Skip to main content
sharethis

อัปเดตความคืบหน้ากรณีรัสเซียถอนกำลังทหารบางส่วนออกจากชายแดนยูเครน และผลการพูดคุยระหว่างผู้นำรัสเซียและเยอรมนีที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ โดยรัสเซียยืนยันว่า “ไม่ต้องการสงครามในยุโรป” แต่การเจรจากับเยอรมันไม่สู้ดี นอกจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์วิกฤติ ‘ยูเครน-รัสเซีย’ จากมุมมอง ‘คนใน’ โดยนักวิชาการไทยผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย ที่สะท้อนให้เห็นมิติความผูกพันทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ระหว่างคนยูเครน-รัสเซีย จนนำมาสู่ความขัดแย้งด้านพรมแดน รวมถึงพัฒนาการทางการเมืองระหว่างรัฐเกิดใหม่ที่กำลัง ‘ตั้งไข่’ ทางประชาธิปไตย และรัฐพี่ใหญ่ที่พยายามรักษาเขตอิทธิพลของความเป็น ‘มหาอำนาจ’

16 ก.พ. 2565 สำนักข่าว Deutsche Welle ของเยอรมนีรายงานว่าวานนี้ (15 ก.พ. 2565) วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวกับโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีระหว่างการพูดคุยทวิภาคีอย่างเป็นทางการในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตชายแดนยูเครน-รัสเซีย ว่า “เราไม่ต้องการสงครามในยุโรป” พร้อมระบุว่าเยอรมนีคือ “หนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของรัสเซีย” และรัฐบาลรัสเซียตั้งใจจะทำงานร่วมกับรัฐบาลเยอรมันในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเยอรมนีคือประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของรัสเซียรองจากจีน

ปูตินยังกล่าวว่ารัสเซียยินดีส่งก๊าซให้ยุโรปผ่านท่อส่งก๊าซในยูเครนไปจนถึงช่วงหลังปี 2567 เพราะปัญหาใหญ่ที่สุดซึ่งเกิดจากอำนาจชาติตะวันตกคือท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่จะทำให้ยูเครนสูญเสียรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมการส่งก๊าซ เนื่องจากท่อส่งก๊าซในโครงการ Nord Stream 2 นั้นไม่ได้ใช้เส้นทางในยูเครนแต่ใช้เส้นทางทะเลบอลติกแทน นอกจากนี้ ผู้นำรัสเซียและเยอรมนียังได้หารือกันถึงกรณีของยูเครนและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) โดยปูตินกล่าวว่า “ประเทศต่างๆ มีสิทธิที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางการทหารตราบใดที่เพื่อนของเราในนาโตยังคงอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญคือการรักษาความมั่นคงของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นต้องไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศอื่นๆ”

“เรายินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการหารือต่อไป” ปูตินกล่าวเสริม

โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ขณะหารือกับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย)
 

ด้านนายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่าเขาไม่ต้องการให้วิกฤตในยูเครนพบเจอกับทางตันจนนำไปสู่หายนะแก่ทุกคน และสนับสนุนให้ใช้วิธีทางการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามในยุโรป ทั้งยังระบุว่ารัสเซียคือผู้มีบทบาทสำคัญในด้านความมั่นคงของยุโรป

“สำหรับชาวยุโรปแล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าความมั่นคงที่ยั่งยืนไม่อาจสำเร็จได้ถ้าหากปราศจากรัสเซีย และต้องเกิดขึ้นร่วมกับรัสเซียเท่านั้น” โชลซ์กล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าเยอรมนีสนับสนุนอำนาจอธิปไตยของยูเครน นอกจากนี้ DW News ยังรายงานว่าในการพูดคุยครั้งนี้ โชลซ์ให้ความสำคัญ ‘น้อยลง’ ในเรื่องภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการยกเลิกโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 สอดคล้องกับที่โทมัส ซิลเบอร์ฮอร์น ส.ส.ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพรรค CSU ซึ่งเป็นฝ่ายค้านของเยอรมนีในปัจจุบันให้สัมภาษณ์กับ DW News ว่าเยอรมนีพร้อมที่จะนำโครงการ Nord Stream 2 เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘แพ็คเกจคว่ำบาตร’ ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ของประเทศในยุโรป

นอกจากปัญหาวิกฤตยูเครน-รัสเซียแล้ว ผู้นำเยอรมนียังพูดคุยประเด็นอื่นๆ กับผู้นำรัสเซีย ซึ่งรวมถึงกรณีที่รัฐบาลรัสเซียสั่งปิดสำนักข่าว DW News ในรัสเซียและไม่อนุญาตให้นักข่าวของ DW News ทำงานในรัสเซีย เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลเยอรมันไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการและระงับการแพร่ภาพออกอากาศของสำนักข่าว RT สื่อสัญชาติรัสเซียที่มีเครือข่ายในหลายประเทศ โดยรัฐบาลเยอรมันอ้างว่าสำนักข่าว RT ประกอบกิจการแพร่ภาพที่ขัดต่อกฎหมายเยอรมนี แต่ทาง RT ระบุว่าการระงับใบอนุญาตครั้งนี้นั้นทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และจะเดินหน้าฟ้องร้องรัฐบาลเยอรมันในชั้นศาล สำหรับประเด็นนี้ โชลซ์ตอบผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า “หวังจะได้เห็น DW News เปิดทำการในรัสเซียอีกครั้งเร็วๆ นี้” ขณะที่ปูตินบอกเพียงแค่ว่า “จะหารือในโอกาสต่อไป”

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานว่ากองทัพรัสเซียถอนกำลังทหารบางส่วนออกจากพรมแดนยูเครนแล้ว และให้กลับเข้าไปประจำการยังฐานทัพเดิม แต่การฝึกซ้อมรบขนาดใหญ่ของกองทัพรัสเซียจะยังคงดำเนินต่อตามแผนเดิม

