Skip to main content
sharethis

ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) วิเคราะห์ 'ปูติน' พยายามทำให้สงครามดู 'นุ่มนิ่ม' และ 'ชอบธรรม' ด้วยโวหารเคลือบน้ำตาล เช่น การล้มล้างระบอบนาซี การล้มล้างระบอบทหารนิยม และปฏิบัติการพิเศษทางทหาร ทั้งยังหลอกไพร่พลตัวเองว่าชาวยูเครนจะให้การต้อนรับทหารรัสเซียเป็นอย่างดี เพราะพวกเขาคือผู้ปลดปล่อยยูเครนจาก "แก๊งติดยา" คำพูดเหล่านี้ทำให้ทหารรัสเซียรุกรานยูเครนด้วยความชะล่าใจ เมื่อยูเครนปกป้องชาติอย่างห้าวหาญ สิ่งที่ปูตินพูดไว้จึงย้อนกลับมาทำลายตัวเขาเอง

2 มี.ค. 2565 - เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์สัญชาติอังกฤษเผยแพร่บทวิเคราะห์ข้อผิดพลาด 3 ประการของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่สั่งการให้กองทัพบุกยูเครน เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลยูเครนนำโดยประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ที่มีท่าทีต้องการเข้าร่วมสหภาพยุโรป (EU) และองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งอย่างหลังเป็นสิ่งที่รัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคามอย่างมาก ปัจจุบันคงบอกได้แล้วว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียไม่เป็นไปตามแผน

กองทัพรัสเซียใช้เวลาเกือบ 7 วันเพื่อบุกเข้ามายังคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน และอดีตเมืองหลวงของยูเครนในสมัยสหภาพโซเวียต ทั้งๆ ที่เมืองนี้อยู่ใกล้ชายแดนรัสเซียและอยู่ห่างกรุงมอสโก 750 กิโลเมตร ส่วนทางตอนใต้ของยูเครน กองกำลังของปูตินยึดอาณาเขตเอาไว้ได้บางส่วน แต่ยังหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปในตัวเมือง ขณะที่บริเวณรอบๆ กรุงเคียฟ กองกำลังของยูเครนยังคงป้องกันเมืองหลวงไว้ได้แม้ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง และประธานาธิบดีเซเลนสกียังอยู่ในเมืองหลวง ยิ่งนานวัน เซเลนสกียิ่งได้รับความชื่นชมจากประชาชนยูเครนและประชาคมโลก แทนที่จะถูกมองว่าเป็น "นาซีขี้ยา" อย่างที่ปูตินกล่าวหา

สงครามนี้ยังคงอยู่ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ประธานาธิบดีรัสเซียยังคงสามารถเรียกไพร่พลเพิ่มเติมจากกองทัพเพื่อเสริมกำลังปิดล้อมเมืองต่างๆ ในยูเครนได้ และยังสร้างความเสียหายและพรากชีวิตของพลเรือนชาวยูเครน และทหารทั้งสองฝ่ายได้อีกมหาศาล ดังนั้น ปูตินจึงอาจจะยังชนะสงครามครั้งนี้ได้ และนำไปสู่การตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในกรุงเคียฟหรือคาร์คิฟตามที่เขาคาดหวัง อย่างที่เขาเคยแถลงไว้แล้วว่าอยากให้กองทัพยึดอำนาจเพื่อจะได้เจรจาได้ง่ายขึ้น

