Skip to main content
sharethis

ตามไปดูหนุ่มชนเผ่าปกาเกอะญอ หลายคนเรียกเขาว่า “ครูคิกขุ” หรือครูเก่อเส่ทู ดินุ บ้างก็เรียกขานเขาว่า “ครูโรงเรียนขยะลอแอะ แห่งบ้านหนองเต่า” แต่ก็มีบางคน เคยให้ฉายาเขาว่า “คนบ้าชอบเก็บขยะ” เรียนจบปริญญา กลับมาเที่ยวเดินเก็บขยะ แต่จริงๆ แล้ว เขาได้หยิบเอาขยะ มาสร้างแรงบันดาลใจในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าการการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และฟื้นฟูจิตวิญญาณชนเผ่าปกาเกอะญอ ให้เด็กๆ และผู้คนได้มีจิตสำนึกต่อการรักษ์โลกและสังคม

เก่อเส่ทู ดินุ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนขยะลอแอะ

หนทางแห่งการกลับใจ เพื่อไปดูแลระบบนิเวศ

เราเดินทางขึ้นดอยไต่ไปบนคดเคี้ยวและสูงชัน ไปถึงตั้งแต่เช้า  เรานัดเจอกันที่หน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองเต่า ครูเก่อเส่ทู กำลังขับรถกระบะบรรทุกกระสอบขี้วัวมาเต็มคันรถ ก่อนทักทายกัน และนำทางเราเข้าไปถึงจุดหมาย

โรงเรียนขยะลอแอะ ตั้งอยู่ภายในชุมชนบ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ รอบๆ พื้นที่ ดูเหมือนฟาร์มเกษตร  ตรงทางเข้าเรามองเห็นโรงเก็บขยะ ถัดไปเป็นแปลงผักสวนครัว ซุ้มกาแฟ บ้านดิน ถัดไปเป็นทางเดินและห้องน้ำที่ทำด้วยขวดแก้วรีไซเคิลสีสันแปลกตา อีกมุมหนึ่ง เป็นเพิงฟากไม้ไผ่แบบง่ายๆ โล่งๆ ภายในเรามองเห็น กระดาน โน้ตเพลงภาษาปกาเกอะญอ และเครื่องดนตรีเตหน่าของชนเผ่าปกาเกอะญอ วางเรียงกันไปมา ทุกคนเรียกกันว่า “โรงเรียนขยะลอแอะ”

วันนี้วันอาทิตย์ เด็กๆ เริ่มทยอยกันเข้ามาในโรงเรียนขยะลอแอะ เก่อเส่ทู ขอตัวไปขนกระสอบปุ๋ยมูลวัว ลงจากรถไปกองๆ ไว้ข้างแปลงผัก แล้วเดินไปดูเมล็ดกาแฟที่กำลังตากอยู่ภายในบริเวณโรงเรียน

เก่อเส่ทู ให้เด็กชายสองสามคน ช่วยกันคั่วเมล็ดกาแฟด้วยเตาคั่วหม้อดินที่ทำขึ้นมาเอง จากนั้นก็บดกาแฟ ชงกาแฟดริป แล้วมอบให้เรา ผู้มาเยือน รวมทั้งน้องๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่ขึ้นดอยมาทำวิทยานิพนธ์เรื่องวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านปกาเกอะญอกับเก่อเส่ทูได้จิบและลิ้มลองรสชาติกาแฟบ้านหนองเต่า

“ทำไมถึงเลือกมาเป็นคนเก็บขยะแบบนี้” เชื่อว่าใครหลายคนนั้น คงต้องการถามด้วยความสนใจใคร่รู้กันแบบนี้

“คือผมขับรถผ่านถนนเส้นทางนี้ทุกวัน จากแม่วินถึงบ้านหนองเต่า สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นก็คือ มีแต่ขยะอยู่เต็มไปหมดสองข้างทาง ขยะเยอะมาก ตอนนั้นผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่า ทำไมชาวบ้าน นักท่องเที่ยว คนผ่านไปผ่านมาถึงชอบทิ้งขยะกันอย่างนี้ ” เก่อเส่ทู เล่าให้ฟัง

