Skip to main content
sharethis

สื่อภาษาอังกฤษในไทย “ไทยเอ็นไควเรอร์” ถูกองค์กรพิทักษ์สัตว์อย่าง PETA ขู่ฟ้องต่อศาลไทยในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากลงบทความชี้ให้เห็นว่าพีต้าผิดพลาดในการเก็บข้อมูลเรื่องกะทิ “ชาวเกาะ” ใช้ลิงเก็บมะพร้าวจนทำให้ห้างสรรพสินค้าในสหรัฐฯ และอังกฤษถอดสินค้าออกจากเชลฟ์

15 ก.ค.2565 ไทยเอ็นไควเรอร์ สื่อภาษาอังกฤษในไทยรายงานว่าถูกองค์กรไม่แสวงกำไรด้านพิทักษ์สัตว์อย่าง PETA ให้บริษัทที่ปรึกษากฎหมายในไทยชื่อ “ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” ในการดำเนินการ แจ้งเตือนให้ไทยเอ็นไควเรอร์ถอดบทความชี้ถึงปัญหาของ PETA ในการเก็บข้อมูลเรื่องบริษัทขายน้ำกะทิ “ชาวเกาะ” ใช้ลิงเก็บมะพร้าวจนทำให้ห้างร้านหลายแห่งในสหรัฐฯและอังกฤษถอดสินค้าออกจากชั้นวางจำหน่ายสินค้า และหากไทยเอ็นไควเรอร์ไม่ดำเนินการถอดบทความภายใน 14 วันจะดำเนินการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าเสียหาย

ในรายงานของไทยเอ็นไควเรอร์ระบุว่าที่ผ่านมาทางสำนักข่าวทำงานโดยไม่ได้ปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้อธิบายก่อนที่บทความจะเผยแพร่ และทางสำนักข่าวยังเคยติดต่อหา PETA เพื่อให้ได้ชี้แจงแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบกลับ นอกจากนั้นจดหมายแจ้งเตือนที่ส่งมาถึงสำนักข่าวก็ไม่ได้ระบุข้อโต้แย้งของ PETA มาว่าจุดใดของเนื้อหาในบทความที่เป็นปัญหา และก่อนที่สำนักข่าวจะรายงานเรื่องที่ถูกฟ้องนี้ก็ได้ติดต่อคำชี้แจงจากบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายนี้เพื่อขอคำชี้แจงแล้วแต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับเช่นกัน

ไทยเอ็นไควเรอร์ยังระบุอีกว่าที่ PETA ข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับสื่อครั้งนี้เป็นตัวอย่างของการฟ้องคดีปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic lawsuit against public participation) เพื่อปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติในประเทศไทยเมื่อองค์กรขนาดใหญ่ทำผิดกฎหมายแล้วต้องการจะปิดปากผู้เป่านกหวีด

“พวกเราไม่คาดคิดว่าการกระทำนี้จะมาจาก NGO” ไทยเอ็นไควเรอร์ระบุถึงการกระทำของ PETA ที่เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติเลือกที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมายในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ที่มีโทษถึงจำคุกมาปิดปากสื่อ

นอกจากนั้นไทยเอ็นไควเรอร์ยังระบุอีกว่าจะยืนยันการรายงานข่าวนี้ต่อไปและหาก PETA ต้องการที่จะชี้แจงสำนักข่าวก็พร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้ทางองค์กรได้อธิบาย อย่างไรก็ตามถ้า PETA เลือกจะใช้กระบวนการทางกฎหมายทางสำนักข่าวเองก็ยืนยันที่จะปกป้องชื่อเสียงของตน

ทั้งนี้ในส่วนของข้อกล่าวหาที่ระบุไว้ในจดหมายแจ้งเตือนดังกล่าวเอาไว้ว่ามีทั้งหมด 6 ข้อความที่ระบุว่า PETA มีความผิดพลาดในการสืบสวนหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์ว่าบริษัทชาวเกาะมีการใช้ลิงในการเก็บมะพร้าวจนส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรต้องเสียงานและมีปัญหาทางการเงิน

อย่างไรก็ตามในบทความที่ไทยเอ็นไควเรอร์เผยแพร่เมื่อ 13 มิ.ย.2565 มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับความผิดพลาดในการสืบสวนหาข้อมูลของ PETA ว่าการเก็บข้อมูลทำโดยอาศัยเพียงแค่ใช้ “คนขาว” สองคนเข้ามาจ้างผู้ประสานงาน(fixer) ในไทยแล้วไปถามหาว่ามีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวที่ไหน ซึ่งการเก็บข้อมูลแบบนี้มีปัญหาเนื่องจากจะถูกพาไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีโชว์ลิงเก็บมะพร้าวให้แก่นักท่องเที่ยวแทน

นอกจากนั้นในบทความของไทยเอ็นไควเรอร์ยังระบุอีกว่า ทางบริษัทชาวเกาะยังได้ให้บริษัทภายนอกเข้ามาสุ่มตรวจสอบกระบวนการผลิตกะทิของชาวเกาะด้วยซึ่งไม่พบการใช้ลิงอย่างที่ PETA กล่าวหาและเมื่อทางบริษัทที่เข้ามาตรวจสอบติดต่อกับทาง PETA เพื่อขอทราบข้อมูลและกระบวนการเก็บข้อมูลของ PETA ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net