Skip to main content
sharethis

ฟังวิสัยทัศน์ 3 แคนดิเดตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • 'ทัศนัย' เสนอแนวคิดมหา'ลัยปราศจากกำแพงกั้นลมหายใจแห่งอิสรภาพทางวิชาการ
  • 'สมชาย' ชู 6 เป้าหมาย 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน พร้อมยืนยันถ้าเป็นอธิการบดีจะไม่เข้าร่วมกับการรัฐประหารไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  • ส่วน 'ปิ่นแก้ว' เสนอนโยบายมหาวิทยาลัยแห่งสวัสดิการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของนักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ รวมไปถึงสวัสดิการสัตว์ เพื่อตอบแทนการใช้ประโยชน์จากสุนัขภายในมหาวิทยาลัยสร้างภาพลักษณ์ของ มช.

7 ก.พ. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมาสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับชมรมกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ และกลุ่มนักศึกษาเฌองดอย (La montagne) จัดกิจกรรม “แสดงวิสัยทัศน์ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยมีผู้สมัคร ( Candidate) อธิการบดีที่ตอบรับเข้าการร่วมแสดงวิสัยทัศน์ทั้งหมด 3 คน ได้แก่

1. ทัศนัย เศรษฐเสรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2. สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ภาพ ทัศนัย เศรษฐเสรี

ทัศนัย : มหาวิทยาลัยปราศจากกำแพงที่ปิดกั้นลมหายใจแห่งอิสรภาพทางวิชาการ

ทัศนัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยคือแสงสว่างทางปัญญาและจำต้องส่องสว่างมากขึ้นในยุคสมัยที่มืดบอด จิตวิญญาณแห่งความเป็นชุมชนวิชาการในมหาวิทยาลัยต้องยึดโยงกับผู้คน สังคม และอารยธรรมโลก มหาวิทยาลัยมิใช่สิ่งปลูกสร้างสำหรับทำงานของชนชั้นนำฝ่ายผู้บริหาร มหาวิทยาลัยคือพื้นที่ของลมหายใจและความคิดของผู้คนในประชาคมมหาวิทยาลัยนั้นๆ ทัศนัยกล่าวว่านี่คือสิ่งที่เขายึดถือมาตลอดในการทำหน้าที่ความรู้ในสังคมอุดมศึกษา

ดังนั้น วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ที่สำคัญของผู้บริหารมหาวิทยาลัยตามความเห็นของตนจึงตั้งอยู่บนวางอยู่บนหลักการสากลว่าด้วยเรื่องเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักการสากลพื้นฐานภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

“วิสัยทัศน์ของผู้บริหารสำหรับผมแล้วหมายถึงปรัชญาแห่งชีวิตการดำรงชีวิตที่ฝ่ายบริหารจำต้องมีเป็นความเข้าใจเป็นพื้นฐาน มิใช่วิสัยทัศน์ที่คิดคำนวณทุกอย่างเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น ผมมีความคิดความเชื่ออีกประการหนึ่งว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนางล้วนมีความคิดที่ดีแตกต่างกันออกไป หน้าที่ของผู้บริหารคือการทำให้ความคิดดีๆ เหล่านั้นที่มาจากประชาคมมหาวิทยาลัยหรือสังคมที่สถาบันการศึกษานั้นตั้งอยู่ได้ถูกพัฒนาและกลายเป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติ”

การเคารพในความเป็นมนุษย์ที่ต่างกันคือพื้นฐานสำคัญที่สุดในการกำหนดวิสัยทัศน์การบริหาร เช่นนี้ผู้บริหารควรยึดถือความคิดและวิสัยทัศน์ของตัวเองให้น้อยลง แต่ควรเชื่อมั่นให้วิสัยทัศน์และความคิดดีๆ ของผู้อื่นได้เจริญเติบโตและงอกงาม ใช้อำนาจในการบริหารให้น้อยลงและรับฟังความคิดเห็นให้มากขึ้น เพื่อให้ภารกิจของมหาวิทยาลัยในอุดมคติข้างต้นเกิดขึ้นได้ ทัศนัยเสนอแนวคิด “มหาวิทยาลัยที่ปราศจากกำแพง” (Universities without Walls)