ประกอบกับก่อนหน้านั้น เขาเคยร่วมทำกิจกรรมร่วมกับคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร สังฆมณฑล เชียงใหม่ ที่มอบความรัก ความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นแรงใจให้กับเขา เมื่อเขาได้สนทนากับคุณพ่อนิพจน์ ว่าเขามีความฝัน อยากกลับบ้าน และอยากมีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ ในชุมชน

“คุณพ่อนิพจน์ ท่านบอกว่า ถ้าจะทำกิจกรรมอะไร ให้เริ่มที่ตัวเราก่อน  ทำให้ผมหันกลับมามองตัวเอง กลับมาทบทวนตัวเองก่อน ว่าสิ่งไหนคือปัญหาที่เราพบเผชิญอยู่ในชุมชน ผมก็เลยมานั่งคิดไปว่า ก็มีเรื่องขยะนี่แหละ ที่ผมมองเห็น เพราะที่ผ่านมา มีแต่คนบ่นว่า ทำไมบนดอยสกปรก มีแต่ขยะ คนดอยสกปรก ชอบทำลาย สร้างแต่ปัญหามลพิษ ซึ่งทำให้ผมรู้ว่าเมื่อก่อนบนดอยของเราไม่ได้มีปัญหาแบบนี้ พอมาถึงยุคนี้ มีความสะดวกสบายมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือขยะ ความมักง่าย และความไม่ละอายใจ ก็เลยทำให้ผมตัดสินใจกลับมาบ้านเกิด เพื่อมาเป็นคนเก็บขยะ”

แน่นอนว่า หลังจากที่เขาตัดสินใจจะไปเก็บขยะตามสองข้างทางกลางป่า ความรู้สึกด้านลบพยายามเข้ามากระทบความรู้สึกข้างในจิตใจ เขาอย่างหนัก

“นายจะทำได้หรือ...ไม่อายหรือ ทำไปทำไม...ไม่ใช่หน้าที่ของนายซักหน่อย...”

แต่ในที่สุด เขารวบรวมความกล้า ใช้ความคิดความรู้สึกด้านบวก และลงมือทำ ไปเก็บขยะตามสองข้างทาง ทุกวันๆนอกจากนั้น  เขายังต้องต่อสู้กับความคิดของครอบครัว พ่อแม่

“พ่อจะหน้าบึ้งทุกครั้ง เมื่อเห็นผมจะออกไปเก็บขยะ ก็มักจะบ่นว่า บอกให้ไปทำงาน หาเงินเหมือนคนอื่นๆ เขา ไม่ใช่มาเดินเก็บขยะแบบนี้”

แถมยังต้องต่อสู้กับความคิดของคนในหมู่บ้าน และนอกหมู่บ้านอีก

“ทำไมออกไปเรียนหนังสือจนจบปริญญา แล้วมาเก็บขยะแบบนี้ทำไม”

“อยากสร้างภาพใช่มั้ย”

หลายคนมองเขาด้วยสายตาแปลกๆ บ้างก็บอกว่าทำงานเอาหน้า อยากดัง

เขาเจ็บปวดทุกครั้ง ที่ได้ยินเสียงค่อนแคะ ประชดประชัน กล่าวหาว่าเขา เก็บขยะ เพื่อสร้างภาพ อยากได้หน้า อยากเด่นอยากดัง จนบางครั้ง ทำให้เขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เจ็บปวดกับคำพูดของชาวบ้าน  จนเขาเคยคิดประชดออกมา ด้วยการไปเก็บขยะ แล้วมาเททิ้งเรี่ยราดตามถนนหนทางดู ว่าชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมา พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง แต่ก็เลิกล้มความคิดนั้นเสีย  เมื่อนึกถึงคำสอนของคุณพ่อนิพจน์ เขายังคงก้มหน้าก้มตาเก็บขยะ ต่อไป...

