Skip to main content
sharethis
COVID-19 ได้เหวี่ยงผู้สื่อข่าวเข้าไปสู่แวดวงสุขภาพและเวชภัณฑ์ | ภาพโดย: Marcelle Louw (อ้างใน GIJN)
 

การแข่งกันเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง ข้อมูลจำนวนมากที่ไหลบ่าเข้ามา และการมาถึงของไวรัสปริศนาชนิดใหม่ การระบาดของ COVID-19 จุดกระแสให้แวดวงสื่อมวลชนลุกเป็นไฟ จากการที่ต้องเผชิญกับสังเวียนข่าวอันสลับซับซ้อน ทั้งที่เกี่ยวกับระบบสาธารณสุขและการพัฒนายา ถึงอย่างนั้น ในช่วงการแพร่ระบาดนี้ก็ยังมีงานข่าวสืบสวนหลายชิ้นที่เปิดโปงการทุจริตฉ้อโกง เผยให้เห็นผลประโยชน์ทับซ้อน และลงลึกเข้าไปให้เห็นอิทธิพลของบรรดาบริษัทยา ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้องทำไปพร้อมกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและการรักษาแก่ผู้เสพสื่ออีกด้วย

สำหรับสื่อมวลชนที่ยังใหม่ต่อประเด็นด้านสุขภาพและยา การแพร่ระบาดครั้งนี้ให้บทเรียนที่มีค่าว่าจะทำอย่างไรให้ทักษะการสืบสวนของเราแหลมคมยิ่งขึ้น ทำอย่างไรจึงจะบีบให้เจ้าหน้าที่รัฐและอุตสาหกรรมยาออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง แถมยังต้องคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระในฐานะสื่อมวลชน แต่กระนั้นก็ต้องเน้นย้ำกับตนเองว่าความเสียหายจากให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพ และความเข้าใจในเนื้อหาที่ไม่เพียงพอสามารถทำให้สื่อมวลชนต้องตกลงไปในหลุมพรางได้ง่ายดายเพียงใด

ใน  “การประชุมนักข่าวสืบสวนระดับโลก” ครั้งที่ 12 (#GIJC21) ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ฟาบิโอลา ตอร์เรส (Fabiola Torres) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการเครือข่ายวารสารศาสตร์เชิงสืบสวนทั่วโลก (GIJN) ประจำประเทศเปรู และสมาชิกสำนักข่าว Salud Con Lupa ร่วมด้วยแคทเทอรีน ริวา (Catherine Riva) และเซเรนา ทีนารี (Serena Tinari) ทั้งสองเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “องค์กรสืบสวนสอบสวนอิสระด้านสุขภาพ” หรือ “Re-Check” ได้ร่วมกันพูดคุยเกี่ยวกับข้อควรระวัง และการแลกเปลี่ยนวิธีการเจาะลึกลงไปในอนาคตของการทำข่าวสืบสวนด้านสุขภาพ  โดยนี่คือ 7 สิ่งที่เก็บฝากมาจากการพูดคุยของสื่อมวลชนด้านสุขภาพระดับแถวหน้าเหล่านี้

การแพร่ระบาดทำให้สื่อมวลชนมีโอกาสพัฒนาการทำข่าวเกี่ยวกับสุขภาพและยาในอนาคต ผู้ร่วมเวทีเสวนา #GIJC21 กล่าว | ที่มาภาพ: GIJN
 

1. เรียนรู้ว่าระบบสาธารณะสุขทำงานอย่างไร

“คุณต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่พูดกันปกติทั่วไป อะไรคือข้อยกเว้น” ทีนารีกล่าว โดยยกตัวอย่างการที่วัคซีน COVID-19 ถูกอนุมัติอย่างรวดเร็วกว่าปกติและมีการลัดขั้นตอนจำนวนมาก การอนุมัติใช้ยาในช่วงก่อนจะมี COVID-19 นั้นมีขั้นตอนที่ยาวนานมาก แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ ขณะที่ริวาอธิบายว่า “ไม่ใช่แค่เรื่องของขั้นตอนทางราชการ แต่มันคือการปกป้องผู้ป่วยและสาธารณชน…กรอบของกฎระเบียบต่างๆ นั้นเป็นไปเพื่อนำองค์ความรู้และข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุดออกมา เพื่อตอบให้ได้ว่ายาเหล่านั้นมีสัดส่วนระหว่างประโยชน์กับโทษที่ให้ผลบวกแก่สาธารณะได้”

