Skip to main content
sharethis
  • สำนักเลขาธิการใหญ่ 'แอมเนสตี้' ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วง 
  • ‘อมรัตน์ ก้าวไกล’ จี้ แพทยสภา-รมว.ยุติธรรม เร่งตรวจสอบกรณีร้องเรียน ‘แพทย์ประจำเรือนจำหญิง’ ละเมิดสิทธิผู้ต้องหา ‘บุ้ง-ใบปอ’
  • ด้าน 'ทัณฑสถานหญิงกลาง' ปฏิเสธ กรณีดังกล่าว ชี เป็นการซักประวัติและตรวจรักษาอาการตามปกติ ยันผู้ต้องขังทุกรายได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐาน

17 มิ.ย.2565 ฝ่ายสื่อสารองค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวสามนักกิจกรรมโดยทันที และยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ทั้งยังกระตุ้นให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ ลดการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาให้น้อยสุด ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 9 ส.ค. 2565 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า นับตั้งแต่สองนักกิจกรรม บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม และใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2565 โดยศาลได้ปฏิเสธคำขอประกันตัวหลายครั้ง จนทั้งสองคนได้เริ่มการอดอาหารตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อประท้วงการควบคุมตัว ขณะที่ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่แม้ได้รับการประกันตัว แต่ยังถูกกักตัวอยู่ในบ้านตามเงื่อนไขการประกันตัวของศาล หลังได้ประท้วงด้วยการอดอาหารเป็นเวลา 36 วัน หลังจากทางการได้เพิกถอนการประกันตัวเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 

“เรามีความกังวลว่ารัฐบาลไทยกำลังควบคุมตัวผู้คนโดยพลการ จากการที่นักกิจกรรมทั้งสามคนได้ใช้สิทธิมนุษยชนของตนโดยสงบ การดำเนินคดีอาญาของรัฐต่อทั้งสามคนอาจส่งผลให้พวกเขาได้รับโทษจำคุกหลายสิบปีหรืออาจถึงตลอดชีวิต และยังถูกปฏิเสธที่จะได้รับสิทธิในการประกันตัว รัฐยังคงใช้วิธีการในการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดจนเกินกว่าเหตุต่อผู้คนจำนวนมาก” 

แอมเนสตี้จึงขอกระตุ้นทางการไทยให้ปฎิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาให้น้อยสุด รัฐบาลไทยยังเคยให้คำมั่นจากข้อเสนอแนะของนานาประเทศในกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระของประเทศ (Universal Periodic Review-UPR) ในรอบที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกระบวนการคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ นอกจากนั้น คณะทำงานว่าด้วยการคุมขังโดยพลการแห่งสหประชาชาติยังมีความเห็นว่า ทางการไทยยังคงใช้การดำเนินคดี และควบคุมตัวบุคคลโดยพลการกับผู้คนที่เพียงต้องสงสัยในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการปฏิเสธไม่ให้ได้รับสิทธิในการประกันตัวซึ่งเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนเขียนจดหมายถึงสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ประท้วงด้วยการอดอาหาร ให้สิทธิในการประกันตัว ยกเลิกข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีอาญาใดๆ ต่อนักกิจกรรมที่ออกมาใช้สิทธิของตนโดยสงบ และในระหว่างรอการปล่อยตัวต้องให้การประกันว่าทั้งหมดจะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังเรียกร้องให้เจ้าพนักงานปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ 

‘อมรัตน์ ก้าวไกล’ จี้ แพทยสภา-รมว.ยุติธรรม เร่งตรวจสอบกรณีร้องเรียน ‘แพทย์ประจำเรือนจำหญิง’ ละเมิดสิทธิผู้ต้องหา ‘บุ้ง-ใบปอ’

17 มิ.ย. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า อมรัตน์​ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนเร่งด่วน กรณีนักกิจกรรมสองรายถูกละเมิดภายในสถานพยาบาลประจำเรือนจำหญิง โดยนายแพทย์ประจำเรือนจำ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา จึงขอให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบและชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รวมถึงขอให้แพทยสภาและผู้ที่เกี่ยวข้องมีไม่นิ่งนอนใจในการหาข้อเท็จจริงและมีมาตรการลงโทษ หากพบว่านายแพทย์คนดังกล่าวกระทำการล่วงละเมิดสองนักกิจกรรมจริง

