Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่ากับมือปืนที่ลอบยิง 'ดำ อ่อนเมือง' นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิที่ดินและสมาชิกสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) ด้านทนายความระบุผิดหวังต่อคำพิพากษา พร้อมตั้งข้อสงสัยเหตุใดจึงนัดฟังคำพิพากษาคนละวัน เผย เตรียมยื่นฎีกาเพื่อสู้ต่อเต็มที่เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

9 มี.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (8 มี.ค. 2565) เวลา 09.00 น. ดำ อ่อนเมือง นักเคลื่อนไหวด้านที่ดินจากชุมชนสันติพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) พร้อมนักเคลื่อนไหวด้านที่ดินอีก 20 คน เดินทางมาที่ศาลจังหวัดเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเข้ารับฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กรณีที่สมพร ฉิมเรือง คนร้ายที่ยิงดำ ยื่นอุทธรณ์หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกสมพรเป็นเวลา 13 ปี 16 เดือน ในฐานความผิดพยายามฆ่า, ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ดำอีก 30,000 บาท เนื่องจากดำได้เรียกค่าเสียหายไปเป็นจำนวน 60,000 บาท และสมพรชดใช้ไปแล้วจำนวน 30,000 บาท

หลังจากที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว อำพร สังข์ทอง ทนายความของดำให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยระบุว่า ศาลวินิจฉัยปัญหาตามการอุทธรณ์ของสมพรซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ ในประเด็นที่ว่าสมพรกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าดำตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลเห็นว่าเมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของสมพรกับดำที่อาศัยอยู่หมู่บ้านเดียวกัน และคำพูดของสมพรตามที่ดำเบิกความ ประกอบกับสภาพแวดล้อมในที่เกิดเหตุ หากสมพรมีเจตนาฆ่าดำ เขาสามารถยิงดำได้ทันทีในตำแหน่งที่ยืนใกล้กับจุดที่ดำนอนอยู่ และ/หรือมีโอกาสยิงซ้ำได้

ศาลระบุอีกว่าประกอบกับวิถีกระสุนที่สมพรยิงถูกแคร่ที่ดำนอน ห่างจากศีรษะดำ 30-50 เซนติเมตร และจุดที่พบหัวกระสุนปืนมีลักษณะขนานไปกับแคร่ด้านบน ข้อเท็จจริงจึงอาจเป็นไปตามที่สมพรต่อสู้ว่า 'เขามีเจตนาใช้อาวุธปืนยิงเพียงต้องการข่มขู่เท่านั้น' พยานหลักฐานที่ดำอ้างจึงรับฟังไม่ได้ว่าสมพรมีเจตนาฆ่า การกระทำของสมพรจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าดำตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหาอื่นๆ สมพรได้รับโทษจำคุกจนครบโทษแล้วจึงได้รับการปล่อยตัวไป

อำพรกล่าวเพิ่มเติมว่าตนและดำแปลกใจอย่างมากที่ศาลอ่านคำพิพากษาให้สมพรทราบไปแล้วก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2565 แต่โจทก์ในคดีอย่างดำกลับไม่ได้รับหนังสือแจ้งจากศาลให้มาฟังคำพิพากษาพร้อมกัน ทางอัยการก็ไม่ติดต่อมาแจ้งเพื่อเรียกให้ดำเข้ารับฟังการอ่านคำพิพากษาพร้อมจำเลยในวันดังกล่าว แต่ดำกลับได้รับหมายนัดให้เข้ารับฟังการอ่านคำพิพากษาแค่เมื่อวานนี้ (8 มี.ค. 2565) และในขณะนี้สมพรก็ได้รับการปล่อยตัวและใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านตามปกติ

