Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน เสนอ 'สหประชาชาติ' ยุติโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน

10 ก.ค. 2565 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็งแจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 เจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติได้เดินทางมาลงพื้นที่มาศูนย์ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง บ้านเชียงเพ็ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เพื่อมารับฟังสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 6 กรณี 7 จังหวัดในภาคอีสานประมาณ 25 คน โดยมีตัวแทนแต่ละจังหวัดมานำเสนอการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมเสนอให้สหประชาชาติทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ยกเลิกแผนผลักดันโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน

นายสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 43 ปี ผู้ประสานงานคณะกรรมการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน กล่าวว่า วันนี้ที่ตัวแทนสหประชาชาติมาลงพื้นที่ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ว่าทางตัวแทนสหประชาชาติสนใจที่จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยจึงได้เชิญตัวแทนของคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสานทั้ง 7 จังหวัดมานำเสนอข้อมูลให้นายเดวิด เมอร์ฟี่ ซึ่งเป็นตัวแทนสหประชาชาติลงมาพื้นที่เพื่อรับฟังสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย 1.จังหวัดยโสธร 2.จังหวัดอำนาจเจริญ 3.จังหวัดขอนแก่น 4.จังหวัดชัยภูมิ 5.จังหวัดศรีสะเกษ 6.จังหวัดบุรีรัมย์ 7.จังหวัดอุดร 

หลังจากใช้เวลานำเสนอประมาณสองชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปดังนี้ 1.ชาวบ้านในพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านการกำหนดนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2558 หลังมีมติ ครม.เกิดประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 เป็นการปลดล็อคให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ และขอขยายหรือย้ายโรงงานน้ำตาลไปยังพื้นที่อื่นโดยมีระยะห่างระหว่างโรงงานเดิมกับโรงงานใหม่ไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร 2.ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งครั้งที่ 1และ 2 จากหน่วยงานรัฐและทุน ได้กีดกันคนเห็นต่าง 3.ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทางการตัดสินใจ โดยนายทุนได้ใช้เวลาในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นช่วงเช้าจัดเรื่องโรงงานน้ำตาล ช่วงบ่ายจัดเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้ชาวบ้านถูกมัดมือชกด้านการตัดสินใจ  3.ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิจากการปิดกั้นข้อมูลโดยหน่วยงานรัฐที่ไม่นำเสนอข้อมูลให้ชุมชนได้รับทราบก่อนก่อนนำไปตัดสินใจ 4.ชาวบ้านในพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิจากคำสั่งของรัฐ และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน เป็นต้น และทางคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสานยังเสนอให้ตัวแทนสหประชาชาติทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ยกเลิกแผนผลักดันโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน

ด้านนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ อายุ 27 ปี คณะกรรมการคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน กล่าวว่า ขอเสนอให้ทางองค์การสหประชาชาติ ลงพื้นที่ในทุกกรณีปัญหาของ คปน. ทั้ง 7 จังหวัด เพราะรายละเอียดการละเมิดสิทธิของแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกันออกไป  และให้ได้เห็นสภาพพื้นที่แต่ละพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมกับการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลอย่างไร

นางมะลิจิตร เอกตาแสง คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน ได้อ่านแถลงการณ์ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ แถลงการณ์ ยกเลิกมติ ครม. หยุดรัฐและทุนละเมิดสิทธิชุมชน “หยุด ! นโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน การผลักดันแผนของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน 29 โรงงาน ที่แฝงมาภายใต้นโยบายพลังประชารัฐ จึงทำให้มีมติ ครม.  เกิดประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 เป็นการปลดล็อคให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ และขอขยายหรือย้ายโรงงานน้ำตาลไปยังพื้นที่อื่นโดยมีระยะห่างระหว่างโรงงานเดิมกับโรงงานใหม่ไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร ภายหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมา

ปัจจุบันสถานการณ์ในหลายพื้นที่ของภาคอีสานที่ได้มีแผนและดำเนินการไปแล้วกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ทางคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 6 กรณี 7 จังหวัดในภาคอีสาน มองว่า 1.นโยบายที่เกิดขึ้นชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย 2.การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งครั้งที่ 1 และ 2 ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเห็นต่างถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3.พื้นที่ตั้งไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้ชุมชน วัด โรงเรียน  3.เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชุมชน 4.ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชน ต่อผู้คัดค้านและผู้สนับสนุน 5.เกิดการปรับเปลี่ยนผังเมืองเพื่อเอื้อให้เกิดการดำเนินการก่อสร้างอุตสาหกรรมจากสีเขียวเป็นสีม่วง 

ซึ่งสิ่งที่เรากล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เราไม่อยากเห็นการพัฒนาที่แอบอ้างคำว่า “ความเจริญ” แต่ทรัพยากรชุมชนที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยทั้ง ดิน น้ำ ป่า กลับถูกทำลายและถูกแย่งชิงไป เราอยากเห็นการพัฒนาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและถูกกำหนดของคนในชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของชุมชนจริง ๆ และเคารพสิทธิของพี่น้องด้วย

การมาลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติในวันนี้เพื่อมารับฟังการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทางตัวแทนคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 6 กรณี 7 จังหวัดในภาคอีสาน ที่ประกอบไปด้วย 1.จังหวัดยโสธร 2.จังหวัดอำนาจเจริญ 3.จังหวัดขอนแก่น 4.จังหวัดชัยภูมิ 5.จังหวัดศรีสะเกษ 6.จังหวัดบุรีรัมย์ 7.จังหวัดอุดร นั้น สามารถสรุปได้ดังนี้ 1.ชาวบ้านในพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิจากนโยบายรัฐ 2.ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งครั้งที่ 1และ 2 จากหน่วยงานรัฐและทุน ได้กีดกันคนเห็นต่าง 3.ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทางการตัดสินใจ โดยนายทุนได้ใช้เวลาในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นช่วงเช้าจัดเรื่องโรงงานน้ำตาล ช่วงบ่ายจัดเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้ชาวบ้านถูกมัดมือชกด้านการตัดสินใจ  3.ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิจากการปิดกั้นข้อมูลโดยหน่วยงานรัฐที่ไม่นำเสนอข้อมูลให้ชุมชนได้รับทราบก่อนก่อนนำไปตัดสินใจ 4.ชาวบ้านในพื้นที่ถูกละเมิดสิทธิจากคำสั่งของรัฐ และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน เป็นต้น

ดังนั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 6 กรณี 7 จังหวัดในภาคอีสานนั้น ทางคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) ภาคอีสาน จึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1.ให้ยกเลิกมติ ครม. พ.ศ. 2558 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม 2.ให้ยกเลิกแผนลักดันนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net