Skip to main content
sharethis

กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอยับยั้งการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้ อบจ. หวั่นกระทบระบบสาธารณสุข พร้อมเสนอตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหาและผลกระทบ


นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา | แฟ้มภาพวุฒิสภา

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ออกเอกสารชี้แจงถึงการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สืบเนื่องจากการเร่งรัดถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3,036 แห่ง ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง ที่พร้อมรับโอน โดยมีการกำหนดเกณฑ์ของ อบจ. เป็นสามระดับ คือ ระดับดีให้ถ่ายโอน รพ.สต. อย่างน้อย 1 แห่ง ระดับดีมากให้ถ่ายโอนอย่างน้อยอำเภอละ 2 แห่ง และระดับดีเลิศให้ถ่ายโอน รพ.สต.ทุกแห่งที่แจ้งความจำนง โดยให้ รพ.สต. ที่เปลี่ยนใจไม่ถ่ายโอนให้แจ้งความจำนงภายใน 7 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ทันการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการนั้น

คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา พิจารณาแล้วเห็นว่า การเร่งรัดดังกล่าวอาจสร้างปัญหาให้กับระบบสาธารณสุข ด้วยเหตุผล ดังนี้

1. ข้าราชการสาธารณสุขที่จะถูกถ่ายโอนยังไม่ทราบข้อดีข้อเสียของการถ่ายโอน เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ เมื่อบรรจุเป็นงบประมาณไปแล้วการถ่ายโอนจะต้องดำเนินการต่อไป ไม่สามารถยับยั้งได้ ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่จะต้องถูกตัดไปให้ อบจ. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องจัดหาที่ทำงานใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องการโอนไปท้องถิ่นนั้น

2. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (primany health care) และระบบเครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิจะถูกแบ่งแยกออกจากทุติยภูมิและตติยภูมิ ทำให้เกิดปัญหาในการส่งต่อผู้ป่วยทั้งขาขึ้นและขาลง ซึ่งระบบสาธารณสุขที่พัฒนามาร่วมร้อยปีจะถูกทำลาย เพราะระบบสุขภาพและระบบสาธารณสุขไม่อาจ เป็น stand alone เหมือนบริการสาธารณะอื่น

3. พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีแพทย์หนึ่งคนดูแลประชาชน 10,000 คน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขใช้การดูแลเป็นเครือข่าย ใช้แพทย์จากสถานพยาบาลทุติยภูมิและตติยภูมิช่วยดูแล และสร้างแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวให้ดูแลเมื่อพร้อม แม้ อบจ. จะสามารถจ้างแพทย์เพิ่มได้ แต่ไม่อาจสร้างเครือข่ายให้สมบูรณ์ได้

4. ประสบการณ์จากการระบาดของโควิด 19 ในกรุงเทพมหานครที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายเดียวกันเกิดปัญหาอย่างมากในการส่งต่อ เช่นเดียวกับระบบและเครือข่ายปฐมภูมิในต่างจังหวัดที่ประสบความสำเร็จ ในการควบคุมโควิด 19 จาก อสม. รพ.สต. และโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน ในอนาคตอาจมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม ซึ่งอาจสร้างปัญหาในกรณีไม่ได้เป็นเครือข่ายเดียวกัน

และ 5. การถ่ายโอนอ้างถึงความจำเป็นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ทั้งที่หลังปี 2542 มีนโยบายสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562

ดังนั้น คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา จึงขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการถ่ายโอนดังกล่าว เพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net