Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หนังสือ “ความถูกต้องอยู่ข้างใคร” (The Righteous Mind) ของ Jonathan Haidt แปลโดยวุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ หน้า 23-24 ยกตัวอย่างสองสถานการณ์เพื่ออภิปรายว่า การกระทำตามตัวอย่างผิดศีลธรรมหรือไม่

สถานการณ์ 1: หมาของครอบครัวโดนรถชนตายที่หน้าบ้าน พวกเขาเคยได้ยินมาว่าเนื้อหมาอร่อยดี ดังนั้นพวกเขาจึงชำแหละซากหมา นำมาทำอาหาร และกินเป็นมื้อค่ำ โดยไม่มีใครรู้เห็นว่าพวกเขาทำเช่นนี้

จากตัวอย่างนี้ ผู้เขียนชวนตั้งคำถาม และได้คำตอบว่า “อืม ฉันว่ามันน่ารังเกียจ และฉันว่าพวกเขาควรจะฝังซากมัน แต่ฉันก็ไม่ได้พูดว่ามันผิดศีลธรรมนะ” 

คำตอบทำนองนี้ ทำให้ผมนึกถึง “ดราม่าเหยียดคนอิสาน” หนึ่งในการเหยียด ก็คือการแสดงความรังเกียจว่าคนอิสานกินหมา คนที่เหยียดก็ไม่ได้มองว่าการกินหมาผิดศีลธรรม แต่มันน่ารังเกียจ ทำให้น่าคิดว่า การใช้ความรังเกียจของตนเองมาด่าประจานคนอื่น เป็นสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรมเช่นนั้นหรือ คนที่ด่าประจานคนอิสาน แสดงว่าเขาเห็นว่าการด่าประจานเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ถูก ควรจะทำ ไม่เช่นนั้นเขาก็คงไม่ทำ? ขณะเดียวกันคนอิสานที่ไม่พอใจ ก็เพราะเห็นว่าการแสดงความรังเกียจด้วยการด่าประจานเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำในทางศีลธรรมใช่หรือไม่?

สถานการณ์ 2: ชายคนหนึ่งไปซูเปอร์มาร์เก็ตสัปดาห์ละครั้ง และซื้อไก่สดมาหนึ่งตัว ก่อนจะนำไก่มาทำอาหาร เขาร่วมเพศกับมัน เสร็จแล้วเขาจึงค่อยปรุงมันและกินมัน

ผู้เขียนชวนเราคิดว่า ...ทำไมคราวนี้คุณจึงรู้สึกรังเกียจรุนแรงขึ้นอย่างยิ่ง การกระทำเช่นนี้มันช่าง...อืม มันช่างเสื่อมทรามเหลือเกิน แต่นี่คือเหตุที่ทำให้คุณตัดสินว่ามันผิด (ศีลธรรม) หรือเปล่า ถ้าคุณเป็นชาวตะวันตก มีแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม คุณก็อาจจะให้คำตอบที่ต่างออกไป มีคำตอบหนึ่งบอกว่า มันเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะทำอะไรก็ได้ตามต้องการ ตราบที่เขาไม่ไปทำร้ายใคร

จากตัวอย่างข้างบน ผมนึกถึงคลิปบอกเล่าเรื่องราวของคนหลากหลายทางเพศที่โตมาในครอบครัวเคร่งศาสนาคริสต์ วันหนึ่งเมื่อแม่ของเขาเปิดประตูห้องนอน พบลูกชายนอนอยู่บนเตียงกับคนรักที่เป็นเพศเดียวกัน แม่และพ่อของเขาแสดงความรังเกียจอย่างชัดเจน บทสนทนาต่อมาเป็นเรื่องราวของ “เหตุผลทางศีลธรรมแบบศาสนา” เช่นว่า “ลูกจะรับมือกับผลที่ตามมาไหวหรือ เพราะรักร่วมเพศเป็นบาป ผลของมันคือตกนรกชั่วนิรันดร์” ความเชื่อเช่นนี้เห็นได้ในพระคัมภีร์เก่า ที่ระบุว่าคนรักร่วมเพศคือคนบาป สมควรปาหินให้ตาย

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มนุษย์เกิดความรังเกียจการกระทำหรือพฤติกรรมบางอย่าง ที่ผิดแผกจากคนส่วนใหญ่ แล้วจึงจัดประเภทให้การกระทำเช่นนั้น “ผิดศีลธรรม” หรือว่ามนุษย์ค้นพบ “สภาวะความผิดศีลธรรม” ก่อนแล้ว จึงใช้มันมาตัดสินการกระทำที่น่ารังเกียจนั้นๆ ว่าผิดศีลธรรม

