Skip to main content
sharethis

ในขณะที่ในไทยมีการโต้เถียงกันเรื่องเกี่ยวกับประเด็นยกเลิกหนี้ กยศ. ในสหรัฐฯ ก็กำลังมีประเด็นที่คนกำลังลุ้นว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำอย่างไรหลังจากที่มีการผ่อนผันเลื่อนการชำระหนี้การศึกษาที่มีเส้นตายอยู่ที่ปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งกำลังคืบคลานเข้ามา บางส่วนหวังว่าไบเดนจะประกาศยกเลิกหนี้การศึกษาทั้งหมด จากเดิมที่เขาเคยทำตามสัญญาโดยยกเลิกหนี้จำนวนหนึ่งไปแล้ว หรือเขาจะแค่ประกาศเลื่อนการชำระหนี้เพิ่มไปอีก และผลลัพธ์ทางการเมืองจะเป็นเช่นใดสำหรับประเทศที่มีหนี้สินด้านการศึกษารวมกันสูงที่สุดในโลกหรือราว 1.75 ล้านล้านดอลลาร์

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ภาพถ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia)

22 ส.ค. 2565 โจ ไบเดน เหลือเวลาอีกไม่กี่วันเท่านั้นก่อนที่จะถึงเส้นตายที่เขากำหนดไว้เองในวันที่ 31 ส.ค. 2565 ซึ่งเขาจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้คำสั่งฝ่ายบริหารหรือไม่ เพื่อยกเลิกหนี้การศึกษารวมแล้วหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับประชาชนชาวอเมริกันหลายล้านคน

กรณีการยกเลิกหนี้การศึกษาให้ประชาชนอเมริกันกลายเป็นประเด็นที่ โจ ไบเดน นำเสนอมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว และเขาก็เคยสั่งให้ยกเลิกหนี้สินการศึกษาไปก่อนหน้านี้แล้วรวมมูลค่า 32,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท) แต่ก็ยังคงเหลือการตัดสินใจว่าจะมีการยกหนี้ที่เหลือให้กับนักเรียนนักศึกษาในสหรัฐฯ ที่กู้ยืมเพื่อการศึกษารวมแล้ว 40 ล้านคนหรือไม่ ซึ่งไบเดนได้กำหนดให้เส้นตายของการตัดสินใจนี้อยู่ที่วันที่ 31 ส.ค. วันเดียวกับที่จะมีการสิ้นสุดการขยายเวลาชำระหนี้ของคนที่มีกู้ยืมทางการศึกษากับภาครัฐของสหรัฐฯ

แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อฟอร์บสว่า ในช่วงเวลาที่ใกล้เข้ามาอีกประมาณ 10 วันก่อนจะถึงเส้นตาย แต่ไบเดนก็ยังคงไม่มีการแถลงใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ว่าจะในเรื่องการยกหนี้หรือเรื่องที่ว่าจะมีการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีกหรือไม่

มีการวิเคราะห์จาก Politico ว่าการจัดวางเวลาในการแถลงเรื่องนี้มีความสำคัญ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการแถลงการตัดสินใจในเรื่องนี้ช่วงใกล้กับวันแรงงานของสหรัฐฯ คือวันที่ 5 ก.ย. ซึ่งมักจะเป็นช่วงเดียวกับที่มีการหาเสียงในฤดูใบไม้ร่วง ตลอดหลายเดือนก่อนหน้านี้จนถึงตอนนี้พรรคเดโมแครตคอยผลักดันให้ไบเดนประกาศการยกหนี้การศึกษามาโดยตลอด ซึ่งทางพรรคมองว่าเรื่องนี้น่าจะช่วยให้พวกเขาได้รับคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่มากขึ้นในการเลือกตั้งกลางเทอม

ถึงแม้จะมีการคาดหวังว่าไบเดนจะตัดสินใจขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป แต่ทางทำเนียบขาวก็ส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ว่าไบเดนจะทำการยกหนี้ทั้งหมด Politico ระบุว่าไบเดนดูจะมีความล่าช้าในเรื่องการตัดสินใจยกหนี้ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินมหาศาลและบ้างก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ชวนให้เกิดข้อโต้แย้ง โฆษกทำเนียบขาวเคยแถลงในประเด็นนี้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่า ไบเดนจะตัดสินใจในเรื่องนี้ภายในสิ้นเดือน ส.ค. คำแถลงระบุว่าไบเดน "เข้าใจดีถึงภาระหนี้สินทางการศึกษาที่ครอบครัวของประชาชนต้องเผชิญ" และพวกเขาจะมีการประเมินทางเลือกความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกหนี้เหล่านี้ แต่ในตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่องนี้เกิดขึ้น

