Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักสิทธิฯ ประณามกระบวนการฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่ม ปชช. รับผิดชอบโดย พม. บิดเบือน ไม่เป็นกลาง เหตุ พม.พยายามชี้นำ ส่งหนังสือถึง พอช.ให้มีการเผยแพร่เอกสารชี้แจง ประชาสัมพันธ์ และแก้ต่างให้ร่างกฎหมาย ลั่น ถ้ายังดันร่างกฎหมายต่อ เจอแน่หน้าทำเนียบ

 

7 เม.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (7 เม.ย.) ที่แพลตฟอร์ม ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ ‘มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม - Thai Volunteer Service’ ถ่ายทอดสดการแถลงข่าวออนไลน์ เพื่อตอบโต้กรณีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บิดเบือนและแทรกแซงกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนต่อ ร่าง พระราชบัญญัติการดำเนินกิจการขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ.ต่อต้านการรวมกลุ่มของประชาชน ของขบวนการต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาชน นักกิจกรรม และองค์การภาคประชาสังคมที่มาจากองค์กรสิทธิมนุษยชน 

สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW และเป็นตัวแทนของขบวนการต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน กล่าวถึงที่มาที่ไปของการแถลงข่าวอย่างเร่งด่วนว่า สืบเนื่องจากทางขบวนการต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน เดินทางมาประกาศเจตนารมย์อย่างชัดเจนที่ พม. เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่เอาร่างกฎหมายที่ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ ได้แก่ 1) ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม พ.ศ. … ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกว่า 1 หมื่นรายชื่อ 2) ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. … ฉบับ พม. 3) ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. … โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ 4) ร่างสุดท้ายที่อยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็น คือ ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. … โดยมี พม.เป็นรู้รับผิดชอบกระบวนการรับฟังความเห็น

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ต้องต่อต้านกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน เนื่องจากกฎหมายที่รัฐพยายามออกมีความหมายกว้างและคลุมเครือ มีข้อจำกัดในการทำงานองค์กรที่ทำงานประเด็นสังคมโดยไม่แสวงหาผลกำไร หรือการรวมกลุ่มของประชาชนที่ทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้ง ยังกำหนดบรรทัดฐานความผิดที่อ้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี เป็นเหตุในการสั่งลงโทษให้หยุดดำเนินการ หรือยุติกิจกรรมขององค์กรได้ ฉะนั้น หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมา การรวมของประชาชน เช่น สมาคม มูลนิธิ กลุ่มจิตอาสา กลุ่มรณรงค์ประเด็นต่างๆ การทำงานที่ชอบธรรมของกลุ่มสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลที่ว่าด้วยหลักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กลุ่มกิจกรรมต่างๆ จะเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยความคลุมเครือของกฎหมายต่างๆ ที่ได้กล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการชุมนุมอย่างสันติหน้า พม. เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา และ พม.มีการประกาศขยายระยะเวลารับฟังความเห็นถึง 1 เม.ย. 65 ทางขบวนการฯ พบว่า เมื่อ 25 มี.ค. 65 มีหนังสือด่วนที่สุดจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กองส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ถึงผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (มหาชน) หรือ พอช. เรื่อง “ประเด็นความเข้าใจผิด ที่ทำให้องค์กรแสดงความเห็นในเชิงลบต่อร่าง พระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร” ซึ่งนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมต.พม.) มีข้อสั่งการทำหนังสือเพื่อให้ทาง พอช. ดำเนินการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนและองค์กรภาคประชาชนต่อร่างกฎหมายดังกล่าว 

สุภาภรณ์ กล่าวว่า การทำหนังสือของ พม. ในฐานะผู้รับผิดชอบกระบวนการรับฟังความเห็นของร่างกฎหมาย และควรวางตัวเป็นกลาง กลับพยายามแก้ต่าง บิดเบือน และสร้างความชอบธรรมแบบผิดๆ ให้กับร่างกฎหมาย โดยไม่สนใจประชาชนที่ออกมาคัดค้านอย่างกว้างขวาง ดังนั้น จึงที่มาของการแถลงข่าวเพื่อประณาม พม.ครั้งนี้ 

ทั้งนี้ ตัวแทนจาก EnLAW ฝากข้อความไปยัง พอช. และองค์กรสภาชุมชน ภายใต้สังกัด พอช. ซึ่งได้รับผลกระทบจาก ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนเช่นเดียวกัน โดยหวังว่าทั้ง 2 องค์กรจะออกมาร่วมแสดงจุดยืนและขับเคลื่อนต่อต้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย 

รายละเอียดของแถลงการณ์

แถลงการณ์ประณามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่บิดเบือนและไม่เป็นกลาง

ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 มกราคม 2565 ให้รับผิดชอบรับร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างและได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งกระทรวง พม. ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม ถึง 1 เมษายน 2565 และปรากฏข้อมูลเป็นที่รับทราบในทางสาธารณะอย่างกว้างขวางถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์และเสียงคัดค้านของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเห็นร่วมกันว่าร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร มีเนื้อหาที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการแสดงความคิดเห็น และจะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางและร้ายแรง 

พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและยุติการเสนอผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้โดยทันที ซึ่งกระทรวง พม. ก็ได้รับทราบถึงข้อคิดเห็นและเหตุผลข้อคัดค้านของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวด้วยแล้วผ่านช่องทางการรับฟังความคิดเห็นและกิจกรรมการสื่อสารแสดงออกต่อสาธารณะรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. กลับมิได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียต่อร่างกฎหมายอย่างเป็นกลาง โดยปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 กระทรวง พม. ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. ... ที่ 1/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อน ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. ... ให้ทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางเป้าหมาย กำกับดูแล และพัฒนาการประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติฯ 

และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้มีหนังสือด่วนที่สุด
ส่งถึงผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยสรุปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีข้อสั่งการให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจัดทำเอกสารชี้แจงประเด็นความเข้าใจผิดในหลักการและเจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ทำให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจึงได้จัดทำคำชี้แจงและขอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์เอกสารชี้แจงดังกล่าวให้กับองค์กรสภาชุมชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการร่างกฎหมาย โดยคำชี้แจงดังกล่าวอ้างว่า องค์กรไม่แสวงหากำไรมีความเข้าใจผิดต่อร่างกฎหมายใน 5 ประเด็น คือ

การควบคุมองค์กรไม่แสวงหากําไร การจํากัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การจํากัดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรม การจํากัดสิทธิเสรีภาพในการรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาค และการให้อำนาจนายทะเบียนควบคุมมากไป โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกแบบวิธีการโดยให้ภาครัฐ “กำกับดูแล” องค์กรที่ไม่แสวงหากําไร ไม่ได้มีลักษณะเป็นการ “ควบคุม” ไม่ได้บังคับให้องค์กรไม่แสวงหากําไรต้องมาจดทะเบียนหรือต้องขออนุญาตก่อตั้ง การรวมกลุ่มจึงทำได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดภาระหน้าที่กับประชาชนเกินความจําเป็น องค์กรไม่แสวงหากําไรยังคงมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง โดยภาครัฐจะควบคุมเฉพาะการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดำเนินการตามมาตรา 20 เท่านั้น และยังคงมีอิสระในการรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคไม่ว่าจากในประเทศหรือต่างประเทศ แต่หากเป็นกรณีรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากต่างประเทศ องค์กรมีหน้าที่รายงานให้นายทะเบียนทราบและนําเงินอุดหนุนไปใช้ตามวัตถุประสงค์เท่านั้น และอำนาจของนายทะเบียนในร่างกฎหมายนี้ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตรวจสอบไม่ได้ หากจะออกคำสั่งยุติการดําเนินงานขององค์กรก็จะต้องแจ้งเตือนให้องค์กรหยุดหรือแก้ไขก่อน และหากนายทะเบียนออกคำสั่งไปแล้ว องค์กรยังมีสิทธิโต้แย้งอุทธรณ์คำสั่งและสามารถฟ้องศาลปกครองได้ 

ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาชน นักกิจกรรม และองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีความเห็นและเจตนาร่วมกันชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับร่างกฎหมายทำลายสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร” เห็นว่า คำชี้แจงและการดำเนินการของหน่วยงานและคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้สังกัดกระทรวง พม. ดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เป็นกลาง ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างกฎหมายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา บิดเบือนเจตนารมณ์และหลักการของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย จึงเป็นการดำเนินการที่ปราศจากความชอบธรรมและไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ 
ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้รับผิดชอบดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินกระบวนการดังกล่าวด้วยความเป็นกลาง รับฟังและรวบรวมทุกข้อคิดเห็นต่อร่างกฎหมายตามความเป็นจริง ไม่แสดงความเห็นชี้นำ แต่กระทรวง พม. กลับจัดทำและพยายามเร่งรีบเผยแพร่เอกสารคำชี้แจง โดยระบุอ้างว่าเป็นประเด็นความเข้าใจผิดที่ทำให้เกิดการแสดงความเห็นในเชิงลบต่อร่างพระราชบัญญัติฯ อันแสดงให้เห็นถึงการวางตัวที่ไม่เป็นกลาง ไม่เคารพและมีอคติต่อความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งย่อมส่งผลให้การจัดทำรายงานสรุปรวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายและการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีหลักประกันความเป็นกลาง ขาดความน่าเชื่อถือ และไม่อาจเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณะได้  

2. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 บัญญัติว่า “...ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ” และตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 12 บัญญัติว่า “เมื่อมีกรณีจำเป็นต้องเสนอให้มีการตรากฎหมาย ให้หน่วยงานของรัฐแสดงเหตุผลความจำเป็นในการตรากฎหมายและต้องวิเคราะห์โดยมีข้อมูลและเอกสารหลักฐานประกอบชัดเจนว่าไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชน รวมทั้งไม่สามารถใช้มาตรการหรือวิธีการอื่นใดนอกจากการตราเป็นกฎหมาย” และมาตรา 14 บัญญัติว่าข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายอย่างน้อยต้องประกอบด้วย “(1) สภาพปัญหา สาเหตุของปัญหา และความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาหรือทำภารกิจในเรื่องนั้น รวมทั้งความมุ่งหมายและผลสัมฤทธิ์ที่พึงประสงค์ (2) คำอธิบายหลักการหรือประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายโดยใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย (3) บุคคลซึ่งได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายในด้านการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ หรือผลกระทบในทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบอื่นที่สำคัญ (4) เหตุผลความจำเป็นในการกำหนดให้มีระบบอนุญาต ระบบคณะกรรมการ หรือการกำหนดโทษอาญา รวมทั้งหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”

แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นจากข้อสั่งการโดยตรงของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) โดยที่นายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยแสดงข้อมูลหลักฐานที่เป็นรูปธรรมประกอบเหตุผลความจำเป็นที่ชัดเจนในการตรากฎหมาย กับทั้งเป็นการยกร่างกฎหมายขึ้นโดยที่ยังไม่มีการศึกษาวิเคราะห์และเปิดเผยผลการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตรากฎหมายฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญที่หน่วยงานต้องเปิดเผยเพื่อประกอบการพิจารณาทำความเข้าใจและแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น  

ทั้งนี้ ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนขอยืนยันว่า ภาคประชาชนไม่ได้มีความเข้าใจผิดในเนื้อหาของร่างกฎหมายตามที่กระทรวง พม. กล่าวอ้าง และขอยืนยันความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลซึ่งเกิดจากการศึกษาวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานที่เคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยตามที่ได้เคยเสนอไว้ต่อกระทรวง พม. และสาธารณะแล้วว่า ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร มีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง แทรกแซงความเป็นอิสระและปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการรวมกลุ่มแสดงออกและการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะด้วยการกำหนดข้อห้ามการดำเนินกิจกรรมอย่างกว้างขวางคลุมเครือไร้ขอบเขต สร้างภาระหน้าที่ในการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการดำเนินกิจกรรมภาคประชาชนและกระทบสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลเกินจำเป็น

รวมถึงกำหนดมาตรการบังคับและบทลงโทษที่รุนแรง สุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจตีความตามอำเภอใจและการเลือกปฏิบัติเพื่อคุกคามองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือกลุ่มประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาลและผู้มีอำนาจ เพียงเพื่อความมั่นคงของการผูกขาดการใช้อำนาจของรัฐบาลกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีขึ้นมาเพื่อปกป้องตนเองและพรรคพวกในรัฐบาลมิให้ประชาชนรวมกลุ่มตรวจสอบการบริหารจัดการบ้านเมืองของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากเผด็จการทหาร คสช. 

ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยุติการกระทำที่ไม่เป็นกลางและหยุดบิดเบือนเจตนารมณ์และหลักการของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย หยุดถ่วงรั้งการพัฒนา หยุดทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน และหยุดทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการกำจัดกลุ่ม องค์กร ขบวนประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง และขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเสนอและผลักดันร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรฉบับนี้โดยทันที

ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน

7 เมษายน 2565

อนาคตการเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ตัวแทนจากขบวนการต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ระบุการเคลื่อนไขต่อต้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในอนาคตว่า หากรัฐบาลยังคงผลักดันร่างกฎหมายต่อต้านการรวมกลุ่มประชาชนต่อไปโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากประชาชน ทางกลุ่มจะมีการระดมเสบียง และสรรพกำลัง พร้อมทั้งทำงานทางความคิดกับประชาชน และขยายเครือข่ายประชาชนที่ต่อต้านกฎหมายการรวมกลุ่มให้มากกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนเห็นผลกระทบ และกลับมาพบที่หน้าทำเนียบเมื่อใดก็ตามที่คณะรัฐมนตรีมีวาระการประชุมเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินการขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. … เพื่อชุมนุมยืดเยื้อและต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ให้ถึงที่สุด 

“เราจะไม่หันหลังกลับ จนกว่ารัฐมนตรี รัฐบาลประยุทธ์ จะมีมติยกเลิกเพิกถอน หรือไม่ผลักดันร่างกฎหมายอีกต่อไป เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” ตัวแทนกล่าวปิดท้าย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net