Skip to main content
sharethis

บทวิเคราะห์ในดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า หลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยด้วย มีบรรยากาศของการยอมรับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น รวมถึงมีการจัดพิธีแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันที่ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลทางศาสนาเช่นในฟิลิปปินส์ ถึงแม้ว่าในทางกฎหมายยังไม่มีการรับรองสถานะการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันก็ตาม เสียงสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นนี้ก็กำลังส่งผลให้รัฐบาลต่างๆ เริ่มมีการพิจารณากฎหมายรองรับสถานะการแต่งงานของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันด้วย

'บางกอกนฤมิต ไพรด์' ที่ย่านสีลม กรุงเทพฯ เมื่อ 5 มิถุนายน 2565 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

บนภูเขาของนครอันติโปโล เมืองศูนย์กลางของจังหวัดรีซัล ประเทศฟิลิปปินส์ มีจุดที่สวยงามเหมาะแก่การทำพิธีแต่งงาน เพื่อนๆ และครอบครัวของ โจวนีย์ เรเยส กับ โจช ทูปาซ ได้เข้าร่วมพิธีกรรมเฉลิมฉลองการแต่งงานระหว่างคู่รักชายรักชายคู่นี้ ทูปาซอยู่ในชุดสูทสีขาว ประดับด้วยผ้าคลุมไหล่ขนสัตว์ และสวมมงกุฏระยิบระยับ แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางอากาศร้อน 34 องศาเซลเซียสก็ตาม พวกเขาโพสต์ท่าถ่ายรูปกับกลุ่มเพื่อนเจ้าบ่าวที่สวมชุดสีน้ำเงินทั้งหมด

เมื่อพิธีกรรมเริ่มต้นขึ้น บาทหลวง เครสเซนซิโอ อักบายานี นักบวชเกย์และนักกิจกรรมได้นำพิธีกรรมโดยดำเนินพิธีกรรมทั้งแบบนิกายคาทอลิกและแบบนิกายโปรแตสแตนท์ ในพิธีกรรมเจ้าบ่าวทั้งสองคนต่างก็ให้สัตย์ปฏิญาณรักทั้งน้ำตา เรเยสกล่าวว่า "ถ้าคุณเป็นเกย์ การมีความรักกลายเป็นเรื่องตลกสำหรับคนจำนวนมาก หรือไม่ก็แย่ยิ่งกว่านั้นคือคุณต้องปกปิดมันเป็นความลับ" เรเยสกล่าวอีกว่า "แต่คุณก็รักผมให้โลกประจักษ์โดยไม่อายสายตาใคร"

พิธีกรรมการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันแบบนี้เริ่มเกิดมากขึ้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าจะเป็นพิธีกรรมที่ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย แต่กลุ่มผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผู้นำศาสนาในท้องที่ก็มักจะให้การสนับสนุนโดยทำให้พิธีกรรมเหล่านี้เป็นทางการ

มีกรณีในกัมพูชาที่คู่รักเพศเดียวกันลงนามในเอกสารที่มีระบุถึงพันธกรณีระหว่างทั้งสองฝ่ายและเรื่องการมีกรรมสิทธิในสินทรัพย์ร่วมกัน โดยที่เอกสารนี้เป็นการคุ้มครองในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะเป็นสัญญาสมรสที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้คู่รักใช้จัดพิธีกรรมแต่งงานตามประเพณีได้ โดนที่มีเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นและพระสงฆ์เข้าร่วม มีแขกเหรื่อผูกด้ายสีแดงรอบข้อมือของคู่รัก

พิธีกรรมแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการที่มีผู้คนยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ มีชาวฟิลิปปินส์ร้อยละ 73 ระบุว่าสังคมควรจะยอมรับการรักเพศเดียวกัน มีชาวเวียดนามร้อยละ 70 บอกว่าพวกเขาควรจะยินดีที่มีเพื่อนบ้านเป็นชาวเกย์ ในไทยมีการสำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. นี้เองระบุว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91 ยอมรับคนรักเพศเดียวกันให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพวกเขา

บาทหลวงอักบายานี ในอันติโปโล ได้ดำเนินพิธีกรรมแต่งงานให้กับคู่รักราว 3,000 คู่แล้วนับตั้งแต่ที่เขาบวชเป็นบาทหลวงในปี 2551 อักบายานีกล่าวว่า "15 ปีที่แล้ว ผู้คนในจังหวัดเหล่านี้ยังคงกังขา(ต่อเรื่องคนรักเพศเดียวกัน)อยู่ แต่ในตอนนี้พวกเขามองว่าเป็นเรื่องปกติ"

การยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศในหมู่ประชาชนยังส่งผลให้ ส.ส. และภาคส่วนการเมืองของหลายประเทศเริ่มค่อยๆ ให้การยอมรับมากขึ้นตามไปด้วย ในปี 2562 ถึงแม้ว่าศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์จะปฏิเสธคำร้องที่ขอให้ประกาศว่าการสั่งห้ามการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดหลักการรัฐธรรมนูญ แต่ศาลสูงสุดก็ยอมรับว่าคู่รักเพศเดียวกันสมควรจะได้รับการรับรองทางกฎหมาย ในปีนั้นยังเป็นปีเดียวกับที่มีการเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับต่อรัฐสภาฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายระบุให้มีการอนุญาตการจดทะเบียนคู่ชีวิตระหว่างคนรักเพศเดียวกันได้

ในกรณีของเวียดนามก็มีการยกเลิกกฎหมายสั่งห้ามการรักเพศเดียวกันในปี 2558 กัมพูชาในปี 2562 ก็ระบุถึงพันธกิจในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รองรับการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกัน คณะรัฐมนตรีไทยก็มีการส่งร่างกฎหมายการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันซึ่งรู้จักในนามกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" ให้กับรัฐสภาในวันที่ 7 มิ.ย. และเพิ่งจะมีการผ่านร่างขั้นตอนแรกเมื่อไม่นานนี้

นอกจากเรื่องที่มีการยอมรับการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันเพิ่มขึ้นแล้ว หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเด็นอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่นในฟิลิปปินส์มีเขตเทศบาลมากกว่า 20 แห่งที่ผ่านกฎหมายต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของอัตลักษณ์ตัวบุคคล นอกจากนี้ในระดับประเทศฟิลิปปินส์ก็กำลังมีการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศด้วย

ในประเทศไทยก็มีกฎหมายแรงงานที่ห้ามการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของเพศวิถีอยู่ก่อนหน้านี้ จนกระทั่งในปี 2558 รัฐบาลก็ให้การคุ้มครองขยายเพิ่มไปถึงการห้ามกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองบุคคลข้ามเพศ

ในปี 2559 ก็มีเหตุการณ์ที่ นาดา ไชยจิตต์ หญิงข้ามเพศในกรุงเทพฯ ชนะคดีที่มีการฟ้องร้องมหาวิทยาลัย ในเรื่องที่มหาวิทยาลัยปฏิเสธจะมอบประกาศนียบัตรจบการศึกษาให้กับเธอ โดยอ้างว่าเพราะรูปภาพของเธอมีการแสดงออกเป็นหญิงแต่เพศสถานะทางกฎหมายของเธอถูกระบุเป็น "ชาย" คดีความของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนข้ามเพศในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ลุกขึ้นมาท้าทายกฎเกณฑ์แบบนี้ของมหาวิทยาลัยด้วย

แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้สิทธิกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากชึ้น ประเทศอย่างมาเลเซีย, พม่า, สิงคโปร์ ยังคงมีกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายซึ่งเป็นกฎหมายเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอังกฤษยังเป็นเจ้าอาณานิคม ในบางพื้นที่ของอินโดนีเซียก็มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันโดยอ้างหลักการศาสนาอิสลาม

สำหรับบางรัฐบาลของประเทศเหล่านี้กฎหมายไม่ได้มีผลอะไรเท่าไหร่ เพราะพวกเขาไม่ได้นำมันมาบังคับใช้จริง แต่ทว่าในสายตาของนักกิจกรรมแล้ว กฎหมายเหล่านี้สร้างบรรยากาศของความไม่ปลอดภัยให้กับชุมชนคนรักเพศเดียวกันและเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทางการอ้างนำมาใช้แบล็กเมล์ประชาชนได้ นอกจากนี้กฎหมายเหล่านี้ยังเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้ายิ่งกว่านี้ด้วย

แม้กระทั่งในประเทศที่เริ่มมีกฎหมายคุ้มครองมากขึ้นแล้ว ก็ยังคงมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือจารีตนิยมที่ต่อต้านกฎหมายที่สนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ อยู่ เช่นในไทยมีกลุ่มศาสนาที่เริ่มพยายามต่อต้านกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต พวกเขามักจะอ้างโจมตีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าเป็น "พวกสนับสนุนค่านิยมตะวันตก" อ้างว่าพวกเขาไม่เป็นไปตามแบบแผนจารีตค่านิยมแบบเอเชีย

แต่บาทหลวงอักบายานีในฟิลิปปินส์ก็หัวเราะให้กับข้ออ้างวาทกรรมของพวกจารีตนิยมไทย เขาบอกว่า "ความรักคือค่านิยมแบบเอเชีย" และมีผู้คนในภูมิภาคที่เริ่มเห็นด้วยกับเขามากขึ้นเรื่อยๆ

เรียบเรียงจาก

South-East Asia is beginning to accept same-sex relationships, The Economist, 16-06-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net