Skip to main content
sharethis

มีผู้แจ้งเบาะแส อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จ.บุรีรัมย์ คาดใช้พานรัฐธรรมนูญจำลองสมัยคณะราษฎร โผล่ที่ถนนมุ่งออกไปอำเภอสตึก หลังก่อนหน้านี้เคยถูกเทศบาลรื้อหายไป 2 ครั้ง โดยครั้งแรกหลัง คสช.ยึดอำนาจปี'57 และย้ายมาที่หน้าศาลากลางฯ เดิม และครั้งที่สองเมื่อปี’61 ซึ่งถูกรื้ออีกครั้งเหตุบังเมรุพระราชทานเพลิงศพ ร.9 

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 65 (ที่มา Chetawan Thuaprakhon)


15 มี.ค. 65 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งชื่อว่า 'Chetawan Thuaprakhon' โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ ระบุว่า "มิตรสหายทางบุรีรัมย์ส่งรูปมาให้ดู ครั้งหนึ่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเคยอยู่ที่วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด แต่หลังรัฐบาลประยุทธ์ยึดอำนาจ ในยุคที่เทศบาลเมืองบุรีรัมย์งงๆ ก็มีการรื้อทิ้งโดยอ้างเรื่องรถติด 
.
"วันนี้ มีผู้บริหารเทศบาล ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็น่าชื่นชมว่าอุตส่าห์ไปหา พานแว่นฟ้าและรัฐธรรมนูญมาจากไหน ของเก่าหรือสร้างใหม่ แต่อย่างไรก็ท้าทายยิ่ง"

ทั้งนี้ อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) เคยตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ (หลังเดิม) ก่อนที่ต่อมา ปี 2561 สำนักงานเทศบาลฯ รื้ออนุสาวรีย์ออก โดยอ้างว่าบดบังทัศนียภาพเมรุรัชกาลที่ 9

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริง ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สัมภาษณ์ ‘วิวัฒน์ โรจนาวรรณ’ นักเขียนสารคดี และผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองบุรีรัมย์ เมื่อ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเขายืนยันว่าเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ทำอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่จริง โดยตั้งอยู่ที่ถนนเส้นทางออกนอกเมืองมุ่งหน้าไปยังอำเภอสตึก จ.บุรีรัมย์ และอาจใช้พานรัฐธรรมนูญจำลองของเดิมตั้งแต่สมัยคณะราษฎร มาประดับยอด 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไท ลองดูภาพจากแอปฯ Google Map ถ่ายเมื่อ พ.ย. 64 พบพิกัดที่ตั้งของอนุสาวรีย์ฯ ตั้งในอำเภอเมือง บริเวณคูเมืองทิศตะวันออก บนถนนซอยคูเมืองและถนนซอยอีสาน ใกล้กับวัดอิสาณ ตามภาพด้านล่าง

 

แผนที่บน Google Map โดยปักหมุดจุดที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญตั้งอยู่ (ข้อมูลแผนที่อัปเดตเมื่อ พ.ย. 64)

ภาพอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดบุรีรัมย์ จากโปรแกรม Google Map ข้อมูลแผนที่อัปเดตเมื่อ พ.ย. 2564 จากภาพคาดว่าอนุสาวรีย์กำลังก่อสร้างอยู่โดยสังเกตจากฐานและตัวอนุสาวรีย์ยังไม่ได้ลงสี

วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ทางเทศมนตรีไม่ได้ชี้แจงสาเหตุที่ตั้งอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง ทำไมถึงเลือกถนนเส้นดังกล่าว ทำไมการออกแบบใหม่ถึงไม่อิงกับอนุสาวรีย์ของเดิมก่อนหน้านี้ และทำไมไม่มีการแจ้งประชาชน

“ผมพยายามสอบแล้วว่า เมื่อเอากลับมาคืน ทำไมไม่ประชาสัมพันธ์โดยที่ผมพยายามไปคุยกับคณะผู้บริหารเทศบาล แต่เขาไม่ให้ข้อมูล”

