Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวต่างประเทศสะท้อนภาพรวม ’70 ปีแห่งยุคควีนเอลิซาเบธที่ 2’ พร้อมวิเคราะห์อนาคตสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่มี ‘พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ ทรงเป็นประมุข ชี้ ความนิยมสถาบันฯ ลด ประเทศในเครือจักรภพจ่อตั้งสาธารณรัฐ แนะ กษัตริย์ควรปรับท่าทีการวางตัวต่อสาธารณะ พร้อมจี้สภาเร่งปฏิรูปงบสถาบันฯ

หลังจากสำนักพระราชวังอังกฤษประกาศข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งทั้งในและนอกสหราชอาณาจักรเผยแพร่บทบรรณาธิการสะท้อนภาพรวมของสถาบันกษัตริย์อังกฤษตลอด 7 ทศวรรษในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีทั้งช่วงเวลารุ่งโรจน์และช่วงเวลาวิกฤต อาทิ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ ที่เล่าพระราชประวัติของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นับตั้งแต่ประสูติในตำแหน่งเจ้าหญิงแห่งยอร์กสู่การขึ้นครองราชย์เป็นประมุขของสหราชอาณาจักรและ 14 ประเทศในเครือจักรภพ ตลอดช่วงเวลาการณ์ครองราชย์ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อังกฤษมีนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 15 คน และพระองค์ยังเคยพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีก 13 คน กองบรรณาธิการของเดอะวอชิงตันโพสต์กล่าวว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเผชิญวิกฤตต่างๆ ทั้งจากปัจจัยภายในซึ่งเกิดจากสมาชิกราชวงศ์ รวมถึงปัจจัยภายนอกด้านการเมืองทั้งในและนอกประเทศ แต่การวางตนของพระองค์ทำให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษสามารถก้าวผ่านวิกฤตเหล่านั้นมาได้ โดยเฉพาะด้านการเมืองที่พระองค์ทรงวางตนเป็นกลางทางการเมือง และแทบไม่เคยแสดงความคิดเห็นส่วนพระองค์ต่อประเด็นทางการเมืองใดๆ นอกจากนี้ พระองค์ยังแสดงออกชัดเจนว่าทรงให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์มากกว่าสมาชิกราชวงศ์ ซึ่งในบางกรณีทำให้พระองค์ถูกมองว่ามีภาพลักษณ์ที่เย็นชา ดังเช่นกรณีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ในปี 1997 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กองบรรณาธิการเดอะวอชิงตันโพสต์ระบุว่าความมุ่งมั่นในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะประมุขแห่งรัฐของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถือเป็นสิ่งที่สมควรยกย่อง พร้อมทิ้งท้ายว่า “ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นสัญลักษณ์ของความมีเสถียรภาพมามากกว่า 70 ปี และบริเตนจะดียิ่งขึ้นกว่าเดิม”

ด้านหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่อหัวกลาง-ซ้ายของอังกฤษ เผยแพร่บทบรรณาธิการต่อกรณีการสวรรคตของสมเด็นพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในท่าทีคล้ายๆ กัน โดยกล่าวถึงการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่มีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นประมุข นับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ พระองค์ทรงผนวกรวมมิติด้านศาสนาและความเชื่อของสถาบันกษัตริย์ให้กลายเป็นที่ยอมรับแบบจับต้องได้ด้วยการยืนอย่างสงบนิ่งบนพื้นฐานของรัฐโลกวิสัย ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคงของประเทศอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าสหราชอาณาจักรจะผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์มากี่ครั้งตลอดช่วงชีวิตของพระองค์ก็ตาม

สถาบันกษัตริย์อังกฤษจะเป็นอย่างไรในยุค ‘พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’

กองบรรณาธิการของเดอะการ์เดียนระบุว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงทิ้งพื้นที่ที่ดูเหมือนไม่มีใครมาเติมเต็มได้และสถาบันกษัตริย์อังกฤษในอนาคตจะไม่เหมือนเดิม รัฐสภาจำเป็นต้องถวายคำปรึกษาแก่สถาบันกษัตริย์อย่างเหมาะสมด้วยท่าทีที่ระมัดระวังอย่างยิ่ง และรัฐสภาต้องมีสิทธิให้การยินยอมในขั้นตอนสุดท้าย รัฐสภาต้องเสนอกฎหมายปฏิรูปการเงินของราชวงศ์และเงินปีของสถาบันกษัตริย์ที่มาจากภาษีของประชาชน นอกจากนี้ ประเด็นที่จะต้องถกเถียงกันในทันทีคือพระราชพิธีราชาพิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชพิธีอันเป็นเอกลักษณ์ของบรรดาสถาบันกษัตริย์ในยุโรป