เจาะลึกสัมพันธ์ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ เมื่อสัมพันธ์ในอดีตสร้างรอยร้าวในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “พินิจวิกฤตยูเครน: เรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน” โดยมีจุดประสงค์เพื่ออธิบายความเป็นมาของปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียในมุมของ ‘รัสเซีย’ ที่มองปัญหาลึกลงไปมากกว่าความขัดแย้งเรื่องดินแดน แต่มองย้อนกลับไปถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่ตัดไม่ขาด และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รัสเซียไม่อยากทำสงครามเต็มรูปแบบกับยูเครน ที่รัสเซียมองว่าเป็นเหมือน ‘บ้านพี่เมืองน้อง’

งานเสวนาออนไลน์ครั้งนี้มีผู้ร่วมเสวนา คือ รศ.จิตติภัทร พูนขำ รองคณบดีฝ่ายนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปรีห์ปราง ถนอมศักดิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ไพลิน กิตติเสรีชัย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และกิจการพิเศษ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ไพลิน กิตติเสรีชัย (ซ้ายบน), ปรีห์ปราง ถนอมศักดิ์ชัย (ขวาบน), รศ.จิตติภัทร พูนขำ (ล่าง)
 

รัสเซีย-ยูเครน เดือดรอบใหม่: ปัญหาเฉพาะหน้าที่สั่งสมมานานกว่า 8 ปี

จิตติภัทรกล่าวเปิดการเสวนาโดยระบุว่าสถานการณ์บริเวณพรมแดนรัสเซีย ยูเครน และเบลารุสที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้เป็น ‘ปัญหาเฉพาะหน้า’ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาที่สั่งสมมาเป็นเวลานานอย่างน้อย 8 ปี จากเหตุการณ์ประกาศเอกราชของไครเมียและดอนบัสเมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2557 โดยในวันที่ 17 มี.ค. ที่จะถึงนี้เป็นวาระครบรอบ 8 ปีที่รัฐบาลท้องถิ่นไครเมียจัดการลงประชามติ ประกาศแยกตัวออกจากยูเครน และขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งรัสเซียมีมติรับไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโดยทันที หลังจากนั้นก็เกิด ‘สงครามในดอนบัส’ หรือการสู้รบระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบัส ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของยูเครนติดกับรัสเซีย ที่ต้องการแยกตัวออกจากยูเครนและไปเข้าร่วมกับรัสเซียเช่นเดียวกับไครเมีย จิตติภัทรบอกว่าเหตุการณ์นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุกแตกหักที่สำคัญของยูเครนและรัสเซีย

แม้ว่าองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) จะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อหาทางออกให้สงครามในดอนบัสยุติลงโดยเร็วด้วยการจัดโต๊ะเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในสนธิสัญญามินสก์ (Minsk Protocols) ที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุสเมื่อปี 2558 แต่สงครามในดอนบัสยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เพราะรัฐบาลยูเครนและรัสเซียมองสนธิสัญญาฉบับนี้คนละคนและยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงตามสนธิสัญญาได้ ประกอบกับแรงกดดันภายนอก นั่นคือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ที่พยายามขยายอิทธิพลเข้ามาในยุโรปตะวันออกจนเกือบประชิดรัสเซีย เช่น เมื่อปีที่แล้ว พบเรือพิฆาตเอชเอ็มเอสดีเฟ็นเดอร์ (HMS Defender) ของสหราชอาณาจักรในเขตทะเลดำ รวมถึงพบเครื่องบินรบของสหรัฐฯ เหนือน่านฟ้าทะเลดำ ทำให้รัสเซียมองว่านาโตเป็นภัยคุกคามที่ต้องระวังอย่างยิ่ง

รู้จัก "สนธิสัญญามินสก์"

สนธิสัญญามินสก์เป็นข้อตกลงและแผนแม่บแบบการยุติสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียในภูมิภาคดอนบัส ทำขึ้นครั้งแรกในเดือน ก.ย. 2557 โดยมีข้อตกลง 12 ข้อ โดยมุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการถอนกองกำลังติดอาวุธออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาดังกล่าวล้มเหลวลงในเวลาอันรวดเร็วเพราะทั้ง 2 ประเทศต่างละเมิดข้อตกลง จนกระทั่งในเดือน ก.พ. 2558 OSCE นำโดยฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นผู้ผลักดันให้เกิดสนธิสัญญานี้ขึ้นอีกครั้งภายใต้ข้อตกลง 13 ข้อ และมีเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นประธาน ในการลงนามสนธิสัญญาครั้งที่สอง ซึ่งเป็นฉบับที่ยังคงมีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อตกลง 13 ข้อในสนธิสัญญามินสก์ ได้แก่

  1. หยุดยิงในวงกว้างโดยทันที
  2. ทั้งสองฝ่ายต้องถอนกำลังอาวุธหนักออกจากพื้นที่
  3. ยินยอมให้ OSCE เข้าสังเกตการณ์
  4. เปิดการพูดคุยทวิภาคีระหว่างรัฐบาลปกครองตนเองของภูมิภาคดอนบัสและรัฐบาลกลางยูเครน โดยการพูดคุยต้องเป็นไปตามกฎหมายของยูเครนและได้รับการยอมรับจากรัฐสภาให้เป็นการพูดคุยในสถานะพิเศษ
  5. นิรโทษกรรมและอภัยโทษแก่ผู้ออกมาสู้รบ
  6. แลกเปลี่ยนตัวประกันและนักโทษ
  7. ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
  8. คืนสภาพสังคมและเศรษฐกิจให้อยู่ในสภาพเดิม ซึ่งรวมถึงสถานะลูกจ้างและเงินบำนาญ
  9. ยูเครนจะกลับไปควบคุมพื้นที่พรมแดนเช่นเดิม
  10. ถอนกำลังกองทัพต่างชาติ อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงกำลังพลทหารรับจ้าง
  11. ปฏิรูปรัฐธรรมนูญยูเครน ซึ่งรวมถึงการลดการรวมอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง เพิ่มการกระจายอำนาจไปยังส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคดอนบัส
  12. จัดการเลือกตั้งในภูมิภาคดอนบัส
  13. เดินหน้าเจรจาไตรภาคีระว่างรัสเซีย ยูเครน และ OSCE อย่างจริงจัง

ที่มา: Ukraine-Russia crisis: What is the Minsk agreement?