ว่ากันว่า ขยะส่วนใหญ่ที่ทิ้งตามข้างทาง นั้นมาจากคนในชุมชน คนนอกชุมชน และนักท่องเที่ยว ที่เดินทางผ่านไปมาแล้วนำขยะมาทิ้ง มันสะสมมากว่า 10-20 ปีแล้ว  ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่เห็นมีหน่วยงานไหนแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“ถ้าเราไม่ลงมือทำด้วยตนเองก่อน แล้วใครจะมาช่วยเรา ถ้าเราไม่เริ่มต้นลงมือทำวันนี้ แล้วเราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อมกันได้ยังไง” เก่อเส่ทู พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลแต่จริงจัง

ร่างความฝันจากขยะ กลายเป็นวงดนตรีขยะลอแอะ

“เราล้วนคือขยะ” เก่อเส่ทู เอ่ยกับเด็กๆ

“ใช่ๆ ผมก็คือขยะเหมือนกัน” เด็กบอกอย่างนี้เช่นกัน

ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ โรงเรียนที่อื่นๆ เขาปิด แต่ที่โรงเรียนขยะลอแอะ แห่งนี้จะเปิดกว้าง ให้เด็กๆ ในชุมชนบ้านหนองเต่าและหมู่บ้านใกล้เคียง เข้ามาทำกิจกรรมกันตั้งแต่เช้าถึงเย็น

สายๆ เมื่อเด็กๆ มารวมตัวกัน สิบกว่าชีวิต เก่อเส่ทู ก็จะพาน้องๆ ขึ้นรถยนต์สีขาวคันเก่า ภายในมีถุงกระสอบเตรียมใส่เศษขยะ จากนั้นก็พากันลัดเลาะไปตามถนนในหมู่บ้าน ออกสู่ถนนสายหลัก เส้นทางสายนี้ผู้คนบนดอยจะใช้เดินทางกันเป็นประจำ อีกทั้งยังสามารถลัดไปสู่ดอยอินทนนท์ได้ จึงทำให้กลายเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวและผู้คนสัญจรไปมามากขึ้น และแน่นอน ขยะจึงมีอยู่กระจัดกระจายไปตามริมถนน กองอยู่ตามผืนป่าสองข้างทาง

พอไปถึง เขาจะแจกถุงมือยาง และกระสอบคนละใบ ก่อนจะให้เด็กๆ ทำสมาธิ ภาวนากันก่อน

“ผมจะให้เด็กๆ ทำสมาธิ หน้ากองขยะกันก่อนทุกครั้ง  แล้วบอกเด็กๆ ว่า ที่ไหนมีขยะ ที่นั่นก็จะมีพระผู้เป็นเจ้า มีรุกขเทวดา มีเจ้าป่าเจ้าเขาอาศัยอยู่  แต่ว่าพระผู้เป็นเจ้า รุกขเทวดา เจ้าป่าเจ้าเขาที่อยู่ตรงนี้ ต่างก็รู้สึกไม่สบายใจ ต่างทอดถอนใจ เสียใจ แล้วบ่นให้เราฟังว่า โอ้ พวกมนุษย์นี้ทำไมช่างใจร้าย มักง่าย ทิ้งขยะ ทำลายสิ่งแวดล้อม สกปรกแบบนี้  จริงๆแล้วขยะทั้งหลายเกิดจากมนุษย์เราเองนี่แหละ แล้วมนุษย์เรานี่แหละคือขยะ ที่ทำตัวเหมือนขยะ ดังนั้น เราควร รักที่จะดูแลขยะพวกนี้ต่อ เหมือนกับตอนที่เราซื้อ เราใช้ เรากินมันก่อนหน้านี้ เราชื่นชอบมันมากใช่มั้ย แต่ถ้าเราทำกันแบบนี้ ดูแลมัน ก็จะไม่มีคำว่า ขยะ อยู่ในผืนดินแห่งนี้ ผืนป่าแห่งนี้ ก็จะมีแต่  ลอแอะ หรือความน่ารักเท่านั้น และพระผู้เป็นเจ้าก็ชื่นชอบในสิ่งที่เราทำอยู่” เก่อเส่ทู บอกให้เด็กๆ ฟัง ก่อนพากันเดินก้มเก็บขยะที่ซุกซ่อนกระจัดกระจายอยู่กลางป่าสองข้างทาง

