Skip to main content
sharethis

ข้อเรียกร้องบ้างส่วนเข้า ครม. พักชำระเงินต้น 50% และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ยังปักหลักชุมนุมต่อ เตรียมหารือข้อตกลงกับ ธ.ก.ส.อีกครั้งหนึ่ง

22 มี.ค.2565 ความคืบหน้ากรณีเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เดินทางมาปักหลังกินนอนที่บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 6 หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาหนี้ชาวนา เร่งโอนหนี้สินของเกษตรกรจากธนาคารมาเป็นของรัฐ ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น

ล่าสุดวันนี้ (22 มี.ค.65) สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า คณะรัฐมนตรี ครม. มีมติเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ SME BANK จำนวน 50,621 ราย เป็นหนี้เงินต้น 9.28 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 6.81 พันล้านบาท โดยเกษตรกรรับภาระเงินต้น 50% พักชำระเงินต้น 50% และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว จะได้รับการยกเว้นเงินต้นและดอกเบี้ยในส่วนที่พักไว้ทั้งหมด

สำหรับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 50,621 ราย ได้แก่ ลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวน 47,973 ราย หนี้เงินต้น 8.52 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 5.77 พันล้านบาท ลูกหนี้ธนาคารออมสิน จำนวน 552 ราย หนี้เงินต้น 1.62ร้อยล้านบาท ลูกหนี้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 2,008 ราย หนี้เงินต้น 3.06 ร้อยล้านบาท และลูกหนี้ SME BANK จำนวน 88 ราย หนี้เงินต้น 2.93 ร้อยล้านบาท ดอกเบี้ย 3.89 ร้อยล้านบาท

รายละเอียดเพิ่มเติมตามที่รายงานผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ครม. มีมติ 1. เห็นชอบในหลักการการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง [ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)] โดยให้เกษตรกรฯ ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิมโดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรฯ ทำสัญญาผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ตามระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี สำหรับการชดเชยเงินต้นร้อยละ 50 ในส่วนที่เกษตรกรฯ ไม่ต้องรับภาระ กลุ่มเป้าหมายจำนวน 50,621 ราย รัฐจะรับภาระในการจัดสรรเมื่อเกษตรกรฯ ได้ชำระหนี้คืนงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดรายละเอียดและแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น

ในส่วนของการขอยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระของธนาคารรัฐ 4 แห่ง ให้ กษ. ร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการดำเนินการให้ได้ข้อยุติที่เหมาะสมแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

2. รับทราบการยกเลิกหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน และ 3. ให้ กษ. ประสานกระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เกษตรกร จำนวน 50,621 รายดังกล่าวข้างต้น ได้รับการแก้ปัญหาหนี้สินของตนในกรอบการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือนของ คจพ. ด้วย

ภายหลังจากมีมติ ครม. ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า มติ ครม.ที่ออกมานั้น ตรงกับข้อเรียกร้องเพียงแค่ส่วนหนึ่งคือ การพักชำระเงินต้น 50% และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ แต่หนี้สินยังอยู่กับเจ้าหนี้เดิม ซึ่งถือว่ายังไม่ปลอดภัย เนื่องจากเจ้าหนี้ยังสามารถยึดหลักทรัพย์และนำขายทอดตลาดได้ แต่ถ้าหากมีการโอนหนี้เข้าสู่ กฟก. ชาวนาก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องที่หลักทรัพย์จะถูกขายทอดตลาด ทั้งนี้ จะยังปักหลักชุมนุมต่อไป โดยในวันพรุ่งนี้ จะเดินหาเพื่อหารือข้อตกลงกับ ธ.ก.ส.อีกครั้งหนึ่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net