Skip to main content
sharethis

"สิตานันท์" เรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมติดตามความคืบหน้ากรณี "วันเฉลิม" น้องชายที่ถูกอุ้มหายไประหว่างลี้ภัยการเมืองในกัมพูชาเกือบจะครบ 2 ปี แล้วยังไม่มีความคืบหน้า 

5 เม.ย.2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกอุ้มหายไประหว่างลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชาได้ยื่นจดหมายที่กระทรวงยุติธรรม โดยมีธนกฤต จิตอารีรัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับจดหมาย

“ทางญาติหลาย ๆ คนฝากความหวังไว้ที่ท่าน อีกสองเดือนข้างหน้าจะครบสองปีแล้วในกรณีของวันเฉลิม และเราจะขอเข้าพบท่านอีกครั้งหนึ่งในการสอบถามความคืบหน้า”

นอกจากนั้นสิตานันท์พร้อมองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียดความคืบหน้าในการสอบสวนและเร่งรัดให้วุฒิสภาพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายโดยด่วน

นอกจากนั้นเมื่อวานนี้ สิตานันท์พร้มกัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ธีรวุฒิ ผูที่ถูกอุ้มหายไประหว่างลี้ภัยการเมืองในเวียดนามได้ไปยื่นหนังสือถึงผู้แทนองค์การสหประชาชาติ ในกรณีกัมพูชารายงานสถานการณ์เรื่องคนหายที่กรุงเจนีวา ในวาระการเปิดรอบทบทวนสถานการณ์ครั้งที่ 22 การบังคับบุคคลให้สูญหายในกัมพูชา โดยได้พบกับตัวแทนของ UNOHCHR

จากการพูดคุยทางสิตานันท์ได้มีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่อ UNOHCHRให้ติดตามความคืบหน้าในการสืบสวนการบังคับสูญหายวันเฉลิมและสยาม ธีรวุฒิ จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการสูงสุด กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, กองบังคับการปราบปรามฯ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมไปถึงการติดตามการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพการแสดงออก

นอกจากนั้นยังได้ขอให้ติดตามสถานการณ์ตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามคุกคามครอบครัวของสยามด้วย

แถลงการณ์

ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจ้งและให้รายละเอียดความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวน กรณีการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์และขอเร่งรัดให้วุฒิสภาผ่านร่างพ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายโดยด่วน

ตั้งแต่วันที่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมประชาธิปไตยและผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชาถูกบังคับให้สูญหายไปจากบริเวณหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 บัดนี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิมและครอบครัวยังไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือแม้แต่สิทธิที่จะได้รับทราบชะตากรรมของน้องชายจากทางการไทยกัมพูชา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดเหตุ สิตานันได้เรียกร้องความเป็นธรรมและให้ทางการประเทศทั้งสองติดตามค้นหาน้องชายของเธอผ่านช่องทางการร้องเรียนต่างๆ โดยเฉพาะต่อทางการไทยที่มีหน้าที่และอำนาจในการปกป้องคุ้มครองคนไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งสืบสวนสอบสวนเพื่อคลี่คลายคดีดังกล่าวร่วมกับทางการกัมพูชา แต่สิ่งที่เธอได้รับคือความล้มเหลวและสิ่งที่แสดงให้เห็นความไม่จริงใจของทางการไทยและทางการกัมพูชาในการคลี่คลายคดีนี้ จนเธอต้องพึ่งพาการร้องเรียนกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

ช่วงแรกของการเกิดเหตุ ทางการไทยและกัมพูชาได้พยายามปฏิเสธที่จะรับรู้เรื่องการลี้ภัยของวันเฉลิมในกรุงพนมเปญ ทั้งๆ ที่มีหลักฐานชัดเจนเช่น เอกสารของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)หลักฐานเกี่ยวกับบัญชีธนาคารและการสื่อสารในระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นอกจากนี้กระบวนการยังมีความล่าช้าและขาดความโปร่งใส

แม้สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จะได้ไปพบและส่งหนังสือทางไปรษณีย์สอบถามความคืบหน้าต่อ 3 หน่วยงานของทางการไทยไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ได้แก่ อัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แต่กลับได้รับเพียงหนังสือตอบกลับจากกรมสอบสวนคดีพิเศษเพียงว่า กำลังรอหนังสือตอบกลับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ โดยไม่มีรายละเอียดความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น

ซ้ำร้ายสิตานันกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยดำเนินคดีจากการที่เธอเพียงทำกิจกรรมสองครั้งเมื่อเดือนกันยายนและธันวาคม 2564 ด้วยการขึ้นพูดในที่ชุมนุมเกี่ยวกับการสูญหายของน้องชายและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ตัวเธอและครอบครัว และขอให้รัฐสภาเร่งรัดผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบังคับสูญหายเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับน้องชายของเธออีก

จึงอาจกล่าวได้ว่า การทางการไทยไม่เอาจริงเอาจังในการสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีการหายไปของวันเฉลิม แต่กลับตอบโต้ด้วยการดำเนินคดีต่อสิตานัน ถือเป็นการกระทำย่ำยีจิตใจ ละเมิดสิทธิมนุษยชนและซ้ำเติมครอบครัวสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่วันเฉลิมถูกบังคับสูญหายให้สูญหายไปอยู่แล้ว เป็นทวีคูณ

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลไทยและสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบในการที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) ตั้งแต่ปี 2560 พบว่าผ่านมา 5 ปีแล้วยังไม่สามารถเร่งรัดจัดทำกฎหมายอนุวัติการให้สอดคล้องกับพันธกรณีแห่งอนุสัญญาฯได้

ขณะนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายยังคงค้างอยู่ที่วุฒิสภา โดยเป็นที่น่ากังวลว่าวุฒิสภาที่มีสมาชิกเกือบทั้งหมดประกอบด้วยอดีตข้าราชการระดับสูงในสายความมั่นคงและได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร จะตัดทอนบทบัญญัติสำคัญๆที่ได้รับการรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรและทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวล่าช้า จนอาจไม่สามารถบังคับใช้อย่างผลในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายได้

ดังนั้น หากทางการไทยมีความตั้งใจจริงที่จะให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและพัฒนาภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ พวกเรา องค์กรที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1. เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนกรณีการหายไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ได้ความจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

2. ชี้แจ้งและให้รายละเอียดความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนกรณีที่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ถูกบังคับให้สูญหายไป ต่อครอบครัวของวันเฉลิมโดยเร็ว ก่อนวันครบรอบ 2 ปีในวันที่ 4 มิ.ย. 65

3. เร่งรัดให้วุฒิสภาผ่านพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยไม่ชักช้าและตัดทอนหลักการสำคัญๆของร่างกฎหมายดังกล่าวที่ได้รับการรับรองไว้โดยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

บุคคลและองค์กรที่ร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์

  1. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์และครอบครัว
  2. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  3. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  4. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
  5. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
  6. กลุ่มด้วยใจ
  7. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
  8. องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
  9. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
  10. เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี
  11. อัญชนา หีมมิหน๊ะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net