แต่เราใช้ “เกณฑ์” อะไรตัดสินว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งน่ารังเกียจ เช่น การร่วมเพศกับไก่, เซ็กส์ทอย, หุ่นยนต์ และวัสดุอื่นๆ อะไรคือสิ่งที่น่ารังเกียจหรือผิดศีลธรรม ทำไมการร่วมเพศระหว่างชาย-หญิงจึงไม่น่ารังเกียจ และไม่ผิดศีลธรรม แต่การร่วมเพศของคนเพศเดียวกัน กลับน่ารังเกียจ และผิดศีลธรรมศาสนา

เอาจริงแล้ว ศีลธรรมศาสนาทำหน้าที่อย่างไรแน่? ลักษณะหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “ศีลธรรมศาสนายึดสังคมอินทรียภาพเป็นใหญ่” เช่น ความเป็นสังคมแบบฮินดู สังคมพุทธ สังคมคริสต์ สังคมมุสลิม แต่ความเป็นสังคมศาสนาล้วนมีความเชื่ออภิปรัชญาทางศีลธรรมแบบชายเป็นใหญ่ กับปรัชญาการเมืองแบบชนชั้น และเผด็จการอำนาจนิยมรองรับความชอบธรรมของระบบกษัตริย์ที่ใช้อำนาจในนามพระเจ้า และในนามธรรมะ 

ในประวัติศาสตร์สังคมศาสนา ไม่มี “ปัจเจกบุคคล” (individual) ผู้มีอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพเป็นของตนเอง เพราะสมาชิกของสังคมถูกกำหนดให้เป็นองคาพยพของสังคม เช่น ถูกกำหนดให้เป็นคนของพระเจ้า เป็นคนใต้อำนาจของผู้ปกครองที่ใช้อำนาจในนามศาสนา ในฐานะเป็นองคาพยพของสังคม ทุกคนถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ตามกฎศีลธรรมศาสนาแบบเดียวกัน จงรักภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียวกัน ต่อศาสนจักร กลุ่มผู้นำศาสนา กษัตริย์ และเชื่อฟังพวกนักบวชซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นปกครอง คนที่คิดต่างเชื่อต่างกลายเป็นพวกนอกรีต แน่นอนว่าพวกนอกรีต คนนอกวรรณะ และคนหลากหลายทางเพศคือ “คนนอก” ของสังคมที่ต้องประสบชะตากรรมเลวร้ายเกินจินตนาการ

อย่างไรก็ตาม การยึดถือสังคมเป็นใหญ่ในสังคมศาสนาที่มี “ความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่เท่าเทียม” แม้รักร่วมเพศในสังคมคริสต์, อิสลามจะผิดศีลธรรมและมีโทษถึงตาย แต่ถ้าพวกนักบวช, ผู้นำศาสนา หรือเชื้อพระวงศ์แอบทำผิดศีลธรรมในเรื่องเช่นนี้ ก็น้อยมากที่จะเห็นพวกเขาถูกนำตัวขึ้นศาลศาสนา ส่วนมากมักจะเป็นคนธรรมดาที่ถูกเฆี่ยน ถูกแขวนคอต่อหน้าสาธารณชน 

พูดอีกอย่างคือ ในสังคมศาสนาหรือสังคมที่ไม่แยกศาสนากับการเมือง หรือศาสนามีอำนาจทั้งในทางการเมือง กฎหมาย และชี้นำความเชื่อทางสังคม ชนชั้นบนคือพวกที่มีสิทธิและเสรีภาพด้านต่างๆ มากกว่า เพราะพวกเขามีอำนาจ มีทรัพย์สินที่จะใช้ชีวิตแสวงหาความสุข ความสะดวกสบายได้ตามต้องการ กระทั่งหลบเลี่ยงความผิดทางศีลธรรมศาสนาและกฎหมายได้มากกว่า เพราะพวกเขาคือผู้บัญญัติกฎที่กำหนดว่า สังคมเป็นใหญ่หนือปัจเจกบุคคล แต่พวกเขามักอยู่เหนือกฎนั้น หรือไม่จำเป็นต้องทำตามกฎนั้น 

โดยนัยข้างบน เราจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไม (แม้แต่ในยุคปัจจุบัน) คนธรรมดาอย่างเราๆ ใส่ “ชุดครอปท็อป” เลียนแบบกษัตริย์ จึงต้องถูกจับขังคุก ขณะที่กษัตริย์ผู้ใส่ชุดเช่นนั้นก็ยังคงเป็นที่เคารพสักการะและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนให้จงรักภักดี เพื่อความสามัคคี หรือความเป็นเอกภาพ และความมั่นคงของสังคมส่วนรวมเสมอไป

