำ ที่โรงเพาะชำแปลงทดลองฟื้นฟูตรงประตูแดงถนนเข้า-ออกเหมืองแร่ทองคำ

รายงานระบุว่าการเพาะพันธุ์พืชพื้นถิ่นในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการฟื้นฟูภาคประชาชน หลังจากที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ต่อสู้เรียกร้องปิดเหมืองทองคำได้สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำจนกว่าจะกลับสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีตามเกณฑ์มาตรฐานที่ราชการกำหนด

“เป้าหมายเรากำลังไปได้ดี เพราะเราคุยกันไว้ว่าเราจะฟื้นฟูฉบับชาวบ้าน นี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี ถ้าเราไม่ช่วยตัวเองจะยากมาก ขนาดว่าเราตั้งเป้าหมายว่าจะทำการฟื้นฟูด้วยตัวเราเอง หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้เข้ามาสนใจที่จะทำการฟื้นฟูจริง ๆ รัฐสนใจแต่เรื่องคณะกรรมว่าพร้อมหรือยัง ซึ่งเราคิดว่าในส่วนนี้ไม่สำคัญด้วยซ้ำหน้าที่ของรัฐควรมาส่งเสริมการฟื้นฟูของชาวบ้าน ทุกวันนี้ชาวบ้านอยู่เหมืองตายผ่อนส่ง เพราะผลการตรวจสอบสารปนเปื้อนของหน่วยงานรัฐที่เอาไปตรวจสอบก็ยังพบว่ามีค่าสารโลหะหนักเกินค่ามาตราฐานทั้งที่เหมืองได้ปิดไปนานแล้ว การเพาะชำพืชพื้นถิ่นในครั้งนี้ทำเป้าหมายของเราที่ต้องการฟื้นฟูแบบไทบ้านเองชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ” รจนา กองแสน ตัวแทนกลุ่มกล่าว

หลังจากศาลได้มีคำสั่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกลับแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยที่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ส่งตัวแทนเพียงไม่กี่คนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งกลุ่มมีความเห็นว่าไม่ได้สอดคล้องกับคำสั่งของศาลที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฉบับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้ทำการฟื้นฟูทั้งบริเวณภายในและภายนอก รวมถึงต้องทำการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วยไม่ใช่ฟื้นฟูด้านเทคนิคทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว และกระบวนการฟื้นฟูต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่การให้ความสำคัญเฉพาะจำนวนงบประมาณในการฟื้นฟูเหมือง

กระบวนการการปลูกพืชเพื่อนำมาใช้ซับสารพิษจากเหมืองครั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ใช้การเก็บพืชท้องถิ่นจากบริเวณที่ไม่มีสารโลหะหนักปนเปื้อนมาเตรียมเพาะชำในเรือนเพาะชำที่จัดเตรียมไว้ และหลังจากนี้ทางกลุ่มจะนำพืชท้องถิ่นมาเพาะชำเพิ่ม และทำการดูแลพืชให้แข็งแรงเพื่อพร้อมสำหรับปลูกลงแปลงทดลองฟื้นฟูตามที่กลุ่มได้ตั้งเป้าหมายไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net