Skip to main content
sharethis

เผด็จการพม่าจับกุมตัวอดีตทูตอังกฤษกับสามีของเธอที่เป็นศิลปินและเป็นอดีตนักโทษการเมือง โดยอ้างข้อหาว่าพวกเขาไม่แจ้งต่อเผด็จการทหารในเรื่องการย้ายที่อยู่จากที่อยู่เดิมที่ระบุในวีซ่าของพวกเขา มีการตั้งข้อสังเกตว่าเผด็จการทหารพม่าเล่นงานอดีตทูตอังกฤษรายนี้หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับพม่ากำลังถดถอยลงเพราะอังกฤษคว่ำบาตรบริษัททหารพม่าเพิ่ม เพื่อโต้ตอบเผด็จการ


วิกกี โบว์แมน อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่า

รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าจับกุมตัว วิกกี โบว์แมน อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่า และสามีของเธอที่เป็นชาวพม่า 'เต่งลิน' (Htein Lin) ที่เป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียง ทางการได้จับกุมพวกเขาเมื่อช่วงกลางคืนวันที่ 24-25 ส.ค.ที่ผ่านมา แล้วตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายคนเข้าเมืองกับพวกเขา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

ทางการพม่าจับกุมตัวสองคนนี้จากบ้านในนครย่างกุ้ง และมีการส่งตัวไปที่เรือนจำอินเส่งในทันที ต่อมาในเช้าของวันที่ 25 ส.ค. ก็มีการนำตัวพวกเขาไปขึ้นศาล โดยมีการดำเนินคดีต่อโบว์แมนผู้ที่เป็นพลเมืองชาวอังกฤษในข้อหาละเมิดกฎหมายมาตรา 13(1) ของกฎหมายคนเข้าเมืองของพม่า ซึ่งถ้าหากมีการตัดสินลงโทษแล้วผู้ต้องหาจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ระหว่าง 6 เดือน ถึงสูงสุด 5 ปี ซึ่งกฎหมายนี้ระบุห้ามไม่ให้คนต่างชาติทำการอยู่เกินนำหนดวีซ่า หรือละเมิดข้อตกลงการได้รับวีซ่า หรือเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย

สื่อเรดิโอฟรีเอเชียรายงานในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ระบุว่า โบว์แมน และเต่งลิน ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินเส่งแล้ว และส่งตัวพวกเขาไปแยกขังไว้ในสถานีตำรวจที่อยู่คนละแห่งกัน

เต่งลิน ถูกล่ามด้วยโซ่ขนาดยาวในตอนที่เขาถูกนำตัวขึ้นศาล เขาถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 13(5) ของกฎหมายคนเข้าเมือง หรือการให้ความช่วยเหลือโบว์แมน ในการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ทำให้เต่งลิน มีโอกาสต้องเผชิญโทษจำคุกในจำนวนที่เท่ากับโบว์แมน

สำหรับสาเหตุที่ทั้ง 2 คนนี้ถูกจับกุมและดำเนินคดีนั้น เผด็จการทหารพม่าได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่า โบว์แมน และเต่งลิน "ไม่ยอมรายงานการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย" ของพวกเขา ทางการพม่าระบุว่าเดิมทีแล้วเต่งลิน กับโบว์แมน อาศัยอยู่ที่บ้านในเมืองกะหล่อ รัฐฉาน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2564 ถึง 9 ส.ค. 2565 ซึ่งมีการจดทะเบียนบ้านด้วยชื่อของเต่งลิน แต่ว่าในวีซ่าของโบว์แมนระบุว่าเธออยู่อาศัยในเขตซานชอง นครย่างกุ้ง