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซี่งในปีนี้ทรงมีพระชนมายุ 70 พรรษา ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษในยุคสมัยใหม่พระองค์แรกที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและทรงหย่า ภาพลักษณ์และข้อบกพร่องของพระองค์นั้นเป็นที่รับรู้กันดีในสายตาของสาธารณชน พระองค์อาจจะพิสูจน์ตนเองว่าสามารถเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตนเองได้หากทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย กองบรรณาธิการของเดอะการ์เดียนกล่าวต่อไปว่าการขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในช่วงวัยนี้ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ควรวางตัวอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่มองตนเองว่าเป็นกษัตริย์นักปฏิรูปหรือ ‘เป็นประโยชน์’ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเปราะบางในหลายๆ เรื่อง ในทำนองเดียวกัน กรณีของเจ้าหญิงไดอาน่าที่อาจถูกขุดคุ้ยหรือข้อถกเถียงว่าคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ควรเป็นพระราชินีหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่คนจะพูดคุยกันอยู่ไม่นาน และคาดการณ์ได้ว่าจะต้องเกิดขึ้น ดังนั้น ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระแสธารเสีย

กองบรรณาธิการของเดอะการ์เดียนทิ้งท้ายในบทบรรณาธิการว่าสถาบันกษัตริย์ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบชนชั้นศักดินาเป็นสถาบันที่ผิดอยู่ผิดที่ผิดทางในยุคสมัยปัจจุบัน แต่การสะท้อนภาพการคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในวันที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเสด็จสวรรคตนั้นไม่เหมาะสมนัก กองบรรณาธิการของเดอะการ์เดียนระบุว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างหนักตลอดการครองราชย์ของพระองค์และสมควรได้รับการเคารพ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ควรปล่อยให้ประชาชนผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชาติสามารถคิดและตระหนักได้ว่าสถาบันกษัตริย์จะต้องเปลี่ยนแปลงด้วย โดยการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นสถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นและควรเกิดขึ้นในไม่ช้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่เดอะวอชิงตันโพสต์และนิตยสารไทม์ วิเคราะห์ไปในแนวทางเดียวกันว่ากระแสความนิยมที่ลดลงของสถาบันกษัตริย์อังกฤษจากผลสำรวจต่างๆ นั้นเป็นตัวชี้วัดอนาคตของสถาบันฯ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความนิยมในตัวพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับพระมารดาของพระองค์ ซึ่งไทม์มองว่าแม้ความนิยมส่วนพระองค์ของกษัตริย์องค์ใหม่จะไม่อาจเทียบเท่าพระมารดาได้ แต่หน้าที่ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในการประคับประคองสถาบันกษัตริย์ให้คงอยู่ก็ไม่น่าจะหนักเท่ายุคสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 70 ปี โดยในกรณีของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถือเป็นการเตรียมช่วงส่งผ่านให้กษัตริย์องค์ต่อไปเท่านั้น

เดอะวอชิงตันโพสต์ระบุเพิ่มเติมว่าในด้านบุคลิกส่วนพระองค์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นั้นแตกต่างจากพระมารดาของพระองค์ ประเด็นแรกที่เห็นได้ชัดคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ รวมถึงเรื่องการเมือง ทั้งๆ ที่การวางตัวเป็นกลางทางการเมืองคือสิ่งสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยใหม่ ทั้งยังใช้โครงการหรือองค์กรการกุศลที่พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์เพื่อแสดงออกทางจุดยืนในเรื่องต่างๆ ขณะที่พระมารดาของพระองค์ไม่ได้ใช้พื้นที่ขององค์กรเพื่อแสดงออกมากนัก นอกจากนี้ พระเจ้าชาร์ลสี่ 3 ยังทรงเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อในลักษณะส่วนตัว ขณะที่พระมารดาของพระองค์ไม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเลยสักครั้ง วอชิงตันโพสต์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมี ‘ความเชื่อ’ ด้านศาสนามากกว่าพระมารดาที่ทรงแสดงออกว่าเป็น ‘ผู้มีศรัทธา’ ในศาสนาเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการเลือกใช้คำที่กล่าวถึงพระเจ้าในสุนทรพจน์ต่างๆ รวมถึงหนังสือชื่อ ‘Harmony’ ที่พระองค์ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตของพระองค์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด้านสำนักข่าว The Grid ของแคนาดารวบรวมผลสำรวจจากโพลล์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าความนิยมในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซสเบธที่ 2 นั้นมีมากกว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษ โดย 6 ใน 10 ของชาวอังกฤษบอกว่าพวกเขายังชื่นชอบสถาบันกษัตริย์ แต่ตัวเลขนี้ถือว่าไม่แข็งแรงมากนัก ขณะที่ผลสำรวจของ Gallup ระบุว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีชื่อติดอันดับ 1 ใน 10 ผู้หญิงที่น่านับถือที่สุดในโลกถึง 52 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1948-2020 ด้านผลสำรวจของ Ipsos ในช่วงพระราชพิธีรอยัลจูบิลีที่ผ่านมาพบว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นสมาชิกราชวงศ์ที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด ในขณะที่ผู้เลือกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีเพียง 14% เท่านั้น

