Skip to main content
sharethis

ศาลสั่งถอนประกันตัว ‘เวหา’ คดี ม.112 จากกรณีโพสต์เฟซ แสดงความเห็นคำพิพากษาศาลคดีติดสติกเกอร์ ‘กูkult’ ระบุมีเนื้อหาเชิญชวนให้คนมาทำลายรูป ร.10-การโพสต์รูปยืนบนแท่นกรอบรูปว่างเปล่า มีคำว่า “ทรงพระเจริญ” อาจเข้าข่ายดูหมิ่น

 

21 เม.ย. 65 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (21 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดไต่สวนถอนประกันในคดี มาตรา 112 ของ นายเวหา แสนชนชนะศึก อายุ 37 ปี ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ ‘ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด’ โพสต์ข้อความเล่าเรื่องประสบการณ์ถูกคุมขังในคุกเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา หรือ “คุกวังทวีวัฒนา” จนเกิดเป็นกระแสแฮชแท็ก #แอร์ไม่เย็น ในทวิตเตอร์

ภาพ เวหา แสนชนชนะศึก นักกิจกรรม (ภาพจาก 'iLaw')

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 ศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นสอบสวน ตลอดจนชั้นพิจารณาในวันที่ 2 พ.ย. 2564 ในวงเงิน 90,000 บาท พร้อมตั้งผู้กำกับดูแลจำเลยในระหว่างปล่อยชั่วคราว และกำหนดเงื่อนไขว่า “ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก” 

สำหรับการไต่สวนครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 ‘เวหา’ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับคำพิพากษาสั่งจำคุก “นรินทร์” กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์คำว่า “กูkult” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมีใจความว่า ตนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์น้อมรับคำพิพากษาของศาล และจะปกป้องไม่ให้ใครผู้ใดมากระทำการอันมิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้รูปที่อยู่ตามสถานที่่สาธารณะมิให้ปรากฏอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครสามารถเอาสติกเกอร์ไปแปะให้ต้องเสื่อมพระเกียรติยศอีก พร้อมกับลงภาพประกอบข้อความที่เป็นภาพของตนขณะยืนอยู่บนแท่นที่มีข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” ซึ่งเป็นกรอบรูปเปล่าที่ไม่มีพระบรมมาฉายาลักษณ์ติดอยู่ และพนักงานอัยการได้ยื่นขอถอนประกันตัวจำเลย เนื่องจากเห็นว่าผิดเงื่อนไขการประกันตัว

“เวหา” แจง ช่วยกันไม่ให้ใครล่วงเกินรูป ร.10

ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา รัชดาภิเษก เวลา 10.03 น. ศาลนั่งบังลังก์ออกพิจารณา และได้เบิกตัว ”เวหา” จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเพื่อไต่สวนถอนประกัน ภายในห้องพิจารณาประกอบด้วยอัยการโจทก์ ทนายจำเลย จำเลย และพยานที่มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำร้องขอถอนประกันมาศาล นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) จำนวนหนึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย 

ก่อนเริ่มการไต่สวน อัยการโจทก์แถลงว่า พร้อมนําพยานเข้าไต่สวน และขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจําเลย เนื่องจากจำเลยกระทำว่าผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวตามคําสั่งศาล

เวลา 10.16 น. ศาลสอบถามจําเลยในเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและเจตนาของจำเลยที่กระทำลงไป ด้านเวหา แถลงต่อศาลรับว่า ตนเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กจริง และมีการโพสต์ข้อความดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ศาลได้พิพากษาให้จําคุก “นรินทร์” กรณีที่นําสติกเกอร์คําว่า “กูkult” ไปติดลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งศาลได้ให้เหตุว่า เป็นการกระทําที่แสดงความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพเทิดทูน ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ

จําเลยจึงแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะประมุขของชาติ จากการที่มีผู้นําสติกเกอร์ไปติดไว้บนพระบรมฉายาลักษณ์ และเพื่อเป็นการปกป้องไม่ให้ผู้ใดมากระทําเหตุอันไม่มิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ต่อไปอีก โดยการจะไม่ให้มีพระบรมฉายาลักษณ์ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ นอกจากนี้ จําเลยชี้แจงว่า ภาพกรอบรูปดังกล่าวนั้นเป็นกรอบรูปว่างเปล่า ไม่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ส่วนตนก็ยืนอยู่บริเวณกลางกรอบรูป บนคําว่า “ทรงพระเจริญ” 

ในประเด็นนี้ ศาลถามจำเลยว่า การกระทำดังกล่าว จำเลยเชื่อว่าไม่เป็นความผิดใช่หรือไม่ ด้านเวหา แถลงยืนยันว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติของพระเจ้าอยู่หัว และไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากจําเลยยืนอยู่บนกรอบรูปเปล่า ซึ่งถูกทิ้งร้างไว้ที่องค์การบริหารส่วนตําบลแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ จำเลยพยายามแสดงให้เห็นว่า เมื่อเป็นกรอบรูปเปล่าแล้ว ก็จะไม่มีความหมายเท่ากับมีภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

ต่อมา ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จําเลยแถลงให้การยอมรับข้อเท็จจริงตามคําร้องว่าเป็นผู้โพสต์แสดงความคิดเห็นดังกล่าวจริง ตลอดจนภาพชายที่ยืนอยู่บริเวณกรอบรูปว่างเปล่า ก็คือจําเลย กรณีนี้ถือว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้ ไม่จําต้องนําพยานเข้าไต่สวน จึงให้งดไต่สวน และรอฟังคําสั่งในวันนี้ เวลา 14.00 น.

