Skip to main content
sharethis
  • สอดคล้องกับทั่วโลกที่เริ่มถอยห่างออกจากยุคสมัยของ ‘โควิด-19’ เพื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ประเทศไทยประกาศลดระดับการควบคุมโรคโควิด-19 มีการยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวด ยกเลิกพื้นที่ควบคุมทั้งประเทศให้เหลือแต่พื้นที่เฝ้าระวัง ไม่กักตรวจผู้ที่เดินทางเข้าสู่ประเทศ
  • ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ภาพรวมทั้งประเทศ ณ ช่วงต้นเดือน ก.ค. 2565 มีเพียง 42.9% เท่านั้น
  • โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ หรือเมืองท่องเที่ยวหลัก ด้วยปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติเกี่ยวกับวัคซีน ไปจนถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยแต่เป็นปรากฎการณ์เกิดขึ้นทั่วโลกที่ตัวเลขของคนฉีดเข็มกระตุ้นน้อยเพราะคนมองว่ากระแสโควิด-19 มันจางลงแล้ว ความรู้สึกว่าโรคนี้อันตรายเริ่มเปลี่ยนไป ด้านผลสำรวจกรมควบคุมโรคเหตุที่ประชาชนไม่รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 34.8% มองว่าพวกเขาฉีดวัคซีนเพียงพอแล้ว
  • ประธานชมรมแพทย์ชนบทชี้ยังสามารถเปิดประเทศเดินหน้าเศรษฐกิจได้ แนะควรเน้นไปในการเชิญชวนผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งยังมีตัวเลขเข็มกระตุ้นที่ยังต่ำอยู่

 

สอดคล้องกับทั่วโลกที่เริ่มถอยห่างออกจากยุคสมัยของโควิด-19 กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ประเทศไทยประกาศลดระดับการควบคุมโรคโควิด-19 มีการยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวด ยกเลิกพื้นที่ควบคุมทั้งประเทศให้เหลือแต่พื้นที่เฝ้าระวัง ไม่กักตรวจผู้ที่เดินทางเข้าสู่ประเทศ แม้จะยังมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก แต่ข้อมูลจาก กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา (ณ วันที่ 22 มิ.ย. 2565) เผยว่าจนถึงเดือน พ.ค. 2565 นี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย 1.3 ล้านคน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกมาคาดการณ์ ว่าภายในปี 2565 นี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยที่ 7-13 ล้านคน

เมื่อดูตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ภาพรวมทั้งประเทศ ณ ช่วงต้นเดือน ก.ค. 2565 มีเพียง 42.9% เท่านั้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบต่อการเดินหน้าเปิดประเทศ และการรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย เมื่อเทียบกับจังหวัดโดยรอบกรุงเทพฯ หรือเมืองท่องเที่ยวหลัก ด้วยปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติเกี่ยวกับวัคซีน ไปจนถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยแต่เป็นปรากฎการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ตัวเลขของคนฉีดเข็มกระตุ้นน้อย ประธานชมรมแพทย์ชนบทชี้ยังสามารถเปิดประเทศเดินหน้าเศรษฐกิจได้ แนะควรเน้นไปในการเชิญชวนผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งยังมีตัวเลขเข็มกระตุ้นที่ยังต่ำอยู่

ต่างจังหวัดรับเข็มกระตุ้นน้อย ตัวอย่าง จ.ขอนแก่น

จากเดิม จ.ขอนแก่น เคยใช้หอประชุมขนาดใหญ่อย่างขอนแก่นฮอลล์ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลและศูนย์ประชุมนานาชาติขอนแก่น เป็นศูนย์หลักในการให้บริการฉีดวัคซีน ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้ศูนย์แพทย์ระดับปฐมภูมิภายในจังหวัดหมุนเวียนกันให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แทน | ที่มาภาพ: โรงพยาบาลขอนแก่น