อำพรกล่าวเพิ่มเติมว่าศาลให้เหตุผลว่าที่อ่านให้สมพรที่เป็นจำเลยฟังคำพิพากษาก่อนเพราะศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องจึงต้องรีบอ่านให้จำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยที่อยู่จนครบโทษแล้วทราบก่อน แต่เธอเห็นว่าแม้เรื่องนี้จะไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องอ่านให้ทั้งโจทก์และจำเลยทราบพร้อมกันแต่ศาลก็สามารถแจ้งให้ดำทราบก่อนหน้านี้ได้

อำพรอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นของการอ่านคำพิพากษาว่าศาลมีข้อกำหนดไว้ว่าหากโจทก์หรือจำเลยจะยื่นฎีกาในคดี สามารถทำได้ภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษา ซึ่งในกรณีของดำคือดำได้รับฟังการอ่านคำพิพากษาวานนี้ (8 มี.ค. 2565)

อำพรกล่าวเพิ่มเติมว่าส่วนตัว ตนเคารพคำพิพากษาของศาล แต่ในฐานะทนายเจ้าของคดีรู้สึกผิดหวังที่ศาลอุทธรณ์มีความเห็นต่างจากศาลชั้นต้นและมองว่าศาลอุทธรณ์ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพยานแวดล้อมที่ศาลยกขึ้นมาประกอบเหตุผลในการยกฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์ใช้คำว่า "อาจเป็นไปตามที่สมพร (จำเลย) ต่อสู้ว่าการใช้อาวุธปืนของจำเลยเป็นการข่มขู่ดำ (โจทก์) โดยดูจากวิถีกระสุนซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ดำนอน และสมพรสามารถยิงซ้ำได้ แต่จำเลยไม่ยิง" 

อย่างไรก็ตาม อำพรยังเห็นว่ามีหลายประเด็นที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และประเด็นที่น่าจับตาและติดตามต่อคือ พนักงานอัยการในฐานะโจทก์จะมีท่าทีต่อคดีนี้อย่างไร และจะยื่นฎีกาตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในส่วนของดำที่เป็นโจทก์ร่วมกับอัยการนั้นจะดำเนินการยื่นฎีกาแน่นอน นอกจากนี้ ตนและดำจะทำหนังสือสอบถามอัยการเกี่ยวกับการดำเนินการขอยื่นฎีกาของอัยการทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลางต่อไปอีกด้วย และหวังว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดเพื่อให้ดำผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรมต่อไป

ทนายความกล่าวเพิ่มอีกว่า เข้าใจได้ที่ดำที่เป็นผู้เสียหายจะกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากจำเลยในคดีมีที่อยู่อาศัยไม่ไกลจากบ้านของดำมากนัก อีกทั้งสมพรยังเคยต้องโทษคดีฆ่าเมื่อหลายปีก่อนด้วยก่อนที่จะมาก่อเหตุพยายามฆ่าดำในคดีนี้

ขณะที่ดำกล่าวภายหลังจากฟังคำพิพากษาของศาลเสร็จสิ้นแล้วว่า ตนไม่รู้มาก่อนว่าศาลจะอ่านคำพิพากษาของสมพรก่อนวันที่ตนทราบ รู้อีกทีก็เห็นสมพรอยู่ที่หมู่บ้านแล้ว จึงรู้สึกทั้งตกใจและหวาดกลัว และไม่คิดว่าศาลอุทธรณ์จะตัดสินคนละอย่างกับศาลชั้นต้น แม้จะเคารพการตัดสินของศาลแต่ก็คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ตอนนี้รู้สึกกังวลมากเรื่องการใช้ชีวิตและการทำมาหากิน เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ตนยังขาดรายได้ เพราะไปไหนก็ไปไม่ได้ ต้องจำกัดที่อยู่ แต่ก็ยังยืนยันจะสู้ต่อจนถึงศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเองจนถึงที่สุดถึงแม้ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม

"ตอนนี้ลุงอายุ 72 ปีแล้ว ถ้าหากเขาต้องการชีวิตลุงอย่างเดียวแล้วเรื่องมันจบ ลุงก็จะให้ชีวิตลุง เพราะลุงคงอยู่ในโลกใบนี้ได้ก็คงอีกไม่นานแล้ว แต่ลุงกังวลว่าถ้าลุงเสียชีวิตไปแล้วเรื่องมันจะไม่จบเขาจะเข้ามาก่อกวนคนในชุมชนอยู่อีกตลอดเวลา ดังนั้นลุงขอสู้กับมันดีกว่า" ดำกล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International กล่าวว่า ตนรู้สึกตกใจมากตอนที่ทราบว่าศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาและปล่อยตัวจำเลยมาก่อนวันที่นัดผู้เสียหายและโจทก์ร่วมมาฟังคำพิพากษาโดยไม่มีการแจ้งผู้เสียหายแต่อย่างใด ไม่เคยมีประสบการณ์กับการอ่านคำพิพากษาแบบนี้มาก่อน โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความเป็นความตายและความปลอดภัยของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหายให้มากที่สุด รวมถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเหยื่อและผู้เสียหายในคดีอาญา

ปรานมกล่าวต่อไปว่าในตอนแรกที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตัดสินว่าสมพรมีความผิดและสั่งจำคุก เราคิดว่าอย่างน้อยเป็นความยุติธรรมในระดับหนึ่ง แต่พอศาลอุทธรณ์มากลับคำพิพากษาและตัดสินว่าสมพร มีเจตนาใช้อาวุธปืนยิงเพียงต้องการข่มขู่ลุงดำเท่านั้น แม้ในส่วนตัวจะเคารพคำพิพากษาในครั้งนี้ แต่ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นค่อนข้างชัดเจนว่าพฤติการณ์ของจำเลยมีความผิดอาจถึงขั้นพยายามฆ่า ซึ่งเป็นการกระทำที่อุกอาจ แม้การระทำของจำเลยไม่บรรลุผล แต่สำหรับเรามีเหตุผลไม่น่าเชื่อว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะทำร้ายหรือฆ่าผู้เสียหาย ซึ่งแน่นอนประเด็นลักษณะเช่นนี้จะมีการฎีกาต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่านักปกป้องสิทธิฯจะได้รับความยุติธรรมและผู้กระทำผิดจะไม่ลอยนวลพ้นผิดและไปกระทำผิดซ้ำ หากรวมคดีลุงดำล่าสุดกับกรณีที่ผ่านๆมา มีกรณีการลอบสังหารสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ไปแล้วอย่างน้อยหกครั้ง มีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเสียชีวิต 4 ราย ซึ่งยังไม่มีใครต้องมารับผิดชอบกับอาชญากรรมเหล่านั้น คำถามใหญ่ต้องไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการว่าได้มีการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานกันแบบไหน และกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญาแบบใดกันที่เราไม่สามารถนำใครที่กระทำผิดมาลงโทษได้ และทำไมรัฐบาลถึงไม่สามารถปกป้อง คุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯจากการถูกคุกคามและถูกสังหารได้ และหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยไปใครได้ประโยชน์

สำหรับคดีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 ในขณะที่ดำนอนเฝ้าเวรยามอยู่ที่หน้าทางเข้าชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี สมพรใช้ปืนจ่อยิงดำ แต่ดำสามารถหลบทันจึงรอดชีวิตมาได้ โดยคาดว่าสมพรที่เป็นผู้ต้องหามีความเกี่ยวพันกับบริษัทน้ำมันปาล์มในพื้นที่ซึ่งมีประเด็นพิพาทเรื่องที่ดินกับชุมชนสันติพัฒนาสหพันธ์เกษตรภาคใต้ และเชื่อว่าการเข้ามากระทำการดังกล่าวเป็นไปเพื่อคุกคามถึงขั้นเอาชีวิตต่อนักปกป้องสิทธิในที่ดิน และศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้สมพรมีความผิดฐานพยายามฆ่าและความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net