จิตติภัทรกล่าวว่าแม้จะมีเหตุการณ์ส่งสัญญาณด้านความมั่นคงระหว่างนาโตและรัสเซียมาตลอดระยะเวลา 8 ปี แต่สถานการณ์ที่ตึงเครียดในช่วงนี้ โดยเฉพาะการที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้าไปซ้อมรบในเบลารุสและประจำการประชิดชายแดนยูเครน ถือเป็นวิธีการที่วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียใช้กดดันให้สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโตเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อหาทางออกให้วิกฤตยูเครน ทั้งเรื่องไครเมีย ดอนบัส และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน

จิตติภัทรมองว่ารัสเซียและยูเครนไม่ต้องการให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ในช่วงเวลานี้ที่ทั้งสองประเทศเผชิญวิกฤตหลายอย่าง โดยเฉพาะรัสเซียที่ต้องคิดอย่างรอบคอบเพราะห่วงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จึงต้องพยายาม ‘หาทางลง’ กับชาติตะวันตกให้ได้ แต่การหาทางลงของต่อปัญหานี้ถือว่า ‘ยาก’ เพราะติดที่มายาคติ 4 ข้อ โดย 2 ข้อเป็นมุมมองของรัสเซีย คือ การมองว่ายูเครนไม่ใช่รัฐเอกราชแต่เป็นบ้านพี่เมืองน้องที่ผูกพันทางชาติพันธุ์ และปัญหาความขัดแย้งในยูเครนเป็นสงครามกลางเมือง ส่วนมายาคติอีก 2 ข้อในมุมมองตะวันตก คือ การมองว่าสงครามที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของปูติน แต่ลืมมองประชาชนชาวรัสเซียว่าคิดอย่างไรกับประเด็นนี้ และการตีความสนธิสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรในมุมมองที่แตกต่างกัน

รอยร้าวและความผูกพัน: มิติชาติพันธุ์และการเมืองภายใน

ปรีห์ปรางกล่าวว่าหากมองให้ลึกลงไปในความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียจะพบว่ามีมิติที่มากกว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความผูกพันและยึดโยงกันทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และชาวรัสเซียเองก็มองว่ายูเครนเป็นบ้านพี่เมืองน้องและเป็นส่วนหนึ่งด้านชาติพันธ์ุ เพราะในอดีต กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบัน เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของจักรวรรดิรุสเคียฟ ซึ่งถืออาณาจักรแรกของชนชาติ ‘รุส’ ต้นตระกูลของชาวสลาฟหรือรัสเซียในปัจจุบัน ปรีห์ปรางกล่าวว่าถ้าพิจารณาด้านอัตลักษณ์ชาติพันธ์ุ วัฒนธรรม ภาษา และศาสนาแล้ว ถือว่ารัสเซียและยูเครนมีความใกล้ชิดกันมาก จึงไม่แปลกที่ชาวรัสเซียจะมีมุมมองดังกล่าวต่อชาวยูเครน แม้ว่าในยูเครนจะมีคนหลายกลุ่มชาติพันธ์ุก็ตาม ด้านจิตติภัทรกล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่าด้วยความผูกโยงทางประวัติศาสตร์และชาติพันธ์ุ คนรัสเซียจึงมองว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ และเป็น ‘ดินแดนมาตุภูมิทางประวัติศาสตร์’ (Historical Motherland) ซึ่งปูตินก็เคยกล่าวคำนี้ไว้ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของพื้นที่ไครเมียนั้น ปรีห์ปรางกล่าวว่าแต่เดิมเป็นของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (RSFSR) และในยุคของโจเซฟ สตาลิน ได้มีการขับไล่ชาวตาตาร์ (Tatar) ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยเดิมในไครเมียให้ออกจากพื้นที่ โดยชาวตาตาร์มีเชื้อสายเติร์กและนับถือศาสนาอิสลาม หลังจากขับไล่ชาวตาตาร์ออกไปแล้ว ชาวรัสเซียได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในไครเมียเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นผู้อยู่อาศัยหลักในพื้นที่ ต่อมา ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 รัฐบาลโซเวียดรัสเซียได้ลงนามในสนธิสัญญามอบพื้นที่ไครเมียให้แก่สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน ทำให้พื้นที่ไครเมียตกอยู่ในความดูแลของรัฐบาลโซเวียตยูเครนนับแต่นั้นเป็นจนมา จนกระทั่งเมื่อสหภาพโซเวียดล่มสลาย และยูเครนเป็นประเทศเอกราชใน พ.ศ.2534 พื้นที่ไครเมียก็ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนตามกฎหมาย

หลังจากที่ยูเครนเป็นประเทศเอกราช พัฒนาการทางการเมืองของยูเครนนั้นมีแนวโน้มเอนเอียงเข้าหาสหภาพยุโรปและชาติตะวันตกมากขึ้น ปรีห์ปรางกล่าวว่าสำนึกด้านประวัติศาสตร์ของชาวยูเครน โดยเฉพาะชาวยูเครนฝั่งตะวันตก ไม่ได้มีความยึดโยงกับรัสเซียเท่ากับชาวยูเครนในฝั่งตะวันออกและภาคใต้ซึ่งมีคนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่มาก ประกอบกับช่วงที่ยูเครนยังเป็นหนึ่งในสหภาพโซเวียต รัสเซียมีนโยบายปลูกจิตสำนึกความเป็นรัสเซียให้แก่ชาวยูเครน หรือที่เรียกว่า Russification เลยอาจทำให้ชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดและรู้สึกเหมือนถูกกลืนกินทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม ทำให้ชาวยูเครน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พยายามเอาใจออกห่างจากรัสเซียมากขึ้น และสถานการณ์เช่นนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นหลัง ‘การปฏิวัติสีส้ม’ ในยูเครนที่พรรคการเมืองฝ่ายนิยมรัสเซียพ่ายแพ้ และผู้นำคนใหม่ รวมถึงผู้นำคนปัจจุบันมาจากพรรคการเมืองฝ่ายต่อต้านรัสเซีย

ผลประโยชน์ของรัสเซียในยูเครน-ความลังเลของนาโต

นอกจากความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์แล้ว จิตติภัทรกล่าวว่ารัสเซียยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในยูเครนและไครเมียจำนวนมากในปัจจุบัน กล่าวคือ รัสเซียจำเป็นต้องใช้ยูเครนเป็นทางผ่านของท่อส่งก๊าซไปยังยุโรป และต้องรักษายูเครนไว้เป็นรัฐกันชนในเขตความมั่นคงของตนซึ่งก็คือทะเลดำ หลังสงครามจอร์เจียเมื่อปี 2551 สิ้นสุดลง รัสเซียได้กำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางกลาโหมขึ้นมาใหม่ เรียกว่า Russian Compatriot หรือการปกป้องคนชนชาติรัสเซียไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งในเขตดอนบัสนั้น มีประชาชนกว่า 700,000 คนที่ได้รับสถานะพลเมืองของรัสเซียไปแล้ว ทำให้รัสเซียต้องแสดงตนปกป้องพลเมืองของตนตามแผนยุทธศาสตร์

จิตติภัทรกล่าวต่อไปว่ารัสเซียมองนาโตเป็นภัยคุกคามในหลายมุมมอง ไม่ใช่เพียงแค่การขยายเขตอำนาจทางการทหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการขยายระบบป้องกันอาวุธยุทโธปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารที่เข้ามาประชิดยุโรปตะวันออกซึ่งเป็น ‘หลังบ้านของรัสเซีย’ และนี่คือโจทย์สำคัญที่รัสเซียกังวลเป็นพิเศษ นอกจากนี้ นาโตยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงระบอบ หรือที่รัสเซียเรียกว่า ‘การปฏิวัติสี’ (Color Revolution) ดังที่เกิดขึ้นในจอร์เจียเมื่อปี 2546 ในยูเครนเมื่อปี 2547 และในคีร์กีซสถานเมื่อปี 2548 เป็นต้น รัสเซียจึงต้องพยายามดึงให้กลุ่มประเทศในสหภาพโซเวียตเก่าต้องกลับมาดำเนินนโยบายอย่างเป็นกลาง เป็นมิตรกับรัสเซีย และไม่เป็นสมาชิกของนาโต

จิตติภัทรบอกว่าหนึ่งในวิธีที่รัสเซียใช้เพื่อดึงให้ประเทศเหล่านี้ยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีกับรัสเซียคือการใช้แรงกดดันด้านพลังงาน เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีหนี้สาธารณะและต้นทุนทางพลังงานค่อนข้างสูง หากไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต รัสเซียก็จะขายพลังงานให้ในราคามิตรภาพ ส่วนประเทศที่เป็นสมาชิกนาโตก็จะขายพลังงานให้ในราคาตลาด ขณะเดียวกัน แม้ว่านาโตจะประกาศว่ายินดีเปิดรับสมาชิกเพิ่ม แต่นาโตเองก็ลังเลที่จะรับประเทศในกลุ่มสหภาพโซเวียตเก่าหรือประเทศในยุโรปตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกเพราะปัญหาภายในของประเทศเหล่านี้ เช่น การทุจริต หลักนิติธรรม แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือหลักการป้องกันประเทศร่วมกันของนาโต หมายความว่าถ้าประเทศเหล่านี้มีปัญหากับรัสเซีย สมาชิกนาโตก็ต้องเข้าสู่สงครามโดยอัตโนมัติ ซึ่งพวกเขาอาจจะไม่ได้อยากทำสงครามก็เป็นได้

ทางออกที่หลายฝ่ายยอมรับ แต่รัสเซียจะยอมหรือไม่

จิตติภัทรกล่าวว่าหนึ่งในทางออกที่ตนคิดว่าหลายฝ่ายน่าจะยอมรับ แต่ไม่แน่ใจว่ารัสเซียจะเป็นด้วยหรือไม่ คือ การที่ยูเครนไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต แต่ได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น ด้านการทหาร เศรษฐกิจ หรือได้รับสถานะพิเศษเป็นพันธมิตรหลักนอกนาโต (Major Non-NATO Ally: MNNA) เช่นเดียวกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จอร์แดน อิสราเอล บาห์เรน ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นต้น

รัสเซียจะเสียยูเครนไปไม่ได้

ปรีห์ปรางกล่าวว่านโยบาย ‘บ้านใกล้เรือนเคียง’ หรือ New Abroad ของรัสเซีย คือการรักษาเขตอำนาจเก่าเมื่อครั้งยังเป็นสหภาพโซเวียต หมายความว่าหากประเทศใดต้องการเข้ามาดำเนินความสัมพันธ์ด้านต่างๆ กับประเทศเหล่านี้จะต้องเกรงใจรัสเซียในฐานะเจ้าของเขตอิทธิพลทางอำนาจ ซึ่งจากนโยบายนี้ ปรีห์ปรางบอกว่าสามารถตอบคำถามของจิตติภัทรได้อย่างชัดเจนว่ารัสเซียไม่ยอมให้นาโตเข้ามามีบทบาทอย่างแน่นอน อีกทั้งยังรัสเซียยังเคยพูดไว้อย่างชัดเจนว่าชาติที่เป็นสหภาพโซเวียตเก่าจะต้องคล้อยตาม เคารพในการตัดสินใจ พร้อมทั้งต้องเฉยเมยหากรัสเซียปฏิเสธในเรื่องใดก็ตาม และยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในเขตอิทธิพลนี้

ปรีห์ปรางกล่าวว่าหลายคนพูดว่ายูเครนเปรียบเสมือนประตูหลังบ้านของรัสเซีย แต่ในมุมของรัสเซียเองบางครั้งกลับมองว่ายูเครนเป็นเสมือนประตูหน้าบ้านที่จะเสียไปไม่ได้ พร้อมเปิดแผนที่แสดงให้เห็นว่าประเทศสีน้ำเงินซึ่งเป็นเขตอิทธิพลเก่าของสหภาพโซเวียต ได้แก่ เยอรมนี โปแลนด์ ลัตเวีย เอสโทเนีย ลิทัวเนีย และตุรกี ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโตเรียบร้อยแล้ว ส่วนญี่ปุ่นก็เป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ เหลือเพียงยูเครนเท่านั้นที่ยังไม่ได้รับสถานะใดๆ จากนาโต
 

ปรีห์ปรางกล่าวว่ารัสเซียยื่นข้อเสนอ 3 ข้อให้ยูเครนและนาโต คือ นาโตต้องไม่ขยายอิทธิเข้ามาใกล้เขตอิทธิพลของรัสเซียมากเกินไป และต้องไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก รวมถึงกลับไปทำตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัสเซียและนาโตใน พ.ศ.2540 (Founding Act on Mutual Relations, Cooperation and Security 1997) นอกจากนี้ รัสเซียยังต้องการให้ยูเครนทำตามสนธิสัญญามินสก์ ซึ่งหากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้ดอนบัสกลายเป็นเขตปกครองตนเองอิสระ และรัสเซียมองว่ายูเครนไม่พอใจในข้อตกลงนี้ แต่ปูตินก็เคยพูดไว้ว่า ‘ชอบไม่ชอบก็ต้องทำตาม’ เป็นการส่งสารไปยังประธานาธิบดียูเครนให้กลับมาทำตามข้อตกลงทั้ง 13 ข้อในสนธิสัญญาดังกล่าว

ถ้าเดินเกมผิด 'ปูติน' รับศึกหนักทั้งในและนอกบ้าน

ปรีห์ปรางกล่าวว่าหลังเกิดเหตุการณ์ไครเมีย ผลสำรวจความนิยมของประชาชนชาวรัสเซียต่อตัวผู้นำพบว่าปูตินได้รับคะแนนนิยมสูงขึ้น ซึ่งวิกฤตการณ์พรมแดนของรัสเซียและยูเครนในครั้งนี้ก็อาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของปูตินเช่นกัน หากเดินเกมพลาด นอกจากจะทำให้ปูตินเสียคะแนนนิยมในบ้านแล้ว ยังอาจถูกนานาชาติคว่ำบาตรแบบที่เคยเป็นมาก็ได้ ซึ่งรัสเซียเองก็อาจจะได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

คนรัสเซียส่วนใหญ่ไม่เอาสงคราม

จิตติภัทรกล่าวว่าฉากทัศน์ที่ดีที่สุด (Best Case Scenario) ที่ทุกฝ่ายคาดหวังคือไม่มีสงคราม จากผลสำรวจของ Yuri Levada Analytical Center พบว่าประชาชนชาวรัสเซียกว่า 55% มองว่าความขัดแย้งนี้ไม่น่าจะทำไปสู่สงคราม 37% มองว่าอาจจะนำไปสู่สงคราม แต่สุดท้ายแล้วคนรัสเซียก็มองว่าการทำสงครามระหว่างบ้านพี่เมืองน้องกับยูเครนนั้นเกินความคาดหมายของคนรัสเซียไปมาก ขณะเดียวกัน 68% ของคนรัสเซียประณามสหรัฐฯ ยูเครน และนาโต ว่าเป็นกลุ่มที่จุดชนวนสงคราม มีเพียง 6% เท่านั้นที่มองว่ากองกำลังทหารของรัสเซียและกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในดอนบัสคือผู้จุดชนวน

จิตติภัทรประเมินฉากทัศน์ที่จะได้เห็นจากความขัดแย้งครั้งนี้ไว้อย่างน้อย 4 แนวทาง ได้แก่ การด้านเจรจาทางการทูต, สงครามลูกผสม (Hybrid Warfare) เช่น การโจมตีด้านข้อมูลข่าวสาร, การแทรกแซงทางการทหารระยะสั้น เช่น สงครามห้าวันระหว่างรัสเซียและจอร์เจียในปี 2551 ซึ่งนำไปสู่การประกาศเอกราชของพื้นที่พิพาทในจอร์เจีย แต่จิตติภัทรมองว่าวิธีนี้อาจนำมาสู่สงครามใหญ่ และรัสเซียจะถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกแน่นอน ไม่ว่าผลสุดท้าย ดอนบัสจะยังอยู่ภายใต้ยูเครน ประกาศตัวเป็นเอกราช หรือผนวกรวมกับรัสเซียก็ตาม รวมถึงการใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่ไม่ใช่เครื่องมือทางการทูต ซึ่งรัสเซียประกาศไว้ว่ารัสเซียพร้อมจะใช้เครื่องมือนั้น แต่ไม่ได้พูดอย่างชัดเจนว่า ‘เครื่องมืออื่นๆ’ ที่ว่าคือเครื่องมือใด อาจจะใช่หรือไม่ใช่เครื่องมือทางการทหารก็ได้ ส่วนฉากทัศน์สุดท้ายที่แย่ที่สุดนั่นคือการทำสงครามเต็มรูปแบบ

