Skip to main content
sharethis

วานนี้ (7 ม.ค.) ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา แถลงกองทัพพม่ารบกับกองกำลัง KNPP ในรัฐกะเรนนี (กะเหรี่ยงแดง) ห่างจากพรมแดนไทย ฝั่งแม่ฮ่องสอน ประมาณ 4 กม. ชาวพม่าบางส่วนต้องหนีภัยสงครามเข้ามาในไทย

พิธีจบการฝึกทหารของกองกำลังกะเรนนี รุ่นที่ 71 เมื่อ 9 ต.ค. 64 ภาพถ่ายโดย Kn.A.C.

8 ม.ค. 65 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวานนี้ (7 ม.ค.) ศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงข่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมาว่า เมื่อเวลา 08.00 น.ของวันที่ 7 ม.ค. 65 เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (Karenni National Progressive Party หรือ KNPP) กับกองทัพพม่า กองพันที่ 135 ฐานห้วยโปงเลา ตรงข้ามชายแดนไทยบ้านน้ำเพียงดิน ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ห่างจากชายแดนประมาณ 4 กิโลเมตร (กม.) 

ต่อมาเวลา 10.00 น. มีเสียงระเบิดต่อเนื่องหลายครั้ง คาดว่าเป็นเครื่องบินของทหารเมียนมาทิ้งระเบิดโจมตีทหารกะเหรี่ยงกะยา การปะทะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทยในบริเวณชายแดน และยังไม่มีผู้หลบหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเข้าประเทศไทย

ด้านสื่อพม่า Khit Thit Media รายงานว่า กองทัพทหารกะเรนนีโจมตีและยึดฐานทัพนัตต่องของทหารพม่าที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำปาย หมู่บ้านชาดอ รัฐกะเรนนี ชายแดนไทย-พม่า เมื่อเช้าวันที่ 7 ม.ค. 65 ซึ่งตามรายงานของศูนย์กองทัพกะเรนนี (Karenni Army Center) ระบุว่า ทหารพม่าเสียชีวิตหลายนาย โดยประมาณครึ่งชั่วโมงหลังจากที่กองทัพกะเรนนีบุกโจมตีฐานทัพทหารพม่านั้น ทำให้ทหารพม่าได้โจมตีโต้ตอบด้วยเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธและทิ้งระเบิดที่ฐานทัพดอยย่ามู ของทหารกะเรนนี โดยกองทัพกะเรนนียึดฐานทหารพม่าได้ 4 แห่ง

ขณะที่เพจมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน Friends Without Borders Foundation ระบุว่า ชาวบ้านราว 200 คนพยายามขอเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยแต่ยังถูกปฏิเสธไม่ให้ข้ามแดน ภายหลังจากเมื่อเช้ามืดเครื่องบินรบพม่าได้เข้ามาในพื้นที่ชายแดนรัฐกะเรนนี-ไทย และทิ้งระเบิดที่บริเวณห่างจากค่ายพักผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) “ดอโนกู” ไปเพียงราว 4 กิโลเมตร

ค่ายดอโนกู เป็นที่พักของชาวบ้านกะเรนนีร่วม 2 พันคนที่เดินทางหนีภัยมาจากภายในรัฐกะเรนนี โดยเฉพาะแถบอำเภอเดมอโซ ที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังประชาชนติดอาวุธ PDF และกองทัพพม่า พื้นที่ค่ายตั้งอยู่ไม่ห่างจากบ้านห้วยเสือเฒ่า อ.เมือง แม่ฮ่องสอน มากนัก

ผู้ลี้ภัยจากพม่าบางส่วนหนีภัยมาไทย

เมื่อ 8 ม.ค. 64 มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน โพสต์ข้อความบนหน้าเพจเฟซบุ๊กอีกครั้งเมื่อเวลาประมาณ 8.01 น. ว่า ผู้พลัดถิ่นภายใน (IDPs) จากค่ายดอโนกูเข้ามาลี้ภัยในไทยแล้ว

ผู้พลัดถิ่นจากค่ายดอโนกู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิง เด็ก และคนชรา ที่หลบหนีการประหัตประหารมาจากพื้นที่ตอนในรัฐกะเรนนี ประมาณ 1,300 คนได้เข้ามาหลบภัยสงครามในเขตประเทศไทย ห่างจากค่ายผู้ลี้ภัยในสอย จ.แม่ฮ่องสอน ไปประมาณ 1 กม. 

เบื้องต้น คณะกรรมการค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเรนนีได้จัดความช่วยเหลือด้านอาหารที่ได้รับจากองค์กรมนุษยธรรมให้ พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นส่วนหนึ่งของค่ายผู้ลี้ภัยกะเรนนี แคมป์ 3 ซึ่งเรียกกันว่า "อูลอเรห์" แต่ได้ปิดตัวลงเมื่อมีการโยกย้ายผู้คนมาที่ค่ายในสอยในปัจจุบันพร้อมกับจำนวนผู้ลี้ภัยที่ลดลง และต่อมา มีการจัดสถานที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์กักตัวเพื่อเฝ้าระวังโควิด 19 

เย็นวานนี้ (7 ม.ค.) ผู้ลี้ภัยอีกราว 200-300 คนเข้ามาหลบภัยในบ้านน้ำเพียงดิน และได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านกะยัง (ปาดอง) บ้านห้วยปูแกงในเรื่องอาหารการกิน

การสู้รบและความรุนแรงในรัฐกะเรนนีที่ดำเนินตลอดมาในเขตอำเภอเดมอโซ พรูโซ และลอยก่อ ขณะนี้ได้ปะทุขึ้นทางด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากกองทัพกะเรนนี KNPP ต้องการจะผลักดันฐานทหารพม่าออกไปให้พ้นจากบริเวณ ขณะที่มีการส่งกำลังทหารและเสบียงเข้ามาสำหรับกองทัพพม่าอีกจำนวนมาก

"การสู้รบอาจจะดำเนินต่ออีกสักพัก และชาวบ้านจากดอโน่กู่อาจจะต้องขอลี้ภัยต่อสักพัก แม้ว่าเจ้าหน้าที่ไทยจะไม่อยากให้จำนวนผู้ลี้ภัยในค่ายเพิ่มขึ้น เราก็หวังว่าพวกเขาจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยและรับความช่วยเหลือผ่านคณะกรรมการค่ายต่อไป" ผู้ลี้ภัยกะเรนนีที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานให้ความคิดเห็น  

ก่อนหน้าที่จะมีการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ ผู้พลัดถิ่นสาวในค่ายดอโน่กู่เคยกล่าวกับเราไว้ว่า "คนกะเรนนีหนีสงครามแต่เด็กจนโต จนแต่งงานมีลูก จนสาว ไม่มีใครอยากให้มีการสู้รบ ไม่มีใครชอบสงคราม แต่จะเป็นอย่างนั้นได้ กองทัพพม่าต้องออกไปและเอาอาวุธของพวกเขาออกไปจากพื้นที่ของเรา ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย เราต้องการเพียงเท่านี้ การต่อสู้เพื่อผลักดันทหารพม่าออกไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น" 

"แต่ละคนหวังว่าเมื่อจำเป็น พวกเขาจะสามารถวิ่งมาหลบภัยในประเทศไทย และเราหวังว่าเพื่อนบ้านของเราจะช่วยเราในยามยากลำบากดังเดิม”

ขณะที่ผู้พลัดถิ่นภายในจากบ้านดอยโนกู รัฐกะเรนนีรายหนึ่ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า ตอนนี้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ทุกคนต้องคอยตื่นตัวเพื่อรับมือกับเหตุไม่คาดฝันตลอดเวลา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net