Skip to main content
sharethis

รายงาน ILO ชี้ให้เห็นผลกระทบถึง COVID-19 ต่อการจ้างงานภาคท่องเที่ยว 5 ประเทศ 'บูรไน, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม' พบคนทำงานตกงานในภาคท่องเที่ยวปี 2563 มากกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ 4 เท่า


ก่อนวิกฤต COVID-19 นั้น 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก มีการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 19 ล้านคน ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วงวิกฤต COVID-19 การจ้างงานภาคท่องเที่ยว 5 ประเทศ ได้แก่ บูรไน, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด | ที่มาภาพ: ILO

  • ก่อนวิกฤต COVID-19 นั้น 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก มีการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 19 ล้านคน
  • เฉพาะ 5 ประเทศ (บูรไน, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม) มีคนทำงานในภาคท่องเที่ยวตกงานถึง 1.6 ล้านคน ช่วงวิกฤต COVID-19 หรือคิดเป็น 4 เท่าเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ
  • ชั่วโมงการทำงานที่ลดลงในภาคท่องเที่ยวมีมากกว่าภาคธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวถึง 2-7 เท่า

เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2564 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เผยแพร่รายงาน COVID-19 and employment in the tourism sector in the Asia–Pacific region ที่เป็นการนำข้อมูลการจ้างงานภาคท่องเที่ยว 5 ประเทศ ได้แก่ บูรไน, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม (ใช้ฐานข้อมูลกำลังแรงงานปี 2562) พบว่าในปี 2563 คนทำงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องสูญเสียงานมากกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ ถึง 4 เท่า

เกือบ 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่เสียไปมาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีการประเมินว่าเฉพาะในบรรดา 5 ประเทศนี้มีคนตกงานถึง 1.6 ล้านคน

"ผลกระทบของ COVID-19 ต่อภาคการท่องเที่ยวในเอเชียและแปซิฟิกคือหายนะ แม้ว่าประเทศต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีน และมียุทธศาสตร์ที่ค่อย ๆ เปิดพรมแดนอีกครั้ง แต่แนวโน้มตำแหน่งงานและชั่วโมงการทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิกปีหน้า [2564] จะยังคงต่ำกว่าตัวเลขช่วงก่อนวิกฤต COVID-19" ชิโฮโกะ อาซาดะ-มิยากาวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ILO Asia–Pacific) กล่าว

ทั้งนี้ก่อนวิกฤต COVID-19 นั้น 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก มีการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 19 ล้านคน

10 ธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ในรายงานฉบับนี้ ILO ได้แยกย่อยคนทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไว้ 10 ประเภท ได้แก่ 1.ธุรกิจที่พักสำหรับผู้มาเยือน 2.ธุรกิจให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม 3.ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางราง 4.ธุรกิจขนส่งธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนน 5.ธุรกิจขนส่งธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางน้ำ 6.ธุรกิจขนส่งธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ 7.ธุรกิจให้เช่ายานพาหนะ 8.ธุรกิจนำเที่ยว 9.ธุรกิจกิจกรรมด้านวัฒนธรรม และ 10.ธุรกิจ กีฬาและกิจกรรมสันทนาการ 

พบว่าในไตรมาสที่ 2-4 ปี 2563 สัดส่วนจำนวนคนทำงานเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ที่บรูไน สัดส่วนคนทำงานในธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนน มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือลดลง ร้อยละ 53.0, มองโกเลีย สัดส่วนคนทำงานในธุรกิจทัวร์ นำเที่ยว จองที่พัก มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือลดลง ร้อยละ 42.2, ฟิลิปปินส์ สัดส่วนคนทำงานในธุรกิจทัวร์ นำเที่ยว จองที่พัก มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือลดลง ร้อยละ 50.5, เช่นเดียวกับไทย ที่สัดส่วนคนทำงานในธุรกิจทัวร์ นำเที่ยว จองที่พัก มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือลดลง ร้อยละ 39.3, ส่วนที่เวียดนาม สัดส่วนคนทำงานในธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือลดลง ร้อยละ 27.9

การสูญเสียชั่วโมงการทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็สูง

ในรายงานยังระบุว่าคุณภาพของงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดด้วยเช่นกัน การสูญเสียชั่วโมงการทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็สูงกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เคยคาดการไว้มาก โดยชั่วโมงการทำงานที่ลดลงมีมากกว่าภาคธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวถึง 2-7 เท่า การสูญเสียชั่วโมงการทำงานในปี 2563 ของภาคส่วนนี้มีสัดส่วนตั้งแต่ ร้อยละ 4 ในเวียดนาม ถึง ร้อยละ 38 ในฟิลิปปินส์

นอกจากนี้แรงงานประจำในภาคท่องเที่ยวได้ย้ายเข้าสู่งานนอกระบบเพิ่มขึ้น เนื่องจากงานในระบบของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก

รัฐบาลควรให้ความสำคัญแก่ภาคท่องเที่ยว เพราะการฟื้นตัวยังจะต้องใช้เวลาพอสมควร

แม้ว่าในแต่ละประเทศจะมีการเปิดพรมแดนอีกครั้ง แต่ในรายงานคาดการว่าในระยะสั้นการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงไม่มาก ILO ชี้ว่ารัฐบาลประเทศต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มที่จะช่วยกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ 

"รายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังคงหยุดนิ่งและงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 มากที่สุด การระบาดได้ทำให้เราต้องคิดทบทวนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวระยะกลางและระยะยาวขึ้นมาเสียใหม่ วิกฤตนี้จึงนำมาซึ่งโอกาสในการเชื่อมภาคธุรกิจท่องเที่ยวสู่อนาคตที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น" ซาร่า เอลเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ILO ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้กล่าว

ผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้ยังระบุว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวจะใช้เวลาพอสมควร แรงงานและธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจะยังคงต้องการความช่วยเหลือเพื่อทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปและเพื่อคงไว้ซึ่งสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยแนะนำให้รัฐบาลควรดำเนินมาตรการการช่วยเหลือต่อไป ในขณะเดียวกันก็ควรมุ่งมั่นเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้อาศัยในประเทศทั้งหมดทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ TDRI คาดท่องเที่ยวไทยกลับสู่ช่วงก่อนเกิด COVID-19 ในปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

นางกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงาน SET in the City 2021 เทรนด์ชีวิต เทรนด์ลงทุน ภายใต้หัวข้อ "เศรษฐกิจ การลงทุน ความท้าทาย ในปี 2022" ว่าสำหรับเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยมองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) จะสามารถกลับไปสู่ระดับก่อนช่วงเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ในปี 2566 หรือคาดเติบโต ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เติบโต ร้อยละ 2.3 จะมาจากการส่งออกที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง 

ส่วนภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวหลักยังมาจากต่างประเทศ และการเดินทางไปมายังไม่ค่อยมีความสะดวก รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด ประมาณ ร้อยละ 30 ของไทย ก็ยังไม่กลับมาจนถึงปลายปี 2565 จากนโยบายควบคุมอัตราการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นศูนย์ของจีน ทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาไปสู่ระดับก่อน COVID-19 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวราว 39 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 12 ของ GDP ได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป แต่การท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวได้ก่อน คาดว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อน COVID-19 ได้ในปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

รายละเอียดใน 5 ประเทศ

ในรายงานฉบับนี้ได้ลงในรายละเอียดคร่าว ๆ ของทั้ง 5 ประเทศไว้ดังนี้

บรูไน ได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของการจ้างงานที่ลดต่ำลงและชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยที่ลดลง โดยการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ลดลงร้อยละ 40 ชั่วโมงการทำงานลดลง 21 นอกจากนี้บรูไนยังเป็นประเทศที่มีความแตกต่างมากที่สุดระหว่างการเลิกจ้างในธุรกิจที่เกี่ยวเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

มองโกเลีย ได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของการจ้างงานที่ลดต่ำลงและชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยที่ลดลง โดยการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ลดลงร้อยละ 17 ชั่วโมงการทำงานลดลง 13 โดยผลกระทบจากการจ้างงานแรงงานชายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นค่อนข้างมาก โดยลดลงประมาณร้อยละ 29

ฟิลิปปินส์ มีคนตกงานและชั่วโมงการทำงานลดลงเฉลี่ยในปี 2563 สูงสุดในบรรดาประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 28  ชั่วโมงการทำงานลดลงร้อยละ 38 นอกจากนี้แรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีชั่วโมงทำงานเป็นศูนย์ต่อสัปดาห์มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 2,000 เท่า ส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวน 775,000 คน

ไทย การหดตัวของค่าจ้างและชั่วโมงการทำงานรุนแรงมาก และงานต่าง ๆ ในภาคการท่องเที่ยวหดตัวลง ขณะที่งานในภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ค่าจ้างโดยเฉลี่ยในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวลดลงโดยรวม ร้อยละ 9.5 เนื่องจากแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปทำงานที่มีค่าจ้างต่ำกว่า ชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง ร้อยละ 10 ตัวเลขการจ้างงานในไตร 1/2564 ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ในทุกธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยกเว้นธุรกิจให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม

เวียดนาม ได้รับผลกระทบคือการลดลงของค่าจ้างและการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานที่ไม่เป็นทางการ ค่าจ้างในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยลดลงเกือบ ร้อยละ 18 คนทำงานในภาคท่องเที่ยวที่เป็นผู้หญิงได้รับค่าจ้างลดลงเกือบ ร้อยละ 23 จำนวนแรงงานประจำของธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง 11% แต่ในทางกลับกันการจ้างงานนอกระบบ (ไม่ใช่งานจ้างประจำ) ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3


ที่มาข้อมูล
COVID-19 and employment in the tourism sector in the Asia–Pacific region (ILO, November 2021)
ILO research highlights massive COVID-19 impact on tourism employment in Asia and the Pacific (ILO, 18 November 2021)
นักเศรษฐศาสตร์ มอง GDP ไทยกลับสู่ช่วงก่อนเกิดโควิดในปี 66 จากท่องเที่ยว (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 20 November 2021)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net