Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ อภิปรายในสภา ย้ำว่าไทยไม่สามารถคว่ำบาตรกองทัพพม่า เพราะมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหลายแสนล้าน และพม่าเป็นแหล่งพลังงาน ย้ำไม่เข้าข้างฝ่ายใดในวิกฤตพม่า พร้อมชี้แจงกรณีใช้งบฯ ซื้อเรือดำน้ำไร้คนขับ เครื่องบินรบ F-35A และ UAV ไร้อาวุธ

 

22 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเรื่องใช้งบฯ ซื้ออาวุธ F-35A ของสหรัฐฯ อากาศยานไร้คนขับ UAV จากบริษัท Elbit Systems จากอิสราเอล และเรือดำน้ำไม่มีเครื่องยนต์ของจีนที่ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กระทรวงกลาโหม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ขวา) (ที่มา Youtube: TP Channel)

ประยุทธ์ ระบุว่า กรณีซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A เป็นเพราะต้องซื้อมาทดแทนเครื่องบินรบรุ่น F-16 และ F-5 ซึ่งจะปลดประจำการปี 2575 ทางกองทัพวางแผนซื้ออกมาเป็น 3 ระยะ ครั้งละ 4 เครื่อง รวมเป็น 12 เครื่อง และต้องใช้เวลาจัดหาเป็นเวลา 10 ปี เพื่อให้ครบตามความต้องการของยุทธการ หากเป็นไปตามแผนจะได้ครบ พร้อมกับเครื่องบิน F-16 และ F-5 ที่ปลดประจำการพอดี ทั้งนี้ ประยุทธ์ เน้นย้ำว่าไม่จะรบ หรือไม่รบ ประเทศไทยต้องคงศักยภาพป้องกันประเทศตรงนี้ไว้ 

นายกฯ ตอบกรณีที่ยุทธพงศ์ อภิปรายว่าทำไมซื้อเครื่องบินไม่มีอาวุธว่า เนื่องจากเครื่องบินขับไล่รุ่น F-35A เป็นเครื่องบินรุ่นเดียวกับ F-16 และ F-5 ทำให้สามารถใช้ของเดิมมาประกอบภายหลังได้ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน ของเดิมอันไหนใช้ได้ ก็นำมาใช้ก่อน รวมถึงได้มีการจัดหาเครื่องฝึกบินจำลองมาด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้งบประมาณในการฝึกบินได้ 

นายกฯ ตอบกรณีที่ยุทธพงศ์ เป็นห่วงว่า เครื่องบิน F-35A เวลาบิน ต้องใช้ค่าใช้จ่ายค่าน้ำมัน และค่าซ่อมบำรุงรายชั่วโมงต้องใช้เงินสูง 1.3 ล้านบาทนั้น ในการใช้จริง เครื่องบินขับไล่จะไม่ได้บินเป็นระยะนานเป็นขั่วโมงอยู่แล้ว บินขึ้นสักครู่เดียวก็ลง และกองทัพคงไม่ได้เอาเครื่องบินขับไล่ไปลาดตระเวนเป็นชั่วโมง เน้นใช้เครื่องบิน F-35A เวลาที่ต้องการขับไล่ และแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ เพื่อไม่ให้ใครกล้าท้าทาย ดังนั้น ไม่ได้ใช้งบฯ มากอย่างที่กังวล และมีการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ มีการผลิตเครื่องบิน F-35A มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และคาดการณ์ว่าจะทำให้งบประมาณในการซ่อมบำรุงลดลงด้วย 

จากข้อสงสัยในเรื่องของการขอความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ของสหรัฐฯ นั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า การพิจารณาของสภาคองเกรสในการขายยุทโธปกรณ์ให้แก่ประเทศพันธมิตรจะต้องมีการพิจารณาถึงความพร้อมของประเทศนั้นๆ เช่น การรักษาความลับของเทคโนโลยีขั้นสูง โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับด้านยุทโธปกรณ์ และสิ่งสำคัญคือความชัดเจนด้านงบประมาณ ซึ่งกองทัพอากาศส่งหนังสือขอรับทราบราคาและระยะเวลาในการจัดหาไปยังสหรัฐฯ ผ่านคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เมื่อ ธ.ค. 2564

