Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากโสเครตีส เยซู ถึงซัลมาน รัชดี คือตัวอย่าง “ราคาที่ต้องจ่าย” ของการใช้เสรีภาพในการพูด 

การประหารชีวิตโสเครตีสและเยซูเกิดขึ้นในยุคก่อนสมัยใหม่ อันเป็นยุคสมัยที่รัฐยังไม่มีหลักประกันเสรีภาพในการพูดอย่างชัดเจนและแน่นอน หากนับกาลิเลโอด้วย ก็ยิ่งเห็นชัดว่า “ตัวแทน” ของความก้าวหน้าทางความคิดด้านปรัชญาและศาสนาอย่างโสเครตีสและเยซูถูกประหารชีวิต ขณะที่ตัวแทนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างกาลิเลโอสูญเสียอิสรภาพ โดยถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านของตนตลอดชีวิต เพียงเพราะเขาเหล่านั้นใช้เสรีภาพเสนอเสนอความคิด ความเชื่อ และความรู้ที่แตกต่าง ซึ่งแปลว่า ต้องมีคนอีกจำนวนมากในยุคก่อนสมัยใหม่ถูกปิดปาก และ/หรือถูกลงโทษในลักษณะเดียวกัน หากพวกเขากล้าใช้เสรีภาพในการพูด

ดังนั้น ผลของการปิดกั้นเสรีภาพในการพูด ก็คือการปิดโอกาสของความก้าวหน้าทางความคิด, ความรู้ด้านปรัชญา ศาสนา และวิทยาศาสตร์ หรือเท่ากับว่าการปิดกั้นเสรีภาพด้วยอำนาจใดๆ ในนามศาสนา กลับส่งผลเสียแม้ต่อความงอกงามทางปัญญาของศาสนาเอง แม้แต่พระศาสดา หรือชาวศาสนาด้วยกันเองที่คิดต่างหรือต่างนิกายยังต้องถูกฆ่า

ขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางความคิด ความรู้ด้านปรัชญา ศาสนา วิทยาศาสตร์ และด้านอื่นๆ ของโลก ก็เป็นผลของการต่อสู้เพื่อที่จะมีเสรีภาพในการพูด การนำเสนอความคิด ความเชื่อ ความรู้ใหม่ๆ ที่แตกต่างและขัดแย้งกับความเชื่อกระแสหลัก หรือขัดกับ “การบังคับศรัทธา” ภายใต้อำนาจศาสนจักร รัฐศาสนา หรือรัฐเผด็จการแบบต่างๆ รวมทั้งเผด็จการโดยกลุ่มศาสนา จารีตประเพณีต่างๆ ที่ปิดกั้นเสรีภาพ

แต่กรณีของรัชดีเกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ และในรัฐที่ให้หลักประกันเสรีภาพในการพูดอย่างชัดเจนและแน่นอน คำถามคือ อะไรคือ “ขอบเขตที่แน่นอน” ของเสรีภาพในการพูด (และการแสดงออก) 

ผมฟังนักวิชาการมุสลิมบรรยายทางยูทูบ เขาวิจารณ์ว่าเสรีภาพแบบเสรีนิยมดูเหมือนไม่มีขอบเขตที่แน่นอน เป็นเสรีภาพแบบตามใจฉันเสียมากกว่า เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง และไม่เคารพต่อศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยเฉพาะมีอคติต่อศาสนาอิสลามหรือโลกมุสลิม หรือพูดโดยรวมก็คือ ศาสนาทุกศาสนาล้วนถูกท้าทายโดยแนวคิดเสรีนิยม และต้องหาทางรับมือกับแนวคิดนี้

แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) มีทั้งด้านที่เป็นคุณูปการต่อชาวศาสนาต่างๆ และด้านที่ชาวศาสนาต่างๆ หวาดระแวง 

ด้านที่เป็นคุณูปการต่อชาวศาสนาต่างๆ โดยส่วนใหญ่ คือ การก่อตัวและพัฒนาการของเสรีนิยมได้ให้หลักประกัน “เสรีภาพทางศาสนา” (freedom of religion) และ “ขันติธรรม” (tolerance) ในการอยู่ร่วมกันของความแตกต่างและหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม 