เราเฝ้ามองเห็นเด็กๆ ช่วยกันเก็บขยะใส่กระสอบและขนมาใส่รถ บ้างก็หยอกล้อเล่นกันไปมาอย่างมีความสุข

ทุกครั้ง ก่อนจะเก็บขยะ  เก่อเส่ทู จะถ่ายรูปกองขยะที่อยู่มุมนี้มุมโน้นเอาไว้ พอเก็บขยะเสร็จ เขาก็จะถ่ายรูปเปรียบเทียบให้เด็กๆ ดูผลงานของตนเอง ว่าเป็นไง มันสะอาดขึ้น มันไม่สกปรก ถนนสายนี้มันสะอาด ป่าผืนนี้มันงดงาม

“เห็นมั้ยๆ ตอนนี้ พระผู้เป็นเจ้า เจ้าป่าเจ้าเขา รุกขเทวดาที่ดูแลป่าดูแลต้นไม้ตรงนี้คงยิ้มให้กับเราแล้วว่า พวกเราเก่งจัง เราทำได้ เราทำให้ถนนสะอาด ผืนดินสะอาดขึ้น ป่าไม้ไม่ต้องถูกรบกวนจากขยะ”

นั่นทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ซึมซับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปโดยไม่รู้ตัว

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เก่อเส่ทู ต้องใช้เวลาบ่มเพาะเด็กๆ ด้วยความรัก ความเข้าใจ และต้องใช้พลังข้างในอย่างมาก เพื่อที่จะปลูกจิตสำนึกแห่งความดีงาม จิตสำนึกแห่งการเสียสละให้กับเด็กๆ แบบนี้ได้

“ใช่ครับ เริ่มแรกมันยากมาก เพราะตัวเด็กกลุ่มนี้ เป็นเด็กหลังห้อง เรียนไม่ค่อยเก่ง คุณครูบอกไม่เอาไหน มีแต่คนแก่นๆ ทั้งนั้น แต่พอมาอยู่ผม ผมให้ความรักแก่พวกเขา ให้อิสระแก่เขา เขามีความสุข ที่ได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ มีความสามัคคี และกลายเป็นเพื่อนสนิทที่รักกันมาก

“ในขณะตัวพ่อแม่ของเด็กหลายคน  ก็มีพ่อแม่หลายคนบ่น คัดค้าน ไม่อยาก ไม่ยอมให้เด็กไปเก็บขยะ บ้างก็บอกผมว่า พาเด็กไปเก็บขยะทำไม ตากแดดตากฝน อะไรแบบนี้”

ซึ่งทำให้เขาเลือกและตัดสินใจ ที่จะใช้ศิลปวัฒนธรรมดนตรีชนเผ่า มาเป็นตัวเชื่อมประสานและดึงเด็กๆ เข้ามารวมกลุ่มกันที่นี่ได้

“เสียงดนตรีนี้แหละที่ทำให้เด็กๆ ได้ยิน และพากันเข้ามาอยู่ตรงนี้  เด็กได้สัมผัส และเด็กมีความสุข และพ่อแม่ก็มีความสุข” เก่อเส่ทู เอ่ยออกมาพร้อมกับรอยยิ้ม