จิตติภัทรเชื่อว่าปูตินเป็นผู้นำที่รอบคอบและจะไม่ทำอะไรที่บุ่มบ่ามหรือส่งผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นการทำสงครามจึงเป็นเรื่องที่ต้องใตร่ตรองอย่างมาก ขณะเดียวกัน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของยูเครนก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการสงครามและต้องการเจรจาสันติภาพ ซึ่งการประกาศเช่นนั้นทำให้เซเลนสกีชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนแบบ ‘แลนด์สไลด์’ แต่สุดท้ายแล้วฉากทัศน์ที่ดีที่สุดหรือเลวร้ายที่สุดนั้นขึ้นอยู่ว่าจะมองจากมุมของใคร

ด้านปรีห์ปรางกล่าวว่าจากประสบการณ์ของตน คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ในรัสเซียมีความเห็นที่แตกต่างเรื่องสงคราม คนรุ่นใหม่ในรัสเซียไม่ได้สนใจว่าจะเกิดหรือไม่เกิดสงคราม เพราะเขามีเรื่องอื่นที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่า เช่น เรื่องโควิด-19 หรือเรื่องการเรียน แต่ในขณะเดียวกัน คนรัสเซียรุ่นเก่าที่เคยใช้ชีวิตในยุคสงครามเย็นมักพูดว่า ‘มีที่ไหนในโลกหรือที่ไม่มีสงคราม’ และคนเหล่านี้ถูกหล่อหลอมให้ใช้ความอดทนต่อการเปลี่ยนผ่านของประเทศ พวกเขาจึงเชื่อว่าสงครามจะต้องเกิดขึ้น แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดหรืออย่างไร

ทำไมต้องเป็น 'มาครง'

จิตติภัทรกล่าวถึงกรณีที่เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นตัวแทนสหภาพยุโรป (EU) เข้าเจรจากับปูตินที่กรุงมอสโกตามที่ปรากฏภาพในสื่อ โดยระบุว่ารัสเซียและฝรั่งเศสมีการปรับความสัมพันธ์ให้เป็นไปด้วยดีมาระยะหนึ่งแล้ว และมาครงเองก็มีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับปูตินไปในทิศทางที่ดี นอกจากนี้ แนวนโยบายของมาครงคือการทำให้ฝรั่งเศสเป็นผู้นำของ EU ในยุคที่ไม่มีอังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่ดำรงตำแหน่งนานกว่า 16 ปี โดยเฉพาะด้านความมั่นคง ซึ่งฝรั่งเศสเน้นดำเนินนโยบายแบบเป็นอิสระด้านความมั่นคง ทั้งใน EU และกับประเทศอื่นๆ ซึ่งหากไปย้อนดูแนวนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประธานาธิบดีฝรั่งเศสในอดีตก็จะพบว่ามีการดำเนินนโยบายในลักษณะไม่เอียงเข้าชาติมหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่งมากเกินไป

ภาพการพูดคุยระหว่างวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียและเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ที่กรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย (ที่มา: เฟซบุ๊ก Emmanuel Macron)
 

พันธมิตรใหญ่ของรัสเซียอย่าง 'จีน' ว่าอย่างไร

จิตติภัทรมองว่าจีนกับรัสเซียมีผลประโยชน์ร่วมกันเฉพาะหน้า แต่ลึกๆ แล้วก็มีร่องรอยของความไม่ลงตัวในพันธมิตรคู่นี้ ทั้งเรื่องชาติพันธ์ ภาษา วัฒนธรรม รวมถึงเรื่องราวความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเย็น และสถานะ ‘พี่ใหญ่’ ที่รัสเซียมองว่าตนเองมีอิทธิพลเหนือกว่ามาโดยตลอด แต่ในปัจจุบัน จีนก้าวขึ้นมามีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจและอำนาจเหนือกว่ารัสเซีย อีกทั้งยังมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในภูมิภาคเอเชียกลางซึ่งเป็นเขตอำนาจเดิมของสหภาพโซเวียต แต่จีนกลับเป็นผู้เล่นที่สำคัญด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศนี้ ลึกๆ แล้วก็ค่อนข้างน่าอึดอัดอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม จีนและรัสเซียมีผลประโยชน์ร่วมกันคือการท้าทายอำนาจของสหรัฐฯ ที่ถือบทบาทเป็นผู้คุมระเบียบโลก ซึ่งจีนและรัสเซียมองว่าระเบียบโลกไม่ควรผูกขาดอยู่ที่ขั้วอำนาจเดียวเสมอไป

แม้จีนจะออกตัวว่าเป็นพันธมิตรกับรัสเซียด้วยการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของชาติตะวันตกในประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น แต่จีนกลับสงวนท่าทีและเลือกที่จะไม่พูดถึงเหตุขัดแย้งนี้โดยตรง รวมถึงไม่ออกตัวว่าสนับสนุนให้ไครเมียและดอนบัสผนวกรวมกับรัสเซียหรือไม่

ปรีห์ปรางกล่าวเพิ่มเติมว่าการพบกันครั้งล่าสุดของปูตินและสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่กรุงปักกิ่ง เนื่องในพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ปูตินกล่าวสุนทรพจน์ในทำนองว่า ‘ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีนนั้นเดินหน้าไปไกลกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วไปแล้ว’ แต่ในประเด็นของยูเครนนั้น จีนวางท่าทีเป็นกลาง และเน้นการพูดคุยด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัสเซียมากกว่าที่จะแตะประเด็นความขัดแย้งในยูเครน

วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง เนื่องในโอกาสพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 และเข้าพบสีจิ้นผิงเพื่อหารือกระชับความสัมพันธ์ (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย)
 