แต่ต้องแลกด้วยการยกเลิกรัฐศาสนา หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองโดยอำนาจเทวสิทธิ์ ธรรมะ หรือหลักศาสนาอะไรก็ตาม แทนที่ด้วยระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ ซึ่งทำให้กลุ่มผู้นำศาสนา ศาสนจักร กลุ่มชนชั้นสูง คือ พวกกษัตริย์ เครือญาติ ขุนนาง นักบวช สูญเสียอำนาจที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือซึ่งพวกเขาเคยมีมายาวนานตลอดยุคก่อนสมัยใหม่ ทว่าศาสนาก็ยังคงอยู่ได้ในยุคสมัยใหม่ในฐานะเป็น ความเชื่อส่วนบุคคล หรือความเชื่อของกลุ่มศาสนาต่างๆ ที่มีเสรีภาพในการถือศาสนา การเผยแพร่ศาสนา และมีเสรีภาพจะเปลี่ยนศาสนา โดยปราศจากการบังคับศรัทธาด้วยอำนาจรัฐ ศาสนจักร องค์กรศาสนา หรือศาลศาสนาแบบที่เคยมีมายาวนานในยุคก่อนสมัยใหม่

การให้หลักประกันเสรีภาพในการเลือกถือศาสนา เปลี่ยนศาสนา และเผยแพร่ศาสนาเท่าเทียมกัน ย่อมทำให้ชาวศาสนาต่างๆ เรียนรู้ที่จะเคารพเสรีภาพและมีขันติธรรมระหว่างกัน ยุติการล่าแม่มดคนคิดต่าง หรือการฆ่าคนคิดต่าง เชื่อต่าง รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนาที่ฆ่ากันนับล้านในยุคกลาง และทำให้ศาสนาต่างๆ เผยแพร่อย่างเสรีได้มากขึ้น นี่จึงเป็นด้านที่เสรีนิยมเป็นคุณต่อชาวศาสนาต่างๆ 

แต่ด้านที่ชาวศาสนาหวาดระแวง หรือมองว่าเสรีนิยมเป็นโทษ ก็คือการที่เสรีนิยมยืนยันเสรีภาพที่ขัดกับหลักความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา เช่น เสรีภาพที่เท่าเทียมของผู้หญิง และคนหลากหลายทางเพศ คนข้ามเพศ สิทธิทำแท้ง เสรีภาพในการพูด เป็นต้น ชาวศาสนามักอ้างว่าเสรีภาพเหล่านี้ของพวกเสรีนิยมไม่มีขอบเขตที่แน่นอน 

ในที่นี้ผมจะยกบางประเด็นมาถกเถียง ประเด็นแรก “เสรีภาพในการพูด” (freedom of speech) ที่วางรากฐานโดยแนวคิดเสรีภาพในความเรียง “ว่าด้วยเสรีภาพ” (On Liberty) ของจอห์น สจ๊วต มิลล์ ซึ่งถือว่าเสรีภาพในการพูดเป็น “เสรีภาพที่ทุกคนต้องมีเท่าเทียมกัน” นั่นคือ ถ้ามีคนเพียงหนึ่งคนคิดต่างจากคนอื่นทั้งหมดในสังคม เขาต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คนทั้งหมดจะใช้อำนาจเผด็จการเสียงข้างมากปิดปากเขาไม่ได้ ในทางกลับกัน หากคนหนึ่งคนนั้นมีอำนาจ เขาก็ต้องไม่ใช้อำนาจนั้นปิดปากคนทั้งหมดที่คิดต่างจากเขา 

แล้ว “ขอบเขต” ของเสรีภาพในการพูดที่ทุกคนต้องมีเท่าเทียมกันที่ว่านั้นอยู่ตรงไหน? มิลล์เสนอหลัก “harm principle” ว่า การใช้เสรีภาพในการพูด (หรือเสรีภาพทางใดๆ ) ต้อง “ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น” ดังนั้น บุคคลอื่น รัฐ หรือสังคมจะมีความชอบธรรมในการแทรกแซงหรือยับยั้งการใช้เสรีภาพนั้นๆ ได้ ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดกับคนอื่นเท่านั้น และอันตรายนั้นๆ จะต้องเป็นอันตรายทางกายภาพที่พิสูจน์ได้อย่างเป็นภาววิสัย 