เรื่องที่รัฐบาลไบเดนกำลังเผชิญและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าพวกเขาจะยกหนี้การศึกษาให้แต่ละคนในวงเงินเท่าใด แต่ยังต้องพิจารณาอีกว่าพวกเขาจะยกเลิกหนี้ให้กับผู้กู้ยืมประเภทใดบ้างด้วย เช่น ผู้กู้ยืมที่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 125,000 ดอลลาร์ (ราว 4.47 ล้านบาท) แต่ฝ่ายก้าวหน้าในสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้มีการยกหนี้ให้กับทุกคนโดยถ้วนหน้า

Politico ระบุว่าไม่ว่าไบเดนจะเลือกทางใดก็ตามมันจะกลายเป็นการสร้างข้อถกเถียงขึ้นมาอย่างแน่นอน ฝ่ายพรรครีพับลิกันจะโต้แย้งโดยอ้างใช้แนวความคิดแบบประชานิยม กล่าวหาว่าการยกหนี้ให้ผู้กู้ยืมเช่นนี้จะเป็นการใช้งบประมาณรัฐบาลมากเกินไป เช่น ผู้นำ ส.ว.เสียงข้างน้อยพรรครีพับลิกัน มิตช์ แมคคอนเนลล์ อ้างว่า "เดโมแครตต้องการเอาครอบครัวชนชั้นแรงงานมาแบกรับหนี้สินของนักศึกษาชนชั้นนำ" เจ ดี แวนซ์ ผู้แทนลงเลือกตั้ง ส.ว. จากโอไฮโอก็อ้างว่าการยกหนี้การศึกษาจะกลายเป็นการ "ให้ประโยชน์ต่อคนรวย" แต่ก็ต้องระวังว่าเรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นโวหารทางการเมืองแบบประชานิยมโดยไม่ได้มีหลักฐานอ้างอิงอะไรชัดเจน

ฝ่ายเดโมแครตเองก็มีหลายคนที่อาจจะไม่พอใจในเรื่องนี้ เช่น ฝ่ายก้าวหน้าที่มองว่าไบเดนไปไม่สุดทางในเรื่องการยกหนี้ โดยเรียกร้องไบเดนยกเลิกหนี้ให้กับผู้กู้ยืมทุกคนในวงเงินสูงสุดรายละ 50,000 ดอลลาร์ (ราว 1.79 ล้านบาท) โดยไม่จำกัดว่าผู้กู้ยืมมีรายได้เท่าไหร่ ขณะที่ฝ่ายสายกลางของพรรคเดโมแครตก็กลับมองว่าการยกหนี้เช่นนี้ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เช่น ส.ว. รัฐโคโลราโด ไมเคิล เบนเนต ที่กล่าวว่าการยกหนี้ "ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่สูงอย่างไร้เหตุผล แล้วก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษาของสหรัฐฯ ที่ผุพัง" เบนเนตให้การสนับสนุนการยกหนี้การศึกษาก็ต่อเมื่อมันมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบการกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่มีปัญหาอยู่ด้วย

มีการประเมินว่าถ้าหากไบเดนดำเนินตามแผนการยกหนี้ กยศ.ให้รายละ 10,000 ดอลลาร์โดยพิจารณาจากรายได้ ก็จะเป็นการยกหนี้ให้รวมแล้ว 230,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 8 ล้านล้านบาท) ซึ่งเบนเนตโต้แย้งว่าจำนวนวงเงินขนาดนี้สามารถนำไปใช้กับนโยบายอื่นๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่าได้

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ เองแล้ว ส่วนใหญ่นับเป็นร้อยละ 55 ที่เห็นด้วยกับการยกหนี้การศึกษารายละ 10,000 ดอลลาร์ แต่การสำรวจครั้งหลังๆ ประชาชนเริ่มเห็นต่างออกไปเมื่อพบว่าค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้น เช่นจากการสำรวจของ เอ็นพีอาร์/อิปซอส เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่าชาวอเมริกันร้อยละ 82 ที่ต้องการให้รัฐบาลหันไปทำให้การเข้าเรียนอุดมศึกษาถูกลงทำให้คนเข้าถึงได้มากกว่า มีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่มองว่าการยกหนี้สำคัญกว่า

นอกจากนี้ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองต่างกันก็มองเรื่องนี้ต่างกันชัดเจนด้วย จากผลโพลของอิโคโนมิสต์/YouGov ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ามีผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันร้อยละ 28 เท่านั้นที่สนับสนุนการยกหนี้ ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตมีอยู่ร้อยละ 70 ที่สนับสนุนการยกหนี้

