Skip to main content
sharethis

ชาวอังกฤษออกมาประท้วงรัฐบาลกรณีปัญหาค่าครองชีพสูง การประท้วงนี้จัดโดยกลุ่มต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่ชื่อว่า 'พีเพิลส์แอสเซมบลี' และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน มีการจัดประท้วงกว่า 25 แห่ง ทั่วประเทศ

กลุ่มพีเพิลส์แอสเซมบลี หรือ "สมัชชาประชาชน" ในสหราชอาณาจักรประท้วง ต่อต้านการขึ้นราคาพลังงานที่จะส่งผลให้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยที่มีการจัดประท้วง 25 แห่งทั่วประเทศรวมถึงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในเมืองเอดินบะระ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2565 ซึ่งการประท้วงในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพแรงงานในสหราชอาณาจักร

อีกแห่งหนึ่งที่มีผู้ชุมนุมประท้วงคือในจัตุรัสจอร์จในเมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ มีผู้ประท้วงรายหนึ่งที่มีป้ายระบุเรียกร้องให้คนอื่นๆ "ฝ่าฝืนกฎของพรรคทอรี" ซึ่งหมายถึงพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ ป้ายอีกแผ่นหนึ่งระบุว่า "ตรึงราคาค่าครองชีพ อย่าตอกตรึงคนจน"

ลอรา พิดค็อก เลขาธิการแห่งชาติของพีเพิลส์แอสเซมบลีกล่าวว่ามี "ความไม่พอใจอย่างแท้จริง" ต่อสิ่งที่เธอเรียกว่าเป็น "วิกฤตที่กำลังขยายตัว"

พิดค็อก ผู้ที่เคยเป็น ส.ส. สังกัดพรรคแรงงานอังกฤษกล่าวอีกว่า "คนทำงานไม่ควรจะต้องทำงานหนักขึ้นแต่ชีวิตของพวกเขาก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น"

"ผู้คนมองเห็นชัดเจนขึ้นมากกว่าแต่ก่อนว่ามีความเหลื่อมล้ำในสังคมของพวกเรา ในขณะที่มีบริษัทต่างๆ ที่ทำกำไรมหาศาลและมีกลุ่มคนที่รวยที่สุดร่ำรวยขึ้นมาก คนอื่นๆ ทั้งหมดต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก ต้องตัดสินใจในเรื่องที่ยากลำบากเพื่อที่จะพยายามและมีชีวิตรอดต่อไปได้" พิดค็อกกล่าว

"คนชราต้องเหน็บหนาวในบ้านของพวกเขาเอง ผู้คนจะต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะเลี้ยงลูกหลานของพวกเขา ทั้งๆ ที่วิกฤตเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาทำให้เกิดขึ้นเลย ... ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็นิ่งดูดายไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นพวกเราจะออกมาบนท้องถนนเพื่อบอกว่าพอกันที"

ชารอน เกรแฮม เลขาธิการใหญ่ขององค์กรยูไนต์กล่าวว่าสาเหตุที่มีการประท้วงเพราะ "ผู้คนเหลืออดกับการที่จะให้คนรวยมาคอยบอกพวกเขาว่าพวกเขาจะต้องจ่ายให้กับความโลภของพวกคณะกรรมการบอร์ดบริษัทและความล้มเหลวของตลาดครั้งใหญ่"

เกรแฮมกล่าวอีกว่า "วิกฤตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนทำงาน และพวกเราจะไม่ยอมถูกลดค่าจ้างเพื่อจ่ายให้กับวิกฤตนี้" และกล่าวว่า "ทำไมประชาชนถึงต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับการแก้ปัญหาของตลาดและปัญหาของผู้กำหนดนโยบายอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่บริษัทต่างๆ สามารถจ่ายได้"

องค์กรพีเพิลส์แอสเซมบลีเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลซึ่งจะเป็นการลดสวัสดิการของประชาชนกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดี โดยที่ทางองค์กรจะใช้วิธีการทำให้รัฐบาลต้องเผชิญกับการแสดงออกต่อต้านในวงกว้างและมีพลังมากพอในการทำให้เกิดปฏิบัติการแบบประสานงานร่วมกันรวมถึงการนัดหยุดงานประท้วง ซึ่งมีการร่วมมือกับกลุ่มสหภาพแรงงาน


 

ฟราน เฮลท์คอต ประธานสหภาพแรงงานบริการภาครัฐและบริการเชิงพาณิชย์กล่าวว่า "แรงงานที่ได้รับค่าแรงน้อยไม่สามารถจ่ายและจะไม่ยอมจ่ายให้กับปัญหาของรัฐบาล"

เฮลท์คอตกล่าวว่าในอังกฤษมีปัญหาการขึ้นราคาค่าครองชีพในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง ฮีตเตอร์ การขนส่งมวลชน และเบี้ยประกันแห่งชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกับค่าจ้างของพวกเขาก็ถูกตรึงไม่ให้สูงขึ้นสวัสดิการก็แย่ลง ทำให้คนทำงานส่วนใหญ่อยู่ใน "วิกฤตค่าครองชีพ" อย่างแท้จริง

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net