ซึ่งมันเป็นความฝันของเขาด้วย  ที่อยากเห็นเด็กๆ ปกาเกอะญอ ได้หันกลับมาเล่นดนตรีชนเผ่าของตัวเอง

“ยกตัวอย่าง เตหน่า มันไม่ใช่เป็นแค่เครื่องดนตรี แต่มันคือทั้งหมดของชีวิต มันคือเพื่อน มันคือทุกสิ่งทุกอย่าง  วันไหนที่เราไม่สบายใจ พอหยิบเตหน่ามาเล่น มันทำให้เรารู้สึกสบายใจเพราะดนตรี และบทเพลง นั้นแฝงไปด้วยบทธา คำสอนดีๆ ของบรรพบุรุษได้สอนเอาไว้ มีมานานหลายร้อยปีมาแล้ว แต่เครื่องดนตรีเหล่านี้ เริ่มจะสูญหายไปไม่กี่ปีมานี้  ผู้เฒ่าผู้แก่ไม่ได้สอนให้ลูกหลาน ลูกหลานก็ไม่ค่อยใส่ใจ แต่พอดี ผมชอบดนตรีเหล่านี้ จึงพยายามเรียนรู้ และสืบสานเอาไว้...”

จนกลายมาเป็นวงดนตรีขยะลอแอะ หรือวงขยะผู้น่ารัก ที่หลายคนได้สัมผัสแล้วรู้สึกประทับใจในความบริสุทธิ์ ใสซื่อของเด็กๆ

เก่อเส่ทู และน้องๆ กลุ่มนี้ ได้ใช้ดนตรีและบทเพลง เป็นตัวสื่อสาร ตัวเชื่อมโยงให้คนมารวมกัน อีกทั้งยังได้ขยายไปสู่ชุมชนและเครือข่ายอื่นๆ จนคนรู้จักกันไปทั่วในขณะนี้

ทุกครั้งที่พาเด็กๆ ไปเล่นดนตรี เก่อเส่ทู จะพยายามสอดแทรกเรื่องราวของวิถีวัฒนธรรมชนเผ่า การอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า อากาศ รวมทั้งเรื่องขยะให้ผู้ชมผู้ฟัง พอแสดงดนตรีเสร็จ เขาก็จะพาเด็กๆ ช่วยกันเก็บขยะภายในงานกลับไปด้วยทุกครั้งไป

“ดนตรี ทำให้เราสร้างมิตรภาพดีๆ ให้กัน  ทำให้เราได้มาเจอกันเหมือนวันนี้...ดนตรีทำให้ศัตรูกลายเป็นมิตร เพราะปกาเกอะญอนั้นไม่ชอบสร้างศัตรู แต่ชอบสร้างมิตรมากกว่า”

ที่สำคัญ ดนตรี ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ เข้าใจ แนวคิดของเก่อเส่ทู ที่อยากปลูกฝังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม ดนตรี วิถีวัฒนธรรม แถมยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่เด็ก  โดยการพาเด็กๆ ไปร้องเพลง เล่นดนตรีให้นักท่องเที่ยวชมกัน ส่วนใหญ่มักจะได้รับทริปกำลังใจมาทีละ 500-1000 บาท ซึ่งเด็กๆ ทุกคนจะนำเงินที่ได้มาหารเฉลี่ยแบ่งกัน

บางครั้ง พ่อแม่ของเด็กๆ แอบไปดูวงดนตรีขยะลอแอะ แสดงให้นักท่องเที่ยวชม แล้วรู้สึกภูมิใจที่เห็นลูกหลานของตัวเองสามารถทำได้ และมีคุณค่าต่อสังคม