ทั้งนี้ โบว์แมน เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของศูนย์เมียนมาเพื่อธุรกิจที่มีความรับผิดชอบตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการส่งเสริมให้กลุ่มบริษัทในพม่าดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ส่วนเต่งลิน เป็นจิตรกร และศิลปินแสดงสด ที่มีชื่อเสียง รวมถึงเป็นอดีตนักโทษการเมืองที่เคยเป็นสมาชิกของแนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า และเคยร่วมในกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในช่วงที่มีการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในเหตุการณ์ 8-8-88 เมื่อปี 2531 ในเวลาต่อมา เขาถูกรัฐบาลทหารในยุคนั้นสั่งคุมขังตั้งแต่ปี 2541-2547 งานศิลปะของเขามักจะมีการนำเสนอความน่าสะพรึงกลัวในตอนที่เขาต้องเผชิญการทารุณกรรมตอนอยู่ในคุก และการที่เขาเคยตกเป็นเหยื่อในความขัดแย้งกันเองภายในของกลุ่มกบฏที่เขาเคยร่วมด้วย

ต่อมา เต่งลินได้แต่งงานกับโบว์แมน และย้ายไปอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนกระทั่งกลับมาที่นครย่างกุ้ง เมื่อปี 2556 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา 2 คนนี้ก็มักจะใช้เวลาร่วมกันที่รัฐฉาน ดูเหมือนว่าในช่วงที่พวกเขาถูกจับกุม คู่สามีภรรยาคู่นี้กำลังพักฟื้นจากการป่วยเป็น COVID-19 อยู่

มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อ Myanmar Now ว่า การดำเนินคดีต่ออดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษเกิดขึ้นในช่วงที่พม่ากับอังกฤษกำลังมีความตึงเครียดทางการทูตระหว่างกัน

ในวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา อังกฤษเพิ่มบริษัทอีก 3 บริษัทลงไปในบัญชีรายชื่อบริษัทพม่าที่พวกเขาคว่ำบาตร คือกลุ่มบริษัทอินเตอร์เนชันแนลเกทเวย์ บริษัทก่อสร้างสกายวัน และบริษัทเครือแชพไพร์กรุ๊ป

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ไล่เอกอัครราชทูตอังกฤษ 'พีท วาวเลส' ออกจากประเทศ โดยวาวเลส ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำพม่าเมื่อปี 2564 แต่เขาไม่ได้ยื่นแสดงสาสน์ตราตั้งให้กับเผด็จการทหารพม่าถึงแม้ว่าเผด็จการพม่าจะเรียกร้องขอดูสาสน์ตราตั้งของเขา ทางการอังกฤษได้ลดระดับตำแหน่งของวาวเลส ให้กลายเป็นอุปทูต เพื่อโต้ตอบสถานการณ์ที่เลวร้ายในพม่า เผด็จการทหารมพม่าปฏิเสธการแต่งตั้งเช่นนี้ และเรียกร้องให้อังกฤษส่งตัวแทนคนใหม่มาที่พม่า

วาวเลสเป็นคนที่ออกปากวิพากษ์วิจารณ์ความโหดเหี้ยมของรัฐบาลเผด็จการทหารและเป็นผู้ที่พูดถึงขบวนการของประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการพม่า เขาเคยมาอยู่ในไทยเป็นเวลาหลายเดือนในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพราะกองทัพพม่าปฏิเสธไม่ยอมออกวีซ่าให้เขากลับเข้าประเทศ เขาได้รับอนุญาตให้กลับเข้าพม่าในเวลาต่อมา แต่เขาก็ทวีตบอกเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2565 ว่า เขาถูกสั่งให้ออกจากประเทศ วาวเลส ระบุว่าถึงแม้จะเป็นเรื่องน่าเสียใจที่เขาถูกเผด็จการทหารสั่งให้ออกจากพม่า แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เขาไม่ต้องถูกกดดันให้ต้องทำอะไร เพื่อเป็นการให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารที่โหดร้าย


เรียบเรียงจาก

Junta charges detained former UK ambassador and husband under immigration act, Myanmar Now, 25-08-2022

Former British Ambassador to Myanmar transferred from prison to police custody, Radio Free Asia, 26-08-2022

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net