“ผมขอเสนอแนวคิด “มหาวิทยาลัยที่ปราศจากกำแพง” (Universities without Walls) ทั้งกำแพงทางกายภาพและสถานะทางความคิดที่ปิดกั้น จำกัด ลมหายใจแห่งอิสรภาพทางวิชาการจำต้องถูกทำลายลง กำแพงแรกคือการบริหารงานที่ลี้ลับ เป็นคำสั่งจากบนลงล่าง ต้องถูกรื้อถอนลงเพื่อให้เกิดการร่วมบริหารงานในแนวระนาบ โดยมีส่วนงานย่อย กลุ่มคน ร่วมคิดร่วมสร้างสรรค์ตรวจสอบสัมฤทธิ์ผลต่างๆ ในการปฏิบัติงาน เป็นสาแหรกโครงข่ายประชาคมที่สลับซับซ้อนและไม่รวมศูนย์อำนาจดังที่เป็นมา

นักศึกษา เจ้าหน้าที่ส่วนงาน คณาจารย์จำต้องมีตำแหน่งในทำเนียบผู้บริหาร

สภาพนักงาน สภาอาจารย์ ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นสหภาพแรงงานที่ไม่ใช้เป็นบทบาท เป็นตรายางให้ฝ่ายบริหาร

สโมสรและสภานักศึกษามิใช่เพียงเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในแวดวงนักศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและโครงการต่างๆ ในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะโครงการสาธารณะเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ

กำแพงที่ 2 ที่จำต้องถูกเปิดออกม่านหนาทึบที่ปิดกั้นอยู่ระหว่างประชาคมมหาวิทยาลัยกับสภามหาวิทยาลัย การบริหารงานจากแนวระนาบจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากโครงสร้างสภามหาวิทยาลัย ทำเนียบกรรมการบริหาร และบทบาทหน้าที่ของตัวสภาเองไม่ถูกขีดเขียนขึ้นใหม่ มหาวิทยาลัยจะไม่สามารถดำเนินพันธะกิจทที่สำคัญต่อผู้คน สังคม และโลก ถ้าหากความคิดที่เชื่อว่ามหาวิทยาลัยเป็นสมบัติของชนชั้นนำไม่ถูกรื้อถอนลง

กำแพงที่ 3 ที่จะต้องถูกรื้อถอนและเปลี่ยนแปลงคือ ข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสวงหาความรู้บนฐานคิดต่อเรื่องศีลธรรมที่คร่ำครึโบราณ กำแพงแห่งศีลธรรมนี้จะต้องถูกแทนที่ด้วยการบริหารงานบนหลักการของมนุษยธรรมที่เห็นคน สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ เป็นปัจจัยของความรู้ มิใช่การเป็นสถาบันแห่งการประกอบพิธีกรรม ธรรมาภิบาลของผู้บริหารอยู่ในหัวใจของผู้คน ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นบนฐานคิดของมนุษยธรรมไม่ใช่ศีลธรรม

กำแพงที่ 4 ที่จะต้องถูกรื้อถอนลงคือความเชื่อในการบริหารงานวิชาการโดยมีคณะวิชาการต่างๆ เป็นจักรกลศูนย์กลาง มหาวิทยาลัยชั้นนำในเวลาปัจจุบันเริ่มวางรากฐานสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยในศตวรรษหน้า โดยให้ความสำคัญกับหลักสูตรและสาขาวิชา ภาควิชและคณะทำหน้าที่ทางบัญชีและการเงินเท่านั้น การกำหนดอนาคตของวิชาการจะมาจากหลักสูตรและสาขาวิชาที่มีอิสระในการบริหารจัดการทำงาน หากทำได้เช่นนี้แล้วตึกหน้าหรือสำนักงานผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะทำงานน้อยลง โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานและส่วนวิชาการเฉพาะด้านได้กำหนดทิศทางของตัวเองอย่างอิสระ ตึกหน้าทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเท่านั้น

