Skip to main content
sharethis

กรมสรรพากรเผยจัดเก็บภาษี e-Service 6 เดือนแรกปีงบฯ 2565 (ต.ค. 64-มี.ค. 65) ทะลุเป้า 14% หรือคิดเป็น 4,261 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีงบฯ 2565 จะจัดเก็บได้ 1 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 เว็บไซต์กรมสรรพากร รายงานว่านายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่าผลจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service: VES) ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมารวม 127 ราย มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 60,874 ล้านบาท ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มสะสม 6 เดือน (ต.ค. 2564-มี.ค. 2565) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,261 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2565 เก็บภาษี VES จัดเก็บได้ 1 หมื่นล้านบาท จึงสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท 

กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (VAT for Electronic Service : VES) มีผลบังคับกับแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นมา เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งปัจจุบัน มีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริการโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) บริการขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) บริการแพลตฟอร์มสมัครสมาชิก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ (Subscription) บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางเช่น บริการขนส่ง (Peer to Peer) และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง (Online Travel Agency) ที่ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในประเทศไทย 

กฎหมายภาษี e-Service นี้ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

ภาษี e-Service นี้ ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกันไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากภาษีนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษี e-Service ยังเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ การเก็บภาษี e-Service จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย           

การจัดเก็บภาษี e-Service ซึ่งเป็นภาษีประเภทใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ครึ่งแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. 2564-มี.ค. 2565) ได้เกินเป้าตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 101,695 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14 แต่อีกส่วนมาจากเครื่องมืออื่น ๆ เช่น data analytics ซึ่งมีการนำมาใช้เต็มรูปแบบในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้กรมสรรพากรสามารถระบุกลุ่มสาขาเป้าหมายที่มีศักยภาพได้เพิ่มเติมและตรงเป้ามากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net