จากเด็กหลังห้อง เด็กเหลือขอ

เด็กๆ ที่ครูบอกมันร้าย เรียนไม่เอาไหน

แต่พวกเรามีความสุขทุกครั้ง

เมื่อได้มาเรียนรู้อยู่ร่วมกับครูคิกขุ

พวกเรามารวมตัวกัน เรียกว่า วงขยะลอแอะ

ลอแอะ ภาษาปกาเกอะญอ แปลว่าน่ารัก

ทุกเสาร์อาทิตย์พวกเราพากันไปเก็บขยะ

ที่ถูกผู้คนสัญจรไปมาทิ้งลงริมทางกลางป่า

เสร็จแล้ว พวกเรามาล้อมวงบรรเลงดนตรีเตหน่า

เครื่องดนตรีเตหน่า ทำมาจากกองขยะ

เศษไม้ สายเบรครถถีบ สังกะสีเก่า

กลายเป็นเครื่องดนตรีเตหน่าที่มีชีวิตและจิตวิญญาณ

“เราไม่ใช่นักดนตรีมืออาชีพ

แต่พวกเราคือมือเก็บขยะ...ผู้น่ารัก

ที่อยากบรรเลงเพลงให้ทุกคนได้ฟัง

และอยากให้คนทุกคน

หันมารักษ์โลก ดูแลสิ่งแวดล้อมให้งดงาม”

 

ขยะ: สร้างแรงบันดาลใจ

“รู้มั้ย...ถ้าวันไหน ที่ผมคิดอะไรไม่ออก ผมมักจะไปยืนดูกองขยะ แล้วมันทำให้ผมเห็นปัญหา เห็นปัญญา และค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ จากกองขยะ” เก่อเส่ทู บอกอย่างนั้น

ใช่แล้ว เขาพยายามจะสื่อให้เราเข้าใจว่า กองขยะที่ถูกทิ้ง บางครั้งมันทำให้เรามองเห็นตัวเอง มองเห็นชุมชน มองเห็นสังคม ได้เด่นชัดมากขึ้น

เขาหยิบขวดเบียร์ยี่ห้อหนึ่งขึ้นมาจากกองขยะให้เราดูเป็นตัวอย่าง...

“อย่างเช่นขวดเบียร์ขวดนี้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของปัญหาของขยะจริงๆ แล้วมันอยู่ที่ต้นตอของปัญหา มันคือตรงนี้ เจ้าของ นายทุนที่ผลิตเบียร์ ซึ่งผมว่า พวกเขาน่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะกันตรงนี้ด้วยซ้ำไป  พวกเขาควรจะมองตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าทำยังไง ให้สินค้าของตัวเอง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่กลายเป็นขยะ หรือว่าทำยังไง ให้คนกิน คนบริโภคแล้ว ไม่ทิ้งกลายเป็นขยะแบบนี้  ผมว่าถ้าผู้ประกอบการ ก่อนที่จะลงมือผลิต เขาน่าจะคิดและป้องกันเรื่องตรงนี้ก่อนได้นะ ซึ่งจะโทษเรื่องคนทิ้งอย่างเดียวก็ไม่ได้  เพราะต้นเหตุมันคือที่ผู้ผลิตโน่น มันคือซุปเปอร์ขยะ”

แน่ละ เขาพยายามทำความเข้าใจกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมันถูกหมักหมมมานานหลายศตวรรษมาแล้ว

“ผมไม่มีสิทธิที่จะไปห้ามคนทิ้งขยะ  และไม่มีสิทธิที่จะไปห้ามกลุ่มทุนไม่ให้ผลิตสินค้าขยะ

แต่เราทุกคนมีสิทธิที่จะเริ่มต้นจัดการตัวเราเองก่อน จัดการชุมชนของเราให้ดีได้นะ” เก่อเส่ทู  บอกย้ำ

ใช่แล้ว สิ่งที่เขาทำได้ตอนนี้ คือเก็บขยะเหล่านี้มาคัดแยก และทำการรีไซเคิลในรูปแบบต่างๆ โดยได้รับการชี้แนะจากผู้กองยอดรัก หรือ สถาพร สกลทัศน์ ซึ่งผันตัวเกษียณตนเองจากกองทัพเรือมาสู่กระบวนการสร้างเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่วา ด้วยการปลูกฝังและกระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชนมากกว่าการรอรับจากภายนอก