แต่เมื่อมองในมุมกว้างออกไป หากปูตินถูกบีบให้ต้องทำสงครามตัดกำลังเช่นนั้นเมื่อใด ก็แปลว่าปูตินพ่ายแพ้ไปเรียบร้อยแล้ว หลังการรุกรานยูเครนก่อให้เกิดจิตวิญญาณรักชาติขึ้นอย่างแรงกล้า รัฐบาลหุ่นเชิดที่ปูตินจะก่อตั้งในยูเครนไม่มีวันถูกมองจากประชาชนชาวยูเครนว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม ในสายตาประชาคมระหว่างประเทศ ปูตินกำลังเสียความน่าเชื่อถือและถูกมองว่าเป็นพวกนอกรีดมากขึ้นจากการรุกรานในครั้งนี้ ในรัสเซียเอง ปูตินยิ่งต้องเผชิญปัญหาจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ขณะเดียวกัน ชนชั้นนำในรัสเซียก็ดูเหมือนจะหวาดผวาและเงินร่อยหรอลงทุกที จากการขยับแบบกล้าแลกแต่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงของปูติน ยิ่งแผนการของเขาเลวร้ายลงเท่าไหร่ ความขัดแย้งภายในชนชั้นนำก็จะยิ่งใกล้เข้ามา นอกจากนี้ ปูตินยังต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านจากผู้ประท้วงต่อต้านสงคราม และความไม่พอใจที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นหลังการวางยาอเล็กซี นาวาลนี หากปูตินต้องการรักษาอำนาจไว้ เขาจะต้องออกคำสั่งปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงระดับที่ไม่เห็นมาก่อนในรอบหลายสิบปี

ความผิดพลาด 3 ข้อของปูติน

ความผิดพลาดข้อที่ 1 ปูตินประเมินยูเครนต่ำเกินไป ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อของตัวเองว่ายูเครนไม่ใช่รัฐอธิปไตย แต่เป็นรัฐปลอมที่ก่อตั้งขึ้นโดย CIA และบริหารโดยอันธพาลที่ปกครองประเทศและประชาชนจงเกลียดจงชัง หากปูตินคิดว่ายูเครนจะล่มสลายทันทีที่กองทัพรัสเซียปรากฎตัว ที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่าปูตินคิดผิดอย่างมหันต์

ความผิดพลาดข้อที่ 2 คือความผิดพลาดในการบริหารจัดการกองทัพของปูติน กองทัพอากาศของเขาล้มเหลวในการควบคุมน่านฟ้าของยูเครน และที่ผ่านมาเขาทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้ประชาชนรัสเซียอุ่นใจว่ารัสเซียไม่ได้ทำสงคราม แต่เป็นสิ่งที่ปูตินเรียกว่า "ปฏิบัติการล้มล้างระบอบนาซี" ทหารรัสเซียซึ่งไม่แน่ใจว่าตัวเองควรทำอะไร และดูเบาสถานการณ์ถึงขนาดเปิดแอปพลิเคชันทินเดอร์เพื่อหาคู่เดทกับสาวยูเครน

ทหารรัสเซียเคลื่อนพลเข้าไปในยูเครนโดยคาดหวังว่าจะได้รับการยอมรับในฐานะผู้มาปลดปล่อยแต่กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ และตอนนี้กองทัพรัสเซียอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแล้ว เพราะหากปูตินสั่งให้ทหารฆ่าพี่น้องชาวยูเครนเป็นจำนวนมาก ทหารรัสเซียก็อาจไม่เชื่อฟัง และหากทหารรัสเซียตายเป็นจำนวนมากจากความพยายามในการจู่โจมเมืองต่างๆ ในยูเครน เขาก็จะไม่สามารถปกปิดความล้มเหลวดังกล่าวจากการรับรู้ของประชาชนรัสเซียได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีความเคลื่อนไหวล่าสุดจากเบลารุสที่ประกาศยกเลิกความเป็นกลางทางอาวุธนิวเคลียร์ และตรึงกำลังรถถังอยู่บริเวณชายแดนยูเครน ท่ามกลางกระแสประท้วงต่อต้านสงครามและต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโก เบลารุสกลายเป็นพันธมิตรใกล้ชิดหรือเรียกได้ว่าแทบจะเป็นรัฐหุ่นเชิดของรัสเซียอย่างเต็มตัวแล้ว หลังการประท้วงใหญ่ในปี 2563 และ 2564 ขณะที่ทหารรัสเซียเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก กองทัพเบลารุสอาจเข้ารุกรานยูเครนอย่างเต็มกำลังด้วยการประเมินสถานการณ์ที่ต่างออกไป แม้เรื่องนี้จะยังไม่ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาและเบลารุสเอง​ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ความผิดพลาดข้อที่ 3 ปูตินประเมินโลกตะวันตกต่ำเกินไป ปูตินอาจเชื่อว่าโลกตะวันตกเสื่อมถอยและเห็นแก่ตัวเกินกว่าจะตอบโต้ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ในฐานะผู้นำประเทศเผด็จการ ปูตินอาจไม่เข้าใจว่าประชาชนศรัทธาในประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ ปูตินจึงคงจะประหลาดใจเป็นแน่แท้ที่ประชาชนออกมาสนับสนุนยูเครนอย่างล้นหลาม ดังจะเห็นได้จากชาวลอนดอนที่ลุกขึ้นยืนเคารพเพลงชาติของยูเครน และประตูบรันเดินบวร์ค (Brandenburg Gate) ในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีที่เปิดไฟเป็นสีน้ำเงินและทองเพื่อแสดงความเป็นน้ำใจเดียวกับชาวยูเครน

