Skip to main content
sharethis

สวนดุสิตโพล สำรวจออนไลน์ 1,383 คน ส่วนใหญ่ 47.27% ไม่ค่อยเชื่อมั่นการแก้ปัญหาสินค้าแพงของรัฐบาล 34.93% ระบุสามารถแบกรับภาระราคาสินค้าแพงไปได้อีกแค่ 3 เดือนเท่านั้น

30 ม.ค. 2565 ปัญหาสินค้าต่าง ๆ ขึ้นราคา เป็นปัญหาที่กระทบต่อปากท้องของประชาชนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ไข่ไก่ อาหารต่าง ๆ ล้วนขึ้นราคาจนกระทบกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพื่อสะท้อนความคิดเห็น ของประชาชน “สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,383 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 24-27 ม.ค. 2565 สรุปผลได้ ดังนี้

1. สินค้าที่จำเป็น ณ วันนี้ ที่ประชาชนพบเห็นหรือซื้อแพงกว่าปกติมีอะไรบ้าง

อันดับ 1

เนื้อหมู

92.75%

อันดับ 2

ข้าวแกง กับข้าวถุง อาหารตามสั่ง

72.44%

อันดับ 3

ไข่ไก่ ไข่เป็ด

71.79%

อันดับ 4

น้ำมันพืช

57.07%

อันดับ 5

เนื้อไก่

56.13%

2. ประชาชนคิดว่าสาเหตุใดที่ทำให้สินค้าแพง

อันดับ 1

โรคระบาดในสัตว์

65.02%

อันดับ 2

มีการกักตุนและปั่นราคาสินค้า

64.22%

อันดับ 3

พ่อค้า นายทุน ฉวยโอกาสขึ้นราคา

63.13%

3. ตัวประชาชนเองแก้ปัญหาสินค้าแพงอย่างไร

อันดับ 1

ควบคุมการใช้จ่าย/ประหยัด/ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น   

77.20%

อันดับ 2

ใช้สินค้าชนิดนั้นลดลง/ใช้ให้น้อยลง/ลดปริมาณการใช้

66.67%

อันดับ 3

เปลี่ยนไปกินอย่างอื่นแทนที่ยังไม่ขึ้นราคา   

57.37%

4. ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาสินค้าแพงอย่างไร

อันดับ 1

พูดความจริง ไม่ปิดบังข้อมูล   

58.99%

อันดับ 2

ตรึงราคา ควบคุมราคาสินค้า     

58.27%

อันดับ 3

ลดภาษีน้ำมัน    

52.15%

5. ประชาชนคิดว่าใครหรือหน่วยงานใด ควรเข้ามาแก้ปัญหาสินค้าแพง

อันดับ 1

กระทรวงพาณิชย์    

79.60%

อันดับ 2

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   

57.88%

อันดับ 3

นายกรัฐมนตรี

55.82%

6. ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาสินค้าแพงของรัฐบาลในระดับใด

ไม่ค่อยเชื่อมั่น 47.27% ไม่เชื่อมั่น 35.42% ค่อนข้างเชื่อมั่น 15.27% เชื่อมั่นมาก 2.04%      

7. โดยภาพรวม ประชาชนสามารถแบกรับภาระราคาสินค้าแพงไปได้อีกเท่าใด

ไม่เกิน 3 เดือน 34.93% ไม่เกิน 6 เดือน 28.53% ไม่เกิน 1 เดือน 18.56% มากกว่า 6 เดือน 17.98%

นางสาวพรพรรณ บัวทองนักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่าสถานการณ์สินค้าแพงกระทบกับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ หรือว่างงาน กลุ่มนี้ไม่สามารถจะแบกรับภาระของแพงได้นานมากนัก เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารการกินและการเดินทางสูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ต่อวัน ภาครัฐนอกจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ควรเร่งวางแผนแก้ปัญหาระยะยาวแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระบบเพื่อช่วยเหลือประชาชน และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลด้วย 
                                        
ดร.วิทยา ศิริพันธ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกรรมการบริหารหลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่าราคาเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาโรคระบาดในสุกรในหลายประเทศ ประกอบกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อยลดลงทำให้อุปทานของเนื้อหมูลดลง ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นก็เป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาอาหารสูงขึ้น นอกจากนี้อุปสงค์ของน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ปัญหาเงินเฟ้อจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประชาชนกลุ่มที่รายได้น้อยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เห็นได้จากกลุ่มตัวอย่าง 53% ไม่สามารถแบกรับภาระได้เกิน 3 เดือน ดังนั้น นอกจากการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องเพิ่มการผลิต ป้องกันการกักตุนสินค้า ชะลอการส่งออกและเพิ่มการนำเข้าแล้ว ประชาชนทั่วไปอาจทำบัญชีรายจ่ายวิเคราะห์ตัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เลือกอาหารที่มีโปรตีนสูงแต่ราคาไม่สูงนัก และจัดการหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยบรรเทารายได้ไม่พอรายจ่ายในช่วงนี้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net