ข้อร้องเรียนดังกล่าวมาจาก ใบปอ-ณัฐนิช และ บุ้ง-เนติพร สองนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังที่ถูกฟ้องร้องในคดีมาตรา 112 และถูกจับกุมคุมขังในทัณฑสถานหญิง หลังทำโพลสอบถามประชาชนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดย อมรัตน์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ทั้งคู่ประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยการอดอาหารดังกล่าวผ่านมาแล้ว 15 วัน  นักกิจกรรมทั้งสองจึงได้เข้าตรวจร่างกายที่สถานพยาบาลภายในเรือนจำ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ผ่านมา แต่กลับถูกนายแพทย์ประจำเรือนจำล่วงละเมิดด้วยวาจาและพฤติกรรม ซึ่งการล่วงละเมิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

“ระหว่างที่ซักถามอาการเรา 2 คน หมอได้ข่มขู่ เสียดสี และคุกคามด้วยคำพูดว่า ถ้ามีปืนก็คง… (ทำท่ามือเป็นปืนเอามาจ่อที่คาง) พร้อมหัวเราะ และยังพูดข่มขู่ว่าต้องจับ 2 คนนี้แยกออกจากกัน”  อมรัตน์ เปิดเผย คำบอกเล่าของ ใบปอ ที่บอกกับทนาย

ทั้งนี้ อมรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว กรณีนี้ถือเป็นอีกความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้คือการไม่อนุญาตให้ประกันตัวนักกิจกรรม ทั้งที่ยังไม่เคยมีการตัดสินความผิด ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องมาโดยตลอด เพราะการไม่อนุญาตให้มีการประกันตัวโดยยังไม่มีการตัดสิน เป็นการกระทำที่ขัดกับหลักสากลและคือความอยุติธรรม

ทัณฑสถานหญิงกลาง ปฏิเสธ กรณีแพทย์ละเมิดผู้ต้องขังหญิงด้วยคำพูด ชี้ เป็นการซักประวัติและตรวจรักษาอาการตามปกติ พร้อมยืนยัน ผู้ต้องขังทุกรายได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐาน

ขณะที่วันเดียวกัน (17 มิ.ย.) เวลา 12.00 น. กรมราชทัณฑ์ ออกชี้แจง กรณี แพทย์ประจำทัณฑสถานหญิงกลาง ถูกกล่าวหาว่า กระทำการละเมิดผู้ต้องขังหญิงด้วยคำพูดข่มขู่ เสียดสี และคุกคาม ขณะทำการตรวจรักษาอาการป่วย นั้น

กรมราชทัณฑ์ ขอชี้แจงว่า ในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 เวลา 10.30 น. ผู้ต้องขังหญิงรายดังกล่าว ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้เข้าพบแพทย์ด้วยอาการแสบท้องจากการอดอาหาร เพื่อทำการตรวจประเมินอาการและสั่งยาเพิ่มเนื่องจากยาชุดเดิมที่ถูกสั่งจ่ายไว้จากแพทย์ท่านอื่นได้หมดลง โดยแพทย์ที่ทำหน้าที่ตรวจรักษาประจำสถานพยาบาลทัณฑสถานหญิงกลางในห้วงเวลาดังกล่าว คือ นายแพทย์ชาตรี จองศิริเลิศ โดยได้ดำเนินการซักประวัติเพื่อประกอบการวินิจฉัยอาการป่วย รวมถึงได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพิ่มเติมเพื่อมิให้เกิดการเจ็บป่วยทางร่างกาย ซึ่งผู้ต้องขังหญิงรายดังกล่าวได้แจ้งความประสงค์ว่า ไม่ขอรับยารักษาโรค และไม่ขอรับการรักษา รวมถึงไม่ขอรับคำแนะนำจากแพทย์แต่อย่างใด จากนั้นได้กลับเรือนนอนและปฏิบัติภารกิจประจำวันตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ทัณฑสถานหญิงกลาง ยืนยันว่า ผู้ต้องขังหญิงรายดังกล่าว รวมถึงผู้ต้องขังหญิงทุกรายในการควบคุม ดูแล ได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOPs) ของกรมราชทัณฑ์ และตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างถูกต้อง ครบถ้วนทุกประการ และนายแพทย์ชาตรี จองศิริเลิศ ที่ถูกกล่าวหาดังกล่าว เป็นแพทย์อายุรกรรมที่อุทิศเวลามาให้การรักษาดูแลผู้ต้องขังหญิงภายในทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 15 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น หรือได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ต้องขังหญิง ที่ได้รับการรักษาจากนายแพทย์คนดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net