กำแพงที่ 5 ซึ่งขัดขวางการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำคือความคิดที่เชื่อว่าการศึกษาคือสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ตารางนิ้วในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะต้องถูกปรับภูมิทัศน์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทำให้เกิดความแข็งแกร่งใน 3 ด้าน คือ สติปัญญา ร่างกาย และจิตใจ ห้องสมุดเฉพาะทาง พิพิธภัณฑ์เฉพาะทาง โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ โรงยิม สถานออกกำลังกายที่ทันสมัย ลานกิจกรรม ลานสเก็ตบอร์ด มีเดียเซ็นเตอร์ ห้องซ้อนดนตรี ห้องซ้อมละคร ห้องอัดเสียง ศูนย์ศิลปะในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสโมสรและบาร์ที่ผู้คนจะสามารถแลกเปลี่ยนและพูดคุยสาระสำคัญนอกตำราเรียนได้พบเจอกันจะต้องถูกสร้างขึ้น และจะต้องเป็นสาธารณะให้สังคมภายนอกได้ใช้งาน”

หากกำแพงทั้งหมดได้ถูกรื้อถอนลงจะทำให้บรรยากาศของมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้แข็งแกร่ง โดยเป็นไปโดยธรรมชาติและยั่งยืน โดยไม่ต้องพยายามมากเกินไปเพื่อจะทำแต้มในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก และรายได้ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดจะต้องถูกนำใช้กลับคืนให้แก่นักศึกษา ประชาคมมหาวิทยาลัย และสังคม นอกจากนี้กฎระเบียบที่ตกยุคสมัยและขัดขวางพัฒนาการแห่งอนาคตต้องถูกแก้ไขและเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้ได้หน้าที่ส่งเสริมความเป็นคนอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน

 

ภาพ สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย : 6 เป้าหมาย 2 จุดยืน 1 ความฝัน

สมชาย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่กระบวนการคัดสรรอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ในฐานะบุคลากรคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมอยากเสนอ 6 เป้าหมาย 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน

6 เป้าหมาย

หนึ่ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคือหลักการพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้อง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บุคลากร หรือคณาจารย์ การคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะต้องได้รับการปกป้อง ไม่ว่าการคุกคามนั้นจะมาจากอำนาจภายในหรือภายนอก โดยจะถือว่าถกเถียงและการแลกเปลี่ยนเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันการศึกษาระดับสูง

สอง การมีส่วนร่วมในทุกระดับทั้งในการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติงาน นับตั้งแต่ระดับคณะ มหาวิทยาลัย หรือสภามหาวิทยาลัย ต้องดำเนินไปโดยเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง การคัดสรรผู้บริหารระดับสูงต้องมาจากกระบวนการคัดสรรด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส มิใช่เพียงการสืบต่อตำแหน่งในเครือข่ายของชนชั้นนำภายในมหาวิทยาลัย

สาม แนวทางการศึกษาต้องเป็นไปโดยการเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่มีความรอบรู้ ความเท่าทันโลก สามารถใช้เหตุผลและปัญญาในการพิจารณาปมประเด็นปัญหาต่าง ๆ มหาวิทยาลัยต้องมิใช่เพียงโรงเรียนฝึกหัดทางวิชาชีพให้กับหน่วยงานรัฐหรือธุรกิจเอกชน

สี่ ระบบการจ้างงานต้องสามารถความมั่นคงและความก้าวหน้าให้กับบุคลากรทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายวิชาการ ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเงินเดือน ความก้าวหน้า ระบบสวัสดิการ การรักษาพยาบาล เพื่อให้บุคลากรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยความเป็นมืออาชีพ และอย่างทัดเทียม ยกเลิกระบบการจ้างงานระยะสั้น ซึ่งกำลังดำเนินการกันอยู่ ที่รังแต่จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงเกิดขึ้นต่อบุคลากร

ห้า ยกเลิกระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ไร้สาระและไม่สะท้อนภาพความเป็นจริง โดยจะมุ่งสนับสนุนให้มีการสร้างระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลายของแต่ละสาขาวิชา ไม่ผูกติดกับการวัดด้วยอันดับของมหาวิทยาลัยโลกแบบบ้าคลั่งหรือการตีพิมพ์งานวิชาการให้อุตสาหกรรมการตีพิมพ์ที่ผูกพันกับผลประโยชน์ทางธุรกิจแบบไม่ลืมหูลืมหา แนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาเช่นนี้ต้องเปลี่ยนแปลง

