Skip to main content
sharethis

1 ก.ย. 2558 อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่้วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะสั้น วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 3 ด้าน แบ่งเป็น

1.การอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินทุน ธ.ก.ส.และออมสิน แห่งละ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กองทุนฯ โดยไม่คิดดอกเบี้ย จากนั้นนำไปปล่อยกู้ชาวบ้านสมาชิกกองทุนเป็นระยะเวลา 7 ปี ปลอดดอกเบี้ย 2 ปี จากนั้นดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนบริหารเงิน บวกร้อยละ 1 หรือ ไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี โดยไม่จำกัดวงเงินกู้แต่ละราย โดยห้ามนำเงินไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านเดิมแต่ให้นำไปชำระหนี้นอกระบบเพื่อลดภาระได้บางส่วน

โดยกำชับให้กรรมการกองทุนฯพิจาณาช่วยเหลือในส่วนที่จำเป็นของแต่ละคน เพราะกลุ่มรายได้น้อยไม่มีเงินทุนใช้จ่าย จึงต้องการให้มีทุนประกอบอาชีพ โดยกรรมการกองทุนจะพิจารณาให้กู้อย่างรอบคอบในกองทุนเกรด A,B เพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนที่เป็นประโยชน์ เพราะกรรมการกองทุนฯคุ้นเคยกันในพื้นที่โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับแบงก์รับทั้งสองแห่งวงเงิน2,400 ล้านบาท เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนกำลังซื้อลดลง จึงต้องการเพิ่มกำลังซื้อให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในเมือง เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ

2.โครงการลงทุนขนาดเล็กในพื้นที่จัดสรรเงินตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงินทั้งหมด 36,275 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท้องถิ่นผ่านกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาโครงการลงทุนในพื้นที่ เช่น การส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว การสร้างตลากกลาง การขุดแหล่งน้ำ การใช้เงินเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ โดยสำนักงบประมาณต้องติดตามผลการลงทุนและรายงาน ครม.รับทราบทุกเดือน

3. การเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งส่วนราชการได้ขอจัดสรรงบประมาณไปแล้ว สำหรับการใช้งบประมาณในปี 59 โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนี้เป็นต้นไปและเป็นโครงการใหม่ซึ่งได้นำเงินจากงบกลางปีที่ผ่านมาจัดสรรเพิ่มเติมวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ และให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบและในท้องถิ่น

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านได้รับสินเชื่อเองโดยตรง และนำไปใช้ในส่วนที่จำเป็น สำหรับการจัดสรรเงินให้ตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาท้องถิ่น การผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตรหรือใช้ในด้านสังคม จึงไม่ใช่เป็นการใช้เงินแบบประชานิยม เพราะได้ให้นำไปใช้ในการลงทุนเมื่อช่วยเหลือรายย่อยให้มีกำลังซื้อแล้วในเฟสแรก

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี กำชับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองดูแลกองทุนหมู่บ้านเกรด C,D ซึ่งเป็นกองทุนยังไม่ผ่านการประเมิน เพื่อพัฒนากองทุนกลุ่มดังกล่าวได้แล้วจึงจะกลับมาได้เงินทุนอีกกองทุนละ 1 ล้านบาท ซึ่งได้จัดเตรียมงบประมาณไว้รองรับแล้ว จากนั้นในเฟส 2 จะเริ่มหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยในช่วงอีก 1-2 สัปดาห์จะออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยกระทรวงการคลังและอุตสาหกรรรมศึกษามาตรการเพื่อดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้มแข็งในประเทศภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว จากนั้นในเฟส 3 เริ่มต้นในปีหน้าจะเริ่ม ออกไปโรดโชว์ชี้แจงต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ หลังจากได้สร้างความเข้มแข็งในประเทศ การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ออกไปบอกต่างชาติได้เมื่อภายในประเทศเริ่มเข้มแข็งและมีแนวทางพัฒนาชัดเจน

ธ.ก.ส.เตรียมปล่อยสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านเพิ่มอีกหมื่นล้าน

ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีความพร้อมในการดำเนินการตามนโยบายกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ธ.ก.ส.ดำเนินการอยู่แล้ว โดยดูแลหมู่บ้านกว่า 30,000 แห่ง จึงสามารถทำต่อเนื่องได้ทันทีในลักษณะการให้สินเชื่อต่อยอด ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่ามีหมู่บ้านที่เข้าหลักเกณฑ์มีผลการดำเนินงานดีมาก หรือระดับ A และมีผลการดำเนินงานดี หรือระดับ B รวมกัน 25,000 แห่ง ดังนั้น เพื่อให้นโยบายมีประสิทธิภาพมากที่สุด ธ.ก.ส.จึงเตรียมวงเงินในการปล่อยสินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านตามนโยบายรัฐเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีวงเงินสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน 20,000 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 3,000 ล้านบาท เหลือวงเงิน 17,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อใหม่ต้องรอมติคณะรัฐมนตรี โดยวันที่ 23 กันยายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เพื่อเตรียมพร้อมปล่อยสินเชื่อดังกล่าวต่อไป

ขยายประกันพืชผลการเกษตร

ลักษณ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เป็นโครงการนำร่อง  ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2558  มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยนาข้าว จำนวน 92,031 ราย รวมเนื้อที่เอาประกันภัยจำนวน 1.511 ล้านไร่ ซึ่งธ.ก.ส.กำลังดำเนินโครงการเพื่อขยายการทำประกันภัยพืชผลให้ครอบคลุมข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยจะมีการขยายเนื้อที่เอาประกันเป็น 5 ล้านไร่ และ10ล้านไร่ในอนาคต ครอบคลุมจำนวนเกษตรกรมากขึ้น  ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะทำให้อัตราการจ่ายเบี้ยประกันภัยพืชผลการเกษตรลดลง และช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารความเสี่ยงด้านการผลิตได้

คลังผ่อนปรนจัดซื้อโครงการลงทุนขนาดเล็ก

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางรายงานที่ประชุม ครม.รับทราบมติคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ด้วยการผ่อนปรนระบบจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ จากเดิมให้ใช้ระบบ E-Bidding, E-Market เพื่อให้เสนอราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อรัฐบาลต้องการเร่งรัดการลงทุนในช่วงนี้ จึงได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ด้วยการขยายวงเงินการจัดหาพัสดุของส่วนราชการในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนขนาดเล็กจากเดิมวงเงิน 100,000 บาท เพิ่มเป็นวงเงิน 500,000 บาท ให้ส่วนราชการใช้วิธีเจรจาตกลงราคา เพราะสามารถใช้เวลาดำเนินการเพียง 2-5 วันเท่านั้น

เตรียมเพิ่มมาตรการเร่งรัดการลงทุนในประเทศ

หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศให้เพิ่มขึ้นโดยเร็ว โดยเน้นตลาดในประเทศเป็นสำคัญ  ซึ่งอาจมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ๆ ออกมาเช่น มาตรการด้านภาษีออกมาเพิ่มเติม เป็นต้น ในส่วนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็เช่นกัน ขณะนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาปรับมาตรส่งเสริมการลงทุนบางส่วนโดยจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพื่อเร่งรัดการลงทุนของนักลงทุน รวมถึงพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนด้วย บีโอไอยังอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ลงทุน จากที่ปัจจุบันกำหนดไว้ 13 กลุ่มกิจการ คาดว่า มาตรการกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุนของบีโอไอนี้ น่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับจากนี้ไป

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net