“เลยฝากให้คนอื่นถามให้ ได้ความมาอีกต่อก็คือว่า ไม่อยากทำเอิกเกริก กลัวไปเสียดสีไปทำความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจในคณะเทศมนตรีชุดก่อน เลยทำแบบเงียบๆ และไม่มีการฉลอง” วิวัฒน์ กล่าว

วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าตนเองจะเห็นความสำคัญของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ในฐานะแม่แบบสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและพยายามเสนอกับคณะเทศมนตรีให้มีการจัดงานหรืองานเสวนาเพื่อให้ความรู้ในวาระที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญถูกนำกลับมาตั้งในบุรีรัมย์อีกครั้ง แต่คำตอบที่เขาได้รับคือคำตอบเดิมคือ “กลัวคนมีอำนาจในบุรีรัมย์เขาจะไม่ชอบใจ”  

“ผมบอกกับทีมงานเทศมนตรีปัจจุบันชุดนี้ว่า คุณไปศึกษาให้ดีนะ จังหวัดบุรีรัมย์มีโลโกสัญลักษณ์เทศบาลเมืองบุรีรัมย์อยู่ เป็นรูปช้างมีงา 2 อัน มีงวง ชูพานรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่บนหัวช้าง อันนี้เป็นสัญลักษณ์ของเทศบาล คุณไม่เห็นต้องกังวลเลย มันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเรา น่าจะเอาเผยแพร่ เขาก็ฟัง แต่ไม่ได้ทำอะไร” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกล่าว

ภาพอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ ถ่ายเมื่อ 1 ม.ค. 65 (ที่มา Chetawan Thuaprakhon)

ประวัติอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์

ย้อนไปในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรมีแนวคิดสำคัญต้องการให้ชาวบ้านรู้จักการปกครองรูปแบบใหม่ หรือระบอบประชาธิปไตย วิธีการหนึ่งคือการให้สัญลักษณ์ใหม่นี้ไปปรากฏตามที่ต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบเรียน หนังสือ และแม้กระทั่งการสร้างอนุสาวรีย์ตามจังหวัดต่างๆ 

กระทั่งเมื่อปี 2477 คณะราษฎรจึงมีการส่งพานรัฐธรรมนูญจำลองไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 70 แห่ง โดยส่วนประกอบของพานแว่นฟ้า ได้แก่ พานใหญ่ พานเล็ก และสมุดข่อย ซึ่งแต่ละจังหวัดที่ได้ไปจะนำไปสร้างเป็นอนุสาวรีย์ตามแบบฉบับของตัวเอง 

วิวัฒน์ สันนิษฐานว่า การสร้างวงเวียนอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จ.บุรีรัมย์ อาจเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงประมาณ 2481 เนื่องจากปรากฏหลักฐานชิ้นสำคัญคือรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ที่ส่งถึงสำนักนายกฯ ว่าด้วยการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญจำลอง โดยฉบับแรกมาจากปี 2479 บรรยายถึงการอัญเชิญพานรัฐธรรมนูญจำลองลงมาจากศาลากลาง และมีการแห่ฉลอง แต่ในรายงานฉบับปี 2481 นั้น กลับไม่มีกระบวนการอัญเชิญพานจำลอง ลงมาจากศาลากลางจังหวัด จึงอาจเป็นไปได้ว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์ฯ ที่วงเวียนแล้ว ซึ่งต่อมาจะรู้จักในฐานะวงเวียนรัฐธรรมนูญแห่งแรกในบุรีรัมย์

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ คาดว่าสร้างปี 2481

ลักษณะของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์แบบแรก ฐานมีลักษณะเป็นเสากลมคล้ายเสาโรมัน บนยอดมีพานแว่นฟ้า หรือพานรัฐธรรมนูญจำลองที่คณะราษฎรเป็นผู้ส่งมาตั้งอยู่