หก จะร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่มีแนวความคิดในทิศทางเดียวกัน เรียกร้องการสนับสนุนจากงบประมาณของรัฐบาลมากขึ้น เพื่อทำให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นสวัสดิการที่ประชาชนทุกคนควรจะต้องเข้าถึงไม่ว่าจะมีฐานะเช่นใดก็ตาม

“เราไม่ได้ต้องการมหาวิทยาลัยราคาถูก แต่เราต้องการมหาวิทยาลัยที่คนทุกคนสามารถเข้าถึง นี่คือสวัสดิการ คนทุกคนไม่ควรถูกจำแนกด้วยมหาวิทยาลัยนี้มีค่าใช้จ่ายแพง คนจนเข้าไม่ถึง มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องเปิดประตูต้อนรับผู้คนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน”

2 จุดยืน

หนึ่ง หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะไม่เข้าร่วมกับการกระทำดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะของอธิการบดีของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าผมเป็นอธิการบดีผมจะไม่เข้าร่วม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ย้ำไม่เข้าร่วมไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หลายคนอาจจะกล่าว่าตอนเช่นนี้ก็พูดได้ แต่ผมอยากจะย้อนไปตอนผมเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์เมื่อปี 2549 มีการรัฐประหารเกิดขึ้น การประชุมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอชื่อให้ผมไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตอนที่ผู้รู้ข่าวผมก็เดินไปเรียนอธิการบดีว่า ผมรับตำแหน่งไม่ได้ เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร”

สอง เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและรายได้นับตั้งแต่ก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง และจะเปิดเผยทุกรอบปี เพื่อให้เกิดความโปร่งใสถึงรายรับ และประโยชน์ต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องมาจากการดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย

1 ความฝัน

“เราจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ยึดมั่นในภูมิปัญญาและเคารพต่อระบอบประชาธิปไตย”

เราจะไม่กลบความเห็นต่างด้วย ไม่กลบความเห็นต่างด้วยอำนาจ และเราจะไม่ออกไปเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายระบบประชาธิปไตยจนกระทั่งสังคมพังทลายเหมือนทุกวันนี้

ทั้งหมดนี้คือ 6 เป้าหมาย 2 จุดยืน 1 ความฝัน ที่สมชายเสนอต่อประชาคมในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สำหรับการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ที่กำลังจะมาถึงใน พ.ศ. 2565 นี้

สุดท้าย หากเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ในสังคมที่เครือข่ายและอำนาจตามจารีตครอบงำมาอย่างยาวนาน ทุกคนทุกส่วนต้องร่วมแรงในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อย่าหวังว่าเพียงใครคนใดคนหนึ่งจะทำให้มันเกิดขึ้นได้โดยลำพัง ไม่มี การขยับ การส่งเสียง ปฏิบัติการในขอบเขตที่แต่ละคนจะกระทำได้จะเป็นส่วนที่สำคัญ ขอยืนยันว่าหากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ลำพังการกฎแชร์กดไลค์ ไม่เพียงพอต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

 

ภาพ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

ปิ่นแก้ว : มหาวิทยาลัยแห่งสวัสดิการ

ปิ่นแก้ว กล่าวเริ่มต้นว่า หากตนเองได้เป็นอธิการบดีการจัดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์อธิการบดีจะต้องถูกจัดขึ้นอย่างเปิดเผยและเป็นทางการ โดยหน่วยงานของมหาวิทยาลัย และหากตนเองได้เป็นอธิการบดีก็จะเป็นอธิการบดีผู้หญิงคนแรกของมหวิทยาลัยเชียงใหม่

สิ่งแรกที่จะทำคือ ระเบียบและกฎหมายที่เอื้ออำนาจต่อการผูกขาดอำนาจและการสืบทอดอำนาจการบริหารการปกครองของมหาวิทยาลัยในมือของชนชั้นนำในมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่คนจะถูกยกเลิก เปลี่ยนแปลง และแก้ไข

ระบบอำนาจแบบที่ชนชั้นผู้บริหารนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่แยแสเสียงของประชาชน ประชาคม มช. ไม่เคยเปิดพื้นที่รับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมจะต้องยุติลง