ผู้กองจึงได้ชักชวนลูกสาวและเพื่อนๆ ซึ่งกำลังเรียนอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาช่วยกันจัดการขยะรีไซเคิลเหล่านี้ ร่วมกับ เก่อเส่ทู และเด็กๆ นำขวดพลาสติก ขวดแก้ว มาคัดแยก และทดลองทำการแปรรูป

หนึ่งนั้นคือ การทำอิฐขยะ หรือ อิฐขยะสัมมาชีพ เป็นจุดเปลี่ยนของการคิดค้นวิธีการลดปัญหาขยะ แต่นำมาซึ่งการคืนประโยชน์กลับสังคม

อิฐขยะ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ด้วยการนำส่วนประกอบจากขยะที่มีมากที่สุด นั่นคือ ถุงพลาสติก โดยผ่านกระบวนการนำพลาสติกมาทำเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 3 กระสอบ ผสมกับทราย 2-3 แก้ว แล้วนำไปเผาก็จะได้อิฐขยะมา 1 ก้อน จากนั้นสามารถนำไปก่อเป็นฝาผนังบ้านได้

นอกจากนั้น ก็มีการนำวงล้อรถยนต์มาทำเป็นแปลงปลูกพืชผักสวนครัว นำขวดหลากสีมาทำห้องน้ำและทางเดินที่มีลวดลายสีสันงดงาม

ในขณะ เก่อเส่ทู เขาได้นำเศษสังกะสีเก่าๆ เศษไม้ สายเบรกรถถีบมาทำเป็นเตหน่า เครื่องดนตรีปกาเกอะญอ ไว้สอนเด็กๆ และวางจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจอีกทางหนึ่งด้วย

“ตอนนี้ เราก็กำลังคิดๆ กันว่า จะรีไซเคิล จะทำอะไรให้ได้มากกว่านี้อีก” เขาบอกกับเรา

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ผู้กอง ได้มีส่วนเข้ามาต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับครูคิกขุและน้องๆ โรงเรียนขยะลอแอะ นั่น คือการเริ่มต้นเรื่องพัฒนากาแฟในพื้นที่ให้ผู้คนที่สนใจเรื่องกาแฟได้มาลิ้มลองรสชาติกัน จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “มาลากาแฟ” พร้อมสโลแกน “ดูแลชุมชน พืช สัตว์ ขยะและสิ่งของ”

ผู้กอง เจ้าของมาลากาแฟ ผู้หนุนเสริมร.ร.ขยะลอแอะ

ปัจจุบัน ผู้กองจะนำรถถีบมาขายกาแฟดริปกันสดๆ เฉพาะช่วงเช้าบริเวณตลาดบ้านกาด ตั้งแต่ 07.00 - 11.00 น.  และล่าสุด มาลากาแฟได้เปิดสาขาใหม่ ที่โรงเรียนขยะลอแอะ บ้านหนองเต่า โดยฝีมือการคั่วกาแฟ บดกาแฟ ชงกาแฟ ของเด็กๆ โรงเรียนขยะลอแอะนั่นเอง  และบางครั้ง เก่อเส่ทู ก็จะพาน้องๆ ไปเก็บขยะ และยืนดริปกาแฟให้กับผู้คนที่สัญจรไปริมถนนได้จิบชิมลิ้มลอง ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักเดินทางเป็นอย่างดี

“ตอนนี้ ผมกำลังเก็บรวบรวมเมล็ดกาแฟของชาวบ้าน ของญาติพี่น้องที่ปลูกกาแฟเอาไว้ แต่ไม่ได้สนใจ ผมเริ่มศึกษาเรื่องกาแฟมากขึ้น เริ่มทดลองตาก คั่ว บด และมาดริปให้แก่ลูกค้าและผู้มาเยือน ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นช่วยหนุนเสริมให้กับกิจกรรมของเราต่อไปได้ในอนาคต”

