Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง ความมั่นคงของอาหารคือความมั่นคงของชาติ เกษตรกรคือผู้ทำหน้าที่ผลิตอาหาร ความมั่นคงของเกษตรกรจึงเท่ากับความมั่นคงของชาติ ผู้เขียนขอฟันธงว่าทางรอดของคนไทยในสถานการณ์ที่เรียกว่ายิ่งกว่าวิกฤต ณ ตอนนี้ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นคือ การทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีความมั่นคงยั่งยืน

น้ำ คือ สัญลักษณ์ของชีวิต มีน้ำที่ไหนมีชีวิตที่นั่น น้ำจึงเป็นปัจจัยหลักสำคัญยิ่งสำหรับอาชีพเกษตรกรรม วาระสำคัญเร่งด่วนอันดับแรกของชาติบ้านเมืองในตอนนี้จึงได้แก่ การทุ่มเทงบประมาณไปที่การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน อ่าง ฝาย หนอง คู คลอง บึง สระ บ่อบาดาล ฯลฯ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างเอาจริงเอาจัง เพราะป่าคือผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำที่มีความสำคัญมากที่สุดในระบบนิเวศน์ ถือเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ป้องกันได้ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม
การมุ่งเน้นทุ่มเทงบประมาณไปช่วยเหลือดูแลกลุ่มธุรกิจนายทุน อุตสาหกรรมการผลิต พาณิชยกรรม การค้าขาย การท่องเที่ยว ฯลฯ ให้สินเชื่อเงินกู้แบบลดแลกแจกแถมแก่ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ทั้งหลาย โดยละเลยไม่ให้ความสำคัญกับเกษตรกร ถือว่าเดินผิดทางอย่างมหันต์ เพราะถ้าเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย แล้วจะผลิตจะขายสินค้าให้ใครซื้อ

แม้ว่าอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าขายเหล่านั้น คือ กลไกรองรับผลผลิตของเกษตรกร แต่หากจัดลำดับความสำคัญแล้วต้องมาเป็นอันดับรอง เปรียบดั่งการสร้างตึกสร้างบ้าน จะไปสร้างห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว หลังคา ฯลฯ ก่อนการก่อสร้างฐานรากได้อย่างไร 

การทุ่มเทงบประมาณให้กับการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว นอกจากจะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาวแล้ว ในระยะสั้นเฉพาะหน้านี้ ยังช่วยทำให้ผู้คนมีงานทำ มีรายได้ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย สิ่งไหนที่พอจะใช้แรงคนได้ เราก็ให้คนทำไป อย่าคิดว่าเป็นเรื่องโบราณล้าสมัยหรือเห็นเป็นเรื่องตลกว่าแรงงานคนจะทำอะไรได้สักกี่มากน้อย สิ่งมหัศจรรย์ของโลกทั้งหลายในอดีตเป็นต้นว่า กำแพงเมืองจีน นครวัดนครธม ปราสาทราชวัง หรือทางรถไฟ ถนนสายต่างๆ ที่สร้างข้ามผ่านภูเขาแม่น้ำอันยาวไกลสุดแสนทุรกันดารล้วนอาศัยฝีมือแรงงานคนเป็นหลักทั้งสิ้น

นอกจากแหล่งน้ำแล้ว หัวใจหลักสำคัญของการประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือ การผลิต การบริหารจัดการ และ การตลาด กรณีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเรื่องการผลิตคงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะเกษตรกรไทยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และสั่งสมประสบการณ์สืบต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยุคสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้านต่างๆได้พัฒนาก้าวหน้ามากมาย หากต้องการศึกษาหาความรู้เพื่อต่อยอดเพิ่มเติมก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร

สิ่งสำคัญที่รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือจัดการคือ การสร้างระบบหรือกำหนดกฎกติกาที่เหมาะสมเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้การช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณและการบริหารจัดการในทุกภาคส่วนอย่างเป็นองค์รวมไม่คิดแบบแยกส่วน ในที่นี้ขอเสนอแนวทางยุทธศาสตร์ 3 ประการ คือ 

1. การลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะยิ่งการส่งเสริมให้ใช้ ปุ๋ยอินทรีย์ แทน ปุ๋ยเคมี อย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตระยะยาว เพราะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยทำให้สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์และต้นทุนลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีจะก่อให้เกิดผลตรงข้ามกันคือ ดินเสื่อมสภาพ ต้นทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอาจกล่าวได้ว่าตอนนี้ที่ดินของเกษตรกรไทยเสพปุ๋ยเคมีจนติดงอมแงม หากไม่รีบเยียวยารักษา อีกไม่ช้าไม่นานแหลมทองอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ก็คงจะกลายเป็นสุสานดินตายอย่างแน่นอน

การใช้ ยาปราบศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง ก็ถือเป็นวิกฤตปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยนอกจากจะมีส่วนทำให้ต้นทุนสูงแล้ว ยังส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อสุขภาพร่างกายของเกษตรกรและประชาชนในฐานะผู้บริโภค รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้เกษตรกรเลิกใช้โดยเด็ดขาด เพราะได้ไม่คุ้มเสีย

ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆว่า สมมติว่าการใช้ปุ๋ยเคมีกับยาปราบศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง จะทำให้ได้ผลผลิต 100 หน่วย ขณะที่การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และไม่ใช้ยาเลย จะทำให้ได้ผลผลิต ึ70 หน่วย แต่เมื่อคิดหักต้นทุนแล้วปรากฏว่าได้ผลกำไรพอๆ กัน อย่างนี้การใช้ปุ๋ยใช้ยาใครได้ใครเสียประโยชน์ แน่นอนที่สุดว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ คือ พ่อค้านายทุน เพราะนอกจากจะหากำไรจากผลผลิต 100 หน่วยแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการขายปุ๋ยขายยาอีก ส่วนเกษตรกรนอกจากจะประสบภาวะขาดทุนซ้ำซากหรือได้กำไรน้อยนิดแล้ว ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนความเสี่ยงในเรื่องของการเจ็บป่วย ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งความทุกข์ทรมานและลมหายใจที่สั้นลงซึ่งประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้

เรื่อง เมล็ดพันธุ์ ก็นับได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่หลวงในตอนนี้ โดยนอกจากจะเป็นต้นทุนของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว ยังถูกกลุ่มทุนขนาดใหญ่ผูกขาดและมัดมือชกไร้ทางเลือกทางต่อสู้ รัฐต้องรีบเร่งออกกฎหมายหรือหามาตรการแนวทางเพื่อปกป้องคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆเป็นการด่วนและควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรได้จัดเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองอย่างแพร่หลายกว้างขวาง รวมทั้งควรทุ่มงบประมาณในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชกันอย่างจริงจัง

ปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของเกษตรกรที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตคือ แรงงาน โดยที่เกษตรกรส่วนใหญ่ในปัจจุบันน่าจะมีอายุกว่า 50 ปีขึ้นไป เพราะในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาลูกหลานเกษตรกรได้พยายามหลีกหนีหรือถูกผลักไสจากครอบครัวให้หันไปประกอบอาชีพอื่น เพราะมองว่าเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยด้อยค่า ทุกข์ยากลำบาก ไม่มีอนาคต 

ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ สถานการณ์ ณ ตอนนี้ ถือเป็นโอกาสทองสำหรับแรงงานภาคการเกษตรซึ่งเราต้องรีบฉวยคว้าไว้ให้ได้ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนคิดหามาตรการแนวทางต่างๆรองรับ เพื่อให้ลูกหลานเกษตรกรคืนถิ่นกลับไปทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมให้มากที่สุด 

หากรัฐเพิกเฉยละเลยไม่ใส่ใจ เพื่อความอยู่รอดเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีเกษตรกรจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะถูกบีบบังคับให้ตัดสินใจขายที่ดินทำกิน คนที่ซื้อก็คงจะได้แก่ เหล่าเศรษฐีคนร่ำรวย นักธุรกิจนายทุน ซึ่งจะกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่หลายร้อยหลายพันไร่ พวกต่างชาติก็อาจจะเข้ามาร่วมวงด้วย ซึ่งหากรัฐบาลอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ ก็จะถูกกดดัน แทรกแซง วิ่งเต้น ให้มีการแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดช่องเปิดโอกาสให้คนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ถึงตอนนั้นพืชผลการเกษตรต่างๆของไทยก็คงจะราคาแพงลิบลิ่ว โดยไม่จำต้องอาศัยโครงการรับจำนำ ประกันราคา หรือโครงการอื่นใดช่วยเหลืออีก ความเป็นทุกข์เดือดร้อนของราษฎรก็คงจะแผ่ขยายไปทุกหย่อมหญ้า