ดังนั้น การยึดสังคมเป็นใหญ่ในกรอบคิดศีลธรรมแบบศาสนา ไม่ว่าจะในรูปแบบการปกครองในนามของพระเจ้า หรือในนามการปกครองโดยธรรม ล้วนแต่เป็นเผด็จการทางศีลธรรม และเผด็จการทางการเมือง ที่ละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมืองตามแนวคิดเสรีนิยม

ในอีกด้านหนึ่ง การยึดถือสังคมเป็นใหญ่ตามกรอบคิดศีลธรรมศาสนาดังกล่าว ทำให้ยากยิ่งที่จะยอมรับ “การสมรสเท่าเทียม” ของ “คนทุกเพศ” คือชาย หญิง และคนหลากหลายทางเพศ หรือพูดโดยรวมๆ เราไม่มีทางเห็นความเท่าเทียมทางเพศได้ในรัฐศาสนายุคโบราณและปัจจุบัน

ในสังคมที่ไม่แยกศาสนากับรัฐอย่างไทย แม้ศาลรัฐธรรมนูญ นักกฎหมาย นักการเมือง หรือคนทั่วไปจะใช้คำอย่างเช่นสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็น “คำศัพท์” ของแนวคิดเสรีนิยม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาเหล่านั้นเป็น “พวกเสรีนิยม” (liberals) หรือเข้าใจและใช้คำศัพท์เหล่านั้นถูกต้องตามความหมายของแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) ที่ตลกคือ เผด็จการทหารก็ใช้คำว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กันอย่างปกติ แต่การกระทำของพวกเขาทั้งตรงกันข้าม และแสดงถึงความรังเกียจ และความกลัวต่อแนวคิดเสรีนิยมอย่างชัดเจน

ข้อโจมตีคลาสสิกที่มีต่อเสรีนิยมคือ การบอกว่าเสรีนิยมเน้น “ปัจเจกบุคคล” เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด จึงทำให้พวกเสรีนิยมนึกถึงตนเองเป็นศูนย์กลาง เห็นแก่ตัว ไม่นึกถึงคนอื่น หรือสังคมส่วนรวม แต่อย่างที่เราเห็นแล้ว ตามตัวอย่างในสถานการณ์ที่ 2 พวกเสรีนิยมมองว่า การร่วมเพศกับไก่ในพื้นที่ส่วนตัวไม่ผิดศีลธรรมและกฎหมาย หรือการกระทำใดๆ ตามเจตจำนงของตนเองที่ “ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น” ย่อมไม่ผิดศีลธรรมและกฎหมาย 

ที่จริงแล้ว หลักการที่ว่า เราแต่ละคนใช้เสรีภาพได้เต็มที่ หากไม่เป็นการทำอันตรายต่อผู้อื่น (ตามไอเดียของจอห์น สจ๊วต มิลล์) ไม่ได้มีความหมายเลยว่า เสรีนิยมไม่นึกถึงคนอื่น แต่เสรีนิยมตระอย่างยิ่ง หรือตระหนักเสมอว่า เราต้องนึกถึงคนอื่น หรือทุกคนในฐานะที่เป็น “ปัจเจกบุคคล” ผู้ที่มีอำนาจกำหนดเจตจำนงของตนเอง และเป็นเจ้าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นคนเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงไม่มีสิทธิ์ไปทำอันตรายต่อผู้อื่น หรือเราจะเลิดสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่นไม่ได้

ตามมุมมองแบบเสรีนิยม ไม่แฟร์เลยที่คนส่วนใหญ่จะยึดถืออย่างมีอคติว่า การร่วมเพศระหว่างชาย-หญิง หรือชาย-หญิงจะร่วมเพศกับเซ็กส์ทอย, หุ่นยนต์ไม่ผิดศีลธรรม แต่การร่วมเพศระหว่างคนเพศเดียวกันของคนหลากหลายทางเพศ เป็นเรื่องผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ผิดศีลธรรม (หรือกระทั่งผิดกฎหมายในสังคมเคร่งศาสนา) เพราะคนหลากหลายทางเพศก็เป็น “คนเท่ากัน” กับชาย-หญิง พวกเขาจึงต้องมีเสรีภาพในการกระทำตามเจตจำนงของตนเอง และใช้ชีวิตตามรสนิยม หรือความพึงพอใจของตนเองเท่าเทียมกัน ตราบที่ไม่ไปทำอันตรายต่อผู้อื่น