แบ่งปัน ขยายองค์ความรู้ขยะลอแอะ ไปยังชุมชนต่างๆ

ทุกวันนี้ เก่อเส่ทู ยังได้เดินทางไปแบ่งปันเรื่องขยะลอแอะ เพื่อขยายองค์ความรู้ แบ่งปันให้ชุมชนใกล้เคียงหลายพื้นที่ หลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและตาก ซึ่งเขาย้ำว่า การจัดการขยะ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นั้นไม่จำเป็นต้องจัดการแค่ในพื้นที่ชุมชนของตนเอง เพราะเราล้วนอยู่ในโลกใบเดียวกัน จำเป็นที่ต้องช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

ร่วมแบ่งปันเรื่องขยะลอแอะ ที่บ้านแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

“ตอนนี้ ก็เริ่มมีคนเห็นดีเห็นงามมากขึ้น ทางหน่วยงานท้องถิ่นก็เริ่มมีโครงการรณรงค์เก็บขยะกันแล้ว และหลายพื้นที่ก็ได้นำแนวคิดของเราไปปรับใช้ ขยายผลในพื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียง เช่น หมู่บ้านแม่สะป๊อก ก็เริ่มมีกิจกรรมเก็บขยะแบบนี้แล้วเหมือนกัน และที่ผ่านมา ผมได้ไปแลกเปลี่ยน กับเครือข่ายเด็กและเยาวชนหลายหมู่บ้าน  อย่างเช่น ที่อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ และหลายพื้นที่ใน จังหวัดตาก”

ไม่นานมานี้ เก่อเส่ทู ได้ไปร่วมแบ่งปันเรื่องขยะลอแอะ ที่บ้านแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เขากระตุ้นเตือน ปลุกจิตสำนึกให้กับน้องเยาวชนบ้านแม่เหาะว่า ขยะกำลังทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก ดังนั้น เราต้องมาร่วมมือร่วมใจเก็บขยะเพื่อโลกใบนี้กัน

“โลกกำลังร้องไห้ หนูจะเช็ดน้ำตาให้เอง” ก่อนเดินทางกลับลงจากดอย เรายังยินเสียงอันอ่อนโยนและจริงจังของเก่อเส่ทู ได้ชัดเจน...

“ทุกวันนี้เราลืมตัว เราไม่ยอมรับ เราไม่ละอายใจ และชอบโยนความผิดให้คนอื่น แต่ไม่ได้โทษตัวเราเอง  แต่ถ้าวันหนึ่งเรากลับใจ หันมาทบทวนตัวเอง ก็จะเข้าใจ ใช่ครับ สิ่งที่เราทำนี้ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง แต่เราทำเพื่อคนอื่น เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกของเรา ซึ่งถ้าเราไม่ลงมือทำด้วยตนเองก่อน แล้วใครจะมาช่วยเรา ถ้าเราไม่เริ่มต้นลงมือทำวันนี้ แล้วเราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อมกันได้ยังไง” เก่อเส่ทู ครูโรงเรียนขยะลอแอะ บอกย้ำยืนยันอย่างหนักแน่น

และนี่คือเส้นทางชีวิตที่เก่อเส่ทูเลือก..โรงเรียนขยะลอแอะ...การฟื้นฟูธรรมชาติและจิตวิญญาณชนเผ่าปกาเกอะญอ

ที่มาข้อมูล : 

  • ครูคิกขุ...โรงเรียนขยะลอแอะ กับหนทางแห่งการกลับใจดูแลระบบนิเวศ,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 112 มกราคม-เมษายน 2563
  • คนขยะ :มะลิบานกลางคืน,มูลนิธิสัมมาชีพ www.right-livelihoods.org, 2 กุมภาพันธ์ 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net