2. การจัดแบ่งเขตพื้นที่การผลิตและการสร้างระบบกลไกตลาด ปัญหาใหญ่หลวงของเกษตรกรไทยอีกเรื่องหนึ่งคือ สินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญสืบเนื่องมาจากการปลูกพืชเกษตรชนิดเดียวกันมากเกินไป ช่วงไหนที่พืชผลเกษตรชนิดใดมีราคาสูงก็จะเฮโลปลูกกันยกใหญ่ ซึ่งย่อมแน่นอนว่าเมื่อมีสินค้าจำนวนมากราคาย่อมลดลงเป็นธรรมดาตามหลักอุปสงค์อุปทาน 

เมื่อราคาตกต่ำมากๆ ก็จะหันไปปลูกพืชเกษตรชนิดอื่นที่ราคาดีกว่า เนื่องจากขณะนั้นมีคนปลูกน้อย แต่หลังจากนั้นก็จะได้ราคาดีระยะหนึ่งในช่วงสั้นๆ เพราะจะมีคนเฮโลปลูกกันจำนวนมาก โดยทุกคนจะตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ถูกบีบบังคับให้ต้องคิดทำเหมือนกัน สุดท้ายราคาก็จะตกต่ำอีก เป็นวัฏจักรที่น่าเศร้าซ้ำซากเช่นนี้มาอย่างยาวนาน ขณะที่เหล่าพ่อค้านายทุนไม่ว่าพืชผลการเกษตรจะตกต่ำหรือดีขึ้นอย่างไรก็ไม่เดือดร้อนเป็นปัญหา มีแต่ได้กับได้ เพราะกินส่วนต่างจากราคาที่ซื้อมาขายไป

ข้อเสนอคือ เราควรกำหนดยุทธศาสตร์ในภาพรวมของทั้งประเทศ ด้วยการจัดแบ่งเขตพื้นที่หรือกำหนด Zoning ให้ชัดเจนว่าเกษตรกรกลุ่มไหน จำนวนเท่าใด ควรปลูกพืชผลหรือทำปศุสัตว์ประเภทใด มากน้อยอย่างไร ในพื้นที่ไหนบ้าง พร้อมกันนั้นก็ช่วยเหลือสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายระบบกลไกตลาดขึ้นมาให้เพียงพอและเหมาะสมกับปริมาณผลผลิตที่ออกมาในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่กลไกตลาดในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค ประเทศ

ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเกือบ ึ70 ล้านคน มีเนื้อที่มากถึง 513,115 ตารางกิโลเมตร แต่ละภาคแต่ละจังหวัดมีทรัพยากร มีสินค้า มีแหล่งท่องเที่ยว มีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลายมากมาย หากเราสร้างกลไกการผลิตและการตลาดให้มีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันอย่างเป็นระบบ มีความสมดุลทั่วถึงกันทั้งประเทศ เศรษฐกิจของเราก็จะมั่นคงยั่งยืนสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ โดยไม่จำต้องพึ่งพาอาศัยตลาดต่างประเทศซึ่งมีแต่ความผันผวนไม่แน่ไม่นอน ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆมากมายที่ไม่อาจควบคุมหรือคาดหมายได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุปัจจัยอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID 19) และสงครามรัสเซีย-ยูเครนในขณะนี้ 

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยผูกติดขึ้นอยู่กับต่างประเทศมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเพื่อส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะสุ่มเสี่ยงไม่แน่นอนแล้ว หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่ามีต้นทุนแฝงมากมายที่น่าจะได้ไม่คุ้มเสีย เช่น การท่องเที่ยว เคยคิดกันบ้างไหมว่าชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวนั้น เราต้องจัดหาโรงแรมที่พัก อาหาร น้ำ คนให้บริการ ระบบสาธารณูปโภคอื่นๆอีกมากมายให้กับพวกเขา ไหนจะเรื่องขยะของเสียต่างๆที่เราต้องจัดการอีก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนและส่งกระทบเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

