Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้อง กรณีแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ม.33 ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของโครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “ม.33 เรารักกัน” ของประกันสังคม เป็นการจำแนก กีดกัน และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

4 ก.พ.2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ตัวแทนแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญรายงายว่า ตามที่ตัวแทนแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่เสนอโดยกระทรวงแรงงาน โดยกำหนดคุณสมบัติให้ผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามโครงการนี้ต้องเป็นผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากโครงการแม้มีสถานะเป็นผู้ประกันตนเช่นเดียวกันก็ตาม จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ หรือสถานะบุคคล และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 27 หรือไม่

ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้เหตุผลดังต่อไปนี้

  1. ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 213 บัญญัติไว้ได้หรือไม่
  2. ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”
  3. ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมได้หยิบยกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยตรงและได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีวินิจฉัยได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนภายในระยะเวลาที่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย
  4. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ระบุว่าการใช้สิทธิยื่นคำร้องตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ได้นั้น ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ...(2) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว...
  5. เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า “เงินช่วยเหลือตามโครงการ ม.33 เรารักกัน ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกูเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีกรณีความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป”

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มีความเห็นหลังจากคำฟังตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ความช่วยเหลือเยียวยาจากโรคระบาดนั้นควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ที่มนุษย์ทุกคนที่อยู่อาศัยในประเทศไทยควรได้รับอย่างเท่าเทียม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติหรือสัญชาติ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีอนุสัญญา และรัฐมนตรีกระทรวงกระทรวงต่างประเทศ นายดอน ปรมัตวินัย ได้แถลงต่อที่ประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เพื่อการปฏิบัติตามข้อตกลระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration-GCM) ณ ห้องประชุม สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเป็นกลุ่มแรงงานที่ช่วยขับเคลื่อนกำลังเศรษฐกิจของชาติและเป็นหุ้นส่วนสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดังนั้น แรงงานข้ามชาติจึงเป็นกลุ่มที่ไม่ควรถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง โดยทางมูลนิธิฯ จะดำเนินการปรึกษาหารือถึงช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งรับคำร้องและพิจารณาว่าโครงการเยียวยาที่เสนอโดยหน่วยของรัฐนั้นมีลักษณะที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net