แรงกดดันจากเหล่าอุตสาหกรรมยาให้เร่งรัดกระบวนการเหล่านั้นมีมาอย่างยาวนาน และ COVID-19 เพิ่งทำให้มีการเร่งรัดขั้นตอนอนุมัติใช้ยาต่างๆ ให้เหลือเพียงแค่ 2 เดือน ริวาเสริมว่าขั้นตอนการอนุมติที่ “มีการเร่งรัดเป็นพิเศษ” ส่งผลกระทบในแง่ที่ว่าการเก็บข้อมูลวิจัยและการประมาณการณ์จากอุตสาหกรรมยาที่จะออกมาในอนาคตนั้นก็จะได้รับการตรวจสอบกันต่อไป

2. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทดสอบยารูปแบบต่างๆ

การทดสอบยาแต่ละวิธีนั้นถูกออกแบบมาเพื่อตอบคำถามที่ต่างกันออกไป ผู้สื่อข่าวต้องมีความเข้าใจ เฉพาะจงลงไปว่าการทดสอบนั้นเป็นการทดสอบแบบใด และอะไรที่สามารถบอกเราได้หรือไม่ได้เกี่ยวกับยาดังกล่าว ซึ่งบริบทแวดล้อมเหล่านี้ควรถูกแสดงออกมาให้เห็นในการรายงานข่าว เช่นเดียวกับใน “แนวทางสำหรับการสอบสวนเกี่ยวกับสุขภาพและยา” ของ GIJN ที่เขียนโดยริวาและทีนารี บทความดังกล่าวอธิบายความแตกต่างของรูปแบบการทดสอบยาแต่ละแบบ เพื่อช่วยให้ผู้สื่อข่าวเข้าใจถึงวิธีการต่างๆ ได้เร็วขึ้น

ควรมองหาสิ่งที่เป็น “พิรุธ” ต่างๆ เช่น เมื่อมีการทดสอบที่ตั้งใจออกแบบเพื่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างเป็นการเฉพาะ หรือการที่ขนาดของตัวอย่างหรือขนาดของผลลัพธ์นั้นไม่ได้มีนัยสำคัญอย่างที่งานวิจัยกล่าวอ้าง ตอร์เรสกล่าว

แนวทางสำหรับการสอบสวนเกี่ยวกับสุขภาพและยา” ของ GIJN แสดงให้เห็นความแตกต่างของการทดสอบยาแต่ละแบบ | ที่มาภาพ: GIJN
 

3. จับตาดูสิ่งที่ปรากฎในข่าวประชาสัมพันธ์

ยาหรือวัคซีนตัวใหม่ที่บริษัทยาประกาศผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ว่าจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงในตลาด ควรต้องตรวจเช็กถึงแหล่งที่มาให้ดี ดูว่าเจตนาเบื้องหลังของพวกเขาคืออะไร และตรวจสอบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการทดสอบต่างๆ ทั้งระยะเวลาที่ใช้ สิ่งที่ถูกเน้น และมีอะไรที่ถูกทดสอบเป็นการเฉพาะ

ดูตัวอย่าง บทวิเคราะห์ของ “Re-check” เกี่ยวกับข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัท Pfizer และ BioNTech ในเดือน พ.ย. 2020 ที่บริษัทอ้างว่าวัคซีนของพวกเขาสามารถปกป้องผู้คนจาก COVID-19 ได้ 95% โดยคำกล่าวอ้างนั้นถูกรายงานออกไปเป็นวงกว้างโดยสื่อทั่วโลก “เราไม่มีข้อมูล เรามีเพียงคำพูดของ Pfizer และบอกว่าเราควรจะเชื่อมันอย่างนั้นหรือ” ริวากล่าว “มันไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นข้อสรุป และนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านสาธารณสุข โดยอ้างอิงจากการสื่อสารของบริษัทยาเพียงอย่างเดียว”

4. เข้าใจถึงผลกระทบ ของการอนุมัติใช้ยาอย่างเร่งด่วน ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลการทดสอบ

ผลกระทบของการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUAs) สำหรับวัคซีน COVID-19 ในด้านคุณภาพ ข้อมูลที่ได้จากทดสอบนั้นชี้ให้เห็นว่า “การเร่งรัดเกิดไป” ในการอนุมัติใช้ยาตัวใหม่ที่ทำกันอยู่อย่างกว้างขว้างในขณะนี้ “อาจไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่” ริวากล่าว “การที่คุณเปิดประตูบานนั้นออกไปแล้ว ก็เป็นการยากมากที่จะบอกบริษัทยาอื่นๆ ว่าสินค้าของพวกเขาควรจะกลับมาใช้การอนุมัติในรูปแบบเดิม…มันกลายเป็นเรื่องยากมากที่จะให้เหตุผลแบบนั้น”

การเร่งขั้นตอนทดสอบให้เหลือเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่ยาจะถูกวางตลาดทำให้ขาดการทดสอบวิจัยโดยใช้กลุ่มควบคุม “ข้อมูลที่เราได้จากการทดสอบแบบนั้น พบว่ายามีคุณภาพสูงกว่าข้อมูลคุณภาพที่เก็บจากการใช้จริง” เธอกล่าว “ในการใช้จริงมันมีปัจจัยรบกวนจำนวนมาก และยังมีการรบกวนจากภูมิหลังของกลุ่มตัวอย่างอีกมากมาย ต่างจากตอนที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองกับคนที่สามารถควบคุมได้”

5. สืบเสาะหาผลประโยชน์ทับซ้อน

เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทยาเป็นแหล่งอุดมไปด้วยประเด็นข่าวสืบสวน ผลงานจาก Salud Con Lupa เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม ในการสืบสวนเกี่ยวกับวัคซีนที่นำไปสู่การทุจริตทางการเมือง เชื่อมโยงไปถึงการเสนอขายวัคซีนอย่างลับๆ จากบริษัทสัญชาติจีน ลองตรวจสอบหาความขัดแย้ง และหาแหล่งข้อมูลที่เป็นอิสระ จะสามารถช่วยให้รายงานข่าวของคุณโปร่งใสและไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของใคร

ตรวจดูในแหล่งข้อมูลหรือประเด็นเหล่านั้นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่หรือไม่ ลองดูข้อมูลที่มีในบันทึกทางการแพทย์ และการบันทึกที่เปิดเผยโดย “International Society of Drug Bulletins” ซึ่งจะบอกรายการลงทะเบียนสิทธิบัตรทางการแพทย์ รวมถึงข้อมูลในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ในบางประเทศยังมีฐานข้อมูลที่บันทึกความสัมพันธ์ทางการเงินระหว่างเจ้าหน้าที่และบุคลากรด้านสาธารณสุขกับอุตสาหกรรมยา อย่างเช่น the Open Payments database ในสหรัฐอเมริกา

“ให้มองหาใครสักคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบสวนนั้น คนที่มีความรู้ในประเด็นดังกล่าว และยังต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระในด้านนั้นอีกด้วย” ตอร์เรสกล่าว

6. ปรับกรอบการรายงานข่าวของคุณ

“คำถามที่สำคัญสุดในการพิจารณาเลือกประเด็นมาทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ คือมันจะส่งผลต่อชีวิตของผู้อ่านในตอนนี้ได้อย่างไร” ตอร์เรสกล่าว นี่คือวิธีคิดที่เป็นประโยชน์เมื่อต้องเผชิญกับข้อมูลใหม่ๆ งานวิจัยหรือหัวข้อที่จะนำไปสู่การสืบสวน ซึ่งหลั่งไหลเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก โดยมีเครื่องมือจาก Salud Con Lupa ที่ใช้ช่วยจำแนกวิธีการรักษา COVID-19 แบบต่างๆ ที่ถูกพูดถึงกันมาก ให้ผู้อ่านสามารถตรวจสอบยาและวิธีการรักษากว่า 42 ประเภทว่าแต่ละอย่างมีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับใด ซึ่งมีการแบ่งระดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับต่ำที่สุดคือ “ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ” ไปถึงสูงที่สุดคือ “การรักษาที่ได้มาตรฐาน”

เครื่องมือจาก Salud Con Lupa ที่ใช้ช่วยจำแนกวิธีการรักษา COVID-19 แบบต่างๆ | ที่มาภาพ: GIJN
 