ภายหลังที่ศาลได้ออกจากห้องพิจารณาไปแล้ว ขณะที่เวหา กำลังปรึกษาเรื่องคดีกับทนายความอยู่นั้น หนึ่งในสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ได้ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายรูปเวหา ซึ่งอยู่ในชุดคุมขังนักโทษ และมีเครื่องพันธนาการอยู่ที่ข้อเท้า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และตำรวจศาลจะรีบเข้ามากล่าวตักเตือน และขอให้ลบรูปดังกล่าวทิ้ง

ต่อมา เวหา ประสงค์จะดำเนินคดีกับสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ที่แอบถ่ายรูปตนในห้องพิจารณา ขณะอยู่ในชุดนักโทษและสวมเครื่องพัฒนาการ เพราะเห็นว่าละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง ก่อนที่กลุ่ม ศปปส. จะพูดกดดันให้ตำรวจศาลรีบพาจำเลยลงไปที่ห้องเวรชี้

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศาลได้จัดทำบันทึกข้อความและสั่งให้ลบรูปดังกล่าว พร้อมกล่าวกับสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ว่าศาลจะไม่ดำเนินคดี แต่หากรูปดังกล่าวไปปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ ศาลจะตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาล ส่วนด้านเวหาติดใจจะขอให้มีการดำเนินคดีต่อไป 

ศาลสั่งเพิกถอนประกัน “เวหา” ชี้ข้อความโพสต์น้อมรับคำพิพากษามีลักษณะเสียดสี-เชิญชวนให้กำจัดรูป ร.10 และการยืนบนแท่นกรอบรูปว่างเปล่าที่มีคำว่า “ทรงพระเจริญ” อาจสื่อในลักษณะดูหมิ่น

ต่อมา เวลา 14.25 น. นายพลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งให้ถอนการประกันตัวจำเลย รายละเอียดคำสั่ง มีเนื้อหาดังนี้

ศาลพิเคราะห์ว่าข้อความและเนื้อหาของจำเลยมีการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน แม้มีการโพสต์แสดงความคิดเห็นของจำเลยในเบื้องต้นว่าจะน้อมรับคำพิพากษาของศาล กรณีที่ศาลพิพากษาจำคุก “นรินทร์” จำเลยในคดีติดสติกเกอร์คำว่า กูkult ลงในพระบรมฉายาลักษณ์ แต่การที่จำเลยโพสต์ข้อความว่า จะปกป้องมิให้ผู้ใดมากระทำอันมิบังควรต่อพระบรมมาฉายาลักษณ์ของวชิราลงกรณ์ โดยการจะทำให้รูปวชิราลงกรณ์ที่อยู่ตามสถานที่สาธารณะมิให้ปรากฏอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครเอาสติกเกอร์ไปแปะให้วชิราลงกรณ์ต้องเสื่อมพระเกียรติยศอีก 

ศาลเห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์นี้มีลักษณะประชดประชัน เกี่ยวกับการกระทำของนรินทร์ ซึ่งศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในส่วนข้อความต่อมาที่ระบุว่า #ภาคีสหายพร้อม!!! ที่ปรากฏในโพสต์จำเลยนั้น มีเหตุอันควรให้เชื่อว่า เป็นการกล่าวเหมือนส่งสัญญาณในโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งสื่อให้สหายหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของจำเลยออกมาร่วมด้วยช่วยกันในทำนองให้จัดการกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ติดอยู่ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ออกไปจากประเทศไทยให้หมด” 

ในส่วนถ้อยคำที่จำเลยกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จำเลยใช้คำว่า “วชิราลงกรณ์” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ปวงชนชาวไทยที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่ใช้เรียกพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และการที่จำเลยยืนอยู่บนแท่นกรอบรูปเปล่า โดยที่แท่นมีข้อความ “ทรงพระเจริญ” ปรากฏอยู่ชัดเจน ถือว่าการกระทำดังกล่าวมีลักษณะไม่เหมาะสมในบริบทของสังคมไทย ทั้งอาจสื่อไปในลักษณะอาจดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นองค์พระมหากษัตริย์ที่เป็นพระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6

การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ กรณีต้องถือว่าจำเลยประพฤติผิดเงื่อนไขของศาลในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาตามที่โจทก์ร้องขอ จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2564 

ก่อนหน้านี้ เวหาได้ถูกคุมขังในชั้นสอบสวน ในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง กรณีแชร์โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก” วิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 และโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 วิพาากษ์จารณ์ศาลและความอยุติธรรม โดยถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2565 รวมเป็นระยะเวลา 42 วัน โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนมีระยะเวลาขอฝากขังได้ทั้งหมด 84 วัน ในจำนวน 7 ผัด

อนึ่ง จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 21 เม.ย. 2565 มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัว จำนวนอย่างน้อย 7 คน ได้แก่ เวหา แสนชนชนะศึก, ปฏิมา, พรพจน์ แจ้งกระจ่าง, เอกชัย หงส์กังวาน, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ คทาธร และคงเพชร   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net