จากการลงพื้นที่ศูนย์แพทย์ประชาสโมสร หน่วยการแพทย์ปฐมภูมิ จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2565 ซึ่งเป็นบริการจุดฉีดวัคซีนภายในตัวอำเภอเมืองขอนแก่น จากเดิมที่ จ.ขอนแก่น เคยใช้หอประชุมขนาดใหญ่อย่างขอนแก่นฮอลล์ในศูนย์การค้าเซ็นทรัล และศูนย์ประชุมนานาชาติขอนแก่น เป็นศูนย์หลักในการให้บริการฉีดวัคซีน เปลี่ยนมาใช้ศูนย์แพทย์ระดับปฐมภูมิภายในจังหวัดหมุนเวียนกันให้บริการ โดยในวันที่ 12 ก.ค. 2565 (วันที่ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่) เป็นคิวของศูนย์แพทย์ประชาสโมสร และวันต่อ ๆ ไปจะเปลี่ยนให้ศูนย์การแพทย์แห่งอื่นรับหน้าที่หมุนวนกันไป โดยผู้มารับบริการจะต้องเข้ารับบัตรคิวรอหน้าห้องฉีดยา เหมือนผู้ที่มาใช้บริการฉีดยาด้วยเหตุผลอื่น ๆ

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ถึง ณ วันที่  3 ก.ค. 2565 พบว่า จ.ขอนแก่น มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ครอบคลุมประชากรถึง 70.4 %  ขณะที่การรับบริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ‘นงนุช’ หญิงวัย 70 ปี ผู้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเล่าให้ฟังว่ามีอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน เข้ามาเยี่ยมที่บ้านแนะนำให้ไปรับวัคซีนเพิ่ม จากเดิมที่ได้รับครบ  2 เข็มมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่าน เธอจึงพาเพื่อนอายุ 69 ปี ที่มีโรคประจำตัวเดินทางมารับวัคซีนพร้อมกันในวันนี้

นงนุชและเพื่อนมารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ศูนย์แพทย์ประชาสโมสร หน่วยการแพทย์ปฐมภูมิ จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2565

“ทีแรกไม่รู้ว่าต้องฉีดเพิ่มไหม อสม.เขามาแนะนำให้มาฉีด เลยมั่นใจว่าฉีดได้ ไม่ได้รู้จะฉีดวัคซีนอะไร ให้มาหมอประเมินเอา” นงนุช กล่าวก่อนเข้าห้องฉีดยาในศูนย์แพทย์ฯ

แต่หากดูตัวเลขการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ของ จ.ขอนแก่น จะพบว่าตัวเลขอยู่เพียงแค่ 35.2% เท่านั้น เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย มีเพียง 8 จาก 77 จังหวัดเท่านั้นที่มีตัวเลขการฉีดเข็มกระตุ้นมากกว่า 50 % ของจำนวนประชากร  ซึ่งส่วนมากเป็นจังหวัดท่องเที่ยว หรือเขตเศรษฐกิจใหญ่ใกล้กรุงเทพฯ เท่านั้นคือ กรุงเทพฯ  86.8% ภูเก็ต 85.6% สมุทรปราการ 72.1% ระยอง 56.5% ชลบุรี 51.5%  พระนครศรีอยุธยา 58.5% นนทบุรี 74.8% ลำพูน  53.8% และน่าน 53.3% โดยในจังหวัดที่มีผู้ฉีดเข็มกระตุ้นน้อยที่สุดคือ ปัตตานี 7.9% และนราธิวาส 9.0% (ข้อมูล ณ 3 ก.ค. 2565)

สธ.ห่วงอาจกระทบแผนเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2565 นายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวกับสื่อถึงความกังวลเรื่องที่หลายจังหวัดมีการรับเข็มกระตุ้นน้อยเกินไป อาจจะส่งผลกระทบต่อแผนการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่นได้ เนื่องจากการรับวัคซีน 2 เข็มภูมิคุ้มกันจะเริ่มต่ำลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถลดอัตราการเสียชีวิตหรือป่วยหนักได้ โดยตั้งเป้าให้แต่ละจังหวัดต้องมีตัวเลขของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นครอบคลุมไม่น้อยกว่า 60%