“เราอยู่ในจุดที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานที่จะนำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปสู่ทิศทางการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นแหล่งสร้างปัญญาสร้างคนที่ฟูมฟักความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่สถานที่แสวงหาผลประโยชน์ทางอำนาจที่ผูกขาดอย่างที่เป็นอยู่”

สองทศวรรษในการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสองทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งหายนะของเสรีนิยมใหม่ที่ผสมพันธุ์กับลัทธิเผด็จการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกนอกกำกับของรัฐก่อนมหาวิทยาลัยอื่น แต่สิ่งที่ตามมากลับไม่ใช่อิสระ ขาดการมีส่วนรวมของคณาจารย์ บุคลากรในการร่วมบริหารสถาบันการศึกษาไปสู่ทิศทางที่ตอบโจทย์คนทำงาน

“ในทางตรงกันข้ามมหาวิทยาลัยได้กลายเป็นแขนขา องคาพยพของรัฐ โดยเฉพาะรัฐเผด็จการอย่างแนบแน่น การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ การคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยที่มหาวิทยาลัยเพิกเฉยและไม่เคยแสดงบทบาทในการปกป้องบุคลากรและนักศึกษาให้ปลอดภัยจากการคุกคามที่เกิดขึ้น”

ในทางการเมืองแล้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ละทิ้งคุณค่าในการเป็นเสาหลักที่ค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยของสังคมไป ในฐานะที่เป็นแหล่งสร้างความรู้และปัญญาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แปลงสภาพตัวเองให้กลายเป็นบริษัทชั้นเลวที่บีบให้กรรมกรคณาจารย์เขียนบทความภาษาอังกฤษตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ เพียงเพื่อการวัดระดับ ranking ของมหาวิทยาลัย จนทำให้ลืมเลือนไปว่าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่แท้จริงคือการบ่มเพาะ บำรุงสติปัญญา และสร้างความรู้ให้กับสังคม มิใช่การทำลายสติปัญญาให้ย่อยยับลงด้วยระบอบต่างๆ

ชนชั้นผู้บริหารยังคิดค้นวิธีการแสวงหากำไรสูงผ่านการกดขี่แรงงานผ่านการสร้างระบบการจ้างงานผ่านสัญญาจ้างระยะสั้น ตัดต้นทุนค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการของคณาจารย์สายพนักงาน ปล่อยให้ตลาดเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมกำกับมหาวิทยาลัยจนมองไม่เห็นเป้าหมายที่แท้จริงของมหาวิทยาลัย อีกทั้งคณาจารย์และบุคลากรไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตัวเองเลยแม้แต่น้อย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลายเป็นสถานที่ที่คนทำงานปราศจากซึ่งความสุข ความมั่นคง และปราศจากซึ่งเกียรติภูมิของการเป็นเสาหลักของสังคม ระบอบเช่นนี้คือระบอบบริหารอุดมศึกษาแบบเสรีนิยมใหม่แบบด้อยพัฒนา ซึ่งระบอบนี้จะได้รับการสืบทอดต่อไปหากเรายอมให้การเลือกสรรผู้บริหารกระทำกันอย่างปิดลับในหมู่ชนชั้นนำไม่กี่คน

หากตนได้รับเลือกจากประชาคม มช. สิ่งที่จะล้มเลิกมีอยู่ 3 ประการ

หนึ่ง ในแง่ธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัยจะต้องยกเลิกการผูกขาดในทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารระดับภาควิชาไปจนถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย จะต้องนำหลักการประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจมาใช้สร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนมาใช้ในการบริหารและการปกครอง

สอง ในทางการเมืองมหาวิทยาลัยจะต้องกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตนให้เป็นเอกเทศและเป็นอิสระจากอำนาจรัฐอย่างแท้จริง ธำรงไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ไม่นำตนเองเข้าไปรับใช้อำนาจที่ฉ้อฉลทางการเมือง

สาม ในแง่ทิศทางของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยต้องพาตนเองออกจากการหมกมุ่นเรื่องการไต่อันดับเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ตัดขาดมหาวิทยาลัยออกจากพันธะกิจต่อสังคม

