Skip to main content
sharethis

นรินทร์ (นามสมมติ) จำเลยคดี ม.112 ปมแปะสติกเกอร์ 'กูkult' ที่รูป ร.10 เมื่อ 19 ก.ย. 63 เผยถูกตำรวจคุกคามหนัก มีการขับรถวนละแวกบ้านและถ่ายรูปหลายครั้ง ติดตามระหว่างไปเที่ยวกับเพื่อน และอื่นๆ  

นรินทร์ (นามสมมติ) ผู้ต้องหา ม.112 (ซ้าย) ภาพโดยแมวส้ม

21 มี.ค. 65 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (21 มี.ค.) บนเว็บไซต์ ระบุว่า
 นรินทร์ (สงวนนามสกุล) จำเลยคดี มาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่า แปะสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อปี 2563 ซึ่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี โดยหลังจากวันนั้นนรินทร์เปิดเผยว่า ถูกคุกคามบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ โดยมีบุคคลนิรนามเดินทางมาสอดส่องนรินทร์ที่บ้านแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง 

นรินทร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 เวลาประมาณ 20.00 น. มีรถกระบะ 2 คัน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนรถ สีบรอนซ์เงิน และสีบรอนซ์ทอง พร้อมกับรถจักรยานยนต์จำนวนหลายคันขับเข้าในซอยหมู่บ้านของนรินทร์ จากนั้นชายนิรนามหลายคนระบุจำนวนไม่ได้ เข้าไปสอบถามผู้คนในละแวกนั้นในทำนองว่า “รู้จักคนที่ทำงานเป็นติวเตอร์ที่มีบ้านอยู่แถวนี้ไหม” เพื่อนบ้านไม่ได้ให้คำตอบ สักพักชายนิรนามกลุ่มดังกล่าวจึงเดินทางกลับไป จากนั้นเพื่อนบ้านหลายคนที่ถูกถามเรื่องนี้จึงได้มาแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นกับแม่ของนรินทร์

เวลาผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง ในเวลาประมาณ 22.00 น. มารดาของนรินทร์ พบว่า บริเวณหน้าปากซอยหมู่บ้านมีรถตำรวจเปิดสัญญาณไฟไซเรนขับวนอยู่พักใหญ่ แม่จึงได้โทรไปบอกกับนรินทร์ ซึ่งขณะนั้นเขากำลังเดินทางกลับบ้าน เมื่อนรินทร์รู้ดังนั้นจึงรอเวลาสักพักถึงค่อยได้เดินทางกลับ 

เมื่อนรินทร์กลับถึงบ้านแล้ว ในคืนเดียวกันยังมีบุคคลนิรนามขับรถมอเตอร์ไซต์หลายคัน (ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด) เข้ามาภายในซอยที่บ้านในลักษณะขับวนและชะโงกมองเข้ามาในบ้านอีกหลายครั้ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 23.30 น. แม่ของนรินทร์ตัดสินใจเดินออกไปถามว่า “มาทำไมกัน ต้องการอะไร” จากนั้นบุคคลนิรนามกลุ่มดังกล่าวจึงได้ขับรถหนีออกไป โดยไม่ได้ให้คำตอบใดๆ 

ถูกติดตามตลอดเวลา

ต่อมาในวันที่ 18 มี.ค. 2565 นรินทร์นัดหมายกับเพื่อนที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง และไปถึงในเวลาประมาณเที่ยง ระหว่างนั่งพูดคุยกันอยู่ข้างในร้าน นรินทร์กับเพื่อนสังเกตว่ามีชายนิรนามมีท่าทางมีพิรุธ แอบเฝ้ามองนรินทร์และกลุ่มเพื่อนจากด้านหน้าร้านอยู่สักพักแล้ว  