โจนาธาน แฟนสมิทธ์ ผู้อำนวยการด้านรัฐสัมพันธ์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร "สภาด้านการศึกษาของอเมริกัน" (ACE) ที่เน้นเรื่องการให้ความช่วยเหลือทุนด้านอุดมศึกษาในสหรัฐฯ กล่าวว่าไบเดนจะสามารถหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าหมายวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักได้เขาจะต้องไปให้สุดทางไม่ว่าจะในทางใดทางหนึ่ง เช่นถ้าเขาผลักดันให้ยกหนี้ทั้งหมดโดยไม่จำกัดว่าจะมีรายได้เท่าใด เขาก็จะได้ใจฝ่ายเดโมแครตจำนวนมาก หรือถ้าหากจะยกเลิกการผ่อนปรนเรื่องหนี้การศึกษาไปเลยแล้วหันมาทำความเข้าใจว่าการยกหนี้การศึกษาเป็นแค่ "การเอาพลาสเตอร์ติดแผลไปติดแผลกระสุนปืน" ก็จะทำให้เห็นปัญหาต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตหนี้การศึกษาตั้งแต่แรก

ในทางตรงกันข้ามถ้าหากไบเดนใช้นโยบายแบบครึ่งๆ กลางๆ แฟนสมิทธ์ก็มองว่าคนส่วนใหญ่จะไม่พึงพอใจ มันอาจจะดีในแง่การประนีประนอม แต่มันจะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกไม่ยินดีด้วยอย่างละนิดอย่างละหน่อย มันจะส่งผลในแง่ลบทางการเมืองต่อบเดน

ในช่วงเวลาเดียวกับที่สื่อหลายแห่งให้ความสนใจเรื่องการยกหนี้ กยศ.อเมริกัน สื่ออัลจาซีราก็นำเสนอความยากลำบากของคนที่กู้ยืมเพื่อการศึกษา เช่นกรณีของ ดารา ซัคเคอร์ ที่บอกว่าเธอยังคงต้องจ่ายหนี้การศึกษาของตัวเองมาจนถึงตอนนี้หลังจากที่เธอจบการศึกษามาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว แต่รายจ่ายในชีวิตของเธอก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นจนทำให้เธอรู้สึกอับจนหนทาง นอกจากนี้เธอยังต้องดูแลพ่อแม่ที่พิการด้วย

ธนาคารกลางแห่งเซนต์หลุยส์ระบุว่าชาวอเมริกันมีหนี้การศึกษารวมกันแล้วเกือบราว 1.75 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดิม 481,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2549 ซึ่งนับเป็นระดับหนี้สินทางการศึกษาที่สูงที่สุดในโลก หนึ่งในปัญหานี้มาจากการที่ค่าเทอมการศึกษาของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 31.4 เมื่อเทียบระหว่างปี 2553-2563 ในทางตรงกันข้ามหลายประเทศมีค่าเทอมอยู่ในระดับคงที่หรือไม่เช่นนั้นก็มีสวัสดิการเรียนฟรีโดยไม่มีค่าเทอม เช่น เยอรมนี, ไอซ์แลนด์ และสวีเดน เคยมีการเก็บสถิติโดยศูนย์เพื่อการศึกษาแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของสหรัฐฯ รวม 4 ปี จะต้องใช้เงินโดยเฉลี่ยรวมจากค่าเทอม, ค่าธรรมเนียมอื่นๆ, ค่าเช่าที่พัก, ตำรา, เครื่องเขียน และอื่น รวมแล้ว 35,551 ดอลลาร์ (ราว 1.27 ล้านบาท)

ซัคเคอร์บอกว่าเธอสนับสนุนการที่ไบเดนจะยกหนี้ทางการศึกษาให้ แต่มันก็จะทำให้เธอปลดหนี้ได้แค่ในจำนวนหนึ่งเท่านั้น เธอเสนอว่าไบเดนควรจะยกเลิกดอกเบี้ยหนี้ กยศ.ทั้งหมด รวมถึงยกเลิกดอกเบี้ยนี้ในบัญชีที่ยังคงได้รับเงินอยู่ด้วย รวมถึงเอาเงินของคนที่จ่ายคืนทั้งหมดนี้รวมถึงของเธอด้วยไปหักลบยอดหนี้ที่มีอยู่เดิม

 

เรียบเรียงจาก

Biden Has Canceled $32 Billion Of Student Loans, But Student Loan Forgiveness Still Missing, Forbes, 20-08-2022

Biden’s looming student loan crunch, Politico, 19-08-2022

‘I feel stuck’: Inside the growing US student debt crisis, Aljazeera, 19-08-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net