และได้มีการดำเนินตามขั้นตอนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะผ่านการพิจารณาในต้นปี 2566 โดยได้ส่งหนังสือแจ้งความต้องการให้ทางสหรัฐอเมริกาสำหรับการพิจารณาใน ก.พ. ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนการจัดหาด้วยวิธี Foreign Military Sales (FMS)

เรื่องของอากาศไร้คนขับประจำชายฝั่งของกองทัพเรือ 1 ระบบ จำนวน 3 ลำ ติดตั้งฐานทัพเรือภาคต่างๆ เป็นวงเงิน 4,070 ล้านบาท ใช้เวลา 4 ปี ระหว่าง 2565-2568 ซึ่งประยุทธ์ ระบุว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการทุจริต เนื่องจากมีหลายองค์กรเข้าร่วมสังเกตการณ์ และร่วมให้คำแนะนำตั้งแต่ต้นจนจบโครงการด้วย

โดยโครงการนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมประจำปีงบประมาณปี 2565 โดยคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คปท.) ได้จัดคณะกรรมการจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งมีตัวแทนจากภาคเอกชนต่างๆ ให้เข้าร่วมสังเกตการดำเนินการและให้คำปรึกษาแนะนำตั้งแต่เริ่มจนจบโครงการ 

ในส่วนของ TOR ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องซื้อประเทศใดประเทศหนึ่ง เราตรวจจากคุณสมบัติที่กำหนดไป สามารถรองรับการติดตั้งอาวุธ และจรวดในการปฏิบัติภารกิจได้ วันนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตรงนี้ แต่เนื่องจากงบประมาณไม่พอ เลยเอาเครื่องบินมาก่อน ซึ่งอย่างน้อยช่วยในการลาดตระเวนเรือดำน้ำ 

ประยุทธ์ กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องสถิติการตกของอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ซึ่งเป็นของ Starliner พัฒนามาจาก Hermes 900 ที่มีสถิติการตก 2 ครั้ง คือ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และที่ประเทศฟิลิปปินส์ 

ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นการตกเพราะเป็นการบินทดสอบด้วยความเร็วสูง ไม่ได้เป็นความบกพร่องด้านเครื่องยนต์ ขณะที่ที่ฟิลิปปินส์ แม้จะเป็นรุ่นเดียวกัน แต่ก็เป็นการตกระหว่างทดสอบเครื่องบินเท่านั้น 

สิ่งสำคัญต้องมีการฝึกฝนการบินหลายเดือนก่อนการใช้งานเครื่องบินใดๆ ก็ตาม เพื่อความปลอดภัย 

ส่วนเรื่องราคาของอาวุธนั้น ประยุทธ์ ระบุว่า เรื่องราคานั้นเรามีการจัดหาอุปกรณ์ที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ จึงไม่สามารถจะเปรียบเทียบกันราคากันได้มากนัก 

กรณีสุดท้ายเรื่องเรือดำน้ำ ไม่มีเครื่องยนต์ ประยุทธ์ ระบุว่า ต้องเป็นไปตาม TOR ซึ่งกำหนดว่าต้องมีเครื่องยนต์ และตามสัญญาการเจรจากันมีการผูกสัญญาต้องใช้เครื่องยนต์จากเยอรมัน MTU 396 ถ้าไม่มีเครื่องยนต์คงไม่ซื้อมา และตอนทำสัญญาขณะนั้นยังไม่มีปัญหากันระหว่าง 2 ประเทศ คือ จีน และเยอรมนี ถ้าเมื่อจีนไม่สามารถทำได้ตามข้อตกลง ไทยก็ไม่รับตาม TOR และทางกองทัพเรือยังยืนยันความต้องการเรื่องเครื่องยนต์จากประเทศเยอรมนี 