การกระทำที่อาจจะทำให้คนอื่นขัดเคือง ไม่พอใจ ไม่ถือว่าเป็นการทำอันตรายต่อคนอื่น เช่น การแต่งกายหลุดโลก วิจารณ์ล้อเลียนหรือแสดงออกใดๆ ในแบบที่เชื่อกันว่าหมิ่นศาสนา หากไม่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของบุคคลอื่น รัฐหรือสังคมจะห้ามหรือเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ อาจทำได้ด้วยการวิจารณ์ โต้แย้ง หรือถ้าปรารถนาดีก็แนะนำให้เขาปรับปรุงตัวเท่านั้น แต่ถ้าเขายืนยันที่จะเป็นเช่นนั้น รัฐหรือสังคมจะใช้กำลังบังคับ หรือมีกฎหมายเอาผิดเขาไม่ได้ ตราบที่เขาไม่ทำอันตรายทางกายภาพต่อคนอื่น หรือไม่ได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่นอย่างเป็นภาววิสัย เช่น การทำให้ทรัพย์สินเสียหาย รายได้ทางเศรษฐกิจแย่ลง กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกายหรือชีวิตคนอื่นเป็นต้น 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นวนิยาย “The Satanic Verses” ของรัชดี ยังห่างไกลจาก “การทำอันตรายต่อคนอื่น” มาก จริงที่ว่านวนิยายนี้ทำให้ชาวมุสลิมบางกลุ่มขัดเคืองใจ หรือโกรธ เกลียดรัชดี เพราะมองว่าเขา “หมิ่นศาสนาอิสลาม” แต่นวนิยายนี้และตัวรัชดีเองไม่ได้กระทำการละเมิดสิทธิและเสรีภาพใดๆ ของชาวมุสลิมแม้แต่คนเดียว ชาวมุสลิมยังมีเสรีภาพเต็มที่ในการพูด เขียน หรือแสดงออกในแบบเดียวกับรัชดี เพื่อโต้แย้งว่าสิ่งที่รัชดีเขียนนั้นเป็นเท็จ ผิด หรือไม่ดีอย่างไร และชาวมุสลิมทุกคนในโลกนี้ยังคงมีสิทธิในการถือศาสนา และใช้ชีวิตตามความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของตนเองได้ตามปกติ เพราะนวนิยายและตัวรัชดีเองไม่ได้กีดกันขัดขวางสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวแต่อย่างใดเลย

นัยสำคัญของประเด็นนี้คือ การแยกระหว่าง “พระศาสดา” ซึ่งถือเป็นบุคคลสาธารณะ และ “ตัวความเชื่อทางศาสนา” ออกจาก “ตัวบุคคลผู้ถือศาสนานั้นๆ” การวิพากษ์วิจารณ์ หรือล้อเลียนบุคคลสาธารณะ เช่น ศาสดา นักปรัชญา นักการเมือง ฯลฯ ที่มีอำนาจชี้นำทางความคิดความเชื่อของผู้คน ย่อมเป็นเสรีภาพที่จะทำได้ เช่นเดียวกับการที่ชาวศาสนาต่างๆ มีเสรีภาพในการวิจารณ์ โจมตี ล้อเลียนเสียดสีแนวคิดเสรีนิยม สังคมนิยม หรือแนวคิดทางปรัชญา วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ มันจะผิดหรือไม่มีเสรีภาพจะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการกระทำที่มุ่งเหยียดหยาม หรือดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการเลือกปฏิบัติต่อตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยตรง ซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มที่เปราะบาง เช่น การเหยียดตัวบุคคลที่ถือศาสนาใดๆ หรือไม่ถือศาสนาในลักษณะที่ทำให้เขาคับข้องใจที่อาจเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตตามปกติ จนไม่อยากมาเรียน หรือต้องย้ายโรงเรียน, มหาวิทยาลัย หรือย้ายที่ทำงาน เป็นต้น 

แต่การที่ผู้นำจิตวิญญาณของชาวมุสลิมและรัฐอิสลามบางแห่งประกาศตั้งค่าหัว หรือการขู่ฆ่าโดยชาวมุสลิมบางกลุ่ม ย่อมเป็นการคุกคามเสรีภาพในการใช้ชีวิตปกติของรัชดี จนต้องร้องขอการคุ้มครองจากรัฐเป็นพิเศษ กระนั้นเขาก็ยังตกอยู่ในความเสี่ยงและถูกบุกแทงบนเวทีวิชาการในที่สุด ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดเสรีภาพในร่างกายและชีวิต หรือเป็น “การทำอันตรายต่อคนอื่น” อันเป็นการขัดหลักเสรีภาพอย่างชัดแจ้งที่เห็นได้อย่างเป็นภาววิสัย (ไม่ใช่แค่คิด รู้สึก หรือ “เชื่อ” ว่า ตนถูกละเมิดเหมือนกรณีวาทกรรม “หมิ่นศาสนา”)

ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าเสรีภาพตามแนวคิดเสรีนิยมไม่มีขอบเขตชัดเจน การกระทำในนามศาสนาต่างหากที่เกินเลยขอบเขตของการใช้เสรีภาพ เพราะในนามศาสนาคุณประกาศตั้งค่าหัว ขู่ฆ่า กระทั่งลงมือฆ่าคนอื่นได้ด้วยวิธีนอกกฎหมาย เพียงเพราะเขาใช้เสรีภาพในการพูดที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพใดๆ ของชาวมุสลิมแม้แต่คนเดียว แค่อาจทำให้ชาวมุสลิมบางกลุ่มขุ่นเคืองใจเท่านั้น เช่นเดียวกับที่ชาวมุสลิมอาจโจมตีหรือด่าแนวคิดเสรีนิยมและชาวเสรีนิยม ที่อาจทำให้คนเหล่านั้นขุ่นเคืองใจได้เช่นกัน แต่ไม่ควรมีใครทำร้ายกันได้โดยชอบธรรมเพราะเหตุนี้

อีกตัวอย่างคือ กรณีที่พวกอนุรักษ์นิยมอ้างความเชื่อคริสต์ศาสนาต่อต้านการทำแท้ง และผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาหัวอนุรักษ์นิยมเช่นกันได้ตัดสินยุติสิทธิทำแท้งของผู้หญิงชาวอเมริกัน นี่คือตัวอย่างของการใช้หลักศาสนาปิดกั้นเสรีภาพคนอื่นที่ไม่ได้เชื่อแบบเดียวกับพวกอนุรักษ์นิยมทางศาสนา 

ขณะที่การมีกฎหมายรับรองสิทธิทำแท้ง ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพของชาวคริสต์หรือชาวศาสนาไหนๆ ที่จะใช้ชีวิตตามความเชื่อทางศาสนาของตน (เช่น เสรีภาพที่จะเลือกไม่ทำแท้งและอื่นๆ) แต่การใช้ความเชื่อทางศาสนามายกเลิกหรือห้ามออกกฎหมายรับรองสิทธิทำแท้ง คือการละเมิดสิทธิของคนอื่นๆ ที่จะมีทางเลือกแตกต่างจากกลุ่มคนที่เชื่อศาสนาเช่นนั้น

อีกตัวอย่าง การอ้างคัมภีร์อัลกุรอานคัดค้านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็คือการอ้างหลักศาสนามาปิดกั้นสิทธิของคนศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนา ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่มีสิทธิทางกฎหมายที่พึงมีพึงได้เท่าเทียมกับเพศชาย-หญิง ซึ่งก็คือทำให้คนคิดต่าง เชื่อต่างไม่มีทางเลือกแบบอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากต้องจำยอมต่อหลักความเชื่อทางศาสนาของคนบางกลุ่ม 

(หมายเหตุในที่นี้ว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม ควรให้รัฐรับรองสิทธิเท่าเทียมในการสมรสและสิทธิอื่นๆ ในเรื่อง “ทางโลก” เท่านั้น ไม่ควร “บังคับทางศาสนา” เช่น บังคับให้องค์กรศาสนาต่างๆ ต้อง “จัดพิธีสมรส” แก่คนหลากหลายทางเพศ การจัดพิธีกรรมทางศาสนาเป็นความสมัครใจตามหลักเสรีภาพทางศาสนา จะบังคับไม่ได้ ยกเว้นพิธีกรรมที่เป็นอันตรายต่อคนอื่น พูดอีกอย่างคือ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแก่การสมรสของคนหลากหลายทางเพศ ไม่ควรมีกฎหมายบังคับให้ทำหรือห้ามทำ ควรปล่อยให้มีพัฒนาการไปตามกระบวนการทางสังคมวิทยา ศาสนาอยู่ได้ด้วยสังคม ถ้าสังคมเรียกร้องกดดัน องค์กรศาสนาต่างๆ ย่อมปรับตัวตามข้อเรียกร้องนั้นๆ เอง ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมโดยที่รัฐไม่เข้าไปยุ่ง) 

เราไม่ได้มีปัญหาว่ารัฐศาสนาต่างๆ เขาจะใช้หลักศาสนาตนเองปกครอง แต่ในรัฐที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ประกอบด้วยผู้คนหลายศาสนา และไม่มีศาสนา ต้องไม่ใช้หลักศาสนามาเป็นหลักการปกครอง และบัญญัติกฎหมาย หรือใช้หลักศาสนาห้ามบัญญัติกฎหมายในทางที่ขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานที่พลเมืองทุกคนต้องมีเท่าเทียมกัน วิธีนี้เท่านั้นที่จะสามารถให้หลักประกัน “เสรีภาพ” แก่พลเมืองทุกคนไม่ว่าจะถือศาสนาใดๆ หรือไม่มีศาสนาได้เลือกใช้ชีวิตตามหลักศาสนาของตนเอง หรือหลักความเชื่อแบบอื่นๆ ได้เท่าเทียมกัน และมีความอดกลั้นระหว่างกัน