หลายเหตุผลทำไมหลายคนไม่ไปต่อเข็ม 3

“บางคนคิดว่าถึงฉีดไปก็ติดอยู่ดี” ‘สงวน’ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ของชุมชนแออัดริมทางรถไฟแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น อธิบายถึงเหตุผลที่หลายคนในชุมชนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งมีหลายเหตุผลด้วยกัน บางคนมองว่าการกระตุ้นไม่ได้ช่วยให้ไม่ติดเชื้อ คิดว่าได้รับวัคซีน 2 เข็มก็เพียงพอ บางส่วนก็เพิ่งติดเชื้อในการแพร่ระลอกที่ผ่านมา ทำให้ยังไม่ถึงกำหนดในการรับเข็มกระตุ้น และยังมีเหตุทางด้านเศรษฐกิจที่สงวน มองว่ามีส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในบริบทของชุมชนแห่งนี้ เพราะแม้ว่าการระบาดระลอกใหญ่ผ่านพ้นไป แต่ก็ทิ้งปัญหาเรื่องการเงินไว้กับคนชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยจำเป็นต้องออกหางานทำ หรือหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนช่วงการล็อคดาวน์ที่ต้องขาดแคลนรายได้ไป หลังจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็เริ่มกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง

“เขาเริ่มออกไปขายของไปหางานทำ ทำให้หลายคนไม่ว่างไปฉีด โควิดจางแล้วแต่เรื่องเงินยังเป็นปัญหาอยู่” สงวนกล่าว ถึงแม้ว่าตัวเลขการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในชุมชนแห่งนี้จะไม่ได้ต่ำกว่าพื้นที่อื่น ๆ แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขเข็ม 1-2 ก็ยังถือว่าห่างกันมาก

มีการสำรวจจัดทำโดยกรมควบคุมโรค สอบถามถึงสาเหตุที่ประชาชนไม่รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (1 คนตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก) ซึ่ง พบว่า:

  • 34.8% มองว่าพวกเขาฉีดวัคซีนเพียงพอแล้ว
  • 20.5% กำลังรอเข้ารับการฉีดวัคซีนอยู่
  • 19.2% ที่ชี้ว่าพวกเขากลัวอันตรายจากการฉีดเข็มกระตุ้น
  • ราว 70% ชี้ว่าพวกเขาไม่แน่ใจหรือคิดว่าจะไม่ฉีดเข็มกระตุ้น

เมื่อถามต่อว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไร

  • 57.6% ตอบว่าอยากให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่บ้าน/ใกล้บ้าน
  • 41.1% อยากมั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับการเยียวยาหากเกิดผลข้างเคียง

ทั่วโลกตัวเลขเข็มกระตุ้นต่ำ แพทย์ชนบทมั่นใจเปิดประเทศเดินหน้า แนะให้เร่งฉีดกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือ Booster Dose มีการถกเถียงมาโดยตลอดในระดับนานาชาติ แต่ปัจจุบัน WHO ได้ข้อสรุปว่าควรมีการสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเนื่องจากช่วงหลังมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับที่ชี้ว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ได้ดี | ที่มาภาพ: Diverse Stock Photos (CC BY-NC 2.0)

เรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือ Booster Dose มีการถกเถียงมาโดยตลอดในระดับนานาชาติ ในช่วงหลังที่ชาติใหญ่ ๆ ในยุโรป และอเมริกา เร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 1-2 กับพลเมืองได้อย่างครอบคลุมแล้ว ในเดือนส.ค. 2464 ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเรียกร้องให้ชะลอการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นออกไปก่อน เพื่อให้ประเทศรายได้ต่ำสามารถกระจายวัคซีนเข็มแรกให้แก่ประชาชนในประเทศได้มากขึ้นเสียก่อน และในเวลานั้นยังมีข้อถกเถียงด้านวิชาการมากมาย ว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจำเป็นต่อการป้องกันการแพร่เชื้อมากน้อยแค่ไหน

จนมาในเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา WHO ได้ออกมาปรับข้อแนะนำอย่างเป็นทางการ กลับมาสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเนื่องจากช่วงหลังมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับที่ชี้ว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ได้ดี

แต่ก็มีหลายประเทศในโลกที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก ตัวอย่างที่สหรัฐฯ ช่วงเดือน ก.ค. 2565 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่ามีชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่เพียงครึ่งหนึ่งที่เข้ารับวัคซีนบูสเตอร์ และเพียง 28% ที่รับวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 2 ทำให้ตอนนี้มีประชากรหลายล้านคนในสหรัฐฯ ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ 

นักวิชาการในสหรัฐฯ ชี้ว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่หลายคนที่เข้าข่ายต้องรับวัคซีนบูสเตอร์เลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีน ทั้งที่มีวิจัยที่แสดงถึงประสิทธิภาพของวัคซีนบูสเตอร์ต่อโควิด-19 ก็ตาม ทั้งนี้ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่เห็นความจำเป็นในการเข้ารับวัคซีนบูสเตอร์แม้ว่าวัคซีนจะมีเพียงพอและเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งตอนนี้มีแนวคิดหนึ่งในหมู่ชาวอเมริกันที่มองว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนอันเป็นเชื้อที่แพร่กันได้ง่ายและผู้ติดเชื้อจะมีอาการเล็กน้อยในหมู่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นในการเข้ารับวัคซีนบูสเตอร์ อีกด้านหนึ่งข่าวการพัฒนาวัคซีนใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังโควิด-19 กลายพันธุ์โอไมครอน BA.4 และ BA.5 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันบางส่วนชะลอการเข้ารับวัคซีนบูสเตอร์เช่นกัน

เมื่อมองระดับโลก ณ ช่วงเดือน ก.ค. 2565 จะพบว่าไทยมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ที่ อับดับ 63 ของโลก ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเป็นรองเพียงแค่ประเทศ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศยุโรปและในสหรัฐฯ 

“เหมือนกัน (ที่มีคนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย) ทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย กระแสโควิดมันจางลงแล้ว ความรู้สึกว่าโควิดมันอันตรายมันหมดไปแล้ว และผู้คนก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมากขึ้น” นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว โดยมองว่าแม้ตัวเลขการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะยังไม่สูงนัก แต่เห็นด้วยกับผ่อนปรนมาตรการต่างให้เศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อไป “ถึงเวลาแล้วต้องสมดุลระหว่างการควบคุมโลก และการเดินหน้าเศรษฐกิจและสังคม”

นพ.สุภัทร ยังอธิบายต่อว่าการกลายพันธุ์ครั้งหลัง ๆ ทำให้เชื้อมีความรุนแรงลดลงมาก และจากที่นักระบาดวิทยาประเมินว่าตัวเลขการติดเชื้อจริง ๆ ในไทยน่าจะอยู่ที่ 30% เมื่อรวมกับจำนวนคนที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 41% อยู่ในระดับที่พอจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ทำให้ตัวเลขคนป่วยหนักหรือเสียชีวิตจะไม่พุ่งสูงขึ้นมากนัก รวมทั้งคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกเป็นวัคซีนแบบเชื้อตาย ก็ได้ทำการฉีดเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีน mRNA เป็นส่วนใหญ่แล้ว

ถึงแม้จะมีข่าวการเข้ามาเชื้อโอไมครอนกลายพันธุ์อย่าง BA.4 และ BA.5 แต่ นพ. สุภัทร ก็มองว่าจะไม่ต่างกันมากนักเพราะวัคซีนที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นรุ่นที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่เชื้อรุ่นอูฮั่น ดังนั้นไม่ว่าจะฉีดวัคซีนกี่เข็มก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เพียงแต่ทำให้ลดอาการป่วยหนักเท่านั้น ซึ่งประชากรกลุ่มที่รัฐควรเร่งเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากที่สุด ควรจะเป็นผู้สูงอายุที่ความเสี่ยงในการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยตัวเลขผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมีเพียง 47.5% เท่านั้น.

 

ที่มาข้อมูลเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net