คำอธิบายภาพ

(7) “การรักษาที่ได้มาตรฐาน” คือ การรักษาที่สามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย มีหลักฐานที่มีความแน่นอนสูงรับรอง ถ้าต้องเลือกการระหว่างรักษานี้กับการรักษาอีกแบบที่คล้ายคลึงกัน การรักษานี้จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

(6) “พร้อมใช้งาน” เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้จากการรักษา กับความเสี่ยง ผลเสีย และปัจจัยบริบทอื่นๆ แล้ว ในแทบจะทุกกรณีชี้ไปทางที่ว่าการรักษานี้มีประโยชน์มากกว่า และมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือสนับสนุนด้วย

(5) “ตัวความหวัง” เรายังไม่มั่นใจว่าประโยชน์ที่ได้จากการรักษานั้นมีมากกว่าความเสี่ยง ความเสียหาย หรือปัจจัยบริบทอื่นๆ แม้จะผลลัพธ์เบื้องต้นจะออกมาดี มันก็ยังไม่พร้อมที่จะถูกนำไปใช้เป็นการทั่วไป แม้เริ่มจะมีงานศึกษาออกมาให้การรับรอง

(4) “ก่ำกึ่ง” เป็นการรักษาแบบที่ยังไม่สามารถมั่นใจอะไรได้ ทั้งเพราะการที่หลักฐานมีความแน่นอนต่ำ เพราะการศึกษาวิจัยได้ผลลัพธ์ที่ปะปะกัน หรือเพราะข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ แม้จะเริ่มมีงานศึกษาออกมาให้การรับรอง

(3) “พึ่งพาไม่ได้” ผลทดสอบเบื้องต้นของการรักษานี้ยังไม่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถชี้ชัดได้อย่างแน่นอนว่าการรักษาให้ประโยชน์อะไรบ้าง เริ่มมีงานศึกษาที่ออกมาให้การรับรองว่า แต่ใช้ได้ผลในเฉพาะบางกลุ่มตัวอย่างหรือในบางสถานการณ์ นอกเหนือจากนั้นยังได้ผลลัพธ์ที่ยังไม่น่าพอใจอยู่

(2) “ไม่ควรจะนำไปใช้” คือ วิธีการรักษาที่ไม่ได้ให้ประโยชน์ หรือให้ประโยชน์น้อยเมื่อเทียบกับความเสี่ยง หรือให้ประโยชน์ที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับผลเสียที่ได้รับ มีหลักฐานยืนยันเป็นอย่างดีว่าไม่ควรนำไปใช้ในทางการแพทย์ เริ่มจะมีงานศึกษาที่มารับรองว่าใช้ได้ผล ในเฉพาะบางกลุ่มตัวอย่างหรือในบางสถานการณ์ นอกเหนือจากนั้นผลลัพธ์ออกมาในทางลบเสียมากกว่า

(7) “ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ” เป็นการรักษาแบบแก้ขัด (Intervention) ที่การทดลองกับมนุษย์ไม่สามารถประเมินผลได้ เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะรู้ถึงความเสี่ยงของการรักษา หรือไม่มีความเป็นไปไม่ได้ที่จะทราบถึงประโยชน์ของมัน

7. มองหาว่าอะไรที่ยังไม่ถูกหยิบยกมารายงาน

การพัฒนายาและวัคซีน ขั้นตอนการอนุมัติ และองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับ COVID-19 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หน้าสื่อมักจะเต็มไปด้วยการอัปเดตสถานการณ์ล่าสุด ท่ามกลางการแพร่ระบาดครั้งนี้และในอนาคต การคอยมองหาว่าอะไรที่ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมารายงาน ถือเป็นโอกาสสำหรับสื่อมวลชน “ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เรายังคงไม่รู้เกี่ยวกับผลประโยชน์ของแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการที่คอยให้คำแนะนำกับรัฐบาล” ตอร์เรสกล่าว

เพื่อลบล้างคำกล่าวอ้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการรักษา หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีน ข้อมูลจากเว็บไซต์ The Retraction Watch ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่มีทั้งฐานข้อมูลไปจนถึงเอกสารที่ใช้ลบล้างงานศึกษาและข้อมูลการโต้แย้งงานวิจัย

สำหรับคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมดูได้จาก คู่มือสืบสวนสอบสวนเกี่ยวสุขภาพและการแพทย์ ของGIJN โดยผู้สื่อข่าวจาก Re-Check ริวาและทีนารี

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net