หลังจากชาวยูเครนและประชาชนในโลกตะวันตกออกมาแสดงพลังอย่างกล้าหาญ รัฐบาลตะวันตกจึงรวบรวมความกล้าและออกมาตอบโต้การกระทำของรัสเซียในที่สุด รัฐบาลตะวันตกอาจจะไม่ได้ส่งทหารเข้าไปสู้รบกับรัสเซียโดยตรง ซึ่งถือเป็นเรื่องถูกต้องแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้สงครามขยายตัวเป็นวงกว้าง แต่รัฐบาลตะวันตกก็เห็นตรงกันในการคว่ำบาตรธนาคารกลางและระบบการเงินของรัสเซียอย่างทรงพลัง หลังจากพยายามพูดคุยเรื่องนี้มา 3 ครั้ง และได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา​ ส่งผลให้มูลค่าเงินรูเบิลและตลาดหุ้นของรัสเซียลดลงอย่างมหาศาล

ในวันต่อมาหลังการคว่ำบาตรดังกล่าว รัสเซียตอบโต้รัฐบาลตะวันตกอย่างเกรี้ยวกราด หลังจากปรึกษาผู้นำทางทหารของรัสเซีย เขาสั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์เตรียมพร้อมขั้นสูงสุด ซึ่งตีความได้ว่าปูตินเปรียบเทียบการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเทียบเท่ากับสงครามนิวเคลียร์ หรือเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐบาลตะวันตกส่งทหารของตัวเองเข้าไปในยูเครน อย่างไรก็ตาม นี่แสดงให้เห็นพฤติกรรมก้าวร้าวและอันตรายอย่างยิ่งของปูติน และหากรัฐบาลตะวันตกยอมถอยในตอนนี้ ปูตินก็อาจได้ใจและทำเช่นนี้อีกในอนาคต

หลังจากนี้ประเด็นที่น่าจับตาคือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ประเทศอื่นๆ รวมถึงจีนและอินเดียจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกหรือไม่ว่าการข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์เช่นนี้เป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกาก็ควรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง เพื่อตักเตือนเกี่ยวกับราคาที่รัสเซียต้องจ่ายจากการฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศทั้งในระดับทางการและไม่เป็นทางการ ทั่วโลกกำลังคว่ำบาตรรัสเซียให้เป็นรัฐนอกรีด แต่ความโดดเดี่ยวก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงได้ การคว่ำบาตรพร้อมกับยังรักษาช่องทางการสื่อสารไว้จึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่าย เพื่อไม่ให้ปูตินคำนวณพลาดอีกเป็นครั้งที่สอง

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net