Skip to main content
sharethis

ความคืบหน้าคดีเอกชนฟ้อง 4 ประชาชนในพื้นที่ ปมพิพาทออกโฉนดทับพื้นที่สาธารณประโยชน์หนองโมง-หนองกลาง จ.ร้อยเอ็ด ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ฯ เผยศาลร้อยเอ็ดไต่สวนมูลฟ้อง เสนอให้โจทก์ฟ้องแพ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ถอนฟ้องจำเลยทั้ง 4  คน นัดไต่สวนฯ อีกครั้ง 26 เม.ย.นี้

15 ก.พ.2565 นิวาส โคตรจันทึก ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองโมง-หนองกลาง ชุมชนเขวาโคก–เขวาพัฒนา ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด แจ้งว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดนัดไต่สวนมูลฟ้อง กรณีมีกลุ่มเอกชนฟ้องคดีประชาชนในพื้นที่ 4 ราย หลังจากออกมาร่วมกันปกป้องผืนป่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.64 ที่มีผู้เข้าไปทำลายป่า โดยใช้รถแบ๊คโครตัดโค่นต้นไม้ใหญ่ล้มลงกว่า 500 ต้น และพืชสมุนไพรเสียหายจำนวนมาก รวมพื้นที่กว่า 20 ไร่

นิวาส เพิ่มเติมว่า หลังจากเข้าแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบัวขาว ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด กลับถูกกลุ่มเอกชนอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ซึ่งตนตกเป็นจำเลยที่ 2 ข้อกล่าวหาร่วมกันบุกรุก กระทำความผิดทางอาญา เดิมศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 26 ธ.ค.64 แต่ทนายฝ่ายโจทก์ขอให้ศาลพิจารณาเลื่อนนัดเป็นวันที่ 24 ม.ค.65 ซึ่งถนอมศักดิ์ ระวาดชีย (ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน) ทนายฝ่ายจำเลย ขอเลื่อนนัดอีกครั้ง

ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองโมง-หนองกลาง ระบุว่า 15 ก.พ.65 ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง พร้อมเสนอให้โจทก์​ไปฟ้องทางแพ่งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง หากดำเนินการยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งเสร็จ​แล้วนั้น ให้โจทก์​ถอนฟ้องจำเลยทั้ง 4 ในคดีนี้ และศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องอีกครั้ง ในวันที่ 26 เม.ย.65 นี้

สำหรับกรณีนี้ ช่วงระหว่างที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)หรือพีมูฟ ปักกลักชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้ง เมื่อวันที่ 20 ม.ค. - 3 ก.พ.65 ทองคูณ สงค์มา (คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างชุมชนเขวาโคก–เขวาพัฒนา ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด) จำเลยที่ 1 และเป็นสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)ได้เข้าร่วมชุมนุม และได้ขึ้นร่วมแลกเปลี่ยนบนเวทีกลางพีมูฟ ว่า กรณีที่สาธารณประโยชน์หนองโมง-หนองกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นผืนป่าที่ประชาชนกว่า 10 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล ได้แก่ ต.สระบัว และ ต.โนนสวรรค์ ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันยังคงมีสภาพความเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน แต่กลับถูกเอกชนออกโฉนดทับพื้นที่บริเวณดังกล่าวเกือบเต็มทั้งแปลง ซึ่งมาทราบภายหลังว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายที่ดิน จึงต้องการให้มีการเพิกถอนโฉนดที่ดิน ที่มีการออกทับที่ดินสาธารณประโยชน์ของชุมชน ทั้งที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน และยังไม่มีการออก นสล.แต่การที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้เอกชน เป็นการทำลายแหล่งอาหารซึ่งถือว่าเป็นผืนป่าชุมชนแหล่งสุดท้ายในเตตทุ่งกุลา ที่ชุมชนใช้สอยร่วมกัน

ทองคูณ บอกด้วยว่า กรณีข้อพิพาทเกิดขึ้นมานับแต่ปี 2536 ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มคัดค้าน ร่วมกันผลักดันและติดตามกระบวนการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่และในระดับนโยบายมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข กระทั่งเกิดเหตุการณ์มีผู้เข้ามาทำลายป่า เมื่อชาวบ้านออกมาปกป้องกลับถูกฟ้องคดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net