แสดงความเสียใจต่อควีน ไม่ใช่จักรวรรดิของควีน

มายา จาซานอฟฟ์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ โดยหยิบยกภาพประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นับตั้งแต่พระราชพิธีราชาภิเษก ไปจนถึงการเสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ พร้อมเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์โดยสังเขปเกี่ยวกับภาพและเหตุการณ์เหล่านั้น จาซานอฟฟ์ระบุว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เห็นความรุ่งเรืองและเสื่อมสลายของจักรวรรดิอังกฤษ และทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ แต่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าพระองค์ทรงทราบหรือไม่ว่าอาชญากรรมอันเลวร้ายตลอดช่วงเวลาท้ายๆ ของจักรวรรดิอังกฤษเกิดขึ้นโดยมีการอ้างพระนามของพระองค์ เช่น สงครามปราบคอมมิวนิสต์ในอาณานิคมมาลายา หรือสงครามปราบผู้ต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมในอาณานิคมต่างๆ ของอังกฤษ ในปี 2012 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนเปิดหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐสมัยจักรวรรดินิยมทำลายหลักฐานรายงานเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น เพราะเกรงว่า “จะทำให้ควีนเสื่อมเสียพระเกียรติ” ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคแรงงาน รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ออกมาเรียกร้องและประณามการกระทำดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากเท่าใดนัก

จาซานอฟฟ์กล่าวว่าช่วงชีวิตที่ยาวนานของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้ภาพความสวยงามในยุคเอลิซาเบธที่ 2 นั้นยังคงอยู่ พระองค์เป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อระหว่างโลกยุคสงครามโลกและตำนานความรักชาติที่เฉพาะชาวอังกฤษเองเชื่อว่าพวกตนได้ช่วยโลกจากลัทธิฟาสซิสต์ เรื่องราวสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างพระองค์กับวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกจากทั้ง 15 คนในรัชสมัยของพระองค์ อย่างไรก็ตาม จาซานอฟฟ์ระบุว่าเมื่อรัชสมัยของพระองค์สิ้นสุดลง สถาบันกษัตริย์แบบจักรวรรดินิยมก็ต้องสิ้นสุดลงตามไปด้วย ประเทศต่างๆ ในเครือจักรภพอาจดำเนินรอยตามบาร์เบโดสที่ประชาชนโหวตเลือกให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐเต็มตัว ทั้งนี้ จาซานอฟฟ์ทิ้งท้ายในบทความว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างผลกระทบทางประวัติศาสตร์ด้วยการลดขนาดราชวงศ์และเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์อังกฤษให้มีลักษณะที่เรียบง่ายดังสถาบันกษัตริย์ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

เครือจักรภพจ่อเดินหน้าปลดกษัตริย์ ตั้งสาธารณรัฐ

นิตยสารฟอบส์เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับท่าทีของประเทศในเครือจักรภพที่อาจจะเดินหน้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นสาธารณรัฐอย่างเต็มรูปแบบตามรอยบาร์เบโดส โดยประเทศแรกที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือออสเตรเลีย เพราะรัฐบาลชุดใหม่จากพรรคแรงงานเสนอนโยบายนี้อย่างชัดเจน ทั้งยังเคยกล่าวไว้ว่าหากสิ้นสุดยุคควีนเอลิซาเบธที่ 2 แล้ว รัฐสภาออสเตรเลียจะเตรียมผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่สภาเพื่อทำประชามติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่าหากพวกเขาชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2568 ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างนิวซีแลนด์ แม้จะยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนนัก แต่จาซินดา อาร์เดิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เคยกล่าวไว้ว่าเธอหวังว่าจะได้เห็นนิวซีแลนด์กลายเป็นสาธารณรัฐในช่วงชีวิตของเธอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ประชาชนในหลายประเทศแถบทะเลแคริบเบียนที่มีประวัติศาสตร์อันเจ็บช้ำเรื่องการค้าทาสภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษได้ออกมาเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษขอโทษอย่างเป็นทางการพร้อมจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ต้องเจ็บปวดจากการถูกกดขี่ในยุคอาณานิคม โดยจาไมกาเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่สาธารณรัฐเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และคาดว่ากระบวนการถอดถอนกษัตริย์อังกฤษออกจากจำแหน่งประมุขห่งรัฐจะเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2025

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟอบส์ระบุเพิ่มเติมว่าผลสำรวจในแคนาดาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพนั้นเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญ โดยชาวแคนาดา 51% ไม่เห็นด้วยกับการมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขแห่งรัฐแต่ต้องรอให้ช่วงเวลาแห่งยุคสมัยเดินไปตามกลไกล ขณะที่ชาวแคนาดา 26% สนับสนุนการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ในแคนาดา นอกจากนี้ ผลสำรวจดังกล่าวซึ่งจัดทำโดย Angus Reid Institute ยังพบว่าชาวแคนาดา 67% ไม่เห็นด้วยที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐของแคนาดา

 

ที่มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net