เปลี่ยนแบบ

วิวัฒน์ กล่าวถึงประวัติอนุสาวรีย์ต่อว่า ประมาณปี พ.ศ. 2530 ผู้ว่าราชการบุรีรัมย์ (พ.ศ. 2529-2532) มีการรื้ออนุสาวรีย์แบบเสากลมออก และเปลี่ยนเป็นแท่งสี่เหลี่ยมธงชาติตามภาพด้านล่าง

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ที่ถูกเปลี่ยนแบบเมื่อปี 2530 (ภาพจาก บุรีรัมย์น่าอยู่)

อย่างไรก็ตาม หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน พรรคเพื่อไทย เมื่อ 6 พ.ย. 57 สำนักงานเทศบาลเมีองบุรีรัมย์ทำการรื้ออนุสาวรีย์โดยอ้างเหตุผลเรื่องการจราจร และย้ายไปตั้งที่สนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัด (หลังเดิม) 

“วันที่ 6 เริ่มลงมือรื้อ กระทรวงมหาดไทยส่งคำถามมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มันเกิดอะไรชึ้นมันจึงมีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ออนไลน์วันนั้นเป็นแสนๆ วิว แสดงว่าคนที่พบเห็นตกใจ เกิดอะไรขึ้น จู่ๆ ก็รื้อ หลังจากนั้น คณะเทศมนตรีชุดที่รื้อ ก็ทำป้ายติดหน้าศาลากลาง ใกล้กับวงเวียน ว่าที่ต้องรื้อเพราะว่าต้องการให้พื้นที่จราจรกว้างขึ้น ไม่เคยสื่อสารโดยตรงกับประชาชน ไม่เคยแจ้งอะไรทั้งนั้น นักข่าวจะไปสัมภาษณ์ก็บอก ไม่อยู่ไม่ให้สัมภาษณ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกล่าวเสริม

 

กลับมาจุติ

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจึงถูกย้ายมาที่สนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) โดยสร้างตามแบบอนุสาวรีย์รุ่นแรก คือ มีฐานเป็นเสากลม และพานแว่นฟ้าจำลองตั้งบนยอด แต่อย่างไรก็ตาม อนุสาวรีย์ก็ถูกรื้อครั้งที่ 2 โดยเทศบาลฯ เนื่องจากเมื่อปี 2561 เป็นช่วงที่รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต พอมีงานพระราชทานเพลิงในปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทำการรื้ออนุสาวรีย์อีกครั้ง เพราะเกรงว่าจะไปบดบังทัศนียภาพของพระเมรุ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวคราวของพานรัฐธรรมนูญจำลองจากสมัยคณะราษฎรอีกเลย และไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่รัฐนำพานแว่นฟ้าจำลองไปเก็บที่ใด

เวลาล่วงเลยกระทั่งเมื่อ 27 ม.ค. 2563 สำนักข่าวท้องถิ่น The Isaan Record รายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กนาม 'พาเลาะบุรีรัมย์' พบพานรัฐธรรมนูญจำลองที่ถูกย้ายจากอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญหน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์หลังเก่า ถูกนำไปเก็บบริเวณที่เก็บของกองช่างเทศบาลบุรีรัมย์ และเมื่อคณะเทศมนตรีชุดที่แล้วหมดวาระลง และมีคณะเทศมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำงานเมื่อกลางปี 2564 หลังจากนั้นสำนักงานเทศบาลสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งตามที่รายงานข้างต้น 

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในภาคอีสาน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแค่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดบุรีรัมย์ 

หมายเหตุ - อัปเดตข้อมูลเป็นปัจจุบัน โดยเพิ่มแผนที่ Google Map เพื่อแสดงจุดที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดบุรีรีมย์ตั้งอยู่ เมื่อ 17 มี.ค. 65

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net