สำหรับในส่วนเรื่องของโรงซ่อมเรือ โรงจอดเรือเมื่อเดินหน้าไปแล้วก็ต้องดำเนินการต่อ ส่วนเรือดำน้ำจะมาเมื่อไร ก็ต้องมีสถานที่จอดรองรับ ในเมื่อเรามีความสามารถหรือดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว จะมาหยุดดำเนินการนั้นไม่ใช่เหตุผล 

โดยเรือดำน้ำจำเป็นต้องมีแต่ขึ้นอยู่กับจะให้จัดซื้อได้เมื่อไร และอนุมัติเมื่อไร รวมถึงจะติดต่อเขาและจะจัดหาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามอะไรที่เราดำเนินการได้ก็ดำเนินการไปก่อน

ย้ำไทยวางตัวเป็นกลาง วิกฤตการเมืองพม่า

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่า และกองกำลังชาติพันธุ์นั้น ไทยยังเน้นเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยจะให้ผู้ลี้ภัยสงครามเข้ามาพื้นที่พักพิงชั่วคราวในไทย จนสงครามสงบ และถึงให้กลับประเทศต้นทาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“เรื่องภายในประเทศของเขา ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาล และชนกลุ่มน้อย มีปัญหากันอยู่ และชนกลุ่มน้อยนี้ก็อยู่ตามแนวชายแดนของเรา เราก็ดูได้ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ใครป่วยใครเจ็บรักษา หาพื้นที่ปลอดภัยให้เขาอยู่ ถึงเวลาการสู้รบจบแล้ว เขาก็กลับบ้านของเขา เราไม่อยากให้เขาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานไป เพราะเราก็มีผู้อพยพเข้าอยู่มากมายหลายปีที่ผ่านมา หลายแสน…ยังกลับไปไหนไม่ได้ เราก็ดูแลอยู่ในขณะนี้” ประยุทธ์ กล่าว 

ประยุทธ์ ระบุต่อว่า มีความพยายามที่จะลดระดับความขัดแย้งในเมียนมา ทั้งอาเซียน ซึ่งมีไทยอยู่ในนั้น ที่พยายามเข้าไปเจรจาเพื่อให้ความขัดแย้งคลี่คลายลง 

นอกจากนี้ มีทางสหาภาพยุโรป และประเทศตะวันตก ที่ทำการคว่ำบาตร (sanction) ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถทำได้ เพราะจะทำให้เกิดปัญหามาก ไทยและเมียนมามีความร่วมมือด้านการค้าขายหลายแสนล้านบาท และพม่าเป็นแหล่งพลังงานด้วย 

ประยุทธ์ ย้ำว่า การแก้ปัญหาต้องให้ประเทศจีน และรัสเซีย เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่ไทยไม่สามารถไปแทรกแซงอะไรพม่าได้ เพราะเป็นการบริหารราชการภายในประเทศของเขา สุดท้าย ประยุทธ์ ย้ำว่า ไทยจะไม่เข้าข้างฝ่ายใดในวิกฤตการเมืองเมียนมา และต้องใช้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเจรจา เพราะถ้าผลีผลามแล้ว ไทยจะเกิดปัญหาหนัก เพราะไทยเป็นประเทศใกล้เคียงเมียนมา 

“เพราะฉะนั้นจะเข้าข้างใคร มันไม่ควร มันก็ต้องพยายามหาทางแก้ปัญหาอย่างไรในทางที่มันสงบ และเป็นสากลดีกว่า การพูดคุย การเจรจา การหารือร่วมกัน ถ้าเราผลีผลาม มันก็พลาดไป มันก็คนอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็อยู่ไกลจากเราทั้งสิ้น ประเทศต่างๆ ไกลจากเมียนมา และไทยทั้งสิ้น การต่อสู้ อาวุธสงครามต่างๆ เข้ามาแน่นอน เพราะมันอยู่ใกล้กันนิดเดียว กำลังทั้ง 3 ส่วนบางทีบางจุดไม่ถึงร้อยเมตร แต่ผมไม่เคยสั่งการให้เข้าไปต่อสู้กับรัฐบาลเขา ไม่เคยสั่งการอย่างนั้น” ประยุทธ์ ทิ้งท้ายประเด็นดังกล่าว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net