ที่กล่าวมาคงไม่ได้หมายความว่าควรมีนโยบายให้ปิดประเทศ การติดต่อสัมพันธ์หรือการค้าขายกับต่างประเทศถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่เราต้องรู้เขารู้เราและจัดวางสร้างระบบในการยืนอยู่บนสังคมโลกให้เหมาะสม ชาญฉลาด มีเกียรติมีศักดิ์ศรี กรณีเรื่องการส่งออกต้องเน้นสินค้าเกษตรปลอดสารพิษและการแปรรูปที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสูง กรณีเรื่องการท่องเที่ยวต้องเน้นในเชิงคุณภาพโดยคำนึงถึงประเพณีวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินเท่านั้น

3. การปฏิรูปที่ดินทำกิน หากไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง คงเป็นเรื่องยากที่เกษตรกรจะมีความเข้มแข็ง ยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองได้ การปฏิรูปที่ดินแบบหักดิบเด็ดขาดจริงจังจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญด้วยการออกกฎหมายจำกัดจำนวนการถือครองที่ดินให้เหมาะสมเป็นธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มเศรษฐีนายทุนครอบครองที่ดินเป็นพันเป็นหมื่นไร่เหมือนเช่นทุกวันนี้ จากนั้นก็เวนคืนที่ดินในส่วนที่ครอบครองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำไปจัดสรรแบ่งปันให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

นอกจากนั้น ต้องจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องการบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่ากันอย่างเอาจริงเอาจัง โดยต้องป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่โดยเด็ดขาด พื้นที่ไหนที่มีประชาชนเข้าครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว หากมีลักษณะเหมาะสมกับการทำกสิกรรมก็ควรออกเอกสารสิทธิ์หรืออนุญาตให้ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พื้นที่ไหนที่ไม่เหมาะสมเช่นเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารหรืออยู่บนภูเขาสูงชัน ก็ต้องผลักดันให้ออกมาอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม 

อนึ่ง เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาจะมีแนวคิดว่าป่าเป็นของรัฐ ประชาชนเป็นศัตรูผู้บุกรุกต้องถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ขัดกับกฎธรรมชาติ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่าในการดำรงชีวิตเหมือนสัตว์ทั่วไป ณ ปัจจุบันน่าจะพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า แนวคิดดังกล่าวไม่สามารถป้องกันรักษาป่าไว้ได้ จึงควรปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่เป็นว่า ป่าเป็นของประชาชนและตั้งโจทย์ว่าจะจัดการอย่างไรให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลไม่มีปัญหา หลักการสำคัญน่าจะได้แก่ การทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของป่า การดูแลรักษาป่าก็คือการดูแลรักษาชีวิตตัวเอง หากทำไม่ได้ก็ต้องเรียกว่าอายสัตว์มัน เพราะประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่ามียุคสมัยใดที่ทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลายเสียหายเพราะสัตว์ป่าจนถึงขั้นส่งผลกระทบเดือดร้อนต่อชีวิตความเป็นอยู่และการดำรงเผ่าพันธุ์

ขอเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง ความมั่นคงของเกษตรกรคือความมั่นคงของอาหาร คือความมั่นคงของชาติ หากเกษตรกรอ่อนแอชาติย่อมอ่อนแอ และสุดท้ายประเทศชาติจะไปไม่รอด คนไทยจะไม่รอด แม้เราจะมีกองทัพบก เรือ อากาศ ที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรมากแค่ไหน ก็คงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้

เกษตรกรจะมีความเข้มแข็งมั่นคงได้ต้องมีความเป็นอิสระ สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ภายใต้กฎกติกาที่เหมาะสมเป็นธรรม แนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มีเป้าหมายให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นแกนนำ ให้เกษตรกรเป็นผู้พึ่งพา เป็นทาสระบบการผลิต ขาดอิสระ ถูกครอบงำ จะส่งผลทำให้เกษตรกรไทยอ่อนแอลงเรื่อยๆ

หากอุปมาเปรียบเทียบกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ยุทธศาสตร์การใช้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นแกนนำก็คงเปรียบเสมือนการแผ้วถางพื้นที่ป่าธรรมชาติทั้งหมดทั่วประเทศ แล้วเอาพันธุ์ไม้ชนิดที่เห็นว่าขายได้ราคาดีไปปลูกเป็นแถวเป็นแนวอย่างเป็นระบบระเบียบเป็นสวนป่า ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ เมื่อบวกลบคูณหารแล้วต้องถือว่าขาดทุนย่อยยับป่นปี้

ที่ถูกต้องแล้วเราต้องพยายามปกปักรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่ตามสภาพธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ต้นไม้น้อยใหญ่ทั้งหลายต่อสู้แข่งขัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันภายใต้ระบบนิเวศน์ที่มีความสมดุลยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม หากจำเป็นต้องปลูกป่าเพิ่มเติมหรือเพื่อประโยชน์ในเชิงธุรกิจการค้าก็ควรทำเฉพาะพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือบริเวณพื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเกษตรกรก็เช่นกัน

ท้ายที่สุดนี้ ขอตั้งข้อสังเกตด้วยความวิตกกังวลและห่วงใยประเทศชาติอย่างสุดซึ้งว่า นับต่อแต่นี้ไปคงมีวิกฤตปัญหาใหญ่หลวงมากมายที่สังคมไทยจะต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องประชาชน หากเราไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศและระบบการเมืองการปกครองให้เข้าที่เข้าทางอย่างเป็นสากลเหมือนดั่งอารยะประเทศ และให้ความสำคัญกับการศึกษา การพัฒนาคนอย่างจริงจัง บ้านเมืองคงไปไม่รอดอย่างแน่นอน

ปรากฏการณ์ชุมนุมประท้วงของเยาวชนคนหนุ่มสาวอย่างมากมายในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แท้จริงแล้วเหตุปัจจัยหลักสำคัญเบื้องหลังที่ผลักดันทำให้เกิดอุดมการณ์แนวคิดทางการเมืองขึ้นมาคือ เรื่องปากท้อง ไม่ใช่เรื่องการชังชาติหรือมีใครวางแผนหลอกเด็กอยู่เบื้องหลัง หลายปีที่ผ่านมาเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยเห็นรุ่นพี่ส่วนใหญ่ที่จบไปไร้ความมั่นคงในชีวิต หางานลำบาก รายได้ไม่เพียงพอ ไม่แน่ไม่นอน ครอบครัวพ่อแม่ญาติพี่น้องทางบ้านไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร สาขาวิชาชีพไหน ก็ล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำกันถ้วนหน้า ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาด้วย และด้วยตรรกะเหตุผลง่ายๆธรรมดาๆ เขาย่อมรู้สึกวิตกกังวลกับอนาคตว่า หากปล่อยให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ต่อไป พวกเขาคงต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น อย่าได้แปลกใจว่าหากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข เราอาจจะได้เห็นเด็กนักเรียนชั้นประถมหรืออนุบาลออกมาแสดงพลังกัน เพราะจากการที่ค่าขนม ค่าของเล่น ค่ากินค่าเที่ยว ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับชีวิตพวกเขาหดหายไป พร้อมๆกันกับการได้ยินเสียงบ่นด่า การปรับทุกข์ในลักษณะเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ ของพ่อแม่ ญาติพี่น้องทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยสัญชาตญาณตามธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด เขาย่อมรู้ดีว่าจะอยู่นิ่งเฉยต่อไปไม่ได้แล้ว 

แม้ชีวิตเป็นดั่งสายน้ำ จักรวาลไร้ขอบเขต หนทางไม่เคยจางหาย แต่ยิ่งปล่อยให้วิกฤตปัญหายืดเยื้อยาวนานเนิ่นช้าออกไปเท่าไหร่ ช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านซึ่งจะต้องเกิดมีขึ้นตามกฎธรรมชาติอย่างแน่นอน ก็จะยิ่งหนักหน่วงรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net