Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมลองตั้งคำถามว่า ถ้ากฎหมายสำคัญที่เสนอโดยรัฐบาลไม่ผ่านสภา แล้วรัฐบาลไม่ยุบสภาหรือลาออกซะอย่างจะได้หรือไม่ เพราะตามธรรมเนียมหรือประเพณีของการปกครองระบบรัฐสภาที่ถือปฏิบัติกันทั่วโลก ถ้าสภาคว่ำร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย หรือ พระราชกำหนดต่างๆ ฯลฯ นายกรัฐมนตรีมีทางเลือก 2 ทาง คือลาออก หรือยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา 

คำตอบที่ผมได้รับก็คือ ไม่ได้ ต้องยุบสภาหรือลาออกเท่านั้น ผมก็ถามต่อว่ามีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฉบับไหน คำตอบก็คือไม่มี มีแต่ธรรมเนียมหรือประเพณีการปกครอง ซึ่งเมื่อมาดูสถานภาพของรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้มีที่มาตามธรรมเนียมหรือประเพณีฯเพราะใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.มายกมือให้คนนอกเป็นนายกฯและพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้มาจัดตั้งเป็นรัฐบาลแต่อย่างใด 

ปกติแล้วในระบบรัฐสภาจะมีการยุบสภาหรือลาออกในกรณีใดบ้าง

การยุบสภา

1.กรณีที่กฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่าน จึงยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสิน

2.กรณีที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าคะแนนนิยมของตนเองเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วจะสามารถมี ส.ส.ฝ่ายตนหรือพรรคตนเข้าสภามามากกว่าเดิมเพื่อที่จะได้ผ่านกฎหมายหรือนโยบายได้ง่ายขึ้น (อังกฤษใช้บ่อย)

3.กรณีรัฐบาลที่จัดตั้งมีลักษณะเป็นรัฐบาลผสม นายกฯไม่อาจควบคุมการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลได้ เช่น การยุบสภาสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี 2519

4.กรณีที่สภาฯอยู่ใกล้ครบวาระ 4 ปี (หรือ 5 ปีในบางประเทศ) ก็ยุบก่อน เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งกรณียุบสภาจะมีกำหนด 45-60 วัน (รธน.ม.103) และผู้สมัครสามารถสังกัดพรรคใหม่ได้ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน แทนที่จะต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน (รธน.ม.102) และต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน หากสภาอยู่จนครบวาระ

นอกจากนั้นในต่างประเทศอาจเป็นกรณีไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตามยังไม่เคยปรากฏว่ารัฐบาลยุบสภาเพราะเหตุสภาล่มด้วยเหตุองค์ประชุมไม่ครบแต่อย่างใด

การลาออก

1.ใช้ในกรณีที่กฎหมายสำคัญไม่ผ่านสภา เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกเนื่องจากการที่สภาฯลงมติไม่ให้ความเห็นชอบการทำสนธิสัญญาจำกัดยางกับต่างประเทศ เมื่อปี 2477/จอมพล ป. พิบูลสงครามลาออกเนื่องจาก ส.ส.ไม่อนุมัติร่าง พ.ร.ก.นครบาลเพชรบูรณ์ เมืองหลวงแห่งใหม่ เมื่อปี 2487 เป็นต้น

2.ใช้ในการแสดงความรับผิดชอบในกรณีเกิดความผิดพลาดในนโยบายสำคัญๆหรือไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติในบ้านเมืองได้ เช่น พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกเนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน เมื่อปี 2523 /พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกเนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 เป็นต้น

3.เพราะถูกดดัน เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกด้วยผลอันมาจากการอภิปรายทั่วไปแม้ว่าจะไม่ได้มีการลงมติกรณีการทุจริตในการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ เมื่อปี 2480 (มีหลายคนแอบหวังว่าการเปิดอภิปรายทั่วไปใน 17-18 ก.พ.65 จะส่งผลเช่นนั้นด้วย) /พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะได้รับการลงคะแนนไว้วางใจจากเสียงส่วนมากในสภา แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกหลังมีกระแสกดดันอย่างรุนแรงในสังคม เมื่อปี 2490/นายควง อภัยวงศ์ ลาออกเนื่องจากถูกทหารบังคับให้ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อปี 2491 เป็นต้น

