Skip to main content
sharethis

สื่ออัลจาซีราสัมภาษณ์อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมยูเครน อันดรี ซาโกรอดเนียก ในเรื่องวิกฤตความขัดแย้งกับรัสเซีย ในเรื่องที่รัสเซียอ้างว่าถอนทัพแล้วแต่ชาติตะวันตกเห็นว่าแค่เคลื่อนย้ายกำลังพลแต่ก็ยังมีอยู่ใกล้กับยูเครน เรื่องสนธิสัญญามินสก์ และเรื่องที่ว่าถ้าหากมีการโจมตีจริงจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด ทั้งนี้ซาโกรอดเนียกมองว่าผู้นำรัสเซียคนปัจจุบัน "หมกมุ่น" กับการเข้ามามีอำนาจเหนือยูเครนมาก

อันดรี ซาโกรอดเนียก เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในยูเครนเมื่อปี 2562-2563 และในตอนนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานขององค์กรคลังสมองด้านความมั่นคงที่ชื่อ ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์การกลาโหม (Centre for Defence Strategies)

สื่ออัลจาซีราได้สัมภาษณ์ซาโกรอดเนียกในกรณีวิกฤตความขัดแย้งกับรัสเซียที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ โดยที่ถึงแม้ว่าทางการรัสเซียจะปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้มีแผนการจะรุกรานยูเครนและกล่าวหาว่าชาติตะวันตกหวาดผวากันไปเองโดยใช่เหตุ

อีกทั้งรัสเซียยังได้อ้างเมื่อสัปดาห์นี้ว่าพวกเขาถอนทัพไปแล้วมากกว่า 100,000 นาย และส่วนหนึ่งก็กลับฐานทัพแล้วหลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยวางกองกำลังอยู่บริเวณชายแดนยูเครน แต่สหรัฐฯ ก็แถลงว่ารัสเซียไม่ได้ถอนทัพจริงแต่กลับส่งกองกำลังเข้าไปในบริเวณนั้นมากขึ้น โดยมีภาพถ่ายผ่านดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ายังคงมีการวางกำลังของรัสเซียในบางส่วนใกล้กับยูเครน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียกำลังจะบุกยูเครนเสียทีเดียว ในเรื่องนี้ทำให้สื่อตั้งคำถามต่อซาโกรอดเนียกว่ารัสเซียถอนทัพจริงหรือไม่

คุณเชื่อในเรื่องที่รัสเซียบอกว่าพวกเขาถอนทัพแล้วหรือไม่

พวกเรายังไม่เห็นการถอนทัพใดๆ ทั้งนั้น สิ่งที่พวกเขาเห็นจริงๆ แล้วคือการเคลื่อนทัพและซ้อมรบทำให้ยังเร็วเกินกว่าจะสรุปได้ หลังจากวันที่ 20 ก.พ. ที่รัสเซียซ้อมรบกับเบลารุสเสร็จแล้ว รัสเซียก็จะตัดสินใจว่าพวกเขาจะทำอะไร แล้วเราก็จะได้เห็นว่าพวกเขาจะอยู่หรือไป

บางทีกองทัพส่วนหนึ่งจะยังคงอยู่ขณะที่บางส่วนอาจจะถอนทัพกลับไป แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็นการลดกำลังทัพอย่างมีนัยสำคัญ

คุณคิดว่าวิกฤตนี้จะกินเวลายาวนานแค่ไหน

มันเป็นเรื่องที่ตอบยากเพราะตราบใดที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็จะพยายามครอบครองยูเครน เรื่องนี้เป็นความหมกมุ่นของเขาและดูเหมือนว่าเขาจะพยายามใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อให้ได้มา

โชคร้ายที่พวกเขายังไม่เห็นทางออกเว้นแต่เขาจะถูกทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างแท้จริงในประเทศตัวเอง และโดยประชาคมโลกที่จะบีบให้เขาล่าถอยออกไป สำหรับวิกฤตในตอนนี้ เราจะบอกได้มากกว่านี้หลังจากวันที่ 20 ก.พ.

สนธิสัญญามินสก์ (สนธิสัญญาที่รัสเซียทำร่วมกับยูเครนโดยมีชาติตะวันตกร่วมไกล่เกลี่ยในปี 2557-2558 หลังวิกฤตไครเมีย) จะช่วยลดระดับความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้หรือไม่

สนธิสัญญามินสก์มีการเปลี่ยนแปลงเพราะฉบับเดิมมันล้าสมัยไปแล้ว มีสนธิสัญญามินสก์ฉบับที่ 2 ที่มีการลงนามในปี 2558 แล้วพวกเราก็เชื่อว่ามันถูกฝ่าฝืนโดยรัสเซียแทนจะโดยทันที