การเมืองภายในของยูเครน

จิตติภัทรกล่าวว่ายูเครนอยู่ในภาวะของการสร้างชาติหลังยุคอาณานิคม (Post-Colonial State) หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคหลังสังคมนิยมโซเวียต ซึ่งกระบวนการสร้างชาติของยูเครนตามระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมยังไม่ค่อยลงตัว ยังมีกลุ่มคณาธิปไตย (Oligarch) ที่ยังมีอำนาจแทรกแซงในการเมือง มีการทุจริต ทำให้รัฐอ่อนแอในเชิงโครงสร้างในยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย อีกหนึ่งปัจจัยคือการเป็น Divided Nation หรือชาติที่ถูกแบ่งแยกของยูเครน ซึ่งมีความชัดเจนในฝั่งตะวันตกและตะวันออก ดังที่เห็นได้จากผลการเลือกตั้งหรือผลสำรวจต่างๆ จิตติภัทรกล่าวว่าภาวะการแบ่งแยกนี้ส่งผลต่อนโยบายการต่างประเทศตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ยูเครนประกาศเอกราชหลังยุคสงครามเย็น ที่ยูเครนหันไปทางตะวันตกบ้าง หรือหันไปหารัสเซียบ้าง และได้รับอิทธิพลจากภายนอกในการกำหนดนโยบายการต่างประเทศมาโดยตลอด เช่นในช่วงการปฏิวัติสีส้ม ที่ปูตินแสดงออกว่าสนับสนุนผู้สมัครประธานาธิบดีคนหนึ่งอย่างชัดเจน

ส่วนในปัจจุบัน ประธานาธิบดีเซเลนสกีผู้ประกาศตนว่าไม่ต้องการสงครามพยายามแสดงท่าที ‘สงบ’ ต่อกระแสของทั้งฝั่งสหรัฐฯ และรัสเซีย โดยจะเห็นว่าเซเลนสกีพยายามลดโทนความคุกรุ่นที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ พร่ำบอกว่าให้ระวังสงครามอยู่เสมอ เช่น การที่เซเลนสกีบอกว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นประธานาธิบดีของยูเครน ไม่ใช่ประธานาธิบดีคนอื่นที่มีความรู้มากกว่าข้าพเจ้า’ ซึ่งจิตติภัทรมองว่าเหมือนกับเป็นการตบหน้าสหรัฐฯ ทางอ้อม อีกทั้งการที่เซเลนสกีวางตัวแบบพยายามคานอำนาจระหว่างฝั่งสหรัฐฯ และรัสเซียนั้น เพราะยูเครนมีต้นทุนที่ต้องแบกรับ หากดำเนินนโยบายผิดพลาด ซึ่งต้นทุนดังกล่าวก็หมายรวมถึงมติมหาชนของชาวยูเครนด้วย

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน (ที่มา: เฟซบุ๊ก Команда Зеленського)
 

สำหรับประชาชนชาวยูเครน พวกเขามองว่ายูเครนเป็นเหมือนหมากตัวหนึ่งในเกมยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มีต่อรัสเซียมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนแผนการสร้างระเบียบความมั่นคงในยุโรปของสหรัฐฯ มากกว่าที่จะให้สหรัฐฯ เข้ามาทำสงครามในพื้นที่ของตนเอง ทั้งนี้ กล่าวโดยสรุปได้ว่าชาวยูเครนไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญามินสก์เช่นเดียวกับรัฐบาล และดำเนินนโยบายของตัวเองแบบเตรียมความพร้อมรับมือเหตุวิกฤต ‘โดยไม่กระตุกหนวดหมีขาว’ รวมถึงไม่เล่นเกมตามชาติตะวันตกมากนัก

จิตติภัทรมองว่าวิกฤตในครั้งนี้ทำให้ยูเครนได้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกมากขึ้น ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และการค้ำประกัน ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเซเลนสกีต้องพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น เพราะเขาชนะเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายเพราะนโยบายสันติภาพ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มาจากภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ความคิดคนส่วนใหญ่แตกต่างจากภูมิภาคตะวันตก ดังนั้น เขาต้องพยายามสร้างความมั่นใจให้ประชาชนส่วนใหญ่ของยูเครนว่าจะไม่เข้าข้างรัสเซียมากจนเกินไป แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะพยายามหาทางเจรจาสันติภาพอย่างไม่เป็นทางการกับรัสเซียแล้วก็ตาม

รัสเซียจะไม่บุกยูเครน

ฮารุน ยิลมาซ (Harun Yilmaz) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้ายูเครนและเอเชียกลาง เขียนบทความวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนเผยแพร่ในอัลจาซีรา ระบุว่า รัสเซียตรึงกำลังทหารบริเวณชายแดนยูเครนมาเป็นเวลาหลายปี แต่ไม่เคยบุกหรือประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ เพราะรัสเซียไม่มีแผนจะทำสงครามเต็มรูปแบบกับยูเครนแต่แรก เนื่องจาก ‘ไม่คุ้มทุน’ จึงใช้กำลังทางทหารเพื่อกดดันให้ประเทศคู่ขัดแย้งถอยร่นกลับมาเจรจากันด้วยวิธีอื่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีที่เกิดขึ้นในจอร์เจีย ซีเรีย และลิเบียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