4.เพื่อปรับคณะรัฐมนตรี พูดง่ายๆก็คือแทนที่จะปรับเล็กๆน้อยๆ ก็ลาออกเพื่อปรับสูตรรัฐบาลผสมใหม่เสียเลย เช่น จอมพล ป. พิบูลสงครามเมื่อปี  2485  /พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2533 เป็นต้น
นอกจากนั้นก็เป็นเหตุผลอื่นในการลาออก เช่น เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตามทัพเพื่อรอตัวจริงในกรณีนายทวี บุณยเกตุ เป็นเพียง 17 วันเพื่อรอ มรว.เสนีย์  ปราโมช เมื่อปี 2488 หรือพลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกเนื่องจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามยังไม่เคยปรากฏว่ารัฐบาลลาออกเพราะเหตุสภาล่มด้วยเหตุองค์ประชุมไม่ครบแต่อย่างใด

ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรหากรัฐบาลปัจจุบันไม่ยุบสภาหรือลาออกถ้ากฎหมายสำคัญไม่ผ่านสภาฯ

แม้ว่าจะเป็นเพียงธรรมเนียมหรือประเพณีการปกครองที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่รัฐบาลอาจจะยื้อได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปทันที จะไม่สามารถผ่านกฎหมายสำคัญอะไรได้อีก การบริหารราชการแผ่นดินจะประสบวิกฤติอย่างหนัก มีบางคนบอกว่าก็ออกเป็นพระราชกำหนดสิ กลับมาเข้าสภาไม่ผ่านก็ไม่ผ่านแต่มีผลใช้บังคับไปแล้ว ซึ่งมันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะเศรษฐกิจจะล่มสลาย ตลาดหุ้นก็จะพัง ต่างประเทศไม่ให้การรับรองความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล ฯลฯ

ทางเลือกที่เหลือน้อย

จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่เกิดรอยร้าวในพรรคหลักของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล จนพรรคภูมิใจไทยที่ล่าสุดมี ส.ส.อยู่ในมือถึง 62 คน (ยังไม่รวมที่ฝากเลี้ยงอีก) ไม่ยอมเข้าร่วมประชุม ครม.และยังมี “หอกข้างแคร่ ”คือ กลุ่มคุณธรรมนัสที่มีคุณประวิตรหนุนหลังอยู่อีก ฯลฯ ทางเลือกคุณประยุทธ์จึงเหลืออยู่น้อยนิด แม้ว่าจะอยากอยู่ต่อสักเพียงใดก็ตาม

หากเลือกด้วยการลาออกโดยหวังว่าจะใช้เสียง ส.ว.ช่วยเหมือนเดิมก็น่าจะยากแล้ว เพราะ ส.ว.ก็เหลือเวลาเพียงเล็กน้อยเช่นกัน จะปลดก็ทำไม่ได้ ที่สำคัญคือคนที่เสนอชื่อ ส.ว.ชุดนี้ก็ไม่มีแต่คุณประยุทธ์เพียงคนเดียว ยังมีคุณประวิตรและคนอื่นอีก แม้ว่าคุณประยุทธ์จะเป็นคนเซ็นก็ตามแต่ก็เซ็นในฐานะ คสช.ซึ่งไม่มีแล้ว คุณประยุทธ์จึงอยู่ในสภาพ “ขาลอย”  แคนดิเดตนายกฯที่เหลือของพรรคต่างๆของฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันก็ไปกันเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงคุณอนุทินเท่านั้น มีหรือที่คุณประยุทธ์จะยอม ครั้นจะเปลี่ยนขั้วมาหยิบเอาฝ่ายค้านมาร่วมรัฐบาลโดยให้ตัวเองเป็นนายกฯอยู่อีกไม่ถึงปี ก็คงไม่มีพรรคไหนคิดสั้นขนาดนั้น

ฉะนั้น ในสภาวการณ์ “จนตรอกทางการเมือง”เช่นนี้ จึงเหลือเพียงการยุบสภาเท่านั้น ซึ่งผมเชื่อว่าคงไม่ช้านัก เพราะหากขืนปล่อยให้มีการยื่นเปิดอภิปรายแบบมีการลงมติขึ้นมา อาจเจอกับภาวะ “การดับสยอง”กลางสภาได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรคสองยังบัญญัติไว้อีกว่าหากเมื่อยื่นแล้วยุบสภาหนีไม่ได้อีกด้วยน่ะครับ
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net