คำถามต่อชาวศาสนาต่างๆ ก็คือ เมื่อคุณอ้างหลักการที่สอดคล้องกับหลักเสรีภาพแบบเสรีนิยมในทางที่เป็นประโยชน์แก่ศาสนาหรือกลุ่มศาสนาของพวกตน เช่น อ้าง “สิทธิทางวัฒนธรรม” ในหลักสิทธิมนุษยชนที่ถือว่า แต่ละศาสนาและวัฒนธรรมจะเลือกมีหรือแสดงอัตลัษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของตนเอง คุณก็ควรจะอ้างให้ครบถ้วนด้วยว่า ในหลักสิทธิมนุษยชนมี “เสรีภาพทางศาสนา” ที่หมายถึง เสรีภาพในการเลือกถือศาสนา แสดงอัตลักษณ์ทางศาสนา การเผยแพร่คำสอน การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ด้วย และรวมทั้ง “เสรีภาพที่จะเปลี่ยนศาสนา” และไม่นับถือศาสนาด้วย 

อีกอย่าง เมื่อคุณอ้างสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อประโยชน์ทางศาสนาของตนเอง คุณก็ต้อง “รับรู้” ด้วยว่า หลักสิทธิมนุษยชนรับรองเสรีภาพในการพูด การแสดงออกภายในขอบเขตที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นด้วย ซึ่งเสรีภาพในการพูด การแสดงออกรวมเอาเสรีภาพในการวิจารณ์ ล้อเลียน เสียดสีศาสนาและการเมืองซึ่งมีอำนาจชี้นำและครอบงำ หรือลดทอนและละเมิดเสรีภาพด้านต่างๆ ของปัจเจกบุคคลด้วย

ดังนั้น เมื่อชาวศาสนาอ้างสิทธิและเสรีภาพในด้านที่เกิดประโยชน์กับศาสนา หรือกลุ่มศาสนาของตน ก็ควรเรียนรู้ที่จะรับรู้ เคารพ และอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพของคนที่ไม่เชื่อแบบพวกคุณ หรือมีความคิด ความเชื่อ และมีทางเลือกที่แตกต่างจากพวกคุณด้วย 

พูดอีกอย่างคือ เราควรยึดหลักการเคารพเสรีภาพและมีความอดกลั้นระหว่างกัน ซึ่งเป็นหลักการที่ “ยุติธรรม” ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความเชื่อ เพราะเป็นหลักการที่เปิดกว้างให้ปัจเจกบุคคล และกลุ่มบุคคลที่มีความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมต่างกันได้เลือกวิถีชีวิตตามความเชื่อของตนเองอย่างเสรี 

ต้องไม่มีใครหรือกลุ่มศาสนาใดมีอภิสิทธิ์ในการใช้หลักศาสนาของพวกตนมาออกกฎหมาย หรือห้ามบัญญัติกฎหมายในทางละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนคิดต่าง เชื่อต่าง และไม่มีการใช้ความรุนแรงในนามศาสนาต่อคนคิดต่าง เชื่อต่างที่เพียงแค่เขาใช้เสรีภาพในการพูด การแสดงออกในแบบที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ โดยไม่ได้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพใดๆ ของคนอื่น

หากชาวศาสนาต่างๆ คิดว่าศาสนาตนเองถูกท้าทายจากเสรีนิยม ก็ย่อมจะถูกท้าทายด้วยหลักการดังกล่าวนี้ ซึ่งเป็นหลักการที่ตั้งคำถามว่า คุณหรือกลุ่มศาสนาของคุณ และหลักคำสอนของศาสนาคุณพร้อมจะเปิดรับ “ความยุติธรรม” ในการอยู่ร่วมกันกับคนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม และคนไม่มีศาสนา บนการเคารพเสรีภาพและมีความอดกลั้นระหว่างกันหรือไม่
 

 

ที่มาภาพ: https://theconversation.com/if-roe-v-wade-is-overturned-theres-no-guarantee-that-people-can-get-abortions-in-liberal-states-either-182395

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net