แต่เมื่อนักปรัชญาเสรีนิยมพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เขาไม่ได้หมายถึงเพียงคุณค่าเชิงนามธรรม หรืออุดมคติเท่านั้น จะต้องสร้างระบบการปกครอง และกฎหมายบัญญัติรับรองให้คุณค่าเหล่านั้นเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติด้วย ดังนั้น กฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะเป็นหลักประกันว่า คนหลากหลายทางเพศก็มีความเป็นคนเท่ากัน หรือเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” กับทุกคน รวมทั้งพวกเขาจะต้องมีสิทธิ และสวัสดิการพื้นฐานอื่นๆ เท่าเทียมกับพลเมืองทุกคนด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง เวลาเราพูดว่า เสรีนิยมยืนยันหลักนิติรัฐ และยืนยัน “เสรีภาพตามกฎหมาย” หรือ “เสรีภาพในขอบเขตกฎหมาย” ย่อมไม่ใช่กฎหมายเผด็จการ แต่เป็นกฎหมายที่รับรองและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมือง กฎหมายที่ให้อำนาจแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ มีอำนาจเผด็จการเหนือประชาชน ย่อมไม่ใช่กฎหมายที่ควรเคารพ หากเป็นกฎหมายที่ควรต่อต้านและยกเลิก

หลักการพื้นฐานของเสรีนิยมที่ว่า เราทุกคน (ไม่ว่าจะเพศ ภาษา ศาสนา เชื้อชาติอะไรก็ตาม) ต้องมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ ตราบที่ไม่ไปทำอันตรายต่อผู้อื่น คือหลักการที่เปิดกว้างมากที่สุด เพื่อให้แต่ละคนที่แตกต่างหลากหลายในทุกๆ ด้าน มีโอกาสได้เลือกกระทำสิ่งต่างๆ ตามความต้องการหรือเจตจำนงของตนเอง แต่ทุกคนต้องคำนึงถึงคนอื่นด้วยเสมอ นั่นคือ จะต้องไม่ใช้เจตจำนงหรือความต้องการของตนเองไปทำอันตรายต่อผู้อื่น หรือจะต้องไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น 

การยึดถือหลักการที่เปิดกว้างที่สุดร่วมกันเช่นนี้ คือการเชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกันเป็นสังคมส่วนรวมที่เราแต่ละคนเคารพความเป็นคนของกันและกัน ในฐานะ “คนเท่ากัน” ไม่มีใครหรือคนกลุ่มใดควรเป็นผู้เผด็จการที่มีอำนาจเด็ดขาดเหนือคนอื่นๆ เสรีนิยมเชื่อว่าการมีเสรีภาพที่เปิดกว้างที่สุด จะช่วยให้เราแต่ละคนมีโอกาสได้พัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้ามากที่สุด และเมื่อคนที่แตกต่างหลากหลายได้พัฒนาตนเองในได้ต่างๆ และได้ใช้ความคิด ความสามารถที่แตกต่างหลากหลายทำประโยชน์เพื่อตนเองและส่วนรวม ย่อมจะส่งผลให้สังคมส่วนรวมและมนุษยชาติก้าวหน้า ทั้งนี้รัฐจะต้องเป็นประชาธิปไตย จึงจะสามารถให้หลักประกันที่มั่นคงแก่การมีเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมืองได้จริง

คำถามคือ การบัญญัติกฎหมายสมรสเท่าเทียมยากตรงไหน หรือการบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “การสมรสเป็นสิทธิเท่าเทียมของคนทุกเพศ” ยากตรงไหน การยกเลิก 112 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้าใจได้ว่ายาก เพราะกลุ่มอำนาจเก่าไม่ยอมเสียสละสถานะ อำนาจ และอภิสิทธิ์เดิมๆ ที่เคยมี แต่การบัญญัติกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้ทำให้ใครหรือคนกลุ่มไหนต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ใดๆ สิ่งที่ทำให้ยาก น่าจะเป็นเรื่องทัศนคติ หรืออคติที่มีต่อคนหลากหลายทางเพศที่ฝังรากลึกมายาวนานในทางศาสนาและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

หรือพูดอีกอย่างคือ ความยากของการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเสรีนิยในแง่ที่เน้น “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” ยังไม่สามารถหยั่งราก หรือเป็นที่เข้าใจและตระหนักจริงจังในสังคมไทย พอๆ กับแนวคิดเสรีนิยมในแง่ที่เน้น “เสรีภาพทางการเมือง” ยังไม่หยั่งราก และเป็นที่ตระหนักจริงจังในสังคมไทย จึงทำให้การยกเลิก 112 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นไปได้ยากยิ่ง 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net