รัสเซียคำนวณต้นทุนความคุ้มค่ามาอย่างดีแล้วก่อนเริ่มต้นสงครามจอร์เจียในปี 2551 ซึ่งรัสเซียใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงกองกำลังติดอาวุธในภูมิภาคเซาท์ออสซีเชียและอับคาเซียที่ต้องการแยกตนออกจากรัฐบาลจอร์เจีย ในตอนนั้น กองทัพรัสเซียสามารถเอาชนะกองทัพจอร์เจียจนสามารถรุกคืบเข้าไปถึงเมืองกอรี และหยุดอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ได้บุกต่อไปถึงกรุงทบิลิซิ เมืองหลวงของจอร์เจีย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกอรีเพียง 88 กิโลเมตร เพราะกองทัพรัสเซียมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้กองทัพจอร์เจียถอนกำลังออกจากเซาท์ออสซีเชียและอับคาเซีย และเร่งให้เกิดกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐบาลจอร์เจียและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ยิลมาซระบุว่าความจริงแล้ว กองทัพรัสเซียมีศักยภาพมากพอที่จะบุกเมืองหลวงของจอร์เจีย แบ่งประเทศออกเป็น 2 ฝ่าย เข้าควบคุมท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากอาเซอร์ไบจานถึงตุรกี รวมถึงทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเมืองเป็นอัมพาต ซึ่งการทำเช่นนี้คุ้มค่าพอที่จะบังคับให้รัฐบาลจอร์เจียยอมรับอิสรภาพของเซาท์ออสซีเชียและอับคาเซีย แต่ความคุ้มค่าระดับภูมิภาคนั้นไม่สูงพอที่รัสเซียจะยอมเสี่ยงเมื่อเทียบกับความคุ้มค่าในระดับโลก

รัสเซียคำนวณต้นทุมความคุ้มค่าแบบนี้เสมอ เช่นเดียวกับกรณีการบุกซีเรียเพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar al-Assad) ในปี 2558 ซึ่งรัสเซียไม่ได้ส่งกองกำลังทหารภาคพื้นดินเข้าไปประจำการในซีเรีย เหมือนกับที่สหรัฐฯ ทำกับอัฟกานิสถานและอิรัก แต่รัสเซียส่งเครื่องบินรบหรือเรือรบเข้าไปเฉียดๆ พรมแดนของซีเรียแทนเท่านั้น และการกระทำในลักษณะนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับเหตุการณ์ในลิเบีย

ส่วนสถานการณ์ของยูเครนนั้น รัสเซียไม่แสดงท่าทีว่าจะบุกยูเครนทั้งๆ ที่ตั้งกองกำลังประชิดพรมแดนมานานร่วม 8 ปี สิ่งที่รัสเซียทำคือการให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่กองกำลังแบ่งแยกดินแดนในยูเครน และส่งทหารรับจ้างเข้าไปประจำการตามแนวชายแดน แต่ไม่ส่งแม่ทัพเข้าไป ซึ่งเป็นสัญญาณว่ารัสเซียไม่ต้องการเริ่มต้นสงครามแบบเต็มรูปแบบ แต่เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลยูเครนเท่านั้น ยิลมาซระบุว่ารัฐบาลรัสเซียไม่ได้เสียผลประโยชน์ใดๆ กับรัฐบาลยูเครนจากกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคดอนบัส เพราะรัฐบาลยูเครนไม่สามารถจัดการกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้ ตราบใดที่กลุ่มคนเหล่านั้นยังได้รับการช่วยเหลือจากรัสเซีย และถ้าหากรัสเซียต้องการเพิ่มแรงกดดันแก่ยูเครน พวกเขาก็ทำได้ด้วยการสร้างประเด็นความขัดแย้งอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารจำนวนมาก

มิลยาซกล่าวว่าอันที่จริงแล้วทหารรัสเซียจำนวนมากที่ประจำการอยู่ตามแนวชายแดนของยูเครนในขณะนี้สามารถสร้างความเสียหายให้ยูเครนได้มากพอ และสามารถกัดเซาะเศรษฐกิจของยูเครนให้ล้มลงได้ นอกจากนี้ รัสเซียไม่ได้คิดว่ากระแส “ประชาธิปไตยในยูเครน” เป็นภัยคุกคาม เพราะกลุ่มที่สนับสนุนให้ยูเครนมุ่งเข้าหาตะวันตกในการประท้วงยูโรไมดานเมื่อปี 2556-2557 ก็เริ่มหันเหเข้าสู่วงจรประชาธิปไตยแบบรัสเซียแล้วเช่นกัน

มิลยาซคาดการณ์ว่ารัสเซียจะรักษากำลังทหารตามแนวชายแดนยูเครนอย่างนี้ต่อไปจนกว่าจะได้รับการรับประกันความมั่นคงมากพอ หรืออาจจะเพิ่มแรงกดดันด้วยการติดตั้งขีปนาวุธวิถีทำลายล้างขนาดกลางในเบลารุส หรือสร้าง ‘จุตศูนย์กลางความร้อน’ (hotspot) ในพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ เช่น จอร์เจีย หรืออาจสร้างเกมสงครามขนาดย่อมขึ้นในบริเวณใกล้กับยุโรปตะวันตกอย่างที่เคยส่งเรือรบเข้าไปในน่านน้ำของไอร์แลนด์ หรืออาจจะยั่วยุด้วยการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารใกล้เขตอิทธิพลของสหรัฐฯ แบบที่เคยทำในเวเนซุเอลาก็เป็นได้

ผลกระทบต่อไทยและโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าว Protocol และ The Washington Post คาดการณ์ว่าสถานการณ์ที่ดึงเครียดบริเวณพรมแดนยูเครนและรัสเซียอาจส่งผลต่อราคาแร่ที่ใช้ผลิตชิป (chip) และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพราะทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกแร่รายใหญ่ เช่น แร่อะลูมิเนียม (Aluminum) แร่ไทเทเนียม (Titanium) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แร่พาลาเดียม (Palladium) ที่ใช้ในการผลิตเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา (Catalytic Converter: CAT) ซึ่งมีราคาสูงขึ้น 30% ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว รวมถึงแร่นีออน (Neon) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิปอาจมีราคาสูงขึ้นถึง 600% เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตไครเมียในปี 2557

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัสเซียประกาศถอนกำลังทหารบางส่วนออกจากชายแดนยูเครน สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าตลาดหุ้นในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เพราะก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นในยุโรปมีมูลค่าร่วงลงต่อเนื่องถึง 3 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net