นรินทร์กับกลุ่มเพื่อนจึงได้แยกกันออกเป็น 2 กลุ่ม โดยเขากับเพื่อนอีก 1 คนได้มุ่งหน้าไปยังบริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์ เมื่อไปถึงแล้วได้นั่งทานอาหารที่ร้านแห่งหนึ่งตรงข้ามวัดมหรรณพ ระหว่างนั้น นรินทร์ พบว่ามีชายนิรนามขับรถจักรยานยนต์วนเวียนอยู่ในบริเวณนั้น 2-3 รอบ และได้ยกถือมือขึ้นมาถ่ายรูปนรินทร์กับเพื่อนด้วย 

เมื่อทานข้าวเสร็จ นรินทร์กับเพื่อนได้เดินทางไปต่อที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระหว่างเดินทางแม่นรินทร์ได้โทรมาบอกกับเขาว่า เพื่อนบ้านโทรมาบอกว่า มีรถตู้ 1 คัน ขับเข้าไปจอดที่บริเวณหน้าบ้าน จากนั้นชายหัวเกรียน 4 คน สวมใส่เสื้อสีเหลืองได้ลงจากรถเพื่อถ่ายรูปบริเวณหน้าบ้านและตัวบ้าน ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครอยู่บ้านเลย 

จากนั้น นรินทร์กับเพื่อนได้ไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณเกาะพญาไท ไม่นานมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาหา โดยมีการแสดงบัตรประจำตัวและบอกว่ามาจาก สน.ชนะสงคราม และได้ติดตามนรินทร์กับเพื่อนอยู่ห่างๆ จนไปถึงศูนย์การค้าเซนจูรี่ เดอะมูฟวี่พลาซ่า 

ต่อมา ประมาณ 17.00 น. นรินทร์กับเพื่อนไปนั่งดื่มที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในซอยรางน้ำ ระหว่างนั่งทานอาหารอยู่ เขาพบว่ามีชายนิรนามลักษณะหัวเกรียนเดินวนเวียนไปมาที่บริเวณฟุตบาทด้านหน้าร้าน นรินทร์ กล่าวว่า มั่นใจว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ เพราะจำหน้าบางคนได้ รวมถึงคนที่เดินตามมาจากเกาะพญาไท

ไม่นานมีคนชายนิรนามลักษณะหัวเกรียนเดินเข้ามาสั่งเครื่องดื่มภายในร้านและนำออกไปนั่งดื่มที่โต๊ะด้านหน้าร้าน ระหว่างที่ชายนิรนามนั่งอยู่ได้พยายามนำมือถือขึ้นมาแอบถ่ายรูปนรินทร์กับเพื่อนที่นั่งอยู่ด้านในร้านหลายครั้ง 

สุดท้าย เพื่อนของนรินทร์ตัดสินใจเดินเข้าไปสอบถามจนชายคนดังกล่าวยอมรับว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนจากกองบังคับการตำรวจนครบาลมาทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในระหว่างที่มีขบวนเสด็จ อ้างว่ามีชื่อเล่นว่า “โย” และมียศระดับพันตำรวจเอก 

ภาพถ่ายขณะเพื่อนของนรินทร์ (คนซ้ายมือและคนกลาง)
เข้าไปสอบถามกับชาย (คนด้านขวามือสวมเสื้อขาว) ที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ (ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทูธิมนุษยชน)

ตร.ฝากข้อความผ่านเพื่อนบ้าน “ขอให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของตำรวจ” พร้อมมอบซุปไก่ 1 แพก

นั่นไม่ใช่ครั้งเดียวที่นรินทร์ถูกคุกคาม เมื่อ 19 มี.ค. 2565 เวลาประมาณ 06.00 น. แม่ของนรินทร์สังเกตเห็นว่ามีชาย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์เข้า-ออกภายในซอยหมู่บ้านและสอดส่องดูบ้านของนรินทร์รวม 2-3 ครั้ง โดยชายคนที่ซ้อนท้ายสวมใส่เสื้อลายพรางคล้ายทหาร ส่วนชายคนขับแต่งกายคล้ายวินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ทั้งคู่ใส่หมวกกันน็อคปิดบังใบหน้า โดยแม่ของนรินทร์ตั้งข้อสังเกตว่าคนขับไม่น่าจะใช่วินมอเตอร์ไซต์ในละแวกนั้น เพราะปกติวินมอเตอร์ไซต์ย่านนั้นไม่มีใครสวมหมวกกันน็อคเลย เพราะเป็นการวิ่งแค่ในพื้นที่ระยะทางใกล้ๆ 

วิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์ขณะมีชาย 2 คนขับรถซ้อนท้ายกันเข้ามาในซอยบ้านของนรินทร์ เมื่อ 19 มี.ค. 65 (ภาพแคปชันจากคลิปวิดีโอสั้นจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ต่อมาในเวลาเย็น ชายเพื่อนบ้านได้มาพูดคุยกับแม่นรินทร์ โดยบอกว่า ตำรวจฝากมาบอกว่า “วันพรุ่งนี้ (20 มี.ค. 2565) อย่าให้ลูก (นรินทร์) ออกไปไหนนะ” และบอกอีกว่า “ขอให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของตำรวจ อย่าให้ทหารเข้ามายุ่งเลย” แม้ประโยคดังกล่าวแม่และนรินทร์ไม่ค่อยเข้าใจนักว่าตำรวจต้องการจะสื่อถึงอะไร แต่ทำให้แม่นรินทร์ยิ่งเกิดความกังวลว่า ชายสวมเสื้อลายพรางที่เคยมาวนเวียนบริเวณบ้านอาจเป็นทหารหรือไม่ และอาจเสี่ยงต่อการถูกอุ้มหายหรือไม่ 

ทั้งนี้ ตำรวจที่ฝากข้อความผ่านเพื่อนบ้านมาอ้างตัวว่าประจำการอยู่ที่ สน.เตาปูน และยังได้ฝากมอบอาหารเสริมซุปไก่สกัดจำนวน 1 แพก (หรือจำนวน 12 ขวด) ให้แม่ของนรินทร์อีกด้วย 

นรินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อความที่ตำรวจฝากมาบอกว่าห้ามออกไปไหนในวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น อาจจะเพราะต้องการมาสอดส่องและติดตามเพื่อยืนยันว่าเขาอยู่ที่บ้านหลังนี้จริงๆ เพราะตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางมาติดตามและคุกคามนรินทร์ถึงบ้านหลายครั้ง นรินทร์ไม่เคยได้อยู่เจอพวกเขาเลย เนื่องจากต้องออกไปทำงานข้างนอก แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีความผิดปกติหรือบุคคลใดๆ เดินทางเข้าไปที่บ้านหรือบริเวณบ้านของนรินทร์ในลักษณะติดตามคุกคามและสอดส่องความเคลื่อนไหวเลย ซึ่งนรินทร์ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะในวันนั้นฝนตกหนักต่อเนื่องกันตลอดทั้งวันก็เป็นได้

นอกจากการถูกคุกคามถึงบ้านอย่างน้อย 3 ครั้ง ในช่วงก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2564 นรินทร์เคยถูกบุคคลนิรนามเดินทางมาสอดส่องที่บ้านแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง และต้นปี 2565 อีกอย่างน้อย 4 ครั้ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันคือขับรถเข้ามาในบริเวณบ้านและสอบถามคนในละแวกบ้านหลายครั้งในหลายช่วงเวลา

หลังจากศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าแปะสติกเกอร์บนรูปรัชกาลที่ 10 ซึ่งทนายความจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เขายังเหลืออีก 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับ “กูkult” ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นสอบสวน โดย 1 ใน 2 คดี ยังถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากถูกกล่าวว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องต่อศาลหรือไม่ในวันที่ 28 มี.ค. 2565 นี้ ส่วนอีกหนึ่งคดีที่เหลือในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net