มหาวิทยาลัยไม่อาจหมกมุ่นอยู่กับ ranking อยู่ได้ ในเมื่อผู้คนกำลังจมอยู่กับความล้มเหลวในการบริหารประเทศในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการรับมือกับโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดการล่มสลายในเศรษฐกิจของชนชั้นล่างและชนชั้นกลางระดับล่าง นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกินครึ่งมาจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่างและได้รับผลกระทบอย่างที่สุด ชีวิตครอบครัวของนักศึกษาแขวนอยู่กับเศรษฐกิจที่ไร้ความมั่นคง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะกำหนดบทบาทของตัวเองอย่างไรที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการกอบกู้ชีวิตของผู้ในสังคมให้ข้ามพ้นภาวะความบอบช้ำนี้ไปได้

หากได้รับเลือกการเป็นอธิการบดีปิ่นแก้วจะทำให้หมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งสวัสดิการ (University of Welfare and University for Welfare) ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบสวัสดิการของสังคมที่เข้มแข็ง โดยตัวมหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบในการดูแลสวัสดิการของนักศึกษา บุคลากร และอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย ทุนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Presidential Scholarship) จึงไม่ควรเป็นไปเพื่อคัดเลือกนักศึกษาหัวกะทิมาเพิ่ม ranking ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ควรเป็นทุนที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ทำให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

สุดท้าย มหาวิทยาลัยแห่งสวัสดิการจะต้องครอบคลุมไปถึงสวัสดิการสัตว์ด้วย

“ดั่งที่ทราบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้ประโยชน์จากสุนัขภายในมหาวิทยาลัยในการโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ สร้างจุดเด่นให้กับมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะพี่เตี้ยกับพิธีรับน้องขึ้นดอย ล่าสุดมีการเปิดพื้นที่รอบอ่างแก้วให้เป็นที่พักผ่อนของผู้คนกับน้องหมา แต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่เคยสนับสนุนสวัสดิการใดๆ ให้กับเหล่าสุนัขชุมชนเลย ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเลิกกดขี่แรงงานของสุนัข รวมทั้งแมว เราต้องสร้างระบบสนับสนุนสุนัขจรจัด เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในการสร้างสวัสดิการสัตว์ชุมชนขึ้นในประเทศไทย”

“หยุดสืบทอดอำนาจเผด็จการเสรีนิยมใหม่แบบล้าหลัง” ปิ่นแก้ว กล่าวถึงสโลแกนของตนเองก่อนจะปิดท้ายการแสดงวิสัยทัศน์

อย่างไรก็ตามผู้สมัคร (Candidate) อธิการบดีของมหาวิทยาเชียงใหม่ยังมีคนอื่นนอกเหนือจากผู้สมัคร 3 คนที่มาแสดงวิสัยทัศน์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็นการคัดเลือกอธิการบดี หลังจากเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีข้อบังคับมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี ที่ระบุว่า ทุกขั้นตอนในการสรรหาถูกกำหนดให้ใช้วิธีการปรึกษาหารือ มิให้มีการเลือกตั้งหรือหยั่งเสียงเป็นอันขาด และยังมีการกำหนดข้อบังคับให้ผู้ที่สนับสนุนการเลือกตั้งหรือหยั่งเสียงเลือกอธิการบดีมีความผิดทางวินัยอีกด้วยนั้น โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุให้ทางสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แจงเหตุผลที่เปลี่ยนไม่ให้มีการเลือกตั้งหรือหยั่งเสียงอธิการบดี คนใหม่ พร้อมเสนอให้ใช้การทำประชาพิจารณ์ และประชามติเลือกวิธีการคัดสรรอย่างอิสระและโปร่งใส อำนวยความสะดวกให้เกิดวิธีการสรรหาตามผลการลงประชามติด้วย

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2565 สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประกาศจุดยืนผ่าน Facebook เพจ “สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Chiang Mai University Student Union” ประกาศว่า พร้อมเป็นเจ้าภาพดำเนินงานให้เกิด “การแสดงวิสัยทัศน์ของ Candidate อธิการบดีต่อสาธารณะ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net