สนธิสัญญาที่ว่านี้พูดถึงการหยุดความเป็นปฏิปักษ์ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้น พวกเขาควรจะถอนทัพต่างชาติออกในที่นี้คือทัพของรัสเซียแต่พวกเขาก็ไม่ทำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการหารือเกี่ยวกับการยกเลิกการวางขบวนทัพกำลังรบกึ่งทหารที่ผิดกฎหมายซึ่งก็ไม่เคยมีการปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังไม่ทำตามข้อตกลงปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน

ข้อตกลงมินสก์ต้องพัฒนาไปเป็นอย่างอื่น ผมเชื่อว่าอย่างนั้น แต่รัสเซียก็เพิกเฉยต่อความล้มเหลวแล้วเอาแต่ท่อง "สนธิสัญญามินสก์ สนธิสัญญามินสก์" โดยทึกทักเอาว่าคนร้อยละ 99 ไม่เคยอ่านมันพวกเขาก็เลยจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็น

ซึ่งตัวสนธิสัญญาไม่ได้ยาวขนาดนั้น สำหรับคนที่ได้อ่านมันก็จะเข้าใจว่ามันเป็นเอกสารที่ซับซ้อน และยากที่จะคาดหวังว่ามันจะทำให้เกิดมติที่เป็นทางออก

รัสเซียยังคงอ้างว่าพวกเขาไม่ได้มีคนของตัวเองในพื้นที่ยูเครนตะวันออก แต่กำลังรบในพื้นที่เป็นกลุ่มที่ไม่สังกัดประเทศใด แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับแบบที่รัสเซียอ้าง พวกเราและที่อื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และประเทศองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตต่างก็รู้ว่ารัสเซียอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นและกองกำลังที่มีอยู่เป็นกองกำลังที่ใช้แบบสงครามตัวแทนซึ่งขึ้นกับรัสเซีย

จนกว่ารัสเซียจะยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีอิทธิพลของพวกเขาในพื้นที่เหล่านั้นหรือโลกเลิกมองว่ามันเป็นหัวข้อที่พูดกันจบสิ้นไปแล้ว และไม่หารือด้วยแนวคิดที่ว่ากลุ่มกองกำลังเหล่านี้ไม่ขึ้นอยู่กับประเทศใด ผมคิดว่าพวกเราติดอยู่มันสนธิสัญญามินสก์มากเกินไป จนกว่าโลกจะมีจุดยืนหนักแน่นว่ามีอิทธิพลของรัสเซียในพื้นที่นั้นพวกเราก็จะต้องวนเวียนอยู่กับสนธิสัญญามินสก์ไปตลอด

ถ้าหากมีการโจมตียูเครนเกิดขึ้นจริง คุณคิดว่ามันจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด

มันอาจจะแตกต่างกันออกไป รัสเซียมักจะทำให้มีทางเลือกหลายอย่างเผื่อไว้อยู่เสมอ มันอาจจะไม่ใช่แค่แผนการแบบเดียว พวกเรากำลังมองเห็นความตึงเครียดอย่างหนักในทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเราบอกไว้ตังแต่เดือน พ.ย. 2564 แล้วว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอันดับหนึ่งสำหรับพวกเรา

พวกเราคิดว่าการยกระดับสถานการณ์อาจจะเกิดขึ้นที่นั่น และมันก็ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เมื่อคืนก่อน*

ความน่าเป็นห่วงลำดับที่ 2 คือกรณีทะเลดำและทะเลอะซอฟ อาจจะมีการโจมตีจากที่นั่นแล้วพวกเขารวบรวมกองกำลังขนาดใหญ่ไว้ที่นั่นแล้วในตอนนี้ มีเรือรบจำนวนมากกว่าที่เคยมีที่ไหนมาก่อนในประวัติศาสตร์


*ซาโกรอดเนียกอ้างอิงถึงเหตุการณ์วันที่ 16 ก.พ. 2565 ที่มีการยิงปืนใหญ่โจมตีใส่กันในพื้นที่ความขัดแย้งลูฮันสก์ ที่ศูนย์บัญชาการกองทัพยูเครนกล่าวหาว่ากองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียยิงปืนใหญ่ถล่มหมู่บ้าน สตานิตเซีย-ลูฮันสกา และบอกว่าปืนใหญ่ตกใส่โรงเรียนอนุบาล ทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นพลเรือน 2 ราย ทำให้เกิดความกังวลจากยูเครนและชาติตะวันตกว่ารัสเซียจะอ้างใช้การยิงโต้ตอบโดยยูเครนเป็นการหาความชอบธรรมในการรุกรานยูเครน


เรียบเรียงจาก
Q&A: Ukraine invasion an ‘obsession’ for Vladimir Putin, Aljazeera, 17-02-2022
Ukraine and rebel region trade shelling allegations, Aljazeera, 17-02-2022
Ukraine: Satellite images show Russian military activity, BBC, 18-02-2022

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net